ออริกาโน
ช่อดอกของออริกาโน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Lamiales
วงศ์: Lamiaceae
สกุล: Origanum
สปีชีส์: O.  vulgare
ชื่อทวินาม
Origanum vulgare
L.

ออริกาโน (อังกฤษ: Oregano; US: /ɔːˈrɛɡən, ə-/[1] หรือ UK: /ˌɒrɪˈɡɑːn/;[2] ชื่อวิทยาศาสตร์: Origanum vulgare) เป็นพืชในสกุล Origanum ที่พบบ่อย อยู่ในวงศ์ Lamiaceae เป็นพืชพื้นเมืองในเขตอบอุ่นและทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของยูเรเชีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ออริกาโนเป็นพืชในวงศ์เดียวกับมินต์ ใช้เป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารอิตาลี ใส่ในพิซซา ซอส อาหารจานผักและเนื้อสัตว์ทุกชนิด ใบสด ๆ มีกลิ่นหอมแรงแต่ไม่เท่ากับแบบแห้ง นิยมใช้แบบแห้งในการปรุงอาหารมากกว่า

ลักษณะ แก้

ออริกาโนเป็นพืชยืนต้นมีเนื้อไม้ ความสูง 20–80 ซม. (8–31 นิ้ว) ลักษณะใบสีเขียวมะกอกรูปใบหอกออกตรงข้ามกัน ยาว 1–4 ซม. (1/21 1/2 นิ้ว) ดอกมีสีม่วงขนาด 3–4 มม. (1/83/16 นิ้ว) ผลิช่อในฤดูร้อน บางครั้งถูกเรียกว่ามาจอรัมป่า[3][4] สามารถเติบโตเป็นฤดูกาลในพื้นที่อากาศหนาวเย็นแต่มักจะไม่รอดในฤดูหนาว[5][6] ออริกาโนปลูกในต้นฤดูใบไม้ผลิ โดยเว้นระยะห่าง 30 ซม. (12 นิ้ว) ในดินที่ค่อนข้างแห้งและมีแสงแดดจัด มันจะเติบโตในช่วง pH ระหว่าง 6.0 (กรดอ่อน) และ 9.0 (ด่างอย่างแรง) โดยมีช่วงที่ต้องการระหว่าง 6.0 ถึง 8.0 เจริญได้ดีในภูมิอากาศทั่วไป โดยชอบสภาพอากาศที่ร้อนและค่อนข้างแห้ง[7]

นิรุกติศาสตร์ แก้

ออริกาโนเป็นคำในภาษาสเปนที่เริ่มใช้กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชื่อสกุล Origanum เป็นการถอดเป็นภาษาละตินของคำในภาษากรีกโบราณว่า "Ορίγανον" (orī́ganon) ซึ่งเป็นชื่อพืชเครื่องเทศที่บันทึกของฮิปพอคราทีสและอริสโตฟานเนสกล่าวถึงเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล[8] คำนี้เป็นคำผสมที่ประกอบด้วย ὄρος (óros) หมายถึง "ภูเขา" และ γάνος (gános) หมายถึง "ความสว่าง" ดังนั้นจึงแปลว่า "ความสว่างของภูเขา"[9] ชื่อสปีชีส์ vulgare เป็นภาษาละตินหมายถึงทั่วไป นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน คาร์ล ฟอน ลินเนีย ตั้งชื่ออย่างเป็นระบบให้กับสปีชีส์ดังกล่าวในหนังสือ Species plantarum ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1753

การใช้ประโยชน์ แก้

 
ออริกาโนแห้งสำหรับปรุงอาหาร

ใช้ประกอบอาหาร แก้

ออริกาโนใช้ประกอบการทำอาหาร โดยใช้ส่วนของใบสำหรับปรุงรสชาติ ซึ่งเมื่อตากแห้งจะมีความเข้มข้นของกลิ่นรสมากกว่าใบสด มีรสแบบเอิร์ธโทน, อบอุ่น และขมเล็กน้อย ซึ่งออริกาโนที่มีคุณภาพดีอาจมีรสเข้มข้นจนเกือบทำให้ลิ้นชา แต่พันธุ์ที่ปรับให้เข้ากับสภาพอากาศที่หนาวเย็นอาจมีรสชาติน้อยกว่า ปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ ฤดูกาล และองค์ประกอบของดิน ส่งผลต่อน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ และผลกระทบนี้อาจมากกว่าความแตกต่างระหว่างชนิดพันธุ์ย่อยต่าง ๆ สารประกอบทางเคมีที่มีส่วนช่วยในการปรุงแต่งกลิ่นรส ได้แก่ คาร์วาครอล, ไทมอล, ลิโมนีน, ปินีน, โอซิมีน และแคริโอฟิลลีน[10]

เป็นที่นิยมในการใช้เป็นเครื่องเทศหลักของอาหารอิตาลี ความนิยมในสหรัฐเริ่มต้นเมื่อทหารที่กลับมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำ "สมุนไพรพิซซา" กลับมาด้วย ซึ่งกล่าวกันว่าน่าจะรับประทานกันทางตอนใต้ของอิตาลีมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ[11] มักใช้กับการอบ, ผัด หรือย่าง ผัก, เนื้อสัตว์ และปลา ออริกาโนเข้ากันได้ดีกับอาหารรสเผ็ดเป็นที่นิยมทางตอนใต้ของอิตาลี ส่วนในภาคเหนือของประเทศมีความนิยมน้อยกว่าเนื่องจากมักนิยมใช้มาจอรัม

ออริกาโนถูกใช้อย่างแพร่หลายในอาหารเมดิเตอร์เรเนียนและอาหารละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารอาร์เจนตินา

 
น้ำมันหอมระเหยออริกาโนในขวดแก้ว

สรรพคุณทางยา แก้

ฮิปพอคราทีสใช้ออริกาโนเป็นยาฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับการรักษาโรคกระเพาะและระบบทางเดินหายใจ

ออริกาโนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เนื่องจากมีกรดฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูง[12][13] ในการศึกษาในหลอดทดลอง ยังแสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ต้านจุลชีพในการต่อต้านเชื้อ Listeria monocytogenes ที่ก่อโรคในอาหาร[12]

ในการแพทย์พื้นบ้านของนอร์เวย์ มีการใช้งานหลายวิธี บันทึกของแพทย์และนักประวัติศาสตร์การแพทย์ Ingjald Reichborn-Kjennerud ระบุว่า "ต้มในไวน์ใช้สร้างความอบอุ่นแก้ภาวะเฉื่อยชาในฤดูหนาวทุกชนิด บดผสมกับน้ำผึ้งสำหรับแก้อาการไอ เปลือกต้นชงดื่มแก้อาการเจ็บคอ, กำจัดพยาธิ และช่วยในการมองเห็น ใบเคี้ยวเพื่อแก้ปวดฟัน"[14]

น้ำมันหอมระเหย แก้

น้ำมันออริกาโนถูกนำมาใช้โดยการแพทย์พื้นบ้านมานานหลายศตวรรษ[15] น้ำมันหอมระเหยสกัดจากส่วนใบของออริกาโน ออริกาโนหรือน้ำมันจากออริกาโนอาจใช้เป็นอาหารเสริม แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ผลใด ๆ ต่อสุขภาพ[15][16]

สีย้อม แก้

ในยุโรปเหนือ ออริกาโนใช้ในการย้อมผ้าขนสัตว์ ทำให้มีสีแดงเข้มหรือสีน้ำตาล[17][18]

ในการเลี้ยงผึ้ง แก้

ในเอเชียกลาง ออริกาโนเป็นพืชน้ำหวานที่ให้ผลผลิตน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดี[19] สมุนไพรออริกาโนแห้งใช้ในการเลี้ยงผึ้งเพื่อต่อสู้กับมอดขี้ผึ้งและมด[19]

อ้างอิง แก้

  1. "American: Oregano". Collins Dictionary. n.d. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  2. "British: Oregano". Collins Dictionary. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  3. "Origanum vulgare L. oregano". Plants Database, United States Department of Agriculture. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
  4. "Growing Culinary Herbs in Ontario". Ontario Ministry of Agriculture, Food & Rural Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 July 2010. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
  5. Peter, K. V. (2004). "14.3.1 Growth habit of wild oregano populations". Handbook of herbs and spices. Vol. 2. Abington Hall, Abington: Woodhead Publishing Limited. p. 219. ISBN 1-85573-721-3. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
  6. "Herbs". Government of Saskatchewan. September 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2011. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
  7. "Oregano and Marjoram". Ontario Ministry of Agriculture, Food and Rural Affairs, Guelph, Canada. 17 October 2012. สืบค้นเมื่อ 31 January 2017.
  8. Lid, J.; Lid, D. T. (2005). Elven, R. (บ.ก.). Norsk flora. Oslo: Samlaget. ISBN 82-521-6029-8.
  9. "Oregano". Online Etymology Dictionary. Douglas Harper. สืบค้นเมื่อ 6 October 2016.
  10. Mockute, Danute; Bernotiene, Genovaite; Judzentiene, Asta (2001). "The essential oil of Origanum vulgare L. Ssp. Vulgare growing wild in Vilnius district (Lithuania)". Phytochemistry. 57 (1): 65–9. doi:10.1016/S0031-9422(00)00474-X. PMID 11336262.
  11. Martyris, Nina (9 May 2015). "GIs Helped Bring Freedom To Europe, And A Taste For Oregano To America". NPR. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
  12. 12.0 12.1 Faleiro, Leonor; และคณะ (2005). "Antibacterial and Antioxidant Activities of Essential Oils Isolated from Thymbra capitata L. (Cav.) and Origanum vulgare L". J. Agric. Food Chem. 53 (21): 8162–8168. doi:10.1021/jf0510079. PMID 16218659.
  13. Dragland, Steinar; และคณะ (1 May 2003). "Several culinary and medicinal herbs are important sources of dietary antioxidants". J Nutr. 133 (5): 1286–1290. PMID 12730411.
  14. Reichborn-Kjennerud, I. (1930). Den gamle urtegård : lægeurter fra middelalderen (ภาษานอร์เวย์). Sarpsborg: Borgarsyssel museum. pp. 22–23.
  15. 15.0 15.1 "Oregano". Drugs.com. 2016. สืบค้นเมื่อ 7 October 2016.
  16. "Oregano". MedlinePlus, US National Library of Medicine. 2016. สืบค้นเมื่อ 7 October 2016.
  17. Borgen, Liv (2006). Urtegleder. Naturhistorisk museum, Universitetet i Oslo. pp. 69–71. ISBN 8279700072.
  18. Nielsen, Esther (1976). Farging med planter (ภาษานอร์เวย์). Oslo: Dreyer. p. 49. ISBN 8209014382.
  19. 19.0 19.1 Абрикосов Х. Н. и др. (1955). "Душица". Словарь-справочник пчеловода. Сост. Федосов Н. Ф. (ภาษารัสเซีย). М.: Сельхозгиз. p. 96. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-09-10. Архивированная копия (ภาษารัสเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-07. สืบค้นเมื่อ 2011-09-07.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้