ลิเงียม

(เปลี่ยนทางจาก หลี่เอี๋ยน)

ลิเงียม หรือ ลิเหยียม (เสียชีวิต ป. ตุลาคม ค.ศ. 234[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลี่ เหยียน (จีน: 李嚴; พินอิน: Lǐ Yán) ชื่อรอง เจิ้งฟาง (จีน: 正方; พินอิน: Zhèngfāng) มีอีกชื่อว่า หลี่ ผิง (จีน: 李平; พินอิน: Lǐ Píng) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน ลิเงียมขึ้นถึงจุดสูงสุดในราชการเมื่อได้รับการตรัสฝากฝังจากเล่าปี่จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กให้เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการทหาร และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับจูกัดเหลียงให้กับเล่าเสี้ยนผู้เป็นโอรสและรัชทายาท หลังการสวรรคตของเล่าปี่ ลิเงียมได้รับยศเป็นขุนพลทัพหน้าซึ่งเคยดำรงตำแหน่งล่าสุดโดยกวนอูถึงปี ค.ศ. 220 ลิเงียมรับราชการในช่วงกลางและปลายทศวรรษ 220 ในฐานะแม่ทัพภูมิภาคในแนวรบด้านตะวันออกร่วมกับเฉิน เต้าที่เป็นรองแม่ทัพ ลิเงียมไม่เคยเผชิญการยุทธการครั้งใหญ่ขณะดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ 230 ช่วงระหว่างการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ 4 ลิเงียมได้รับยศสูงขึ้นเป็นขุนพลทหารม้าทะยาน โดยเป็นฐานะเป็นรองเพียงจูกัดเหลียง ลิเงียมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการขนส่งเสบียง แต่ลิเงียมไม่สามารถขนส่งเสบียงให้กับทัพของจูกัดเหลียงได้ทันเวลา ลิเงียมพยายามปกปิดความผิดพลาดของตนด้วยวิธีการหลอกลวง เป็นผลทำให้ลิเงียมถูกปลดจากตำแหน่งและอำนาจ

ลิเงียม (หลี่ เหยียน)
李嚴
ขุนพลพิทักษ์ส่วนกลาง (中都護 จงตูฮู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 230 (230) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 231 (231)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ขุนพลทหารม้าทะยาน
(驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
230
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 226 (226) – ค.ศ. 230 (230)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
เสนาบดีกรมวัง (光祿勳 กวางลู่ซฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 226 (226) – ค.ศ. 230 (230)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 222 (222) – ค.ศ. 223 (223)
กษัตริย์เล่าปี่
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ขุนพลผู้ช่วยเหลือราชวงศ์ฮั่น
(輔漢將軍 ฝู่ฮั่นเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 218 (218) – ค.ศ. 222 (222)
ขุนพลผู้ฟื้นฟู (興業將軍 ซิงเย่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ป. ค.ศ. 214 (214) – ค.ศ. 218 (218)
เจ้าเมืองเฉียนเว่ย์ (犍為太守 เฉียนเว่ย์ไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ป. ค.ศ. 214 (214) – ค.ศ. 218 (218)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิตค.ศ. 234
อำเภอจื่อถง มณฑลเสฉวน
บุตรลิอ๋อง
อาชีพขุนพล
ชื่อรองเจิ้งฟาง (正方)
ชื่ออื่นหลี่ ผิง (李平)
บรรดาศักดิ์ตูเซียงโหว
(都鄉侯)
รูปลิเงียมจากเกม Romance Of The Three Kingdoms XI

ประวัติและการรับราชการช่วงต้น แก้

ลิเงียมในวัยเยาว์รับราชการเป็นเสมียนในมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) โดยอยู่ภายใต้เล่าเปียวเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว และมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีความสามารถ เมื่อขุนศึกโจโฉเริ่มการทัพบุกใต้ในปี ค.ศ. 208 เพื่อยึดครองมณฑลเกงจิ๋ว ลิเงียมได้ลี้ภัยออกจากมณฑลเกงจิ๋วเข้าไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเล่าเจี้ยง[2]

เล่าเจี้ยงตั้งให้ลิเงียมเป็นนายอำเภอเซงโต๋ ลิเงียมขึ้นมามีชื่อเสียงระหว่างดำรงตำแหน่งใหม่นี้ ต่อมาเมื่อขุนศึกเล่าปี่นำทัพบุกมณฑลเอ๊กจิ๋ว ลิเงียมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมทัพ ลิเงียมควรจะเป็นผู้ขับไล่ทัพเล่าปี่ที่บุกมาที่กิมก๊ก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญก่อนเข้าเซงโต๋นครหลวงของเอ๊กจิ๋ว แต่ลิเงียมกำลังนำผู้ใต้บังคับบัญชาสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่เมื่อเล่าปี่มาถึง ลิเงียมได้นับการแต่งตั้งให้เป็นรองขุนพล[3]

รับราชการกับเล่าปี่ แก้

หลังจากเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว ลิเงียมได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเฉียนเว่ย์ (犍為郡 เฉียนเว่ย์จฺวิ้น) และขุนพลผู้ฟื้นฟู (興業將軍 ซิงเย่เจียงจฺวิน) เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงของระบอบปกครองใหม่ แม้ว่าลิเงียมจะเป็นผู้เข้าร่วมใหม่ แต่ก็ได้รับเชิญให้ร่วมร่างฉู่เคอ (蜀科; ประมาลกฎหมายของภูมิภาคจ๊ก) ร่วมกับจูกัดเหลียง หวดเจ้ง อีเจี้ย และเล่าป๋า (ฉู่เคอเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดสำหรับระบบกฎหมายของรัฐจ๊กก๊กในเวลาต่อมา)[4] ลิเงียมยังคงแสดงความสามารถในฐานะเจ้าเมือง มีการริเริ่มและดำเนินการโครงการโยธาที่สำคัญหลายโครงการภายใต้การนำของลิเงียม ได้แก่ การขุดอุโมงค์ผ่านภูเขาเทียนเช่อ (天社) การซ่อมแซมถนนเลียบแม่น้ำ การสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเขตอำนาจ ราษฎรภายในการปกครองของลิเงียมต่างยินดี อย่างไรก็ตาม ลิเงียมก็เริ่มแสดงถึงข้อเสียในเรื่องความสัมพันธ์กับเหล่าข้าราชการภายใน เอียวฮอง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยของลิเงียมคัดค้านเรื่องโครงการก่อสร้างหนึ่งของลิเงียมคือการย้ายที่ว่าการเมือง ลิเงียมปฏิเสธที่จะฟังคำทัดทานของเอียวฮอง เอียวฮองจึงลาออกจากตำแหน่งหลังคัดค้านแผนของลิเงียมอยู่หลายครั้ง[5] หวาง ชง (王沖) ขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง) ภายใต้ลิเงียม แปนพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก เพราะลิเงียมไม่ชอบหวาง ชง ทำให้หวาง ชงกลัวจะถูกลงโทษ[6]

ในปี ค.ศ. 218 ระหว่างที่เล่าปี่กำลังรบของโจโฉเพื่อช่วงชิงเมืองฮันต๋ง ผู้นำกลุ่มโจรหม่า ฉิน (馬秦) และเกา เชิ่ง (高勝) ก่อกบฏเข้าชิงอำเภอจือจง (資中) และรวบรวมผู้คนหลายหมื่นคนให้เข้าร่วมในการก่อการ เนื่องจากเวลานั้นกองกำลังส่วนใหญ่อยู่ที่แนวหน้าของเมืองฮันต๋ง ลิเงียมจึงระดมกองกำลังป้องกันในท้องถิ่นของเมืองเฉียนเว่ย์ได้เพียง 5,000 นาย แต่ก็สามารถปราบกบฏลงได้สำเร็จและนำความสงบเรียบร้อยกลับสู่ผู้คน[7] โกเตงผู้นำชนเผ่าโส่ว (叟)[8] ก็ถือโอกาสนี้เข้าโจมตีอำเภอซินเต้า (新道縣 ซินเต้าเซี่ยน) แต่ลิเงียมนำกองกำลังเข้าปกป้องอำเภอซินเต้าและขับไล่การรุกรานของโกเตงไปได้สำเร็จ จากความดีความชอบนี้ลิเงียมจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนพลผู้ช่วยเหลือราชวงศ์ฮั่น (輔漢將軍 ฝู่ฮั่นเจียงจฺวิน)[9]

ในปี ค.ศ. 222 เล่าปี่จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กพ่ายแพ้ยับเยินต่อซุนกวนขุนศึกทางตะวันออกในยุทธการที่อิเหลงและสวรรคตหลังจากนั้นไม่นานที่เป๊กเต้เสีย ในปีนั้นเล่าปี่ได้เรียกลิเงียมมาที่เป๊กเต้เสียและเลื่อนตำแหน่งให้ลิเงียมเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง)[10] ขณะประชวรใกล้สวรรคต เล่าปี่ตรัสขอให้ลิเงียมเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับจูกัดเหลียงเพื่อช่วยเหลือโอรสเล่าเสี้ยน และตั้งให้ลิเงียมเป็นขุนพลพิทักษ์ส่วนกลาง (中都護 จงตูฮู่) เพื่อจัดการเริ่องการทหารทั้งหมด ทั้งทหารราชองครักษ์และทหารทั่วไปให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของลิเงียม และยังมอบหมายให้รักษาป้องกันอำเภอเตงอั๋น (永安縣 หย่งอานเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ใกล้กับชายแดนระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตร[11] ตามคำตรัสฝากฝังของเล่าปี่แล้ว ลิเงียมควรจะได้กุมอำนาจสูงสุดทางการทหารในจ๊กก๊ก เล่าปี่เลือกให้เป็นลิเงียม เพราะในปี ค.ศ. 223 ขุนนางมณฑลเอ๊กจิ๋วดั้งเดิมที่น่าจะได้รับตำแหน่งอย่างหวดเจ้งและตั๋งโหต่างก็เสียชีวิตแล้ว ส่วนอุยก๋วนสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กตั้งแต่ปีก่อน และงออี้ก็ได้รับการพิจารณาว่าความสามารถไม่เทียบเท่าลิเงียม

รับราชการกับเล่าเสี้ยน แก้

ในฐานะผู้สำเร็จราชการร่วม แก้

เมื่อยงคีผู้นำท้องถิ่นในภูมิภาคหนานจงเริ่มก่อกบฏตั้งตนเป็นอิสระจากการปกครองของจ๊กก๊ก ลิเงียมพยายามจะใช้อิทธิพลของตนเองไปโน้มน้าวไม่ให้ยงคีก่อกบฏ โดยเขียนจดหมายถึงยงคีทั้งหมด 6 ฉบับแต่ก็ไม่เป็นผล โกเตงและเบ้งเฮ็กก็เข้าร่วมในการก่อกบฏเช่นกัน ทำให้จูกัดเหลียงต้องใช้กำลังทหารในการดำเนินการตอบโต้[12]

หลังจากจูกัดเหลียงประสบความสำเร็จในปราบกบฏทางใต้และฟื้นฟูความเป็นพันธมิตรระหว่างง่อก๊กและจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงจึงใช้อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองอันมหาศาลของตนในการจัดการทรัพยากรบุคคลหลายครั้ง หลังกำหนดให้ขุนนางหลายคนเป็นขุนนางมหาดเล็กของจักรพรรดิเล่าเสี้ยน จูกัดเหลียงก็ยังคงใช้ความพยายามอย่างมากในการกระชับความสัมพันธ์กับง่อก๊ก ตันจิ๋นขุนนางคนสนิทของจูกัดเหลียงได้รับเลือกให้เป็นทูตไปแสดงมุทิตาจิตต่อการขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิของซุนกวนในปี ค.ศ. 229 ตันจิ๋นบอกจูกัดเหลียงว่า "เจิ้งฟาง[b]มีเกล็ดอยู่ในท้อง"[c] แต่จูกัดเหลียงบอกว่าตนอยากจะยกย่องลิเงียมมากกว่าจะเล่นงานลิเงียม เพราะสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

ราวปี ค.ศ. 226 ลิเงียมได้เลื่อนขั้นเป็นเสนาบดีกรมวัง (光祿勳 กวางลู่ซฺวิน) และได้รับบรรดาศักดิ์ระดับตูเซียงโหว (都鄉侯) ในปีเดียวกัน ลิเงียมได้รับยศใหม่เป็นขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน)[14] ภายหลังจูกัดเหลียงพยายามให้ลิเงียมมาแทนที่อุยเอี๋ยนซึ่งมีตำแหน่งแม่ทัพภูมิภาคแห่งฮันต๋งที่ได้รับการแต่งตั้งจากเล่าปี่ ลิเงียมเป็นรักษาการแม่ทัพภูมิภาคในแนวหน้าด้านตะวันออกในเวลานั้น ดังนั้นการโยกย้ายจากตะวันออกไปทางเหนือโดยหลักการแล้วจึงไม่เป็นการเลื่อนตำแหน่ง แต่ลิเงียมไม่ตระกหนักรู้ในเรื่องนี้ ในทางกลับกัน ลิเงียมเสนอกับจูกัดเหลียงให้ก่อตั้งมณฑลใหม่เป็นมณฑลปาโจวอันประกอบด้วย 5 เมืองและเสนอตนเป็นข้าหลวงของมณฑลปาโจวที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ แต่จูกัดเหลียงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของลิเงียม แต่ลิเงียมก็ยังได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ที่กังจิว (江州 เจียวโจว; ปัจจุบันคือนครฉงชิ่ง)[15] ในปีถัด ๆ มา ลิเงียมและจูกัดเหลียงมีความสัมพันธ์ในเชิงคู่แข่งแต่ก็ยังให้ความร่วมกัน

ในจดหมายที่ลิเงียมส่งถึงเบ้งตัดผู้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก ได้เขียนว่าทั้งจูกัดเหลียงและตนต่างก็ได้ความไว้วางใจให้ปฏิบัติงานอันยากลำบากและมีความรับผิดชอบมากมายตามมา แต่ก็ยังโชคดีที่มีผู้ร่วมงานที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้[16] ฝ่ายจูกัดเหลียงก็เขียนจดหมายถึงเบ้งตัด มีเนื้อความยกย่องความสามารถและความประพฤติของลิเงียม[17] ครั้งหนึ่งลิเงียมส่งจดหมายถึงจูกัดเหลียง เสนอว่าจูกัดเหลียงควรรับเครื่องยศเก้าประการและขึ้นเป็นอ๋องในจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงตอบว่าตนจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อจ๊กก๊กเอาชนะวุยก๊กที่เป็นรัฐอริได้เท่านั้น จดหมายเขียนไว้ว่า:

“ท่านกับข้าพเจ้าต่างก็รู้จักกันมาช้านานแล้ว แต่ยังคงไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน! ภารกิจของท่านควรจะสนับสนุนการฟื้นฟูรัฐและกังวลถึงแนวทางที่ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าจึงไม่อาจนิ่งเฉยได้ ตอนแรกข้าพเจ้าเป็นเพียงคนต้อยต่ำจากภูมิภาคตะวันออก จักรพรรดิองค์ก่อนก็ยกย่องความความสามารถของข้าพเจ้าเกินจริงจนบัดนี้ข้าพเจ้ามีตำแหน่งสูงสุดในเหล่าขุนนางแล้ว เบี้ยหวัดและของพระราชทานที่ข้าพเจ้าได้รับมากเกินไปนัก ในยามนี้การปราบกบฏยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ท่านผู้เข้าใจว่างานของเรายังดำเนินต่อสนับสนุนเราให้รับความโปรดปรานและตำแหน่งรุ่งโรจน์อันไม่ควรได้รับ นี่ไม่ใช่วิถีแห่งผู้ทรงธรรม บัดนี้หากเราปราบกบฏและสังหารโจยอยให้ฝ่าบาทคืนสู่ราชบัลลังก์ ทั้งท่านและข้าพเจ้าก็จะรุ่งเรืองด้วยกัน หากเป็นเช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าก็อาจจะรับเครื่องยศถึงสิบประการ ไม่เพียงแค่เก้า!”[18]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 230 โจจิ๋นขุนพลวุยก๊กยกทัพเข้ารบกับจ๊กก๊กเป็นการตอบโต้การโจมตีของจูกัดเหลียงก่อนหน้านี้ จูกัดเหลียงให้ลิเงียมนำกองกำลัง 20,000 นายไปป้องกันการบุกของวุยก๊ก แต่ลิเงียมไม่ต้องการออกจากฐานที่มั่นในกังจิวไปอยู่ภายใต้การบัญชาของจูกัดเหลียง ลิเงียมจึงบอกจูกัดเหลียงว่าตนควรมีสิทธิ์เปิดสำนัก (เหมือนกับจูกัดเหลียง) ในฐานะผู้สำเร็จราชการร่วม จูกัดเหลียงปฏิเสธคำขอของลิเงียม แต่ยังคงปลอบใจลิเงียมโดยให้ลิอ๋องผู้เป็นบุตรชายของลิเงียมมาทำหน้าที่แทนลิเงียมภายใต้เงื่อนไขว่าลิเงียมต้องตามมาอยู่เมืองฮันต๋ง ในที่สุดลิเงียมจึงไปยังเมืองฮันต๋งภายใต้การโน้มน้าวและแรงกดดันจากจูกัดเหลียง[19]

ในฐานะเจ้าหน้าที่ขนส่งเสบียง แก้

หลังการโจมตีของวุยก๊กชะงักลงเพราะฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ลิเงียมไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปทางตะวันตก แต่จูกัดเหลียงก็รับลิเงียมเข้าอยู่ในคณะมนตรี อนุญาตให้ลิเงียมเข้ามาในสำนักอัครมหาเสนาบดีเพื่อช่วยในการเตรียมการการทัพกับวุยก๊กในอนาคต ลิเงียมจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "หลี่ ผิง" (李平) ยอมรับแผนการศึกของจูกัดเหลียง และรับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่งเสบียงสำหรับการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ 4[20]

ในระหว่างการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ 4 ดำเนินไปเป็นเวลาหลายเดือน จูกัดเหลียงและสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กทำการรบหลายครั้งโดยรอบเขากิสาน และทั้งสองฝ่ายก็ต้องการเสบียงมาเสริม แต่เกิดฝนตกหนักทำให้เส้นทางคมนาคมไม่สามารถสัญจรได้ ลิเงียมจึงไม่สามารถจัดส่งเสบียงไปยังค่ายจูกัดเหลียงได้ทันกาล แต่แทนที่ลิเงียมจะทูลชี้แจงสถานการณ์กับจักรพรรดิเล่าเสี้ยน ลิเงียมกลับพยายามปกปิดความล้มเหลวของตน ลิเงียมส่งหู จง[d] (狐忠) ที่ปรึกษาทัพ (參軍 ชานจฺวิน) และเฉิง ฟาน (成藩) ผู้ตรวจการทัพ (督軍 ตูจฺวิน) ให้นำจดหมายไปให้จูกัดเหลียง แจ้งเรื่องเรื่องปัญหาการจัดส่งเสบียง และขอให้จูกัดเหลียงถอนทัพกลับ เมื่อจูกัดเหลียงกลับมาถึงฮันต๋ง ลิเงียมกลับบอกว่าเสบียงอาหารก็พร้อมแล้ว และถามว่าทำไมจูกัดเหลียงจึงถอยทัพ ในเวลาเดียวกัน ลิเงียมถวายฎีกาถึงจักรพรรดิเล่าเสี้ยนว่า "กองทัพแสร้งทำเป็นล่าถอยเพื่อลวงข้าศึกให้เข้าสู้รบ" ด้วยหวังว่าจูกัดเหลียงจะดำเนินการทำศึกต่อไป จะได้ไม่สังเกตถึงความผิดพลาดของลิเงียมในการขนส่งเสบียง[21]

อย่างไรก็ตาม จูกัดเหลียงงดการทัพและกลับมาที่เซงโต๋เพื่อสะสางกับลิเงียม ระหว่างเดินทางออกจากเมืองฮันต๋งกลับไปยังเซงโต๋ จูกัดเหลียงไม่ตำหนิลิเงียม แต่ก็แอบเก็บจดหมายของลิเงียมไว้ เมื่อจูกัดเหลียงเข้าเฝ้าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนที่พระราชวัง จูกัดเหลียงถวายจดหมายลายมือลิเงียมให้เล่าเสี้ยน ลิเงียมจึงไม่อาจปฏิเสธความผิดของตนได้ จากนั้นจูกัดเหลียงทูลขอให้เล่าเสี้ยนปลดลิเงียมออกจากทุกตำแหน่งและเนรเทศไปอยู่เมืองจื่อถง (梓潼) ลิเงียมใช้ชีวิตที่เหลือในฐานะพลเรือนที่เมืองจื่อถงจนกระทั่งได้ยินข่าวการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234 หลังจากนั้นลิเงียมก็ล้มป่วยและเสียชีวิต ลิเงียมคาดหวังอยู่เสมอว่าจูกัดเหลียงจะยกโทษให้ตนและรับตนกลับเข้าทำราชการอีกครั้ง โดยคิดว่าขุนนางที่จะมาแทนที่จูกัดเหลียงจะไม่รับตนกลับเข้าทำราชการ ลิเงียมจึงรู้สึกเจ็บปวดและขัดเคืองมากเมื่อได้ยินว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิต[22][23] หลังลิเงียมถูกปลดจากตำแหน่ง จูกัดเหลียงยังคงช่วงใช้ลิอ๋อง (李豐 หลี่ เฟิง) บุตรชายของลิเงียม และสนับสนุนให้ลิอ๋องทำราชการเป็นอย่างดีภายใต้การกำกับของเจียวอ้วน เพื่อที่ว่าลิอ๋องอาจจะช่วยกู้เกียรติของบิดาคืนมา หลังการเสียชีวิตของลิเงียม ลิอ๋องขึ้นมามีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองจูถี (朱提太守 จูถีไท่โฉ่ว)[24][25]

สี จั้วฉื่อให้ความเห็นในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของลิเงียมและการใช้กฎหมายของจูกัดเหลียงว่า:

"ในสมัยโบราณ เนื่องจากพบว่าตระกูลปั๋ว (伯氏 ปั๋วชื่อ) มีความผิดตามกฎหมาย เจ๋ฮวนก๋ง (斉桓公 ฉีหฺวานกง) จึงให้ขวันต๋ง (管仲 กว่าน จ้ง) เข้ายึดสามร้อยครัวเรือนของตระกูลปั๋ว แต่เพราะการบังคับใช้กฎหมายของขวันต๋งมีความยุติธรรม ตระกูลปั๋วจึงไม่เคยโทษขวันต๋ง ผู้ทรงปัญญาเห็นว่าทัศนคตินี้มีคุณค่าและยกย่องขวันต๋งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เทียบกับเรื่องนี้แล้ว การเสียชีวิตของจูกัดเหลียงทำให้เลี่ยว ลี่ (廖立) หลั่งน้ำตา และทำให้หลี่ ผิง[e] (李平) ถึงแก่ความตายด้วยความสิ้นหวัง แม้ว่าจูกัดเหลียงคือผู้รับผิดชอบต่อการถูกปลดออกจากราชการของทั้งคู่ก็ตาม สายน้ำแม้คดเคี้ยวแต่ยังคงสม่ำเสมอ กระจกแม้แสดงความอัปลักษณ์แต่ก็สะท้อนอย่างตรงไปตรงมา ทั้งสายน้ำและกระจกต่างก็เผยสิ่งที่ถูกปกปิดโดยไม่ถูกตำหนิ ทั้งนี้เพราะปราศจากอัตตา สายน้ำและกระจกไม่มีอัตตา จึงหลีกเลี่ยงการใส่ร้ายได้ ดังนั้นยิ่งการเป็นยากสำหรับผู้อยู่ในตำแหน่งสูงในการใช้อำนาจต่อผู้คนให้ยอมรับคำตัดสินต่อผู้อื่น การเลื่อนตำแหน่งผู้คนให้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจโดยที่ยังไม่มีอัตตา ประกาศตัดสินโทษต่อผู้คนโดยที่ยังไม่มีโทสะ ใครบ้างที่สามารถกระทำเช่นนี้และหลีกเลี่ยงความขุ่นเคืองในใต้ฟ้า จูกัดเหลียงจึงควรได้รับการยกย่องในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ๋นถึงราชวงศ์ฮั่น มีน้อยคนนักที่จะเทียบเท่าได้"[26]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ชีวประวัติจูกัดเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตในเดือน 8 ของศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 12 ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234 ในปฏิทินจูเลียน[1] เนื่องจากลิเงียมเสียชีวิตหลังจากจูกัดเหลียงไม่นาน วันที่ลิเงียมเสียชีวิตจึงควรอยู่ในราวเดือนตุลาคม ค.ศ. 234
  2. ชื่อรองของลิเงียม
  3. คำพูดดั้งเดิมของตันจิ๋นคือ "(李)正方腹中有鱗甲" ซึ่งจูกัดเหลียงตีความได้ว่า "ลิเงียมฉุนเฉียวได้ง่าย"[13]
  4. อาจเป็นบุคคลเดียวกันกับม้าตง (馬忠 หม่า จง) ซึ่งเดิมมีชื่อสกุลว่า "หู" (狐)
  5. ชื่อในภายหลังของลิเงียม

อ้างอิง แก้

  1. ([建興]十二年 ... 其年八月,亮疾病,卒于軍,時年五十四。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  2. (李嚴字正方,南陽人也。少為郡職吏,以才幹稱。荊州牧劉表使歷諸郡縣。曹公入荊州時,嚴宰秭歸,遂西詣蜀,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  3. (劉璋以為成都令,復有能名。建安十八年,署嚴為護軍,拒先主於綿竹。嚴率眾降先主,先主拜嚴裨將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  4. (後遷昭文將軍,與諸葛亮、法正、劉巴、李嚴共造蜀科;蜀科之制,由此五人焉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 38.
  5. (先主定蜀,太守李嚴命為功曹。嚴欲徙郡治舍,洪固諫不聽,遂辭功曹,請退。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
  6. (先為牙門將,統屬江州督李嚴。為嚴所疾,懼罪降魏。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
  7. (成都既定,為犍為太守、興業將軍。二十三年,盜賊馬秦、高勝等起事於郪,音淒。合聚部伍數萬人,到資中縣。時先主在漢中,嚴不更發兵,但率將郡士五千人討之,斬秦、勝等首。枝黨星散,悉復民籍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  8. 宋炳龙 (2011) การศึกษาจุดกำเนิดของน่านเจ้า (南诏王室族源新探), 《大理文化》2011年第11期.
  9. (輔又越嶲夷率高定遣軍圍新道縣,嚴馳往赴救,賊皆破走。加輔漢將軍,領郡如故。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  10. (章武二年,先主徵嚴詣永安宮,拜尚書令。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  11. (三年,先主疾病,严与诸葛亮并受遗诏辅少主;以严为中都护,统内外军事,留镇永安。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  12. (都護李嚴與闓書六紙,解喻利害,闓但答一紙曰:「蓋聞天無二日,土無二王,今天下鼎立,正朔有三,是以遠人惶惑,不知所歸也。」其桀慢如此。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (吾以為鱗甲者〔但〕 不當犯之耳) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39
  14. (建興元年,封都鄉侯,假節,加光祿勳。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  15. (建四年,轉為前將軍。以諸葛亮欲出軍漢中,嚴當知後事,移屯江州,留護軍陳到駐永安,皆統屬嚴。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  16. (嚴與孟達書曰:「吾與孔明俱受寄託,憂深責重,思得良伴。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  17. (亮亦與達書曰:「部分如流,趨捨罔滯,正方性也。」其見貴重如此。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  18. คำตอบของจูกัดเหลียงพบใน รวมผลงานของจูกัดเหลียง. (諸葛亮集) - 亮答书曰:“吾与足下相知久矣,可不复相解!足下方诲以光国,戒之以勿拘之道,是以未得默已。吾本东方下士,误用於先帝,位极人臣,禄赐百亿,今讨贼未效,知己未答,而方宠齐、晋,坐自贵大,非其义也。若灭魏斩叡,帝还故居,与诸子并升,虽十命可受,况於九邪!”
  19. (八年,迁骠骑将军。以曹真欲三道向汉川,亮命严将二万人赴汉中。亮表严子丰为江州都督督军,典为后事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  20. (亮以明年當出軍,命嚴以中都護署府事。嚴改名為平。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  21. (九年春,亮軍祁山,平催督運事。秋夏之際,值天霖雨,運糧不繼,平遣參軍狐忠、督軍成藩喻指,呼亮來還;亮承以退軍。平聞軍退,乃更陽驚,說「軍糧饒足,何以便歸」!欲以解己不辦之責,顯亮不進之愆也。又表後主,說「軍偽退,欲以誘賊與戰」。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  22. (亮具出其前後手筆書疏本末,平違錯章灼。平辭窮情竭,首謝罪負。於是亮表平曰:「自先帝崩後,平所在治家,尚為小惠,安身求名,無憂國之事。臣當北出,欲得平兵以鎮漢中,平窮難縱橫,無有來意,而求以五郡為巴州刺史。去年臣欲西征,欲令平主督漢中,平說司馬懿等開府辟召。臣知平鄙情,欲因行之際偪臣取利也,是以表平子豐督主江州,隆崇其遇,以取一時之務。平至之日,都委諸事,群臣上下皆怪臣待平之厚也。正以大事未定,漢室傾危,伐平之短,莫若褒之。然謂平情在於榮利而已,不意平心顛倒乃爾。若事稽留,將致禍敗,是臣不敏,言多增咎。」乃廢平為民,徙梓潼郡。十二年,平聞亮卒,發病死。平常冀亮當自補復,策後人不能,故以激憤也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  23. (亮公文上尚書曰:「平為大臣,受恩過量,不思忠報,橫造無端,危恥不辦,迷罔上下,論獄棄科,導人為姦,(狹情)〔情狹〕志狂,若無天地。自度姦露,嫌心遂生,聞軍臨至,西嚮託疾還沮、漳,軍臨至沮,復還江陽,平參軍狐忠勤諫乃止。今篡賊未滅,社稷多難,國事惟和,可以克捷,不可苞含,以危大業。輒與行中軍師車騎將軍都鄉侯臣劉琰,使持節前軍師征西大將軍領涼州刺史南鄭侯臣魏延、前將軍都亭侯臣袁綝、左將軍領荊州刺史高陽鄉侯臣吳壹、督前部右將軍玄鄉侯臣高翔、督後部後將軍安樂亭侯臣吳班、領長史綏軍將軍臣楊儀、督左部行中監軍揚武將軍臣鄧芝、行前監軍征南將軍臣劉巴、行中護軍偏將軍臣費禕、行前護軍偏將軍漢成亭侯臣許允、行左護軍篤信中郎將臣丁咸、行右護軍偏將軍臣劉敏、行護軍征南將軍當陽亭侯臣姜維、行中典軍討虜將軍臣上官雝、行中參軍昭武中郎將臣胡濟、行參軍建義將軍臣閻晏、行參軍偏將軍臣爨習、行參軍裨將軍臣杜義、行參軍武略中郎將臣杜祺、行參軍綏戎都尉盛勃、領從事中郎武略中郎將臣樊岐等議,輒解平任,免官祿、節傳、印綬、符策,削其爵土。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  24. (豐官至朱提太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  25. (諸葛亮又與平子豐教曰:「吾與君父子戮力以獎漢室,此神明所聞,非但人知之也。表都護典漢中,委君於東關者,不與人議也。謂至心感動,終始可保,何圖中乖乎!昔楚卿屢絀,亦乃克復,思道則福,應自然之數也。願寬慰都護,勤追前闕。今雖解任,形業失故,奴婢賓客百數十人,君以中郎參軍居府,方之氣類,猶為上家。若都護思負一意,君與公琰推心從事者,否可復通,逝可復還也。詳思斯戒,明吾用心,臨書長歎,涕泣而已。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  26. (習鑿齒曰:昔管仲奪伯氏駢邑三百,沒齒而無怨言,聖人以為難。諸葛亮之使廖立垂泣,李平致死,豈徒無怨言而已哉!夫水至平而邪者取法,鏡至明而醜者無怒,水鏡之所以能窮物而無怨者,以其無私也。水鏡無私,猶以免謗,況大人君子懷樂生之心,流矜恕之德,法行於不可不用,刑加乎自犯之罪,爵之而非私,誅之而不怒,天下有不服者乎!諸葛亮於是可謂能用刑矣,自秦、漢以來未之有也。) อรรถาธิบายของสี จั้วฉื่อในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.

บรรณานุกรม แก้