อมร อมรรัตนานนท์
นายอมร อมรรัตนานนท์ (เกิด: 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 ที่อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองชาวไทย
อมร อมรรัตนานนท์ | |
---|---|
เกิด | อมร อมรรัตนานนท์ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | อมรเทพ อมรรัตนานนท์ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี (ชื่อเดิม) |
การศึกษา | โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม โรงเรียนวัดราชาธิวาส |
อาชีพ | นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สื่อมวลชน |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2516–ปัจจุบัน |
มีชื่อเสียงจาก | เข้าร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา แนวร่วมคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย |
ส่วนสูง | 171 cm |
พรรคการเมือง | พรรคประชาธิปัตย์ (2561–ปัจจุบัน) |
ญาติ | พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) พรรคการเมืองใหม่ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) |
ประวัติ
แก้จบประถมต้นที่โรงเรียนบ้านหนองเขื่อนช้าง ประถมปลายโรงเรียนวิหารแดง มัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ จากนั้นได้เข้าสู่ขบวนการนักศึกษา จากการขอสมัครเป็นเป็นผู้ปฏิบัติงานของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ตึกสันทนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถือเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา ที่มีบทบาทสำคัญ โดยก่อนหน้านั้นเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนในปี พ.ศ. 2519 และนำนักเรียนขาสั้นเข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่จะหนีเข้าป่า เฉกเช่นนักศึกษาคนเดือนตุลาอื่น ๆ ในยุคนั้น โดยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เขตงานสุราษฎร์ธานี โดยมีเพื่อนร่วมเขตงานเดียวกันคือ นายสุวิทย์ วัดหนู หลังจากนั้นเมื่อเกิดวิกฤตป่าแตก จึงกลับเข้าหาครอบครัวทำมาหากิน เหมือนนักศึกษาคนอื่น ๆ ที่ออกจากป่าในช่วงนั้น
ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้เข้าร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขับไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และต่อมาเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา ปี พ.ศ. 2540–42
ในปี พ.ศ. 2552 นายอมร ได้เปลี่ยนชื่อตัวเองมาเป็น อมรเทพ อมรรัตนานนท์ และ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี ตามลำดับ แต่ปัจจุบันได้กลับมาใช้ชื่อเดิม
บทบาทการเมือง
แก้นายอมร เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย เมื่อมีการจัดตั้งพรรค โดยได้รับการชักชวนจากนายภูมิธรรม เวชยชัย ให้เข้าร่วมคิดร่วมสร้างพรรค หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ชื่อของนายอมรเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และได้รับแต่งตั้งจากนายสมศักดิ์ให้เข้ารับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกร แต่เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในกองทุนฯ ทำให้ต้องลาออกในระยะเวลาต่อมา และต่อมา นายอมรได้เข้าร่วมการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย
นายอมร ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคมัชฌิมาธิปไตย และลงเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 ในเขต 12 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตบางกอกน้อย ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา[1] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[2]
ในปี พ.ศ. 2551 ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปักหลักชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายอมรซึ่งขณะนั้นยังคงใช้ชื่อว่า อมร มีบทบาทเป็นโฆษกบนเวทีคู่กับนายพิชิต ไชยมงคล และถูกหมายจับร่วมกับแกนนำและผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ อีก 9 คน ในการบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 สิงหาคม ปีเดียวกัน รวมทั้งถูกออกหมายเรียกในข้อหาบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิในปลายปีเดียวกันด้วย[3]
ในปี พ.ศ. 2553 ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ พร้อมกับลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในเขตพระนคร[4] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในปี พ.ศ. 2556–57 ได้เข้าร่วมชุมนุมกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) อันเป็นแนวร่วมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น
ในปลายปี พ.ศ. 2561 ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการอนุมัติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่เขต 2 จังหวัดสระบุรี ซึ่งประกอบด้วย อำเภอแก่งคอย วิหารแดง มวกเหล็ก วิหารแดง วังม่วง ในการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ อมร ลั่นมัชฌิมาเสียงตอบรับดี พัทลุง - กาญจนบุรี คึกคัก จากกระปุกดอตคอม
- ↑ [ลิงก์เสีย] พันธมิตรตั้งพรรค ไม่ใช่เรื่องแปลก จากโอเคเนชั่น
- ↑ ความเคลื่อนไหวการเมือง เปิดชื่อ 79 พธม. ถูกหมายเรียกก่อการร้าย จอย-ตั้วโดนด้วย
- ↑ โหมโรง...เลือกตั้ง"ส.ก.-ส.ข." สมัครวันแรก162คน เปิดชื่อผู้สมัคร ส.ก. ทุกเขตจากมติชน
- ↑ ""อมร อมรรัตนานนท์" เปิดใจสังกัดพรรคปชป.หวังเดินหน้าประเทศให้หลุดจากวงจรอำนาจอุบาทว์". ผู้จัดการออนไลน์.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้