ลฺหวี่ ปู้เหวย์

(เปลี่ยนทางจาก หลี่ปู้เว่ย)

ลฺหวี่ ปู้เหวย์ (291–235 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นนักการเมืองแห่งรัฐฉิน (秦国) ในยุครณรัฐ (戰國時代) ของประเทศจีนโบราณ เดิมเป็นพ่อค้าที่มีอิทธิพลมาก มาจากรัฐเว่ย์ (卫国) ได้คบหากับพระเจ้าฉินจฺวังเซียง (秦莊襄王) แต่ครั้งที่ยังเป็นเจ้าชายยศน้อยและถูกจับเป็นองค์ประกันอยู่ในรัฐจ้าว (赵国) ต่อมาลฺหวี่ ปู้เหวย์ ได้ใช้สินบนและกลวิธีต่าง ๆ ช่วยเหลือพระเจ้าฉินจฺวังเซียงให้ได้ครองบัลลังก์รัฐฉินสืบต่อจากพระเจ้าฉินเซี่ยวเหวิน (秦孝文王) พระบิดา เมื่อ 249 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าฉินจฺวังเซียงจึงตั้งลฺหวี่ ปู้เหวย์ เป็นอัครมหาเสนาบดี (相國) มีบรรดาศักดิ์ว่า เหวินซิ่นโหฺว (文信侯) ครั้นพระเจ้าฉินจฺวังเซียงสิ้นพระชนม์เมื่อ 247 ปีก่อนคริสตกาล อิ๋ง เจิ้ง (嬴正) โอรส สืบราชสมบัติต่อ และเป็นที่รู้จักด้วยสมัญญา ฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝; "ปฐมจักรพรรดิฉิน") ลฺหวี่ ปู้เหวย์ ก็ได้สำเร็จราชการแทนอิ๋ง เจิ้ง และเป็นอัครมหาเสนาบดีในรัชสมัยนี้ด้วย

ลฺหวี่ ปู้เหวย์
อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน
ดำรงตำแหน่ง
251 ปีก่อนคริสตกาล – 235 ปีก่อนคริสตกาล
กษัตริย์พระเจ้าฉินจฺวังเซียง
อิ๋ง เจิ้ง
ถัดไปหลี่ ซือ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด291 ปีก่อนคริสตกาล
เสียชีวิต235 ปีก่อนคริสตกาล (อายุ 54–55 ปี)
อาชีพพ่อค้า, นักการเมือง
ลฺหวี่ ปู้เหวย์
อักษรจีนตัวเต็ม呂不韋
อักษรจีนตัวย่อ吕不韦

แต่เมื่ออิ๋ง เจิ้ง มีพระชนมายุมากขึ้นพอที่จะครองบัลลังก์รัฐฉินต่อไป ลฺหวี่ ปู้เหวย์มีความกังวลว่า ตนเองและจ้าวจี พระสนมของพระเจ้าฉินจฺวังเซียงเคยเป็นอดีตภรรยาน้อยของตนมาก่อน เมื่อครั้งได้เป็นอัครมหาเสนาบดีและได้สำเร็จราชการแทนอิ๋ง เจิ้ง มีอำนาจมากล้นในกำมือและได้สนิทสนมใกล้ชิดกับจ้าวจีที่ดำรงตำแหน่งเป็นไท่โฮ่วจนต้องไปมาหาสู่ถึงตำหนักทุกวัน หากอิ๋ง เจิ้งทราบเรื่องเข้า หายนะจะนำมาสู่ตน จึงคิดที่จะถอยห่างจากจ้าวจีโดยไม่เข้าวังหลวงอีก แต่จ้าวจีกลับไม่ยอมและเรียกตัวหลายครั้งด้วยความต้องการของพระนาง ลฺหวี่ ปู้เหวย์กลัวที่จะถูกจับได้ จึงได้ส่งเล่าไอ่มาเป็นชู้รักแทนตนโดยปลอมตัวเป็นขันทีโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของฝ่ายใน เล่าไอ่ได้เสพสุขกับจ้าวจีจนมีบุตรสองคน จ้าวจีโปรดปรานเล่าไอ่มากจนถึงกับแต่งตั้งบรรดายศศักดิ์เป็นจ่างซิ่นโหว (長信侯) มีอำนาจมากและข้าทาสบริวารมากมายจนกำเริบเสิบสานเรียกตนเองเป็น"พระบิดาบุญธรรม"ของอิ๋ง เจิ้ง ต่อมาก็คิดก่อการกบฏต่ออิ๋ง เจิ้งเพื่อหวังจะแต่งตั้งบุตรของตนเป็นอ๋องฉินแทนและเสพสุขกับจ้าวจีต่อไป แต่อิ๋ง เจิ้งกลับล่วงรู้เข้าซะก่อนจึงนำกองกำลังเข้าปราบปรามจนสำเร็จ เล่าไอ่และบุตรสองคนพร้อมพรรคพวกที่ให้การสนับสนุนได้ถูกสำเร็จโทษ ส่วนจ้าวจี พระมารดาก็ถูกสั่งกักตัวอยู่ในพระตำหนัก ต่อมาอิ๋ง เจิ้งได้รับรู้ว่าผู้ที่แนะนำเล่าไอ่ ผู้เป็นกบฏคือลฺหวี่ ปู้เหวย์นั่นเอง จึงคิดที่จะประหารเขาเสีย แต่ขุนนางต่างพากันทัดท้านโดยให้เหตุผลว่า "ลฺหวี่ ปู้เหวย์มีความดีความชอบใหญ่หลวงต่ออ๋องคนก่อน เล่าไอ่ก็ไม่เคยซัดทอดว่าเขาร่วมมือก่อกบฏ ความผิดของเขาคือการนำเล่าไอ่เข้ามาในวัง ความผิดครั้งนี้โทษไม่ถึงประหาร ขอให้พิจารณาด้วยพ่ะย่ะค่ะ" อิ๋ง เจิ้งจึงได้ตัดสินลงโทษลฺหวี่ ปู้เหวย์ด้วยการปลดตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเนรเทศไปยังซื่อชวน แต่ลฺหวี่ ปู้เหวย์กลับเกรงกลัวว่าอิ๋ง เจิ้งจะต้องสังหารตนเป็นแน่จึงตัดสินใจดื่มยาพิษฆ่าตัวตายในที่สุด

นอกเหนือจากบทบาทด้านการเมืองแล้ว ลฺหวี่ ปู้เหวย์ยังมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้สนับสนุนการรวบรวมลฺหวี่ชื่อชุนชิว ตำราสารานุกรมประมวลแนวคิดของร้อยสำนักคิดซึ่งรวบรวบเสร็จสมบูรณ์เมื่อ 239 ปีก่อนคริตกาล[1]

อ้างอิง แก้

  1. Sellman, James D. "The Spring and Autumn Annals of Master Lu", in Great Thinkers of the Eastern World, Ian McGreal, ed. New York: Harper Collins, 1995:39.