อภิวันท์ วิริยะชัย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย (8 สิงหาคม 2492 – 6 ตุลาคม 2557) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
อภิวันท์ วิริยะชัย | |
---|---|
อภิวันท์ใน พ.ศ. 2551 | |
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 | |
ดำรงตำแหน่ง 22 มกราคม 2551 – 10 พฤษภาคม 2554 | |
ก่อนหน้า | ลลิตา ฤกษ์สำราญ |
ถัดไป | วิสุทธิ์ ไชยณรุณ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2492 อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (65 ปี)[1] ประเทศฟิลิปปินส์ |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2516–2534) ความหวังใหม่ (2534–2541) ไทยรักไทย (2541–2549) ชาติไทย (2549) ประชาราช (2549–2550) พลังประชาชน (2550–2551) เพื่อไทย (2551–2557) |
คู่สมรส | รัชนี วิริยะชัย[2] |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
สังกัด | กองทัพบกไทย |
ยศ | พันเอก |
ประวัติ
แก้พันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย มีชื่อเล่นว่า "เปีย" เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของนายฟูม กับนางซิวหง วิริยะชัย มีพี่น้อง 3 คน และเป็นวิศวกรออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง อาคารสมเด็จย่า ๙๐ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร
ในด้านการเมือง เป็น ส.ส.จังหวัดนนทบุรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2544 ในนามพรรคไทยรักไทย และเป็นอดีตคนสนิทของ เสนาะ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย หลังจากนายเสนาะลาออกจากพรรคจึงเข้าร่วมกับกลุ่มคนสนิทของศาสตราจารย์พิเศษทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค
พ.อ.อภิวันท์ เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมจากการเข้าร่วมเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ผู้ถูกจับกุมจากการไปร่วมปราศรัยหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ พักอาศัยอยู่ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 และยังเป็นผู้ตั้งฉายาบ้านพักสี่เสาฯ ว่าเป็น วิมานสีม่วง ต่อมาเมื่อช่วงต้น พ.ศ. 2551 เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองโดยการสนับสนุนจากแกนนำ นปช.หลายคนในพรรคพลังประชาชนขณะนั้น ต่อมา พ.อ.อภิวันท์ ได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน
ในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย ได้ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกไปรายงานตัว เขาเดินทางไปพบตามสถานที่ที่กำหนดและภายหลังจากนั้นเขาเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากคาดว่าจะถูกดำเนินคดีใน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีขึ้นปราศรัยเวที นปช.กล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในท้องที่ สน.ชนะสงคราม[3]
ประวัติการศึกษา
แก้- โรงเรียนวัดนวลนรดิศ มัธยมศึกษา
- โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 8
- โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 19 ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วทบ.) ทบ. (พ.ศ. 2515)
- สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ (ILLINNOIS INSTITUTE OF TECHNOLOGY; IIT.) เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิศวกรรมโยธา โดยใช้ทุนของกองทัพบก ในระดับปริญญาโท (พ.ศ. 2519-พ.ศ. 2521) และใช้ทุนของทางมหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาเอก (พ.ศ. 2521-พ.ศ. 2524)
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 64
ครอบครัว
แก้ด้านครอบครัวสมรสกับ นางรัชนี วิริยะชัย (สกุลเดิม:อยู่ญาติวงศ์) มีบุตร 1 คน
ประสบการณ์ทางการเมือง
แก้- ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2538[4]
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
- รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 (พ.ศ. 2551-พ.ศ. 2554)[5]
- รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคมคนที่หนึ่ง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี (พ.ศ. 2539, พ.ศ. 2544, พ.ศ. 2548, พ.ศ. 2551)
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พ.ศ. 2538-พ.ศ. 2539)
- เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2540-พ.ศ. 2541) (นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่)
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2536)
- ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 23[6]
ถึงแก่อนิจกรรม
แก้พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ได้เข้ารับการรักษาจากอาการป่วยจากโรคปอด และเบาหวาน ก่อนจะเสียชีวิตเนื่องจากภาวะปอดติดเชื้อ เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ญาติดำเนินการนำศพกลับมายังไทย โดยนำศพตั้งบำเพ็ญกุศล ที่วัดบางไผ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[7]
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ 'อภิวันท์ วิริยะชัย' อดีต ส.ส.เพื่อไทย เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 65 ปี
- ↑ บัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556
- ↑ ศาลอนุมัติหมายจับ "พ.อ.อภิวันท์" อดีตรองปธ.สภา และแกนนำนปช. คดีหมิ่นเบื้องสูง[ลิงก์เสีย]
- ↑ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๓๕/๒๕๓๘ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๙, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑