อาทิตตปริยายสูตร
อาทิตตปริยายสูตร เป็นธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่หมู่ภิกษุชฎิล ทั้ง 1,003 รูป ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น ภิกษุชฎิล ทั้ง 1,003 รูป ส่งกระแสจิตไปตามวาระแห่งพระธรรมเทศนา จิตของพวกเธอ ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง สำเร็จป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยกันทั้งหมด และพระภิกษุชฏิลทั้งหมดนั้นก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ทำให้แคว้นมคธเป็นฐานอำนาจสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา
อาทิตตปริยายสูตร เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาแสดงถึงความรุ่มร้อนของจิตใจ (อินทรีย์ ๕) ด้วยอำนาจของกิเลส เปรียบได้กับความร้อนของไฟที่ลุกโพลงอยู่ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร แสดงให้เห็นว่าความร้อนที่แท้จริงคือความร้อนจากภายใน แต่ทว่าความสุขหรือความทุกข์ร้อนจากกิเลสทั้งปวงล้วนนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง คือตั้งอยู่ไม่ได้ตลอดไป ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือ น่าเบื่อหน่ายในความผันแปร พระสูตรนี้จึงเป็นพระสูตรสำคัญในพระพุทธศาสนา
เนื้อหาในพระสูตร
แก้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธรรมปริยาย แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาทิตตปริยายและธรรมปริยายเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อนไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ 2 อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยหูจะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ 2 อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูกจะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ 2 อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรส อันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้นจะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ 2 อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายยินทรีย์ด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายจะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ 2 อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นโทษไร้ผล เป็นความโง่เขลา ของบุคคลผู้เป็นอยู่ ตนลุอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้ บุคคลไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลายเราเห็นโทษอันนี้ แลว่าเป็นอาทีนพของบุคคลผู้เป็นอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน มิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จักษุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณไม่เที่ยง จักษุสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง
โสตินทรีย์ที่ บุคคลเกี่ยวด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน มิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า หูไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสตสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง
ฆานินทรีย์ที่บุคคลคว้านด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จมูก ไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง ฆานวิญญาณไม่เที่ยง ฆานสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง
ชิวหินทรีย์ที่บุคคลเฉือนด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน มิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ลิ้นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง
กายินทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า กายไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง กายวิญญาณไม่เที่ยง กายสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง ความหลับจงงดไว้ก่อน มิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ใจไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง มโนวิญญาณไม่เที่ยง
มโนสัมผัสไม่เที่ยง สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น ปัจจัยก็ไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ แม้ในมโนสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรียกว่าอาทิตตปริยาย และธรรมปริยาย ฉะนี้แล ฯ
ข้อความเดิมนำมาจากที่อ้างอิงข้างล่างนี้
อ้างอิง
แก้แต่ข้อความใหม่ ซึ่งถูกต้องตรงกับเรื่องในตอนนี้ ก็อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ นี้เช่นเดียวกัน แต่อยู่คนละข้อกัน ข้อความเดิม(ซึ่งไม่ตรงกับเรื่อง)อยู่ในข้อ ๓๐๓ แต่ข้อความที่ตรงกับเรื่อง อยู่ในข้อ ๓๑
นอกจากนี้ยังมีปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ (วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑)ข้อ ๕๕ อีกด้วย ข้อเสนอ : ผู้รับผิดชอบวิกิพีเดียควรนำข้อความนี้ไปแทนที่ข้อความเดิม รายละเอียดมีดังนี้ครับ
อาทิตตปริยายสูตร
[๕๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จ จาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล. ได้ยินว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑๐๐๐ รูป. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น. โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ... ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ... ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ... กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน ... มนะเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้น แล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี. ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. อาทิตตปริยายสูตร จบ
อ้างอิง
BUDSIR VI (พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
- พระไตรปิฎก ภาษาไทย เล่มที่ ๔ (วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑)ข้อ ๕๕ หน้า ๔๙
- พระไตรปิฎก ภาษาไทย เล่มที่ ๑๘ (สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)ข้อ ๓๑ หน้า ๑๘
อรรถกถา ดูที่ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล (ชุด ๙๑ เล่ม)เล่ม ๒๘ หน้า ๓๔
ดูเพิ่ม
แก้- คยาสีสะ สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงอาทิตตปริยายสูตร