อำเภอไพรบึง

อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย

ไพรบึง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอขุขันธ์ ต่อมาได้แยกออกมาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ในปี พ.ศ. 2511 และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอไพรบึง ในปี พ.ศ. 2518

อำเภอไพรบึง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phrai Bueng
ปราสาทเยอ
ปราสาทเยอ
คำขวัญ: 
เมืองล้านเป็ด เพชรพระธาตุ
ปราสาทใหญ่ ไทยสี่เผ่า
แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ เน้นอำเภอไพรบึง
แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ เน้นอำเภอไพรบึง
พิกัด: 14°44′54″N 104°21′42″E / 14.74833°N 104.36167°E / 14.74833; 104.36167
ประเทศ ไทย
จังหวัดศรีสะเกษ
พื้นที่
 • ทั้งหมด266.8 ตร.กม. (103.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด47,368 คน
 • ความหนาแน่น177.54 คน/ตร.กม. (459.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 33180
รหัสภูมิศาสตร์3306
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอไพรบึง หมู่ที่ 20 ถนนพยุห์-ขุนหาญ ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ 33180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ที่ตั้งและอาณาเขต แก้

อำเภอไพรบึงตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 42 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการ แก้

หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในเขตอำเภอไพรบึง แสดงให้เห็นพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอำเภอแห่งนี้ตั้งแต่ประมาณ 1,000 ปีเป็นต้นมา โดยเฉพาะในวัฒนธรรมสมัยอาณาจักรขอมโบราณ ดังปรากฏพบชุมชนโบราณและโบราณสถาน-โบราณวัตถุในยุคสมัยและรูปแบบศิลปะขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทเยอ และแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ, แหล่งโบราณคดีบ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน [1]

 
ส่วนมุขและปราสาทประธาน ปราสาทเยอ

ส่วนในยุคปัจจุบันหรือช่วงเวลาระยะเวลาร่วมสมัยนั้น เดิมอำเภอไพรบึงเป็นท้องที่อยู่ในปกครองของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ครั้นในปี พ.ศ. 2506 ประชากรในตำบลไพรบึง สำโรงพลัน ดินแดง และ ตำบลปราสาทเยอ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกได้เรียกร้องขอให้แยกและยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ นายยอด อ่อนโอภาส นายอำเภอขุขันธ์ในขณะนั้น จึงได้จัดประชุมประชาชนใน 4 ตำบล ดังกล่าว ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอที่ บ้านไพรบึง ตำบลไพรบึง และให้เรียกชื่อว่ากิ่งอำเภอไพรบึง และได้ขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอและได้รับงบประมาณ ในปี พ.ศ. 2511 และเปิดที่ว่าการกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยมีนายยศ ทองสุทธิ์ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นคนแรก และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2518 โดยมีนายมั่น พรหมบุตร ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอเป็นคนแรก

การแบ่งเขตการปกครอง แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค แก้

อำเภอไพรบึงแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 80 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ไพรบึง (Phrai Bueng) 21 หมู่บ้าน
2. ดินแดง (Din Daeng) 9 หมู่บ้าน
3. ปราสาทเยอ (Prasat Yoe) 11 หมู่บ้าน
4. สำโรงพลัน (Samrong Phlan) 17 หมู่บ้าน
5. สุขสวัสดิ์ (Suk Sawat) 12 หมู่บ้าน
6. โนนปูน (Non Pun) 10 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น แก้

ท้องที่อำเภอไพรบึงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลไพรบึง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลไพรบึงและตำบลสำโรงพลัน
  • เทศบาลตำบลสำโรงพลัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน (นอกเขตเทศบาลตำบลไพรบึง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไพรบึง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไพรบึง (นอกเขตเทศบาลตำบลไพรบึง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดินแดงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปราสาทเยอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปราสาทเยอทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสุขสวัสดิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสุขสวัสดิ์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนปูน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนปูนทั้งตำบล

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ แก้

  • หนองใหญ่หรือบึงนกเป็ดน้ำไพรบึง ตั้งอยู่เขตเทศบาลตำบลไพรบึง เป็นแหล่งดูนกเป็ดน้ำ แหล่งเลี้ยงปลาในกระชัง
  • ห้วยแฮด ในเขตตำบลดินแดง
  • ห้วยชลัง และ หนองกันแจม ในเขตตำบลไพรบึง

สภาพทางสังคมและวัฒนธรรม แก้

ประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์ แก้

ประชากรในอำเภอไพรบึง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันทั้งลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรม แต่มีภาษาพูดที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ เขมร กูย(หรือกวยหรือส่วย) เยอ ลาว ดังปรากฏตามคำขวัญของอำเภอว่า "ไทยสี่เผ่า" ชาวเขมรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ตำบลไพรบึง ตำบลสำโรงพลัน ตำบลดินแดง ชาวกูยและชาวเยอ อาศัยอยู่ที่ตำบลปราสาทเยอ ตำบลโนนปูน และชาวลาวอาศัยอยู่ที่ตำบลสุขสวัสดิ์ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ประกอบอาชีพหลักทางการเกษตรและส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและวงจรชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่เกิดจนตายในแต่ละเดือนของแต่ละรอบปี [2]

วัดในพุทธศาสนาที่สำคัญ แก้

งานประเพณีและเทศกาลสำคัญ แก้

ประชาชนทุกภาคส่วน ส่วนราชการ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอไพรบึง ร่วมกันจัดงานประเพณีและเทศกาลตามแบบแผนทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมหลายวาระในแต่ละรอบปี โดยมีงานประเพณีและเทศกาลสำคัญคือ

  • งานประเพณีสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุวัดไพรบึง ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีในช่วงคาบเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
     
    พระพุทธเจดีย์ไพรบึง
  • ประเพณีเบ็ญ(บุญเดือนสิบ)หรือแซนโดนตาหรือสารทเขมร ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ ถึง แรม 15 ค่ำเดือน 10[4]
  • เทศกาลสงกรานต์
  • เทศกาลเข้าพรรษา
  • เทศกาลออกพรรษา
  • เทศกาลลอยกระทง

การศึกษา แก้

โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สำคัญ แก้

  1. โรงเรียนอนุบาลไพรบึง โรงเรียนประถมศึกษาประจำอำเภอไพรบึง
  2. โรงเรียนบ้านสวาย-สนวน ตำบลไพรบึง
  3. โรงเรียนบ้านติ้ว ตำบลไพรบึง
  4. โรงเรียนบ้านสำโรงพลัน ตำบลสำโรงพลัน
  5. โรงเรียนบ้านไทร ตำบลสำโรงพลัน
  6. โรงเรียนหนองอารีพิทยา ตำบลดินแดง
  7. โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ
  8. โรงเรียนบ้านโพนปลัด ตำบลสุขสวัสดิ์
  9. โรงเรียนบ้านตาเจา ตำบลโนนปูน

โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา แก้

  1. โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอไพรบึง
  2. โรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ ตั้งอยู่ที่บ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน
  3. โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนปูน
  4. โรงเรียนวัดไพรบึงวิทยา ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านไพรบึง เขตเทศบาลตำบลไพรบึง
  5. โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไพรบึง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลตำบลไพรบึง

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอไพรบึง แก้

  • ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี
  • ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

การแพทย์และสาธารณสุข แก้

  • โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 1 แห่ง คือ [โรงพยาบาลไพรบึง] (ขนาด 36 เตียง และกำลังอยู่ระหว่างขยายเป็น 66 เตียง)
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) 6 แห่ง ได้แก่
  1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่ม ตำบลไพรบึง
  2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตาโมกข์ ตำบลสำโรงพลัน
  3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ
  4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองอารี ตำบลดินแดง
  5. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกันตรวจ ตำบลโนนปูน
  6. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไม้แก่น ตำบลสำโรงพลัน
  • สำนักงานสาธารณสุขอำเภอไพรบึง
  • คลินิกทางการแพทย์ พยาบาลและการผดุงครรภ์
  • ร้านจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน

การกีฬาและสันทนาการ แก้

  1. สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติหนองปิด
  2. สวนสาธารณะหนองใหญ่หรือบึงนกเป็ดน้ำไพรบึง
  3. สนามกีฬาเทศบาลตำบลไพรบึง (สนามฟุตบอล, สนามวอลเลย์บอล, สนามแบดมินตัน, สนามบาสเก็ตบอล, สนามเซปักตะกร้อ และลู่วิ่ง)
  4. ศูนย์บริการฟิตเนสเทศบาลตำบลไพรบึง
  5. ลานกีฬาบริการอุปกรณ์บริหารร่างกายเทศบาลตำบลไพรบึง
  6. สนามฟุตบอลหน้าที่ว่าการอำเภอไพรบึง
  7. สนามกีฬาโรงเรียนอนุบาลไพรบึง
  8. สนามกีฬาโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม
  9. ลานกีฬาที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลไพรบึง (สนามบาสเก็ตบอล, สนามวอลเลย์บอล, สนามเซปักตะกร้อ, สนามเปตอง)
  10. สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบลปราสาทเยอ
  • การแข่งขันกีฬา "ไพรบึงคัพ" หรือ "เป็ดน้ำเกมส์" ในแต่ละปี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างส่วนราชการต่างๆ ท้องถิ่นและประชาชนในอำเภอ

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แก้

  • สถานีตำรวจภูธรไพรบึง
  • หน่วยบริการประชาชน สภ.ไพรบึง บริเวณสี่แยกหัวช้าง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24
  • หน่วยบริการประชาชน สภ.ไพรบึง บริเวณตำบลปราสาทเยอ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111
  • หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทร์เดชา
  • กองร้อย อาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดศรีสะเกษที่ 10 (อำเภอไพรบึง)
  • ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อำเภอไพรบึง
  • สถานีดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลไพรบึง

สภาพเศรษฐกิจ แก้

โครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจของอำเภอไพรบึงมาจากการเกษตรกรรม ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง การบริการและอุตสหกรรมขนาดเล็ก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ข้าวหอมมะลิ และพืชสวน ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ไข่เค็มพอกดินจอมปลวก ซึ่งเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ที่ได้รับการส่งเสริมของอำเภอ พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่เขตเทศบาลตำบลไพรบึงและสี่แยกหัวช้าง ซึ่งเป็นชุมทางการเดินทางและการคมนาคมขนส่งที่คึกคัก ชุมทางแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักรถและพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง ซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งและขนาดเล็ก 1 แห่ง, ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อ, รีสอร์ตสำหรับพักค้างคืน 2 แห่ง ตลอดจนป้อมตำรวจหน่วยบริการประชาชนของสถานีตำรวจภูธรไพรบึง สี่แยกหัวช้างจึงเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอ

การพลังงาน การประปาและการชลประทาน แก้

  • สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอไพรบึง
  • สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่และแก๊สธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง บริเวณสี่แยกหัวช้าง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งในเขตเทศบาลตำบลไพรบึงและตำบลอื่นๆ
  • สำนักงานการประปาเทศบาลตำบลไพรบึง (สถานีสูบน้ำ, โรงกรองน้ำ, ระบบจ่ายน้ำ)
  • อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำในระบบชลประทานเพื่อการเกษตรหลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยชลัง อ่างเก็บน้ำบ้านคอก (หนองไฮ)

การสื่อสารและโทรคมนาคม แก้

  • ที่ทำการไปรษณีย์ไพรบึง (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด)
  • ชุมสายโทรศัพท์และโทรคมนาคมไพรบึง (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน)
  • เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AIS, DTAC, NT, True)

การเดินทางและการคมนาคมขนส่ง แก้

จากตัวจังหวัดศรีสะเกษ มายังอำเภอไพรบึง แก้

  • โดยรถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 (ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) ผ่านอำเภอพยุห์ จนถึงสี่แยกพยุห์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (พยุห์-ไพรบึง-ขุนหาญ) ไปจนถึงตัวอำเภอไพรบึง
  • โดยรถประจำทางสาย 4189 เส้นทางศรีสะเกษ-พยุห์-ไพรบึง-ขุนหาญ ซึ่งเป็นบริการเดินรถของบริษัท ขุนหาญพัฒนา จำกัด ให้บริการเดินรถในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 และ 2111
  • โดยรถประจำทางสาย 4313 เส้นทางศรีสะเกษ-ไพรบึง (สิ้นสุดที่ตำบลดินแดง)

ระยะทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษถึงอำเภอไพรบึง ประมาณ 42 กิโลเมตร

จากกรุงเทพมหานคร มายังอำเภอไพรบึง แก้

  • โดยรถโดยสาร
  1. เส้นทางกรุงเทพฯ - ไพรบึง ซึ่งเป็นบริการรถปรับอากาศชั้น 1 ของ บริษัท เชิดชัย จำกัด ไป-กลับ วันละ 1 เที่ยว โดยออกจากไพรบึง ในเวลา 20.45 น. และ ออกจากกรุงเทพฯ ในเวลา 20.45 น.
  2. เส้นทางกรุงเทพฯ - กันทรลักษ์(อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร) บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัทเดินรถเอกชน (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)
  3. เส้นทางกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2) และบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด (รถปรับอากาศ V.I.P)
  4. เส้นทางกรุงเทพฯ - เดชอุดม บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)
  5. เส้นทางกรุงเทพฯ - บุญฑริก บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)

ในเส้นทางลำดับที่ 2-5 มีบริการวันละหลายเที่ยว ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน จากต้นทาง-ปลายทาง ผ่านแยกหัวช้างในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางมายังอำเภอไพรบึง สามารถใช้บริการเดินรถดังกล่าวเพื่อมาลงที่แยกหัวช้าง แล้วต่อมายังอำเภอไพรบึง ด้วยบริการรถโดยสารสาย ศรีสะเกษ-ขุนหาญ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 หรืออาจใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างจากสี่แยกหัวช้างมายังตัวอำเภอไพรบึง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังตัวอำเภอไพรบึงใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 8-9 ชั่วโมง เป็นระยะทางราว 500 กิโลเมตร เศษ

ทางแยกหัวช้าง ชุมทางการเดินทาง แก้

ทางแยกหัวช้างในเขตบ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน ซึ่งอยู่ห่างจากเขตเทศบาลตำบลไพรบึง (ตัวอำเภอ) ไปทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (ช่วงไพรบึง-ขุนหาญ) ถือเป็นชุมทางการคมนาคมและการขนส่งขนาดใหญ่จุดหนึ่ง เนื่องจากเป็นจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (ถนนโชคชัย-เดชอุดม) ชุมทางแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักรถและพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง ซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดเล็ก 1 แห่ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายของฝาก ร้านเครื่องดื่ม สถานพักตากอากาศสำหรับค้างคืน 2 แห่ง ตลอดจนป้อมตำรวจหน่วยบริการประชาชนของสถานีตำรวจภูธรไพรบึง ทางแยกหัวช้างจึงเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอไพรบึง

จากชุมทางดังกล่าวด้านตะวันออกเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปยังอำเภอกันทรลักษ์และจังหวัดอุบลราชธานี ด้านทิศใต้ไปยังอำเภอขุนหาญ ด้านทิศตะวันตกไปยังอำเภอขุขันธ์และอำเภอภูสิงห์ ตลอดจนอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ (อำเภอสังขะ อำเภอปราสาท) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอประโคนชัย อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่) และจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอหนองบุญมาก อำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัย อำเภอสีคิ้ว) แล้วบรรจบกับถนนมิตรภาพ

ชาวไพรบึงที่มีชื่อเสียง แก้

แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ แก้

อำเภอไพรบึง เป็นอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ อาทิ

  1. วัดไพรบึง(วัดจำปาสุรภีย์) เป็นที่ตั้ง พระพุทธเจดีย์ไพรบึง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระธาตุไพรบึง ศิลปะแบบเจดีย์พุทธคยา สูงประมาณ 60 เมตร ส่วนยอดของพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
  2. วัดปราสาทเยอเหนือ บ้านปราสาทเยอ มีปราสาทโบราณ ศิลปะขอม สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปัจจุบันชำรุดหักพัง และวัดแห่งนี้ยังเป็นวัดแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514[5]
  3. บึงนกเป็ดน้ำไพรบึง (หนองใหญ่) เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ มีฝูงนกเป็ดอาศัยอยู่น้ำหนาแน่นโดยเฉพาะในฤดูหนาว จึงเป็นแหล่งดูนกเป็ดน้ำที่สำคัญ

อ้างอิง แก้

  1. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  2. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  3. ข่าวประชาสัมพันธ์[ลิงก์เสีย]อบต.ปราสาทเยอ สืบค้นวันที่ 28 กันยายน 2554
  4. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ. ประเพณีแซนโดนตาประเพณีแซนโดนตา
  5. ข่าวประชาสัมพันธ์[ลิงก์เสีย]อบต.ปราสาทเยอ สืบค้นวันที่ 28 กันยายน 2554
  • กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  • เทศบาลตำบลไพรบึง.รายงานสรุป ประจำปีงบประมาณ 2553.จัดทำโดยเทศบาลตำบลไพรบึง
  • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ. ประเพณีแซนโดนตาประเพณีแซนโดนตา