อันธพาล
อันธพาล (อังกฤษ: Gangster) [2]ภาพยนตร์ไทยแนวอาชญากรรม ออกฉายในปี พ.ศ. 2555 กำกับโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ
อันธพาล | |
---|---|
กำกับ | ก้องเกียรติ โขมศิริ |
เขียนบท | ก้องเกียรติ โขมศิริ |
อำนวยการสร้าง | สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ |
นักแสดงนำ | กฤษฎา สุภาพพร้อม กฤษดา สุโกศล แคลปป์ สมชาย เข็มกลัด พรชัย หงษ์รัตนาภรณ์ นันทรัตน์ ชาวราษฎร์ วสุ แสงสิงแก้ว สาครินทร์ สุธรรมสมัย ภคชนก์ โวอ่อนศรี บุญส่ง นาคภู่ ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (นักแสดงรับเชิญ) สนธยา ชิตมณี (นักแสดงรับเชิญ) |
กำกับภาพ | สยมภู มุกดีพร้อม |
ดนตรีประกอบ | คณิศรสตูดิโอ |
บริษัทผู้สร้าง | บาแรมยู |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555 |
ความยาว | 114 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 27,133,221 บาท[1] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
เรื่องย่อ
แก้จ๊อด และ แดง เป็นนักเลงคู่หูกัน โดยที่จ๊อดยอมเดินตามหลังแดง ทั้ง ๆ ที่อาวุโสกว่า เพราะแดงเคยช่วยจ๊อดมาก่อน ขณะที่ทั้งคู่กำลังมีชื่อ เฮียเซ้ง ปังตอ นักเลงตรอกสลักหิน ขัดแย้งกับเฮียหลอเรื่องการเก็บส่วย แดงแสดงเจตนาว่าจะไม่ยอมเฮียเซ้ง จ๊อดจึงเอาด้วย จ๊อดสร้างชื่อขึ้นมาด้วยการสังหารเฮียเซ้ง จากการมัดมือด้วยเชือกแล้วดวลมีดกัน
ในขณะนั้น บริเวณตรอกสลักหิน หัวลำโพง จนถึง ตึก 7 ชั้น ในเยาวราช มีแก๊งอิทธิพลที่คุมโดยนักเลงจีนฉายา "สี่คิงส์" ที่ทำสิ่งผิดกฎหมายหมดทุกอย่าง ทั้งบ่อนการพนัน, ยาเสพติด, ค้าผู้หญิง โดยมีก๋ง เป็นเสมือนประมุขของแก๊งเหล่านี้ เมื่อก๋งเสียไปด้วยความชรา เฮียล้อจึงขึ้นพยายามมามีอิทธิพลแทน แต่ก็ขัดแย้งกับกำนันโต้ง กำนันท้องถิ่น ขณะที่ธง และเปี๊ยก 2 เด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้ที่ชื่นชอบแดงและจ๊อด เสมือนต้นแบบ จึงเข้ามาอยู่ในแก๊งด้วย ซึ่งในแก๊ง ปุ๊ ฉายา ระเบิดขวด เป็นผู้ที่บ้าคลั่งที่สุด ชอบข่มขืนและรังแกผู้หญิง จึงขัดแย้งกับแดง ซึ่งเป็นสุภาพบุรุษกว่า จ๊อดจึงตามไปยิงปุ๊ด้วยปืนลูกซองสั้น แต่กระบอกปืนแตกพลาดไปโดนผู้หญิงคนหนึ่งเข้าตาย จึงถูกจับเข้าคุก ส่วนแดงก็เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำตายขณะเดินทางไปภาคใต้ เพื่อหวังจะไปสร้างเครือข่ายใหม่ที่นั่น ส่วนปุ๊และดำก็ขัดแย้งกันเอง จนยิงกันตายทั้งคู่ในที่สุด
เมื่อพ้นโทษออกมา หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร ทหารก็ขึ้นเป็นใหญ่ ผู้การคำนึง นายทหารคนใหม่ต้องการจะกำจัดอิทธิพลของแก๊งเหล่านี้ ด้วยการใช้วิธีการข่มขู่ จนในที่สุด น้าหำ คนสนิทคนหนึ่งของเฮียล้อก็หักหลังด้วยการเป็นสายให้แก่ทหาร เฮียล้อจับได้ จึงสังหารพลอย ลูกสาวของน้าหำ ขณะที่ธงและเปี๊ยกก็แตกกัน เมื่อธงเห็นว่าจ๊อด หลังพ้นโทษออกมา เปลี่ยนไปไม่เหี้ยมโหดเหมือนเดิม จึงไปอยู่กับเฮียล้อ ส่วนกำนันโต้งก็ถูก โอวตี๋ สมาชิกในแก๊งผู้ถนัดการใช้ปืนกลสังหารด้วยการทุบหัวด้วยหินที่ไร่อ้อย และยังตามไปยิงผู้การคำนึงพร้อมกับธง
ในที่สุด เมื่อกลุ่มของจ๊อดไม่เป็นที่ต้องการของเฮียล้อแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจึงเปิดฉากยิงกันอย่างบ้าระห่ำ
นักแสดง
แก้- กฤษฎา สุภาพพร้อม...เปี๊ยก
- กฤษดา สุโกศล แคลปป์...จ๊อด ไอ้จ๊อด
- สมชาย เข็มกลัด...แดง/ แดง ไบเลย์
- พรชัย หงษ์รัตนาภรณ์...เฮียหลอ
- นันทรัตน์ ชาวราษฎร์...พลอย
- วสุ แสงสิงแก้ว...ผู้การคำนึง
- สาครินทร์ สุธรรมสมัย...ธง
- ภคชนก์ โวอ่อนศรี...โอวตี๋
- บุญส่ง นาคภู่...น้าหำ
- ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์...ทุย
- ปรีชา เกตุคำ...กำนันโต้ง
- พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง...เฮียเซ้ง/ เซ้ง ปังตอ
- สนธยา ชิตมณี...เส
เบื้องหลังและคำวิจารณ์
แก้อันธพาล เป็นเสมือนเป็นภาคต่อหรือตอนต่อให้สมบูรณ์จาก 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2540 ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของแก๊งนักเลงอันธพาลวัยรุ่น ที่มักขัดแย้งกันและไล่ฆ่าฟันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ในครั้งนี้ ได้ ก้องเกียรติ โขมศิริ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ ซึ่งเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ได้รับการจับตามองจากผลงานเรื่องก่อนหน้านี้หลายเรื่อง ในครั้งนี้เป็นภาพยนตร์ที่เล่าจากมุมมองของตัวผู้กำกับเอง[3]
ภาพยนตร์ได้รับเสียงวิจารณ์ว่างานสร้าง รวมถึงการแต่งตัวทำได้ดีไม่แพ้ 2499 อันธพาลครองเมือง เป็นอรรถรสทางสายตาที่น่าจดจำ เช่นเดียวกับบทภาพยนตร์ ที่สามารถเก็บรายละเอียดของตัวละครได้ครบถ้วนและมีความลึกตื้นหนาบางตามบทบาทความสำคัญของแต่ละคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครประกอบอย่างน้าหำ นักเลงรุ่นลายครามซึ่งนอกจากจะเสริมทัพในการเป็นตัวสีสันของเรื่อง ตัวละครตัวนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของชีวิตนักเลงอันธพาลออกมาได้อย่างลุ่มลึกสะเทือนอารมณ์อีกด้วย
ส่วนการแสดงต้องถือว่า กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ที่รับบทเป็น จ๊อด และภคชนก์ โวอ่อนศรี ที่รับบทเป็น โอวตี๋ มือปืนผู้พิศมัยแต่เฉพาะการฆ่า เข้าถึงบทบาทได้อย่างดีมาก และการดำเนินเรื่องยังสอดแทรกบทสัมภาษณ์จากบุคคลต่าง ๆ ทั้งชายและหญิง ที่เสมือนเป็นบุคคลที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ถือว่าเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ทำเนื้อเรื่องสะดุดแต่ประการใด เพราะมีครบทุกรสทั้งแอ็กชั่น, ตลกขบขัน, สุขเศร้าและซึ้ง ขณะที่ฉากแอ๊คชั่นก็ดูดิบเถื่อน สมจริง และเสมือนจะบอกว่า ภาพยนตร์มิได้สร้างมาจากเรื่องจริงทั้งหมด แต่เป็นการอ้างอิงมาจากปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้ [4]
อ้างอิง
แก้- ↑ 20 อันดับหนังไทยทำเงินประจำปี 2555
- ↑ อันธพาล (2012) จากสยามไซน
- ↑ ""ก้องเกียรติ โขมศิริ" วิถีอันธพาล 2012". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-10. สืบค้นเมื่อ 2012-06-20.
- ↑ บุญเรืองพะเนา, อภินันท์. "กดไลค์!! 'อันธพาลตัวแรง' แฟรงค์ เดอะสตาร์/อภินันท์". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-20. สืบค้นเมื่อ 2012-06-20.