อำนาจ สอนอิ่มสาตร์

อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ (เกิดวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2476) อดีตสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นนักสื่อสารมวลชนชาวไทย มีชื่อเสียงจากการพากย์ภาพยนตร์ และ จัดรายการวิทยุชื่อ "คุยโขมงหกโมงเช้า" ในนาม "ดุ่ย ณ บางน้อย" ยาวนานถึง 50 ปี อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ ได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2553

อำนาจ สอนอิ่มสาตร์
"อำนาจ สอนอิ่มสาตร์" หรือ "ดุ่ย ณ บางน้อย" ในวัยหนุ่ม
สมาชิกวุฒิสภา
เริ่มดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2543
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2535
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (91 ปี)
อำเภอบางยี่เรือ จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสดารณี ณ วังอินทร์ (หย่า) - พานทอง กิติบุตร์ (2518 - ปัจจุบัน)
บุตร6 คน
อาชีพนักแสดง, นักพากย์, นักจัดรายการวิทยุ, นักเขียน, นักการเมือง

ปฐมวัย และ การศึกษา

แก้

อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ เป็นบุตรคนโตของนายชื้น และ นางแจ่มจันทร์ สอนอิ่มสาตร์ มีน้องชายร่วมท้อง 2 คน คือ นายชูศักดิ์ สอนอิ่มสาตร์ และ นายเสกสรร สอนอิ่มสาตร์ นักประพันธ์เพลงและนักเรียบเรียงเสียงประสาน

จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และ โรงเรียนนันทศึกษา ปีการศึกษา 2492

และจบอาชีวะชั้นสูงจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศูนย์เทคนิคกรุงเทพฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ปีการศึกษา 2495

การทำงาน

แก้

งานบันเทิง

แก้
 
อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ ถ่ายกับเครื่องบันทึกเสียงภาพยนตร์ 35 มม. ที่ห้องบันทึกเสียงคิงซาวด์ เลขที่ 194/15-16 ชั้น 2 ตึกยนต์ไท ถนนเพชรบุรี พระนคร กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2495 ได้เข้าทำงานที่แผนกแสงและเสียงของบริษัทกรุงไทยภาพยนตร์ ถนนหลานหลวง โดยเป็นช่างแก้เครื่องขยายเสียง นอกจากนี้ยังร่วมกับเพื่อนนักเรียนรับซ่อมเครื่องขยายเสียงหนังขายยาที่ส่งมาจากต่างจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย ต่อมาเมื่อบริษัทกรุงไทยฯ เตรียมทำโฆษณาหนังไทย 16 มม. เรื่อง "สิงห์ทมิฬ" ที่จะเข้าฉายโรงภาพยนตร์ศรีอยุธยา สี่ก๊กพระยาศรี อำนาจก็ต้องฉายหนังให้นักพากย์ซ้อมพากย์หนัง ระหว่างนั้นก็เกิดเผลอปากพูดกับเพื่อนๆ ทำนองว่า ตัวเองก็พากย์หนังเป็น ดูแล้วไม่ยาก ผู้อำนวยการบริษัทได้ยินก็เรียกอำนาจเข้าพบและให้ทดลองพากย์หนังให้ดู ตอนนั้นคิดว่า ตัวเองจะตกงาน แต่กลับกลายเป็นว่า อำนาจได้เป็นผู้ช่วยนักพากย์คือ "สุรพล แสงเอก" และ "สุรางค์ เชยเกษ" นักพากย์ชื่อดังในขณะนั้นพากย์เรื่อง สิงห์ทมิฬ ต่อมาเมื่อครูสุรพล แสงแอก ต้องไปควบคุมวงดนตรีอัศวินการละคร บริษัทจึงให้อำนาจพากย์กับสุรางค์แทน

อำนาจพากย์หนังเรื่อง สิงห์ทมิฬ ตามโรงหนังชั้นสองในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น โรงภาพยนตร์ศรีบางลำพู, โรงภาพยนตร์บางกระบือเธียเตอร์ , โรงภาพยนตร์เฉลิมเวียง, โรงภาพยนตร์เฉลิมเกียรติ กระทั่งหนังมาฉายที่โรงภาพยนตร์เวิ้งนาครเขษม พอถึงวันสุดท้าย คุณประสาน ตันสกุล ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เวิ้งนาครเขษมก็ชวนทั้งคู่มาพากย์ประจำที่โรงนี้ เรื่องแรกที่พากย์เป็นภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง "AN AMARICAN IN PARIS ตระเวนปารีส" นำแสดงโดย จีน เคลลี-เลสลี คารอง ตอนนั้นก็ยังใช้ชื่อพากย์ตามเดิมคือ สุรางค์กับอำนาจ แต่พอปลายปี 2497 คุณประสานไม่สามารถต่อสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ได้ อำนาจต้องหยุดพากย์ภาพยนตร์ แต่ไปรับแสดงละครวิทยุกับสุรางค์ เชยเกษ แทนเป็นครั้งคราว

อำนาจเข้าไปทำงานเป็นช่างแสงช่างไฟฟ้าที่โรงถ่ายภาพยนตร์ของ ส.อาสนจินดา ย่านสะพานปลา ถนนเจริญนคร ขณะนั้น ส.อาสนจินดา กำลังสร้างภาพยนตร์เรื่อง "จันทโครพ" นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์-สมควร กระจ่างศาสตร์ ระหว่างนั้นเอง อำนาจก็มีโอกาสกลับมาพากย์ภาพยนตร์อีก เป็นภาพยนตร์ไทย 16 มม.ขาวดำเรื่อง "ยอดนักเบ่ง" ต่อมาเมื่อ ชลอ ไตรตรองศร เกิดเบื่อการพากย์ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จำเจ อำนาจจึงได้พากย์ภาพยนตร์คู่กับ อัมพร ประทีปเสน แทน ต่อมาก็ได้พากย์ภาพยนตร์เรื่องนี้กับ วงจันทร์ ไพโรจน์ นักร้องชื่อดังเพราะนางเอกของเรื่องต้องร้องเพลงได้ แต่เมื่อพากย์จบที่โรงภาพยนตร์ควีนส์ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของภาพยนตร์ยอดนักเบ่งได้ขายภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สายอื่นไป

อำนาจจึงกลับมาช่วย ส.อาสนจินดา ตัดต่อและวางแผ่นเสียงประกอบภาพยนตร์เรื่อง จันทโครพ ซึ่งเข้าฉายที่โรงหนังศาลาเฉลิมไทย-เฉลิมบุรี เมื่อภาพยนตร์ออกโรงแล้ว ส.อาสนจินดา ก็ให้สำนักงานวชิราภาพยนตร์ ของคุณเปี่ยม ทองปรีชา และคุณสวาท เสถียร สี่แยกหลานหลวงเป็นผู้จัดจำหน่ายตามโรงภาพยนตร์ชั้นสองและโรงต่างจังหวัด เมื่อมีผู้มาเช่าภาพยนตร์จากสำนักงานเปี่ยม คุณเปี่ยมก็จะแนะนำเขาให้จ้างอำนาจไปเป็นนักพากย์ อำนาจจึงได้สัมผัสชีวิตการพากย์หนังกลางแปลงตามงานวัดและงานกลางแปลงทั่วไป

ต่อมาเมื่อคุณเปี่ยมซื้อภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เรื่อง หนูจ๋า (2497) จากหม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร มาฉายต่อก็มอบให้อำนาจเป็นผู้พากย์ภาพยนตร์เรื่องนี้และที่มาของชื่อนักพากย์ “ขุนแผน” ก็เกิดจากจุดนี้เองกล่าวคือ เมื่อจะมีคนนำภาพยนตร์ไปฉาย ก็มาถามคุณเปี่ยมเสมอว่า ใครจะพากย์หนูจ๋า คุณเปี่ยมก็ตอบว่า.. ไอ้ ขุนแผน ไง.. เพราะก่อนหน้านี้มักจะมีแฟนภาพยนตร์สาวๆ มาถามหาอำนาจอยู่เสมอ นัยว่า เสน่ห์แรง สาวๆ ติดกันเกรียวก็เลยโดนคุณเปี่ยมล้อว่าเป็น ขุนแผน

อำนาจเองก็ไม่ค่อยจะปลื้มกับชื่อขุนแผนเท่าไหร่ แต่เพราะผู้มีพระคุณตั้งให้ ก็เลยใช้ชื่อ ขุนแผน เรื่อยมา ขุนแผน ตระเวนพากย์ภาพยนตร์กลางแปลงแถวจังหวัดนครปฐม, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม กระทั่งกลางเดือนเมษายน 2497 ก็กลับกรุงเทพฯ มาเกณฑ์ทหาร จับสลากติดทหารเกณฑ์ผลัดหกซึ่งจะต้องรายงานตัววันที่ 2 ตุลาคม 2497 ระหว่างที่รอนั้น ขุนแผนก็กลับเข้าไปทำงานเป็นช่างแสงช่างไฟฟ้าที่โรงถ่าย ส.อาสนจินดา ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ระหว่างที่เป็นช่างไฟฟ้านั้น ก็มีเพื่อนแนะนำให้ขุนแผนรู้จักคุณทวีสุข โปตะวาณิช เจ้าของโรงภาพยนตร์เฉลิมราช จังหวัดชลบุรี และยังเป็นผู้จัดหาภาพยนตร์และจัดหานักพากย์ไปฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนา จังหวัดลำปาง โรงภาพยนตร์ชุมพรภาพยนตร์ ชุมพร ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า โรงหนังสายเตี่ยเม่งอู๋

ขุนแผนได้พากย์ภาพยนตร์ในสังกัดของเตี่ยเม่งอู๋ โดยเริ่มพากย์ภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง "สาวน้อยเลือดโรมัน" ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนา จังหวัดลำปาง โรงภาพยนตร์เฉลิมชล จังหวัดชลบุรี ต่อมาเมื่อเข้าเป็นทหารเกณฑ์อยู่กองพลทหารม้า สนามเป้า ก็ยังลามาพากย์ภาพยนตร์โรงชานกรุงด้วย หลังปลดประจำการ ขุนแผนก็ยังเดินหน้าพากย์ภาพยนตร์โรงไปเรื่อยๆ และได้ร่วมสร้างภาพยนตร์กับนายทุนหลายท่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้ร่วมหุ้นกับ กิตติพงศ์ เวชภูญาณ, ดารณี ณ วังอินทร์ และ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ตั้งบริษัท "จิตรวาณีภาพยนตร์" สร้างภาพยนตร์เงินล้านอีกมากมายหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแล้วนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์

ขุนแผนเริ่มคิดจะวางไมค์พากย์ภาพยนตร์ โดยอาศัยความรู้ที่เรียนมาร่วมกับน้องชาย เสกสรร สอนอิ่มสาตร์ เปิดห้องบันทึกเสียงคิงส์ซาวด์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2507 รับจ้างทำแผ่นเสียงโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ทำแผ่นสปอตโฆษณาภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2509 อำนาจในนาม ดุ่ย ณ บางน้อย ก็เริ่มจัดรายการวิทยุ คุยโขมงหกโมงเช้า ที่ สถานีวิทยุ ปตอ. AM 600 Hz สี่แยกเกียกกาย ระหว่างนั้นก็ยังรับพากย์ภาพยนตร์ไปด้วย

งานอัดเสียงของห้องบันทึกเสียงคิงส์ซาวด์ที่อำนาจภาคภูมิใจที่สุดก็คือ การที่ได้พากย์ภาพยนตร์และอัดเสียงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2512 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่บันทึกเสียงนักพากย์สด โดยที่ไม่ต้องไปพากย์ที่โรงภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง โดยขุนแผนพากย์เสียง มิตร ชัยบัญชา และ ล้อต๊อก หลังจากทำห้องอัดเสียงภาพยนตร์เต็มตัวแล้ว ขุนแผนก็จะพากย์ภาพยนตร์ให้กับคนที่เกรงอกเกรงใจกันเท่านั้น จะให้เวลากับการบริหารห้องอัดเสียงและจัดรายการวิทยุมากกว่า กระทั่งปี พ.ศ. 2516 จึงยุติการพากย์อัดเสียงให้กับภาพยนตร์

งานการเมือง

แก้
 
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย มอบของที่ระลึกให้ นายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์

ชีวิตส่วนตัว

แก้
 
"อำนาจ สอนอิ่มสาตร์" ให้ นายมนัส กิ่งจันทร์ และ นายเมืองไทย ภัทรถาวงศ์ เข้าสัมภาษณ์เรื่องพากย์ภาพยนตร์ เพื่อลงพิมพ์ในวารสารจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 27 ปีที่ 5 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2558

อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ เคยใช้ชีวิตร่วมกับนักพากย์ภาพยนตร์ชื่อดัง ดารณี ณ วังอินทร์ มีบุตรและธิดา 4 คน ชาย 2 คน และหญิง 2 คน และได้หย่าร้างกันจนในปี พ.ศ. 2518 ได้สมรสกับคุณพานทอง สอนอิ่มสาตร์ ถูกต้องตามกฎหมายไทย มีบุตรและธิดา 2 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 1 คน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

นายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศและเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

แก้

รางวัลเกียรติยศ

แก้

- พ.ศ. 2518 รางวัลกิติคุณสัมพันธ์ "สังข์เงิน" จัดโดย "สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย"

- พ.ศ. 2532 รางวัลพระราชทาน สายฟ้าทองคำ สาขานักจัดรายการวิทยุ จัดโดย "สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย" รับจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- พ.ศ. 2537 รางวัล "พ่อประชาธิปไตย" ได้รับการยกย่องจาก "สำนักงานสร้างเสริมเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี"

- พ.ศ. 2553 รางวัล "ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ" ได้รับการยกย่องจาก กระทรวงวัฒนธรรม

- พ.ศ. 2559 รางวัลเกียรติยศทางด้านวิทยุ รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 8 จัดโดย "สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์"

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, เล่ม 108, ตอน 53 ฉบับพิเศษ, 25 มีนาคม พ.ศ. 2534, หน้า 14
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา, เล่ม 109, ตอน 26, 22 มีนาคม พ.ศ. 2535, หน้า 10
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา, เล่ม 113, ตอนพิเศษ 7 ง, 22 มีนาคม พ.ศ. 2539, หน้า 13
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
  • บทที่ 650

ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ "ดุ่ย ณ บางน้อย คุยโขมงฯ เรื่อง ขุนแผน นักพากย์หนัง" โดย มนัส กิ่งจันทร์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้