รองศาสตราจารย์ อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย[1] ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์[2] กรรมการหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับผู้บริหารระดับสูง และ หลักสูตรการบริหารภาครัฐและกฎหมายมหาชน สถาบันพระปกเกล้า อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย[3] อดีตผู้บริหารสถาบันการเงิน อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง[4] อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต[5]กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริการในคณะกรรมการสภาการศึกษา [6] คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อนุสรณ์ในปี 2556
เกิด2 มีนาคม พ.ศ. 2509 (58 ปี)
จังหวัดแพร่ ประเทศไทย
อาชีพนักวิชาการ นักบริหาร
ตำแหน่งนักวิชาการ นักบริหาร นายธนาคาร นักกิจกรรมประชาธิปไตยและนักกิจกรรมทางสังคม
บุพการี
  • วิลาวัลย์ ประเสริฐศักดิ์ ธรรมใจ (มารดา)

ประวัติ แก้

อนุสรณ์ ธรรมใจ หรือ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2509 เกิดและเติบโตในวัยเด็กที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลแพร่และศึกษาต่อในระดับชั้น ป. 1- ป. 4 ที่โรงเรียนเจริญศิลป์ จ. แพร่ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” เกิดในครอบครัวชั้นชนกลาง บิดาและมารดาเป็นนักธุรกิจประกอบกิจการค้าขายและทำกิจการรับเหมาก่อสร้าง มีพี่น้องร่วมสายโลหิต 3 ท่าน เขาได้ซึมทราบความทุกข์ยากของคนในชนบท ความด้อยพัฒนาในต่างจังหวัด บิดาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแตกในสมองตั้งแต่เขาอายุเพียง 7 ขวบ เขารับรู้ถึงความไม่พร้อมของระบบบริการทางการแพทย์ในต่างจังหวัดเป็นอย่างดี และตั้งใจว่าจะมีส่วนในการผลักดันให้บริการสาธารณสุขในประเทศไทยดีขึ้นเมื่อมีโอกาสในวันข้างหน้า ในขณะที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[7] ปี พ.ศ. 2548-2549 เขาพยายามพัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะหลายเรื่องรวมทั้งการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขในไทยด้วย และโครงการปฏิรูปประเทศไทยก็ได้มีการรณรงค์ในช่วงดังกล่าว ในระหว่างการอภิปรายภายใต้โครงการปฏิรูปประเทศไทย ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลาคม ราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 เขาได้ร้องไห้ด้วยความหดหู่ต่อสภาพความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองในประเทศ ปัญหาวิกฤติทุจริตคอร์รัปชันและการไม่ยึดถือต่อหลักการประชาธิปไตย ด้วยการรัฐประหาร หรือแทรกแซงด้วยอำนาจนอกระบบ

การศึกษา แก้

เมื่อจบการศึกษาขั้นต้นที่จังหวัดแพร่แล้ว ได้เดินทางมาศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เขาได้รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นในรอบ 60 ปีของโรงรียนแห่งนี้ด้วยและต่อมาได้สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งจบ ม. 6 โดยในระหว่างเรียนได้ทำกิจกรรมหลายประเภท เป็นประธานชมรมบำเพ็ญประโยชน์ เป็นรองประธานชมรมวาทศิลป์ ในระหว่างที่เป็นประธานชมรมบำเพ็ญประโยชน์ ได้ระดมทุนจัดสร้างสนามเด็กเล่นให้กับเด็กพิการและเด็กกำพร้าที่ บ้านปากเกร็ด หลังจากนั้นได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเลือกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอันดับแรกและสอบเข้าได้เป็นอันดับที่หนึ่งสำหรับสายศิลป์-คณิต จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA สหรัฐอเมริกา ปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Fordham University[8] และปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเงินและการพัฒนา จาก Fordham University, New York สหรัฐอเมริกา ศึกษานิติศาสตร์ (ภาคบัณฑิต) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองปี ผ่านงานในระดับบริหารมาหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศไล่เรียงตั้งแต่ เครือเจริญโภคภัณฑ์, C.P. (USA) Inc. ธนาคาร ซิตี้แบงก์ประเทศไทย ธนาคาร ไทยธนาคาร (ปัจจุบัน คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย) ต่อมาจึงก่อตั้งและดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด (ปัจจุบัน คือ CIMB-Principal Asset Management co.) อดีตกรรมการบริษัท Family Know How (บริษัทในเครือตลาดหลักทรัพย์) นอกจากนี้ยังมีบทบาทในกิจกรรมสาธารณะ เช่น อดีตกรรมการอดีตกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะ และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี อดีตประธานโครงการปฏิรูปประเทศไทย อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักนายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการองค์กรนิรโทษกรรมสากล (ประเทศไทย) อดีตกรรมการและประธานกรรมการควบคุมภายในบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด อดีตประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงและกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อดีตกรรมการ มูลนิธิ นิคม จันทรวิทุร เป็นต้น

การทำงานหลังการรัฐประหาร 2549 และบทบาทต่อสาธารณะ แก้

หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยายน ได้แสดงจุดยืนประชาธิปไตยจนกระทั่งมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานในภาคการเงิน จึงได้หันมาทำงานทางด้านวงการศึกษาและสื่อสารมวลชนเต็มตัว ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็น คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบันพร้อมกับทำหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานสาธารณประโยชน์นั้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ในปี พ.ศ. 2551 ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เขาได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันและมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งนี้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงแม้นต้องสนองนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่ในบางนโยบายมีความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของกิจการนี้มาก เขาได้รับโอกาสในการทำงานในการทำหน้าที่ในภาคการเงินและนโยบายการเงินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและยังทำหน้าที่กรรมการตรวจสอบอีกด้วย บทบาทในฐานะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย "ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" ได้ร่วมอนุมัติให้มีการจัดตั้้งสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ และยังนำเสนอนโบายที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่าง การยกเลิกการใช้ธนบัตรบางรุ่นเพื่อสกัดกั้นการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาวิกฤติในประเทศไทย นโยบายและแนวทางดังกล่าวได้มีการดำเนินการในประเทศอินเดียโดยประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ผู้ทุจริตคอร์รัปชันได้รับผลกระทบและแก้ปัญหาการทุจริตได้ระดับหนึ่ง การเสนอแนวทางนี้ในประเทศไทยโดย "ดร. อนุสรณ์" ไม่ได้รับการตอบสนอง นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มียุทธศาสตร์ในการทำให้ "เงินบาท" กลายเป็นเงินสกุลสำคัญของอาเซียนหรือพัฒนาเงินบาทให้เป็นเงินสกุลภูมิภาค

ด้วยความตั้งใจในการเข้ามาปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาคการเงินและนโยบายการเงิน "อนุสรณ์ ธรรมใจ" ได้ตัดสินใจเข้ามาสมัครเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยใน ปี พ.ศ. 2563[9] แต่ไม่ได้การสรรหาเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีสื่อมวลชนบางส่วนตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการสรรหาที่มีการกำหนดตัวผู้สมัครที่จะได้รับการแต่งตั้งไว้แล้ว การเปิดรับสมัครการสรรหาเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น[10]

ได้ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ คณะกรรมการกำกับการบริหารนโยบายหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ กรรมการในอนุกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง[11] ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปพัฒนากิจการประปาให้ดียิ่งขึ้น ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการ การประปาส่วนภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2556 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 “อนุสรณ์ ธรรมใจ” ได้เคลื่อนไหวและแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพพร้อมทั้งเกิดความสมานฉันท์ปรองดองในประเทศ บทบาทเหล่านี้ได้แสดงออกผ่านทางงานวิชาการ งานสื่อมวลชนที่ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” ทำอยู่ รวมทั้งในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง ในฐานะคณะกรรมการเสวนาเพื่อแสวงหาทางออกประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นและเคยเป็นที่ปรึกษาและกรรมการให้องค์กรต่างๆ เช่น กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรรมการ บมจ อสมท, กรรมการบริหารกองทุนกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กทช กรรมการมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ อนุกรรมการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กรรมการกำกับนโยบายบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เป็นต้น รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ Commentator FM 96.5 รายการ ECON BIZZ รายการย้อนอดีตสู่อนาคต ช่วงมองเศรษฐกิจ ข่าวภาคค่ำ ช่อง 9 อสมท และ รายการ Tax Talk Biz Focus ทาง TNN2 TrueVision8 รายการถกอดีต ส่องอนาคต ทางช่อง 11 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ในฐานะกรรมการบริษัทมหาชน เขาได้รับรางวัลคณะกรรมการดีเลิศแห่งปี 3 ปีซ้อนและคณะกรรมการตรวจสอบดีเด่น ในฐานะ กรรมการ บมจ บางจากปิโตรเลียม หลังจากได้ทำเข้าร่วมฟื้นฟูฐานะกิจการและปัญหาทางการเงินของบางจาก ร่วมกับ ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ คุณพิชัย ชุณหวชิระ คุณสมใจนึก เองตระกูล ก็ได้ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการ บมจ บางจากปิโตรเลียม[12]และประธานกรรมการตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2559 จนบริษัทมีฐานะมั่นคงทางธุรกิจจึงได้ไปทำหน้าที่เป็น กรรมการบริษัทอุบลไบโอเอทานอล อยู่ระยะหนึ่ง จึงกลับมารับหน้าที่เป็นประธานบริษัทในเครือบาง บริษัทบางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด[13]

หลังจากได้ทำงานในภาคธุรกิจมายาวนาน จึงได้ใช้เวลาส่วนใหญ่มากขึ้นกับงานทางด้านสังคม และ การศึกษา รวมทั้งการขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และ มีระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรมผ่านบทบาทการเป็นนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะ รวมทั้งบทบาทในฐานะประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีการจัดเสวนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ "PridiTalk" และ ยังได้ทำหน้าที่ปฏิรูปและประเมินเพื่อพัฒนาระบบราชการและองค์กรของรัฐให้ดีขึ้นผ่านการทำหน้าที่ในฐานะ อนุกรรมการธรรมาภิบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ[14] และ ทำหน้าที่คณะทำงานประเมินผล "รางวัลเลิศรัฐ" สำหรับหน่วยราชการที่ทำได้ตามเกณฑ์ PMQA และ การพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0

ทั้งนี้นายอนุสรณ์ ธรรมใจเป็นนักวิชาการและนักบริหารที่มีความปรารถนาในการที่ต้องการเห็นประเทศต่างๆอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติธรรม ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและอำนาจการปกครองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น เขาจึงอุทิศตนในบทบาทต่างๆไม่ว่าจะในฐานะผู้นำนักศึกษา ในฐานะสื่อมวลชน[15] ในฐานะนักวิชาการ ในฐานะนักกิจกรรมทางสังคมและผู้บริหารองค์กรต่างๆในการรณรงค์ ขับเคลื่อน เสนอความเห็นต่อสาธารณชนและทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อระบบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตย และมีความมุ่งมั่นให้เกิดการเคารพในสิทธิมนุษยชนสากลเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติโดยรวม[16]

การทำงาน แก้

ก่อน “ดร. นุ” ผันตัวเองมาทำงานภาคเอกชนและแวดวงการเงินการธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 25 ปี เคยทำงานสื่อมวลชนช่วงจบการศึกษาใหม่ๆ และ ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นอดีตผู้นำนักศึกษา นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯปี 31 และกรรมการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานสหพันธ์นักศึกษาไทยในสหรัฐฯ ปี 34-36 มีบทบาทในการผลักดันให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง การถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาฯ การเปิดเผยทรัพย์สินของนักการเมือง กฎหมายประกันสังคม และการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนผู้ด้อยโอกาส และร่วมพลักดัน รัฐธรรมนูญปี ๔๐ (ฉบับประชาชน) เป็นต้น ช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 40 “อนุสรณ์ ธรรมใจ” ได้ร่วมกับ ศ. นิคม จันทรวิทุร นักวิชาการด้านแรงงานท่านอื่นๆ และผู้นำแรงงาน ผลักดันให้มีการใช้ระบบประกันการว่างงานให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547 เขาได้แสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์และได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองในหลายเรื่องด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2551 ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ทั้งที่รู้ว่าโอกาสในการชนะเลือกตั้งไม่มาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 50 ให้มีสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ ได้เพียงท่านเดียว (รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้มีสมาชิกวุฒิสภาได้ถึง 18 ท่าน) เพื่อประกาศจุดยืนประชาธิปไตย เรียกร้องให้ สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง และต้องการไปผลักดันให้เกิดขบวนการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ และนำเสนอตัวเองในฐานะที่เป็นกลางทางการเมืองแต่ไม่สามารถฝ่ากระแสความขัดแย้งทางการเมืองแบบสุดขั้วได้ และขณะนั้นกระแสและอิทธิพลของคณะรัฐประหาร คมช ยังคงอยู่ เขาจึงไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ก็ได้คะแนนเสียงจากประชาชนไม่น้อย มากกว่าสองแสนคะแนน จุดยืนทางการเมืองของเขาจึงยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งและต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ต้องการให้มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่มีความเป็นธรรม โดยบทบาทและแนวคิดจึงมีความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางอนุรักษนิยมและเผด็จการ จึงจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ยอมรับข้อดีระบบสังคมนิยมด้วย เขายังเลื่อมใสในแนวทางรัฐสวัสดิการที่มีลักษณะเป็น Productive Welfare System อีกด้วย

อ้างอิง แก้

  1. "Thai PBS พื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน". www.thaipbs.or.th.
  2. ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์
  3. "ธนาคารแห่งประเทศไทย | Bank of Thailand | ธนาคารกลางของประเทศไทย". www.bot.or.th (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-23. สืบค้นเมื่อ 2021-06-23.
  4. กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ
  5. รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต
  6. "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริการในคณะกรรมการสภาการศึกษา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-24. สืบค้นเมื่อ 2013-10-29.
  7. "ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-21. สืบค้นเมื่อ 2021-06-23.
  8. การเรียนการศึกษา
  9. สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ธปท.เพิ่มอีก 1 ราย “อนุสรณ์” อาสาแก้วิกฤตเศรษฐกิจ
  10. ส่วนตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการสรรหา
  11. กรรมการในอนุกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ[ลิงก์เสีย]
  12. ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการ บมจ บางจากปิโตรเลียม
  13. ประธานบริษัทในเครือบาง บริษัทบางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด
  14. อนุกรรมการธรรมาภิบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
  15. "ผู้นำนักศึกษา ในฐานะสื่อมวล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-30. สืบค้นเมื่อ 2021-06-23.
  16. ฐานะนักวิชาการ