อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

(เปลี่ยนทางจาก อนุสัญญาพันธุฆาต)

อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (อังกฤษ: Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) เป็นสนธิสัญญาซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีข้อมติที่ 260 ตกลงรับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1948 และเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 1951[1] อนุสัญญานี้กำหนดบทอธิบายศัพท์ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ตามกฎหมาย และเป็นผลมาจากการรณรงค์ยาวนานหลายปีของราฟาเอล เล็มกิน (Raphael Lemkin) นักนิติศาสตร์ แยร์ ออรอน (Yair Auron) นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอล กล่าวว่า "เมื่อราฟาเอล เล็มกิน สร้างศัพท์ว่า 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' เมื่อปี 1944 นั้น เขาเอาการทำลายล้างชาวอาร์เมเนียเมื่อปี 1915 มาเป็นตัวอย่างสำคัญของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"[2] อนุสัญญากำหนดให้รัฐทั้งหลายที่เข้าร่วมอนุสัญญาต้องป้องกันและลงโทษการกระทำทั้งหลาย ๆ ที่ก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งในยามสงบและยามรบ ปัจจุบัน มีรัฐ 144 รัฐให้สัตยาบันแก่อนุสัญญานี้แล้ว

  • อนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  • Genocide Convention
  • อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  • Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide
วันลงนาม9 ธันวาคม 1948
ที่ลงนามปารีส
วันมีผล12 มกราคม 1951
ผู้ลงนาม41
ภาคี144 (รายชื่อ)
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ

บทอธิบายศัพท์ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แก้

อนุสัญญานี้ ข้อ 2 กำหนดบทอธิบายศัพท์ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ว่า เป็น

...การอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่กระทำลงโดยเจตนาจะทำลายกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนาทั้งกลุ่มหรือบางส่วน คือ

(ก)   ฆ่าสมาชิกของกลุ่ม
(ข)   ทำให้สมาชิกของกลุ่มได้รับอันตรายแก่กายหรือใจอย่างสาหัส
(ค)   กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้กลุ่มมีสภาพชีวิตที่คาดหมายได้ว่า จะก่อความเสื่อมโทรมทางกายทุกส่วนหรือบางส่วน
(ง)   ใช้มาตรการอันประสงค์จะป้องกันการกำเนิดภายในกลุ่ม
(จ)   ใช้กำลังโยกย้ายถ่ายเทเด็กของกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง


— อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ข้อ 2[3]

นอกจากนี้ ข้อ 3 ของอนุสัญญา กำหนดความผิดอาญาที่จะต้องถูกลงโทษตามอนุสัญญานี้ คือ

(ก)   ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
(ข)   สมคบกันเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
(ค)   ปลุกปั่นโดยตรงและเปิดเผยเพื่อให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
(ง)   พยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
(จ)   ร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์


— อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ข้อ 3[3]

อนุสัญญานี้ได้รับการตกลงรับเพื่อกำหนดการทั้งหลายที่กระทำลงทำนองเดียวกับในเหตุการณ์นาซีเยอรมนีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้เป็นความผิด เดิมที ต้นร้างกำหนดให้การฆ่าทางการเมืองเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย แต่สหภาพโซเวียต และชาติอื่น ๆ แย้งว่า การกระทำต่อกลุ่มที่ระบุว่ายึดถือความเห็นทางการเมืองหรือมีสถานะทางสังคมบางอย่างนั้นไม่ควรถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[4][5] ต่อมาเมื่อประนีประนอมทางการเมืองและการทูตกันแล้ว จึงตัดข้อความดังกล่าวออก

อ้างอิง แก้

  1. "Status of the Convention". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-24. สืบค้นเมื่อ 2014-02-16.
  2. Auron, Yair, The Banality of Denial, (Transaction Publishers, 2004), 9.
  3. 3.0 3.1 Text of the Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide, website of the UNHCHR.
  4. Robert Gellately & Ben Kiernan (2003). The Specter of Genocide: Mass Murder in Historical Perspective. Cambridge, UK: Cambridge University Press. p. 267. ISBN 0-521-52750-3.
  5. Staub, Ervin. The Roots of Evil: The Origins of Genocide and Other Group Violence. Cambridge, UK: Cambridge University Press. p. 8. ISBN 0-521-42214-0.]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้