หุบอุกกาบาตชิกชูลุบ

หุบอุกกาบาตชิกชูลุบ (สเปน: cráter de Chicxulub) คือหุบอุกกาบาตที่ถูกฝังอยู่ใต้คาบสมุทรยูกาตันในประเทศเม็กซิโก[2] ศูนย์กลางของหุบตั้งอยู่นอกชายฝั่งใกล้กับชุมชนชิกชูลุบปูเอร์โตและชุมชนชิกชูลุบปูเอโบลซึ่งเป็นที่มาของชื่อหุบ[3] หุบนี้เกิดขึ้นเมื่อดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 กิโลเมตร (6.2 ไมล์) พุ่งชนโลก[4] ช่วงเวลาที่เกิดการพุ่งชนสอดคล้องอย่างแม่นยำกับเส้นเขตชั้นหินครีเทเชียส–พาลีโอจีน (หรือ "เส้นเขตชั้นหินเค–พีจี") ซึ่งมีอายุประมาณ 66 ล้านปีมาแล้ว[5] ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของภูมิอากาศทั่วโลกจากการพุ่งชนเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน โดยร้อยละ 75 ของชนิดพืชและชนิดสัตว์ทั้งหมดบนโลก (รวมถึงไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่สัตว์ปีกทั้งหมด) ถูกกวาดล้างไป

ภาพจากภารกิจสำรวจภูมิประเทศด้วยเรดาร์กระสวยอวกาศเอสทีเอส-99 ของนาซา เผยให้เห็นส่วนหนึ่งของวงแหวนเส้นผ่านศูนย์กลาง 180 กิโลเมตร (110 ไมล์) ของหุบชิกชูลุบ ปล่องหินปูน (cenote) จำนวนมากที่กระจุกตัวอยู่รอบ ๆ แนวร่องหุบชี้ให้เห็นถึงการปรากฏของแอ่งใต้สมุทรยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งที่เกิดจากแรงกระแทก[1]

ประมาณกันว่าหุบอุกกาบาตชิกชูลุบมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 กิโลเมตร (93 ไมล์)[2] และมีความลึก 20 กิโลเมตร (12 ไมล์) ลงไปในชั้นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปซึ่งมีความลึกอยู่ระหว่าง 10–30 กิโลเมตร (6.2–18.6 ไมล์) เป็นโครงสร้างจากการตกกระแทกที่ได้รับการยืนยันว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก และเป็นโครงสร้างเพียงแห่งเดียวที่มีวงแหวนยอด (peak ring) อยู่ในสภาพเดิมและเข้าถึงได้โดยตรงสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์[6]

หุบอุกกาบาตชิกชูลุบได้รับการค้นพบโดยอันโตนิโอ กามาร์โก และเกล็น เพ็นฟีลด์ นักธรณีฟิสิกส์ผู้กำลังค้นหาแหล่งปิโตรเลียมในคาบสมุทรยูกาตันในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ในช่วงแรกเพ็นฟีลด์ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่ารูปลักษณ์ทางธรณีวิทยาดังกล่าวเป็นหุบอุกกาบาตและล้มเลิกการค้นหาไป ต่อมา จากการติดต่อกับแอลัน อาร์. ฮิลดิแบรนด์ ใน ค.ศ. 1990 เพ็นฟีลด์ได้ตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นรูปลักษณ์ดังกล่าวเป็นรูปลักษณ์ที่เกิดจากการตกกระแทก หลักฐานการกำเนิดของหุบอุกกาบาตนี้ได้แก่ช็อกต์ควอตซ์[7] ความผิดปกติของค่าความถ่วง และอุลกมณีในพื้นที่โดยรอบ

ใน ค.ศ. 2016 โครงการขุดเจาะทางวิทยาศาสตร์โครงการหนึ่งได้ขุดลึกลงไปในวงแหวนยอดของหุบอุกกาบาตซึ่งอยู่ต่ำกว่าพื้นทะเลปัจจุบันหลายร้อยเมตรเพื่อเก็บตัวอย่างหินที่แตกกระจายจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย การค้นพบนี้ถือเป็นการยืนยันทฤษฎีปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการพุ่งชนและผลกระทบของมัน[8] การศึกษาใน ค.ศ. 2020 สรุปว่าหุบอุกกาบาตชิกชูลุบเกิดขึ้นจากการตกกระแทกแนวเฉียง (ทำมุม 45–60 องศากับแนวระดับ) จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[9]

อ้างอิง แก้

  1. "PIA03379: Shaded Relief with Height as Color, Yucatan Peninsula, Mexico". Shuttle Radar Topography Mission. NASA. สืบค้นเมื่อ October 28, 2010.
  2. 2.0 2.1 "Chicxulub". Earth Impact Database. Planetary and Space Science Centre University of New Brunswick Fredericton. สืบค้นเมื่อ December 30, 2008.
  3. Penfield, Glen (2019). "Unlikely Impact". AAPG Explorer. 40 (12): 20–23. สืบค้นเมื่อ 12 December 2019.
  4. Desch, Steve; Jackson, Alan; Noviello, Jessica; Anbar, Ariel (2021-06-01). "The Chicxulub impactor: comet or asteroid?" (PDF). Astronomy & Geophysics (ภาษาอังกฤษ). 62 (3): 3.34–3.37. arXiv:2105.08768. doi:10.1093/astrogeo/atab069. ISSN 1366-8781.
  5. Renne, P. R.; Deino, A. L.; Hilgen, F. J.; Kuiper, K. F.; Mark, D. F.; Mitchell, W. S.; Morgan, L. E.; Mundil, R.; Smit, J. (2013). "Time Scales of Critical Events Around the Cretaceous-Paleogene Boundary" (PDF). Science. 339 (6120): 684–687. Bibcode:2013Sci...339..684R. doi:10.1126/science.1230492. ISSN 0036-8075. PMID 23393261. S2CID 6112274.
  6. St. Fleur, Nicholas (November 17, 2016). "Drilling Into the Chicxulub Crater, Ground Zero of the Dinosaur Extinction". The New York Times. สืบค้นเมื่อ November 4, 2017.
  7. Becker, Luann (2002). "Repeated Blows" (PDF). Scientific American. 286 (3): 76–83. Bibcode:2002SciAm.286c..76B. doi:10.1038/scientificamerican0302-76. PMID 11857903. สืบค้นเมื่อ January 28, 2016.
  8. Kornel, Katherine (September 10, 2019). "A New Timeline of the Day the Dinosaurs Began to Die Out – By drilling into the Chicxulub crater, scientists assembled a record of what happened just after the asteroid impact". The New York Times. สืบค้นเมื่อ September 25, 2019.
  9. G. S. Collins; และคณะ (2020). "A steeply-inclined trajectory for the Chicxulub impact". Vol. 11 no. 1480. Nature Communications. doi:10.1038/s41467-020-15269-x.

21°24′0″N 89°31′0″W / 21.40000°N 89.51667°W / 21.40000; -89.51667