อำเภอสวี
สวี [สะ-หฺวี][1] เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชุมพร อำเภอสวีเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยโบราณเมืองหนึ่งของจังหวัดชุมพร ตามประวัติสาสตร์ อำเภอนี้มีชื่อเรียกแต่เดิมว่า “เมืองฉวี” แล้วเพี้ยนมาเป็น “สวี” ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย เมืองสวีมีกำหนดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นคนสร้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดในประวัติศาสตร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2357 ปรากฏว่าได้มีเมืองสวีแล้ว โดยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า สมณทูตของไทยจะไปลังกา แต่เรือแตกก็เปลี่ยนเป็นเดินทางบก และได้เดินทางจากเมืองชุมพรผ่านเมืองสวี แต่สถานที่ตั้งตัวเมืองเดิมอยู่ที่ใดไม่มีหลักฐานยืนยัน ประมาณปี พ.ศ. 2449 ซึ่งเป็นปีที่จัดการหัวเมืองใหม่ เมืองสวีได้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสวี แต่จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำสวีตอนใดก็ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันพื้นที่อำเภอสวีส่วนใหญ่ อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตจากการประมง และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง
อำเภอสวี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Sawi |
คำขวัญ: พระธาตุเก่าแก่ กาแฟเลิศล้ำ ระกำหวานดี สตรีสวยสด สับปะรดหวานกรอบ เที่ยวรอบหมู่เกาะสวี | |
แผนที่จังหวัดชุมพร เน้นอำเภอสวี | |
พิกัด: 10°15′12″N 99°5′42″E / 10.25333°N 99.09500°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชุมพร |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 898.0 ตร.กม. (346.7 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 72,916 คน |
• ความหนาแน่น | 81.20 คน/ตร.กม. (210.3 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 86130 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 8607 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอสวี เลขที่ 13/1 หมู่ที่ 4 ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ประวัติศาสตร์
แก้ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา
แก้ท้องที่อำเภอสวีนี้ ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา มีตำนานเก่าของวัดพระธาตุกาวี ที่รับรู้ต่อกันมา ในพื้นบ้านพื้นเมืองอันเป็นที่รู้จักกันทั่ว ๆไปว่า เมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้วพระเจ้าศรีธรรมโศกราชองค์หนึ่งกับพระมเหษีพากองทัพไพร่พลกลับจากการทำสงคราม มาหยุดพักแรกที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง มีอยู่แต่กองอิฐดินเผาเกลื่อนกลาดทับถมกันอยู่ ในระหว่างที่เหล่าทหารบางคนจัดสร้างที่พัก บางคนจัดการหุงหาอาหารกันตามหน้าที่ ก็มีกาฝูงหนึ่งพากันบินมาจับกลุ่มที่ซากอิฐดินเผาซึ่งเหลืออยู่จากการหักพังทำลายแล้วพากันวีปีกและส่งเสียงร้องขึ้นพร้อม ๆ กัน ราวกับเป็นการนัดหมายกันมาเสียงฉู่ฉาวเจี๊ยวจ๊าวลั่นไปหมด และเมื่อทหารไล่มันไปมันก็พากันบินหนีไป แต่ไม่นานมันก็กลับมาที่เก่าอีก แล้วพวกมันก็พากันร้องวีปีกเช่นเดิม พวกทหารไล่มันอีก มันก็หนีไปอีก แล้วมันก็กลับมาใหม่ กระทำเหมือนที่แล้วหลายครั้งหลายหน ไม่ยอมแพ้ต่อการขับไล่ของทหาร ความทราบถึงพระเจ้าศรีธรรมโศกราชกับพระมเหสี เป็นเรื่องหนึ่งที่ให้เกิดความสนพระทัยขึ้น จึงเสด็จไปทอดพระเนตร แล้วทรงรับสั่งให้ทหารรื้ออิฐปูนที่ปรักหักพังออก ก็พบองค์พระเจดีย์ใหญ่ยังเหลืออยู่ท่อนหนึ่ง และเมื่อทหารทำการรื้อต่อไป ก็ได้พบผอบทองสีสุกใสอยู่ในพระเจดีย์ร้างนั้นจึงนำถวายท้าวเธอทรงเปิดผอบดูพบพระธาตุสถิตอยู่ในผอบนั้น จึงรับสั่งให้นายทัพนายกองทำการซ่อมสร้างสถาปนาพระเจดีย์องค์นั้นขึ้นใหม่จนสำเร็จ แล้วท้าวเธอนำเอาพระบรมธาตุในผอบทองนั้นเข้าบรรจุประดิษฐานไว้เช่นเดิม แล้วจัดให้มีการมหรสพสมโภชทำบุญเป็นการใหญ่ฉลอง 7 วัน 7 คืน แล้วพระราชทานชื่อว่า พระบรมธาตุกาวีปีก ต่อมาคำว่าปีกหายไป คงเหลือแต่พระบรมธาตุกาวี ต่อมาบัดนี้เรียกกันว่า พระธาตุสวี เรื่องนี้ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ยกทัพมารบกับท้าวพิชัยเทพเชียงราชา (หรือท้าวอู่ทอง) แล้วตกลงประนีประนอมยอมแบ่งปันเขตแดนกันในเขตท้องที่เมืองบางตะพาน เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระเจ้าศรีธรรมโศกราชก็ยกทัพกลับไปนครศรีธรรมราช ปรากฏว่า ในระหว่างทางได้ตั้งพระอารามก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ์รายทางมาจนถึงนครศรีธรรมราช จึงสันนิษฐานว่า พระบรมธาตุกาวีปีก พระเจ้าศรีธรรมโศกราช คงทรงซ่อมสร้างขึ้นในครั้งเดินทัพกลับในครั้งนั้นเอง
ในท้องที่อำเภอสวีนี้ มีบ้าน ๆ หนึ่งเรียกว่า บ้านแพรก ตั้งอยู่ริมคลองสวี ทางทิศตะวันออกของที่ว่าการอำเภอลงไปทางปากน้ำ ที่บ้านแพรกนี้ มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า ในสมัยโบราณก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เคยเป็นที่ตั้งเมืองมาแล้วหนหนึ่งชื่อว่า เมืองแพรก คนจีนเรียกว่าเมืองยะสิ่ว และว่าเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว มีการไถและขุดพบกระเบื้องดินเผาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังอยู่ในดิน จึงเห็นว่าเมืองนี้เป็นเมืองในตำนาน เมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่าเมืองแพรก กล่าวคือตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ในศตวรรษที่ 18 อาณาจักร อโยธยาส่งพระพนมทะเลศรีสวัสดิ์ ฯ ออกมาคุมเชิงเฝ้าดูทางฝ่ายอาณาจักรนครศรีธรรมราช โดยมอบกำลังทหารให้เจ้าศรีราชาเข้าโจมตีเมืองชุมพรได้ แล้วผ่านไปตั้งเมืองที่เมืองแพรก (ท้องที่อำเภอสวี) เพื่อทำการต่อไป แล้วให้พระพนมวัง นางสะเคียงทอง พร้อมด้วยเจ้าศรีราชานำกำลังทัพเข้าตีเมืองกาญจนดิษฐ์ได้อีก จึงจัดตั้งเมืองนครดอนพระขึ้นใหม่ เพื่อทำการรบกับฝ่ายอาณาจักรนครศรีธรรมราชและทำการรบกันอยู่นาน จึงยุติไม่แพ้ไม่ชนะกัน แต่ฝ่ายอาณาจักรนครศรีธรรมราชต้องเสียเมืองชุมพร เมืองสะอุเลา เมืองกาญจนดิษฐ์แก่ฝ่ายอาณาจักรอโยธยาไป
สมัยกรุงศรีอยุธยา
แก้ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ มีปรากฏตามคำให้การชาวกรุงเก่า หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ตามบัญชีรายชื่อ หัวเมืองปักษ์ใต้ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ 48 และว่าที่คลองสวี มีพลอยต่าง ๆ เมือง สวี มีหน้าที่ส่งส่วยพลอยต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ตัวเมืองสวีในสมัยนั้นจะตั้งศาลาว่าการเมือง ณ ที่ใดไม่ปรากฏ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แก้เมื่อ พ.ศ. 2357 ในสมัยรัชกาลที่ 2 จัดส่งคณะทูตไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศลังกาโดยทางเรือ บังเกิดอุบัติเหตุเรือแตก คณะทูตจึงเดินทางผ่านเมืองสวี และเมืองสวีเป็นเมืองชั้นจัตวาขึ้นต่อเมืองชุมพร ซึ่งเป็นเมืองชั้นตรี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2439 ทางราชการจัดระบบการปกครองเป็นมณฑล โดยมีข้าหลวงสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเมืองสวีลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองหลังสวนแล้วให้รวมหัวเมืองคือ 1 เมืองชุมพร 2 เมืองหลังสวน 3 เมืองไชยา 4 เมืองกาญจนดิษฐ์ รวม 4 เมือง ตั้งขึ้นเป็นมณฑลเรียกชื่อว่า มณฑลชุมพร ตั้งที่ทำการศาลาว่าการมณฑลชุมพร ณ ที่ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมือง เมืองชุมพร แต่งตั้งพระยารัตนเศรษฐี (ตอซิมกอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนองมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร
ต่อมาในปีพ.ศ. 2450 (ร.ศ.116) เพิ่งจะมีหลักฐานปรากฏชัดว่า เมื่อได้จัดการปกครองหัวเมืองใหม่ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 แล้ว เมืองสวีได้จัดระเบียบใหม่ และมีชื่อว่า “อำเภอสวี” เมื่อตั้งเป็นอำเภอสวีแล้ว ในชั้นแรกได้ใช้บ้านพักของนายรื่น ทองคำ ซึ่งเรียกว่า “ท่านรักษาเมือง” ตั้งอยู่ริมคลองสวี ในหมู่ที่5 ตำบลนาโพธิ์ เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว ได้เปิดที่ทำการเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2440 มีนายแดง ธะนะไชย (หลวงเสวีวรราช) เป็นนายอำเภอคนแรก ตั้งที่ทำการอยู่ที่นั่นได้ครึ่งปีจึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ตำบลปากแพรก ใช้บ้านพักของนายทองชุ่ม กำนันตำบลปากแพรกเป็นที่ว่าการอำเภอ อยู่ได้ประมาณปีเศษจึงได้ทำการปลูกสร้างที่ว่าการอำเภอสวีขึ้นที่ริมแม่น้ำสวี ในตำบลสวี จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2462 ที่ว่าการชำรุดหักพังจนถึงทำงานไม่ได้ จึงได้ขอบ้านพักนายฮก บุญยสมบัติ คหบดี เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว นายแถว สมิโตบล (หลวงรักษ์นรกิจ) ซึ่งเป็นนายอำเภออยู่ในขณะนั้น ได้จัดสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่ในหมู่ที่5 ตำบลนาโพธิ์ ได้ทำพิธีเปิดที่ว่าการอำเภอเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2462 จนกระทั่งถึงวันที่ 24 มกราคม 2511 ที่ว่าการอำเภอได้ถูกเพลิงไหม้ กรมการปกครองจึงได้อนุมัติงบประมาณพิเศษให้ก่อสร้างใหม่และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2512 ใช้ปฏิบัติราชการจนถึงถึง พ.ศ. 2544 เป็นระยะเวลา 32 ปี อาคารที่ว่าการอำเภอสวีก็ได้ชำรุดทรุดโทรมตามสภาพการใช้งาน กรมการปกครอง ได้อนุมิติงบประมาณให้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ หลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยได้ย้ายที่ว่าการอำเภอสวีมาปฏิบัติงานที่ว่าการอำเภอ สวี (หลังใหม่) ตั้งอยู่ที่บ้านดอนรักษ์ หมู่ที่ 4 ตำบลสวี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จนกระทั่งถึง ปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอสวีตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองชุมพร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละอุ่น (จังหวัดระนอง)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอละอุ่นและอำเภอกระบุรี (จังหวัดระนอง)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอสวีแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 11 ตำบล 116 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[2] |
แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|
1. | นาโพธิ์ | Na Pho | 8
|
7,828
|
|
2. | สวี | Sawi | 4
|
2,787
| |
3. | ทุ่งระยะ | Thung Raya | 11
|
7,248
| |
4. | ท่าหิน | Tha Hin | 10
|
4,624
| |
5. | ปากแพรก | Pak Phraek | 6
|
1,384
| |
6. | ด่านสวี | Dan Sawi | 11
|
5,040
| |
7. | ครน | Khron | 14
|
10,051
| |
8. | วิสัยใต้ | Wisai Tai | 10
|
5,103
| |
9. | นาสัก | Na Sak | 19
|
13,363
| |
10. | เขาทะลุ | Khao Thalu | 11
|
7,386
| |
11. | เขาค่าย | Khao Khai | 12
|
8,019
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอสวีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลนาโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลนาโพธิ์
- เทศบาลตำบลนาโพธิ์พัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาโพธิ์ (นอกเขตเทศบาลตำบลนาโพธิ์)
- องค์การบริหารส่วนตำบลสวี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสวีและตำบลปากแพรกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งระยะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งระยะทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าหินทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลด่านสวี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลด่านสวีทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลครน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลครนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวิสัยใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวิสัยใต้ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาสัก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาสักทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเขาทะลุ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาทะลุทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเขาค่าย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาค่ายทั้งตำบล
การเดินทาง
แก้รถยนต์
แก้จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง พุทธมณฑล นครปฐม-เพชรบุรี หรือเส้นทางสาย ธนบุรี-ปากท่อ (หมายเลข 35) แล้วแยกที่อำเภอปากท่อ เข้า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงสะพานข้ามคลองสวี ลงจากสะพานจะเจอสามแยกไม่มีไฟแดง มีป้ายแสดงชื่ออำเภอสวี จากนั้นแยกซ้ายเข้าตัวเมืองสวี ตาม ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4003 อีกประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงตลาดในตัวอำเภอ
รถไฟ
แก้ดูบทความหลักที่: สถานีรถไฟสวี
- จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถเร็ว และขบวนรถด่วนพิเศษ ไปอำเภอสวีทุกวัน
- จากสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) มีขบวนธรรมดาและรถเร็วไปอำเภอสวีทุกวัน
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2546.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ขัอมูลอำเภอสวี เก็บถาวร 2007-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน