หลี่ เหลียนเจี๋ย
หลี่ เหลียนเจี๋ย หรือ เจ็ท ลี / Jet Li (จีนตัวย่อ: 李连杰; จีนตัวเต็ม: 李連杰; พินอิน: Lǐ Liánjié) เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2506 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นนักแสดง ,โปรดิวเซอร์ , ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของเกาะฮ่องกง อดีตแชมป์เยาวชนกีฬาวูซู 5 ปีซ้อน เป็นผู้นำศิลปะการต่อสู้วิชากังฟู หรือวูซู ในภาษาจีนกลาง สู่โลกภาพยนตร์จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
หลี่ เหลียนเจี๋ย Jet Li 李連杰 | |
---|---|
หลี่ เหลียนเจี๋ย ในงานสภาเศรษฐกิจโลกเมื่อปี ค.ศ. 2009 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | Li Lian Jie | 26 เมษายน ค.ศ. 1963
คู่สมรส | Huang Qiuyan (1987-1990) Nina Li Chi (1997-ปัจจุบัน) |
อาชีพ | นักแสดง, ผู้กำกับ, ผู้อำนวยการสร้าง |
ผลงานเด่น | หวง เฟยหง ใน Once Upon a Time in China ฟ่ง ไสหยก ใน Fong Sai-Yuk ฮั่ว หยวนเจี๋ย ใน Fearless |
ประวัติ
แก้หลี่ เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2506 ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้องทั้งหมด 5 คน บิดาเป็นวิศวกร เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุเพียง 2 ขวบ เขาจึงถูกเลี้ยงดูโดยแม่มาเพียงลำพัง
หลี่ พออายุได้ 8 ขวบ เขาก็ได้รับการฝึกฝนวิชากังฟู (อักษรจีน : 功夫; พินอิน: gōngfu ) หรือวูซู ในภาษาจีนกลาง (จีนตัวย่อ: 武术; จีนตัวเต็ม: 武術; พินอิน: wǔshù) ในช่วงเวลาปิดเทอมภาคฤดูร้อนของทุกปี หลี่อุทิศชีวิตตลอดช่วงวัยเด็กให้กับกีฬาวูซู พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นได้เป็นตัวแทนนักกีฬาวูซูของประเทศจีนไปแข่งขันยังมหกรรมกีฬาต่างๆมากมาย จนเขาได้เป็น แชมป์เยาวชนกีฬาวูซู 5 ปีซ้อน ต่อมาในปี 1974 หลี่กับทีมของเขาไปแสดงศิลปะการต่อสู้วูซู ต่อหน้าประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ในสมัยเรียนวิชาวูซูกับอาจารย์อู๋ปินนั้น หลีมีเพื่อนร่วมรุ่นที่ต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกคือ เจิ้น จื่อตัน หลังจากนั้น หลี่ก็ผันตัวเองไปเป็นโค้ชทีมกีฬาวูซู เริ่มเข้าสู่วงการแสดงตอนอายุเพียง 20 ปี มีชื่อเสียงในวงกว้างจากภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ เรื่อง Shaolin Temple ,1982 หรือชื่อไทย เสี่ยวลิ้มยี่ และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตกจากบท หวง เฟยหง ในภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ เรื่อง Once Upon a Time in China (1991) หรือ หวงเฟยหง ภาค 1 เขามีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับโลกในกาลต่อมา
ในต้นปี 2010 หลี่เปิดเผยว่า จะรับงานแสดงน้อยลง เพื่อที่จะไปทุ่มเทให้กับการทำมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ชื่อ The One Foundation หลังจากที่เจ้าตัวรอดตายมาจาก เหตุการณ์สึนามิที่มัลดีฟส์เมื่อปลายปี 2004 โดยบอกว่าตนพบว่าศิลปะการต่อสู้มิได้ช่วยอะไรให้รอดชีวิตได้เลยเมื่อต้องต่อสู้กับธรรมชาติ และการแสดงต่อไปนี้เป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น[1]
ปัจจุบัน หลี่ ได้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวระบบไทรอยด์(ไฮเปอร์ไทรอยด์) มานานหลายปีแล้ว จึงห่างหายจากการแสดงภาพยนตร์ไปพักหนึ่ง และจะกลับมาแสดงภาพยนตร์ให้กับค่ายดิสนีย์ ในภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ มู่หลาน (Mulan) ที่จะเข้าฉายทั่วโลกในปี 2020 นี้
ก้าวแรกของการเป็นดารา
แก้หลังจากหลี่เป็นโค้ชทีมชาติกีฬาวูซูมานานหลายปี ตอนเขาอายุได้ 20 ปี ถูกแมวมองดึงให้มาเป็นพระเอกภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ เรื่อง เสี่ยวลิ้มยี่ (Shaolin Temple ,1982) หนังเรื่องนี้ เป็นงานแจ้งเกิดให้เขาอย่างเต็มตัวในฐานะนักแสดงกังฟู แต่ภาคต่อของหนังชุดนี้คือ Shaolin Temple 2 : Kids from Shaolin (1984) และ Martial Arts of Shaolin (1986) กลับไม่ประสบความสำเร็จเลย จากนั้น หลี่ก็หันมากำกับหนังของตนเองเป็นครั้งแรก ในเรื่อง Born to Defence (1988) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน จนมารับบท หวง เฟยหง ในภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ เรื่อง Once Upon a Time in China (1991) หรือ หวงเฟยหง ภาค 1 เขาจึงโด่งดังเป็นพลุแตกเป็นต้นมา
ภาพยนตร์จีนฮ่องกง
แก้หลี่ ย้ายเข้ามาอยู่ในฮ่องกง เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังของฮ่องกงอย่าง ฉีเคอะ (Tsui Hark) โดยผลงานเรื่องแรกที่ทั้งสองร่วมงานกัน คือ Once Upon a Time in China (1991) หรือชื่อไทย หวงเฟยหง ภาค 1 หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในฮ่องกงและต่างประเทศ ส่งผลให้ชื่อของ หลี่ เหลียนเจี๋ย เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ร่วมงานกันมาเรื่อยๆ อาทิเช่น Swordsman II (1992) หรือ เดชคัมภีร์เทวดา ภาค 2 , The Master (1992) หรือ ฟัดทะลุโลก , หวงเฟยหง ภาค 2 หรือ Once Upon a Time in China II (1992) , หวงเฟยหง ภาค 3 หรือ Once Upon a Time in China III (1993) , Black Mask (1996) หรือ ดำมหากาฬ , หวงเฟยหง ภาค 6 พิชิตตะวันตก หรือ Once Upon a Time in China and America (1997) เป็นเรื่องสุดท้าย หลี่เป็นนักแสดงที่ได้ร่วมงานและมีผลงานร่วมกับผู้กำกับสายแอ็คชั่นที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติหลายคนมาก อาทิเช่น
หยวน หวูปิง (Yuen Woo-Ping) : ในภาพยนตร์เรื่อง หวงเฟยหง ภาค 2 หรือ Once Upon a Time in China II (1992) , The Tai-Chi Master (1993) หรือ มังกรไท้เก็ก คนไม่ยอมคน , Last Hero in China (1993) หรือ เล็บเหล็กหวงเฟยหง , งานรีเมคของ บรู๊ซ ลี ในเรื่อง Fist of Legend (1994) หรือ ไอ้หนุ่มซินตึ้ง หัวใจผงาดฟ้า
เฉิง เสี่ยวตง (Tony Ching) : ในภาพยนตร์เรื่อง Swordsman II (1992) หรือ เดชคัมภีร์เทวดา ภาค 2 , Dr. Wai in “The Scripture with no Words” (1996) หรือ ดร.ไวน์ คนใหญ่สุดขอบโลก
หยวนขุย (Corey Yuen) : ในภาพยนตร์เรื่อง ฟงไสหยก สู้บนหัวคน หรือ Fong Sai-Yuk I (1993) , ปึงซีเง็ก ปิดตาสู้ หรือ Fong Sai-Yuk II (1993) , The New Legend of Shaolin (1994) หรือ ห้าพยัคฆ์เสียวลิ้มยี่ , The Bodyguard from Beijing (1994) หรือ เดอะบอดี้การ์ด ขอบอกว่าเธอเจ็บไม่ได้ , My Father is a Hero (1995) หรือ ต้องใหญ่ให้โลกตลึง , High Risk (1995) หรือ ตายยากเพราะเธอเจ็บไม่ได้
หง จินเป่า (Sammo Hung) : ในภาพยนตร์เรื่อง Kung-Fu Cult Master (1993) หรือ ดาบมังกรหยก ตอน ประมุขพรรคมาร , Once Upon a Time in China and America (1997) หรือ หวงเฟยหง ภาค 6 พิชิตตะวันตก
หลี่ ยังมีบริษัทผลิตภาพยนตร์ของเขาเองในนาม "Eastern Production" ผลงานภาพยนตร์ที่ผลิตในนามบริษัทของเขา อาทิเช่น ฟงไสหยก สู้บนหัวคน หรือ Fong Sai-Yuk I (1993) , ปึงซีเง็ก ปิดตาสู้ หรือ Fong Sai-Yuk II (1993) , The Tai-Chi Master (1993) หรือ มังกรไท้เก็ก คนไม่ยอมคน , Fist of Legend (1994) หรือ ไอ้หนุ่มซินตึ้ง หัวใจผงาดฟ้า เป็นต้น
ฮอลลีวูดและต่างประเทศ
แก้หลังจากเกาะฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1997 หลี่ได้หันมาทำงานในฮอลลีวูด มีผลงานในฮอลลีวูดครั้งแรก คือภาพยนตร์เรื่อง Lethal Weapon 4 (1998) หรือ ริกส์ คนมหากาฬ ภาค 4 หนังแอ็คชันตำรวจภาคต่อโดยร่วมแสดงกับ เมล กิบสัน , แดนนี่ โกลเวอร์, โจ เปสซี, เรเน รุสโซ และ คริส ร็อก หลี่รับบทเป็นตัวร้ายของเรื่องนี้
ในปี 2000 หลี่รับบทนำครั้งแรกในเรื่อง Romeo Must Die (2000) หรือชื่อไทย ศึกแก็งค์มังกรผ่าโลก นับว่าเป็นหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเขาที่รับบทพระเอก หลังจากออกฉายก็สามารถทำรายได้บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสในสหรัฐอเมริกา นานหลายสัปดาห์ติดต่อกัน
หลี่ เริ่มประสบปัญหาในการแสดงภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ด สาเหตุจากหนังฮอลลีวูดใช้เวลาในการถ่ายทำค่อนข้างนานเป็นปีต่อเรื่อง เทียบกับหนังฮ่องกง หรือ หนังฝั่งยุโรป ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำเพียงสามหรือสี่เดือนต่อเรื่องเท่านั้น
ในปี 2001 หลี่จึงตัดสินใจไปแสดงหนังให้กับค่ายหนังฝั่งยุโรป มีผลงานถึง 2 เรื่อง คือ Kiss of the Dragon (2001) หรือชื่อไทย จูบอหังการ ล่าข้ามโลก โดยเป็นการร่วมงานกันระหว่างเขากับลุค เบซอง ผู้อำนวยการสร้างชาวฝรั่งเศส ร่วมแสดงกับ บริดเจต ฟอนดา และ เชกี คาร์โย ซึ่งหลี่ยังรับหน้าที่อำนวยการสร้างและคิดโครงเรื่องนี้ด้วย และหนังแอ็คชั่น - ไซไฟ เรื่อง The One (2001)หรือชื่อไทย เดี่ยวมหาประลัย อีกทั้ง หลี่ยังร่วมกับบริษัทหนังอย่าง Icon Production สร้างภาพยนตร์โทรทัศน์ (Pilot) แนวกำลังภายใน เรื่อง Invincible (2001) ความยาว 90 นาที ออกฉายเมื่อปี 2001 ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีวิชาการต่อสู้หลายคนมารวมตัวกัน เพื่อทำภารกิจยับยั้งกลุ่มคนที่หวังจะทำลายโลก
ในปี 2002 หลี่กลับมาแสดงภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้แนวกำลังภายใน ที่บ้านเกิดอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Hero (2002) หนังสัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่กำกับการแสดงโดย จางอี้โหมว
ในปี 2003 หลี่กลับมาทำงานในฮอลลีวูด รับบทนำร่วมกับนักร้องแร็พเปอร์ ดีเอ็มเอ็กซ์ ใน Cradle 2 the Grave (2003) หรือชื่อไทย คู่อริ..ถล่มยกเมือง ของผู้อำนวยการสร้าง โจเอล ซิลเวอร์ และผู้กำกับ แอนเดรจ บาร์ตโกเวียก จาก Romeo Must Die (2000) โดยหลี่รับบทเป็นนักสืบชาวไต้หวัน ที่ต้องร่วมมือกับนักโจรกรรมเพชร เพื่อตามหาอัญมณีสีดำ โดยในเรื่องนี้หลี่ต้องรับมือกับนักแสดงคิกบ็อกซิงอย่าง มาร์ค ดาคาสคอส เป็นครั้งแรก และสามารถทำเงินขึ้นอันดับหนึ่งบ็อกซ์ออฟฟิสในสัปดาห์แรกของการฉายในสหรัฐอเมริกา
ในปี 2005 หลี่กลับทำงานในฝั่งยุโรปอีกรอบ ร่วมงานกับลุค เบซอง อีกครั้ง ในเรื่อง Danny the Dog (หรืออีกชื่อ Unleashed ,2005) หรือชื่อไทย คนหมาเดือด ร่วมแสดงกับ มอร์แกน ฟรีแมน, บ็อบ ฮอสกินส์ และ เคอร์รี คอนด็อน ซึ่งได้รับการตอบรับกลุ่มแฟนหนังในอเมริกาเป็นอย่างดี
ในปี 2006 หลี่ก็กลับมาแสดงศิลปะการต่อสู้ประเภทกังฟู ที่บ้านเกิดอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Fearless (2006) หรือชื่อไทย จอมคนผงาดโลก เรื่องนี้หลี่เป็นทั้งนักแสดงและผู้อำนวยการสร้าง โดยการกำกับเป็นของ รอนนี่ ยู (Ronny Yu)
ในปี 2007 หลี่กลับไปทำงานที่ฝั่งยุโรปและได้ร่วมงานกับเจสัน สเตแธม นักแสดงแอ็คชั่นชื่อดังของโลกชาวอังกฤษ ในภาพยนตร์เรื่อง War (หรืออีกชื่อ Rogue Assassin ,2007) หรือชื่อไทย โหดปะทะเดือด และกลับมาบ้านเกิดแสดงหนังประวัติศาสตร์มหากาพย์สงครามย้อนยุคของจีน เรื่อง The Warlords (2007) หรือชื่อไทย 3 อหังการ์ เจ้าสุริยา หนังรีเมคภาพยนตร์เรื่อง Blood Brothers (1973) ของผู้กำกับระดับปรมาจารย์ จางเชอะ ผลงานการกำกับของ ปีเตอร์ ชาน
ในปี 2008 หลี่กลับมาทำงานให้ฮอลลีวูดอีกครั้ง มีผลงานถึง 2 เรื่อง คือ The Forbidden Kingdom หรือชื่อไทย หนึ่งฟัดหนึ่ง ใหญ่ต่อใหญ่ ด้วยทุนสร้าง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลี่ร่วมแสดงกับนักแสดงแอ็กชั่นชื่อดังอย่าง เฉินหลง เป็นครั้งแรก หลังจากวางแผนจะร่วมงานกันมานานกว่าหลายปี และพึ่งได้มาเจอกันในเรื่องนี้ โดยเนื้อหาอิงจากนิยายเรื่อง ไซอิ๋ว มาบางส่วน ผลงานกำกับของ ร็อบ มินคอฟ (The Lion King, Stuart Little และ The Haunted Mansion) โดยได้ทีมงานอย่าง ปีเตอร์ เปา (ผู้กำกับภาพ) , หยวนวูปิง (ผู้ออกแบบฉากการต่อสู้) และนักแสดงอย่าง หลิว อี้เฟย์, หลี่ ปิงปิง, คอลลิน โชว และไมเคิล แองการาโน และภาพยนตร์ภาคต่อของหนังชุด The Mummy ในตอนใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) ร่วมแสดงกับนักแสดงชาวฮ่องกง เช่น หยาง จื่อฉยง และ หวง ชิวเซิน พร้อมกับนักแสดงหลักอย่าง เบรนแดน เฟรเซอร์, มาเรีย เบลโล และ จอห์น ฮันนาห์
ในปี 2009 หลี่กลับมาทำงานที่บ้านเกิดร่วมแสดงในหนังประวัติศาสตร์รวมชาติจีน ในภาพยนตร์เรื่อง The Founding of a Republic (2009) หรือ มังกรสร้างชาติ หนังทุนสร้างโดยรัฐบาลจีน
ในปี 2010 หลี่กลับมาทำงานฮอลลีวูดอีกร่วมแสดงนำในหนังแอ็คชันรวมดาราอาวุโสแห่งยุค 80s เรื่อง The Expendables (2010) หรือชื่อไทย โคตรคนทีมมหากาฬ ภาค 1 โดยประกบกับนักแสดงอย่าง ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน, เจสัน สเตธัม, ดอล์ฟ ลุนด์เกรน, มิกกีย์ รูร์ก, สตีฟ 'สโตน โคล' ออสติน, แรนดี้ เคาท์เชอร์, บรูซ วิลลิส และ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ และกลับมาบ้านเกิดเพื่อรับบทนำในหนังจีนแนวดราม่าเรื่อง Ocean Heaven (2010) หนังเล็กๆทุนสร้าง 7 ล้านหยวน โดยเขารับบทพ่อเป็นพนักงานในสวนน้ำแห่งหนึ่ง ที่มีลูกชายป่วยเป็นโรคออทิสติก ซึ่งถือเป็นงานแสดงดราม่าเต็มตัวครั้งแรก โดยไม่มีฉากแอ็คชั่นในหนังแม้แต่ฉากเดียว พร้อมประกาศว่าเขาจะรับงานแสดงน้อยลง เพื่อไปทุ่มเทให้กับงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กับมูลนิธิของเขาชื่อ The One Foundation
ภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้
แก้ในช่วงที่หลี่ทำงานแสดงภาพยนตร์ในต่างประเทศทั้งฮอลลีวูดและฝั่งยุโรป ในปี 2002 หลี่กลับมาแสดงภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้แนวกำลังภายใน ที่บ้านเกิดในภาพยนตร์เรื่อง Hero (2002) หนังสัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่ทุนสร้าง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยรัฐบาลของจีน กำกับการแสดงโดย จางอี้โหมว นำแสดงโดยดาราชื่อดังหลายคน อย่าง เหลียง เฉาเหว่ย, จาง ม่านอวี้, เฉิน เตาหมิง, จาง จื่ออี๋ และ เจิน จื่อตัน โดยเฉพาะเจิน จื่อตัน ถือว่าเป็นการกลับมาร่วมงานกับหลี่อีกครั้ง หลังจากเคยประมือกันมาแล้วใน หวง เฟยหง ภาค 2 หรือ Once Upon a Time in China II (1992) และภาพยนตร์เรื่อง Hero ทำรายได้ทั่วโลกถึง 177.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2006 หลี่ก็กลับมาแสดงศิลปะการต่อสู้ประเภทกังฟู เรื่องเยี่ยมในภาพยนตร์เรื่อง Fearless (2006) หรือชื่อไทย จอมคนผงาดโลก เรื่องนี้หลี่เป็นทั้งนักแสดงและผู้อำนวยการสร้าง โดยการกำกับเป็นของ รอนนี่ ยู (Ronny Yu) หนังจีนทุนสร้าง 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ว่าด้วยเรื่องราวของฮั่ว หยวนเจี๋ย ปรมจารย์กังฟูผู้ต่อสู้กับจิตใจของตน ตั้งแต่เกิดจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต โดยคำโฆษณาที่ใช้ในการโปรโมตหนังเรื่องนี้บอกว่า เป็นหนังศิลปะการต่อสู้ประเภทกังฟู เรื่องสุดท้ายของเขา ทำให้คนทั่วโลกสนใจหนังเรื่องนี้มากขึ้น โดยสามารถขึ้นอันดับหนึ่งในตารางหนังทำเงินทั่วเอเชีย ยังสามารถทำรายได้อย่างงดงามบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสในสหรัฐอเมริกา และมีนักแสดงชาวไทยมีโอกาสร่วมแสดงกับหลี่ คือ สมรักษ์ คำสิงห์ (นักมวยสากลเหรียญทองโอลิมปิก) ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ในปี 2007 หลี่ได้ร่วมแสดงในหนังประวัติศาสตร์มหากาพย์สงครามย้อนยุคของจีน เรื่อง The Warlords (2007) หรือชื่อไทย 3 อหังการ์ เจ้าสุริยา หนังรีเมคภาพยนตร์เรื่อง Blood Brothers (1973) ของผู้กำกับระดับปรมาจารย์ จางเชอะ ผลงานการกำกับของ ปีเตอร์ ชาน ร่วมแสดงนำกับ หลิว เต๋อหัว และ ทาเคชิ คาเนชิโร หนังใช้ทุนสร้างสูงถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดในหนังที่พูดภาษาจีนในยุคนั้น โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังกำลังภายในอย่างที่เข้าใจกัน และเป็นครั้งแรกในชีวิตการแสดงที่หลี่ต้องรับบทเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์ที่พูดภาษาจีน(บทร้ายในตอนท้ายเรื่อง) ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั่วเอเชีย เปิดตัวขึ้นอันดับหนึ่งทั้งใน จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยตัวหลี่เองได้รับค่าตัวสูงสุดในบรรดาหนังภาษาจีนในยุคนั้น ด้วยค่าตัวถึง 100 ล้านหยวน หรือ 13.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ยังคว้าตุ๊กตาทองฮ่องกง ครั้งที่ 27 มาได้ถึง 8 รางวัล รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม คือ หลี่ เหลี่ยนเจี๋ย นั่นเอง
เกม
แก้บุคลิกของหลี่ได้ถูกนำไปเป็นตัวละครในเกมมาแล้ว โดยเกมนี้มีชื่อว่า Rise to Honor ผลิตโดย Sony Computer Entertainment America โดยเรื่องราวในเกมอ้างอิงเนื้อเรื่องในหนังแอ๊คชั่นของหลี่ และหลี่ยังเป็นผู้ให้เสียงกับตัวละครของเขาในเกม และได้หยวน ขุย (Corey Yuen) ผู้กำกับคิวบู๊คู่หูมาทำหน้าที่ออกแบบท่าทางต่อสู้ในเกมอีกด้วย วางจำหน่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2004 และในแถบยุโรปเดือนเมษายน 2004 จำหน่ายในรูปแบบเพลย์สเตชัน 2 เท่านั้น
ผลงานภาพยนตร์
แก้มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ ผลงานด้านภาพยนตร์ของหลี่ เหลียนเจี๋ย (อภิปราย) |
ปี | เรื่อง | รับบท | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1982 | Shaolin Temple : เสี่ยวลิ้มยี่ | เจี๊ยะ หย่วน | |
1984 | Shaolin Temple 2: Kids from Shaolin : เสี่ยวลิ้มยี่ 2 | มังกรสาม | |
1986 | Martial Arts of Shaolin : มังกรน่ำปั๊ก | ซื่อหมิง | |
1988 | Born to Defence : หวด ปั๊ก คัก | หลี่ | ร่วมกำกับภาพยนตร์ |
1989 | Dragon Fight : มังกรกระแทกเมือง | จิมมี่ หลี่ | |
1991 | Once Upon a Time in China : หวงเฟยหง ภาค 1 ตอน หมัดบินทะลุเหล็ก | หวงเฟยหง | |
1992 | Swordsman II : เดชคัมภีร์เทวดา 2 | เล่งฮู้ซง | |
The Master : ฟัดทะลุโลก | อาหลี่ | ||
Once Upon a Time in China II : หวงเฟยหง ภาค 2 ตอน ถล่มมารยุทธจักร | หวงเฟยหง | ||
1993 | The Tai-Chi Master : มังกรไท้เก๊ก คนไม่ยอมคน | จางจินเป่า | ร่วมอำนวยการสร้าง |
Fong Sai-Yuk : ฟงไสหยก : สู้บนหัวคน | ฟ่ง ไสหยก | ร่วมอำนวยการสร้าง | |
Fong Sai-Yuk II : ปึงซีเง็ก : ปิดตาสู้ | ปึงซีเง็ก | ร่วมอำนวยการสร้าง | |
Once Upon a Time in China III : หวงเฟยหง ภาค 3 ตอน ถล่มสิงโตคำราม | หวงเฟยหง | ||
Kung-Fu Cult Master : ดาบมังกรหยก ตอน ประมุขพรรคมาร | เตียบ่อกี้ | ||
Last Hero in China : เล็บเหล็กหวงเฟยหง | หวง เฟยหง | ร่วมอำนวยการสร้าง | |
1994 | The New Legend of Shaolin : 5 พยัคฆ์ เสี้ยวลิ้มยี่ | หง ซีกวน | ร่วมอำนวยการสร้าง |
The Bodyguard from Beijing (The Defender) : บอดี้การ์ด ขอบอกว่าเธอเจ็บไม่ได้ | อลัน หุย จิงหยิง / จอห์น จาง | ร่วมอำนวยการสร้าง | |
Fist of Legend : ไอ้หนุ่มซินตึ้ง หัวใจผงาดฟ้า | เฉินเจิน | ร่วมอำนวยการสร้าง | |
1995 | My Father is a Hero : ต้องใหญ่ให้โลกตะลึง (ครั้งนี้...หัวใจใครก็เจ็บไม่ได้) | คุงเว่ย | |
High Risk : โหด.....หยุดนรกเพื่อเธอ | คิท หลี่ | ||
1996 | Dr. Wai in the “The Scripture with no Words” : ดร.ไว คนใหญ่สุดขอบฟ้า | โจว ซีคิท | |
Black Mask : ดำมหากาฬ | ซุยชิค / Black Mask | ||
1997 | Once Upon a Time in China and America : หวงเฟยหง พิชิตตะวันตก | หวงเฟยหง | |
1998 | Hitman : ลงขันฆ่า ปราณีอยู่ที่ศูนย์ | อาฟู่ | |
1998 | Lethal Weapon 4 : ริกก์ส คนมหากาฬ 4 | หว่า ซิงกู่ | |
2000 | Romeo Must Die : ศึกแก็งค์มังกรผ่าโลก | ฮั่นซิง | |
2001 | Kiss of the Dragon : จูบอหังการ ล่าข้ามโลก | หลิวเจียน | ร่วมอำนวยการสร้าง/คิดโครงเรื่อง |
The One : เดี่ยวมหาประลัย | เกบ เล่า / เกเบรียล เล่า / Lawless | ||
2002 | Hero : ฮีโร่ | ไร้นาม | |
2003 | Cradle 2 the Grave : คู่อริ ถล่มยกเมือง | อาซู | |
2005 | Danny the Dog (หรืออีกชื่อ Unleashed) : คนหมาเดือด | แดนนี่ | ร่วมอำนวยการสร้าง |
2006 | Fearless : จอมคนผงาดโลก | ฮั่ว หยวนเจี๋ย | |
2007 | War (หรืออีกชื่อ Rogue Assassin) : โหด ปะทะ เดือด | โรกิว | |
The Warlords : 3 อหังการ์ เจ้าสุริยา | จอมพลหม่าซิงอี่ | ||
2008 | The Forbidden Kingdom : หนึ่งฟัดหนึ่ง ใหญ่ต่อใหญ่ | ซุนหงอคง / นักบวชนอกลัทธิ | |
The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor : เดอะ มัมมี่ 3 คืนชีพจักรพรรดิมังกร | จักรพรรดิมังกร (ฮ่องเต้ฮาน) | ||
2009 | The Founding of a Republic : มังกรสร้างชาติ | เฉิน เจ้าควน | |
2010 | Ocean Heaven | หวัง ซิงหลง | |
The Expendables : โคตรคนทีมมหากาฬ | หยิน หยาง | ||
2011 | The Sorcerer and the White Snake : ตำนานเดชนางพญางูขาว | หลวงจีนฟาไห่ | |
The Flying Swords of Dragon Gate : พยัคฆ์ตะลุยพยัคฆ์ | จ้าว ฮวยอัน | ||
2012 | The Expendables 2 : โคตรคน ทีมเอ็กซ์เพนเดเบิ้ล | หยิน หยาง | |
2013 | Badges of Fury : ปิดหน่วยล่า คนหมาเดือด | หวง เฟยหง | |
2014 | The Expendables 3 : ดิ เอ็กซ์เพ็นเดเบิลส์ โคตรคนทีมมหากาฬ 3 | หยิน หยาง | |
2016 | League of Gods : สงครามเทพเจ้า | เจียงจื่อหยา | |
2017 | On That Night... While We Dream | หลวงจีน | |
2020 | Mulan : มู่หลาน | ฮ่องเต้ |
อ้างอิง
แก้- จอมคนผงาดโลก: เจ็ท ลี / หมิงซิงคลับ เก็บถาวร 2007-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์
- เจ็ต ลี-เฉินหลง เปิดตัวหนัง THE FORBIDDEN KINGDOM เก็บถาวร 2008-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย สำนักข่าวไทย
- แห่กรี๊ดส์ เจ็ต ลี - พี่หลิว แอนด์ ทาเคชิ ถึงไทยขายหนัง เก็บถาวร 2008-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน yenta4.com
- สมรักษ์ ซัด เจ็ท ลี น่วม กลางกองถ่าย ฮั่วหยวนเจี่ย เก็บถาวร 2008-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน hunsa.com
- "เจ็ท ลี" ประกาศงดรับงานแสดง ตั้งใจทุ่มสุดตัวให้งานกุศล เก็บถาวร 2008-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน blike.net
- "เจ็ทลี" ท้อ ทำกี่เรื่องก็โดนจีนแบน เก็บถาวร 2008-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน kratookfilm.com
หนังสืออ่านเพิ่ม
แก้- Ducker, Chris, and Stuart Cutler. The HKS Guide to Jet Li. London: Hong Kong Superstars, 2000.
- Marx, Christy. Jet Li. Martial Arts Masters. Rosen Publishing Group, 2002. ISBN 0823935191.
- Parish, James Robert. Jet Li: A Biography. New York: Thunder's Mouth Press, 2002. ISBN 1560253762.
- Farquhar, M.(2010) ‘Jet Li: "Wushu Master" in Sport and Film’ in Jeffreys, Elaine. & Edwards, Louise (eds.), Celebrity in China, Hong Kong University Press, Hong Kong pp. 103–124. ISBN 9622090885
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของหลี่ เหลียนเจี๋ย เก็บถาวร 2011-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์มูลนิธิ The One Foundation เก็บถาวร 2013-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน