อะเลคซันดรา คอลลอนไต

อะเลคซันดรา มีฮาอิลอฟนา คอลลอนไต (รัสเซีย: Алекса́ндра Миха́йловна Коллонта́й, นามสกุลเดิม ดอมอนตอวิช, Домонто́вич; 31 มีนาคม [ตามปฎิทินเก่า: 19 มีนาคม] 1872 – 9 มีนาคม 1952) เป็นนักปฏิวัติ นักการเมือง นักการทูต และนักทฤษฎีลัทธิมากซ์ชาวรัสเซีย เธอทำหน้าที่เป็นกรรมการราษฎรฝ่ายสวัสดิการสังคมในรัฐบาลของวลาดีมีร์ เลนินใน ค.ศ. 1917-1918 เธอเป็นผู้หญิงที่มีความโดดเด่นอย่างมากในพรรคบอลเชวิคและเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในคณะรัฐมนตรี[1]

อะเลคซันดรา คอลลอนไต
อะเลคซันดรา คอลลอนไต ประมาณ ค.ศ. 1900
เกิดอะเลคซันดรา มีฮาอิลอฟนา ดอมอนตอวิช
31 มีนาคม 1872
เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก, จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต9 มีนาคม ค.ศ. 1952(1952-03-09) (79 ปี)
มอสโก, สาธารณรัฐรัสเซีย, สหภาพโซเวียต
สัญชาติรัสเซีย
อาชีพนักปฏิวัติ, นักเขียน, นักการทูต
พรรคการเมืองพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย (1899–1906)
พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย (เมนเชวิค) (1906–1915)
พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย (บอลเชวิค) (1915–1918)
(ต่อมาคือพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย/มวลสหภาพ — สหภาพโซเวียต)
คู่สมรสวลาดีมีร์ ลูดวีโกวิช คอลลอนไต
ปาเวล วืยเบนโค
บุตรมีฮาอิล คอลลอนไต
ลายมือชื่อ

คอลลอนไตเป็นบุตรสาวของนายพลแห่งกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย คอลลอนไตยอมรับการเมืองที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในคริสต์ทศวรรษ 1890 และเข้าร่วมพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียใน ค.ศ. 1899 ในระหว่างการแตกแยกทางอุดมการณ์ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย เธอเข้าข้างฝ่ายเมนเชวิคของยูลิอุส มาร์ตอฟ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายบอลเชวิคของเลนิน หลังถูกเนรเทศออกจากรัสเซียใน ค.ศ. 1908 คอลลอนไตออกเดินทางไปทั้งยุโรปตะวันตกและสหรัฐ และสนับสนุนไม่ให้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใน ค.ศ. 1915 เธอแยกทางกับเมนเชวิคและกลายเป็นสมาชิกของพรรคบอลเชวิค

หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ใน ค.ศ. 1917 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ซาร์สละราชสมบัติ คอลลอนไตกลับมารัสเซียอีกครั้ง เธอสนับสนุนข้อเสนอที่รุนแรงของเลนิน และในฐานะสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรค โหวตให้ใช้นโยบายการก่อการกำเริบด้วยอาวุธซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคมและการสิ้นสุดของรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยอะเลคซันดร์ เคเรนสกี เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการราษฎรฝ่ายสวัสดิการสังคมในรัฐบาลโซเวียตชุดแรก แต่ในไม่นานเธอก็ลาออกเนื่องจากเธอไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาสันติภาพเบรสต์-ลิตอฟสค์ในกลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวนอกเหนือจากมารีเยีย สปีรีดอโนวา ที่มีบทบาทสำคัญในระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย[2]

ใน ค.ศ. 1919 คอลลอนไตได้ก่อตั้ง Zhenotdel ซึ่งทำงานเพื่อปรับปรุงสถานะของสตรีในสหภาพโซเวียต เธอเป็นผู้สนับสนุนการปลดปล่อยสตรีและสนับสนุนความรักอิสระ และต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลสำคัญในแนวคิดสตรีนิยมลัทธิมากซ์

คอลลอนไตพูดตรงไปตรงมาต่ออิทธิพลของข้าราชการเหนือพรรคคอมมิวนิสต์และแนวปฏิบัติภายในที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเข้าข้างฝ่ายค้านกรรมกรฝ่ายซ้ายใน ค.ศ. 1920 แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้และถูกกีดกัน โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองถูกขับออกจากพรรคอย่างหวุดหวิด ตั้งแต่ ค.ศ. 1922 เป็นต้นมา เธอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการทูตในต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งในนอร์เวย์ เม็กซิโก และสวีเดน ใน ค.ศ. 1943 เธอได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำสวีเดน คอลลอนไตเกษียณจากราชการทางการทูตใน ค.ศ. 1945 และเสียชีวิตที่กรุงมอสโกใน ค.ศ. 1952

อ้างอิง แก้

  1. Encyclopedia of Women's Autobiography, p. 326. - "In the first Soviet government, formed in the fall of 1917, Kollontai was appointed people's commissar (minister) for social welfare. She was the only woman in the cabinet but also the first woman in history who became a member of the government."
  2. Cole, IV, part II, p. 842.

บรรณานุกรม แก้

  • Cole, G.D.H. (1958). A History of Socialist Thought, volume IV: Communism and Social Democracy 1914-1931. London-New York: Macmillan-St. Martin's Press, parts I and II

แหล่งข้อมูลอื่น แก้