หลักการใช้กำลัง

หลักการใช้กำลัง (อังกฤษ: Use of force) หรือ ระดับการใช้กำลัง เป็นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหาร โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม[1]ระหว่างความต้องการด้านความปลอดภัย จริยธรรม และสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยหรือผู้บุกรุก ภายใต้กรอบของกฎหมาย[2] โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น การป้องกันตัวเองหรือการป้องกันบุคคลหรือกลุ่มพลเรือน[3]

ทีมตอบโต้พิเศษ (SRT) ตำรวจเซนต์ปอล ประทับมือบนอาวุธปืนพกที่อยู่ในซอง

ความเป็นมา แก้

หลักการใช้กำลัง เกิดขึ้นพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่อดีต ซึ่งมาจากความกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ซึ่งปัจจุบันความกลัวนี้ก็ยังคงอยู่ โดยหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาในปัจจุบันคือการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ติดกล้องประจำตัวและบันทึกเหตุการณ์ทุกครั้งที่มีปฏิสัมพันธ์กับพลเรือน[4] ซึ่งจาการศึกษาพบว่าภายหลังการติดกล้องประจำตัวนั้นสามารถลดอัตราการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่[5]

สำหรับหลักการใช้กำลังนั้น ไม่มีคำจำกัดความสากลร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการใช้กำลัง[6] ซึ่งสมาคมหัวหน้าตำรวจนานาชาติ (International Association of Chiefs of Police) ได้ให้ความหมายไว้ว่า

"ปริมาณกำลังที่ตำรวจต้องใช้ เพื่อให้บุคคลที่ขัดขืนหรือไม่ทำตามได้ทำตามคำสั่ง"[6]

ปริมาณกำลังที่ใช้ แก้

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายควรใช้กำลังตามแต่สมควรเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการจับกุม การป้องกันตนเองหรือผู้อื่นจากอันตราย โดยระดับการใช้กำลังของตำรวจประกอบไปด้วย การใช้คำพูดหรือคำสั่งในการยับยั้งเหตุการณ์นั้น การใช้กำลังทางกายภาพในการยับยั้งหรือยุติเหตุการณ์นั้น ไปจนถึงการใช้กำลังไม่ถึงชีวิต และการใช้กำลังถึงชีวิต[7][8]

ระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จะแปรผันตามความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ในการเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ[9] และประสบการณ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ โดยมีเป้าหมายคือการควบคุมสถานการณ์ให้รวดเร็วที่สุดและปกป้องประชาชน การใช้กำลังจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของเจ้าหน้าที่ เมื่อแนวทางอื่นในการควบคุมเหตุการณ์หรือสถานการณ์ขณะนั้นไม่ได้ผล[7]

สิ่งที่ตามมาหลังจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่คือการบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในขณะนั้นต้องตรวจสอบหลังจากควบคุมสถานการณ์ว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการปฐมพยาบาลหรือความช่วยเหลือทางการแพทย์แล้วหรือยัง และแจ้งให้ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับทราบ[7]

การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แก้

หลายครั้งเจ้าหน้าที่ถูกระบุว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต[10]โดยไม่สมควรแก่เหตุ ซึ่งขัดกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน[11]

หลักสากลต่อการใช้กำลัง แก้

การใช้กำลังระหว่างปรเทศ แก้

หลักการใช้กำลังตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ถือเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยถือเอากฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) เป็นหลัก ซึ่งระบุไว้ในกฎบัตรข้อ 2 วรรคที่สี่ ว่าประเทศสมาชิกจะต้องละเว้นจากการคุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณาภาพในอาณาเขตของรัฐใด ในขณะเดียวกันข้อ 51[12] ก็ได้ระบุไว้ว่าประเทศสมาชิกสามารถใช้กำลังต่อกันได้ หากเป็นไปเพื่อการป้องกันตนเอง[13]

สำหรับหลักในการป้องกันตนเองของชาติสมาชิกจะมีเงื่อนไขดังนี้

  1. การป้องกันตนเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการใช้อาวุธโจมตี (Armed Attack) จากฝั่งตรงข้ามก่อนเสมอ
  2. จะต้องแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยทันทีเมื่อมีการใช้กำลังในการป้องกันตนเอง

สำหรับนิยามของการใช้อาวุธโจมตี (Armed Attack) ต่อประเทศสมาชิกนั้นก็คือความหมายเดียวกับการรุกราน (Aggression) โดยที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ให้ความหมายไว้ในคำพิพากษาระหว่างประเทศนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกาไว้ว่า เป็นการล้ำพรมแดนระหว่างประเทศโดยใช้กองกำลังทางหทาร ในทุกรูปแบบ ทั้งการรบแบบตามแบบ การรบแบบกองโจร และการโจมตีด้วยอาวุธ[12]ต่อประเทศหรือรัฐอื่น[13]

นอกจากนี้ จากคดีระหว่างประเทศนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วางหลักเพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิกใช้ข้อบังคับข้อที่ 51 ในการแก้แค้น (retaliation) ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ[13] ประกอบไปด้วย

  1. ในการป้องกันตนเอง จะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการใช้กำลังต่อกัน เนื่องจากการใช้กำลังต้องเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา
  2. ในการป้องกันตนเอง จะต้องคำถึงถึงความได้สัดส่วน คือการตอบโต้แบบสมควรแก่เหตุที่เกิดขั้น
  3. ในการป้องกันตนเอง จะต้องตอบโต้แบบฉับพลัน หรือทันทีทันใด ไม่ใช่ให้ระยะเวลาผ่านไปนานแล้วจึงตอบโต้กลับไป

หลักสากลต่อการใช้กำลังในการชุมนุม แก้

หลักสากลในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ใน หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ในข้อที่ 13 และ 14 ได้กำหนดไว้ว่า[14][15]

  • หากการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่นำไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง หรือหากจำเป็นจะต้องใช้กำลังจะต้องใช้เท่าที่จำเป็นและในระดับต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้
  • หากการชุมนุมนั้นเป็นเหตุไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่รุนแรงน้อยไปกว่านี้ได้ และต้องใช้เท่าที่จำเป็น

หลักการใช้กำลังของแต่ละประเทศ แก้

ไทย แก้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทยอิงหลักการใช้กำลังมาจากประเทศสหรัฐ[16] โดยสามารถแบ่งเป็นสององค์ประกอบหลักตามแผนผังได้ดังนี้

การจำแนกพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย แก้

การจำแนกพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำผิด แบ่งเป็น 3 ประเภท[17] คือ

  1. ให้ความร่วมมือ ประกอบไปด้วย
    1. การให้ความร่วมมือโดยไม่ต้องออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ต้องรักษาระยะห่างตามความเหมาะสม และต้องไม่ลดระดับการระมัดระวังป้องกันตัวเอง จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
    2. การให้ความร่วมมือตามการออกคำสั่ง โดยตอบสนองต่อคำสั่งเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องสั่งด้วยคำพูดและท่าทางที่สมควรแก่เหตุ ต้องไม่ลดระดับการระมัดระวังป้องกันตัวเอง จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
  2. ขัดขืน ประกอบไปด้วย
    1. การนิ่งเฉย ไม่ยอมทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ แม้จะเป็นการนิ่งเฉยเพื่อขัดขืนโดยสันติ แต่ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน จนทำให้ต้องเข้าดำเนินการใกล้กับผู้ต้องสงสัยจนเกินระยะปลอดภัย ต้องระวังการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว ไม่ลดท่าทีการเฝ้าระวังจนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
    2. การเคลื่อนไหว เพื่อหลีกเลี่ยงการทำตามคำสั่ง แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติหรือพยายามที่จะหลบหนี ให้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางยุทธวิธี เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนในการตัดสินใจ และอาจมีแนวโน้มในการตอบโต้ของผู้ต้องสงสัย
  3. ทำร้าย ประกอบไปด้วย
    1. การทำโดยปราศจากอาวุธ ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ทำตามคำสั่ง ต้องระวังการซุกซ่อนอาวุธในการใช้ทำร้ายหรือตอบโต้เจ้าหน้าที่ จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
    2. การทำให้อันตรายบาดเจ็บต่อร่างกาย ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ทำตามคำสั่ง โดยการทำร้ายโดยอาจจะจากอาวุธหรือวัสดุที่เป็นอาวุธได้โดยสภาพ ต้องระหวังการตอบโต้ จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
    3. การกระทำที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอันตรายด้วยการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ทำตามคำสั่ง มีการตอบโต้เจ้าหน้าที่โดยเชื่อว่าจะส่งผลสาหัสหรือถึงชีวิตเจ้าหน้าที่ ด้วยอาวุธ วัตถุอื่นที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ ต้องระมัดระวังจนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย

การปฏิบัติ แก้

 
หลักการใช้กำลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย

ระดับการใช้กำลังจะถูกเริ่มต้นจากระดับที่น้อยที่สุดเป็นลำดับจนไปสู่ระดับสูงที่สุด โดยสามารถปรับเพิ่มระดับตามสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว[18][19][20] ประกอบไปด้วย

  1. การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ (Officer Presence) เป็นระดับที่เบาสุดซึ่งไม่ต้องใช้กำลัง เพียงการปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในเครื่องแบบ หรือการปรากฎตัวของรถสายตรวจก็เพียงพอแล้วในการป้อมปรามหรือยับยั้งอาชญากรรมที่กำลังจะเกดขึ้น เพราะผู้กระทำผิดมีโอกาสสูงที่จะถูกพบเห็นและจับกุม
  2. การสั่งการด้วยคำพูด (Verbalization) เป็นระดับที่ยังไม่ใช้แรงด้านกายภาพ เป็นการออกคำสั่งสั้น ๆ ที่ไม่คุกคาม หากสั่งการด้วยคำพูดและบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติอาจจะเพิ่มระดับเสียงในการสั่งการและคำพูดที่สั้นลง โดยต้องใช้คำพูดที่เด็ดขาดแต่ไม่เป็นการข่มขู่ อาทิ หยุด หรือ อย่าขยับ
  3. การควบคุมด้วยมือเปล่า (Empty-Hand Control) เป็นการใช้กำลังทางกายภาพในการควบคุมสถานการณ์ โดยปราศจากอาวุธ
  4. การใช้กำลังไม่ถึงชีวิต (Less-Lethal Methods) เป็นการใช้กำลังโดยใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ หรืออาวุธที่ไม่ส่งผลถึงชีวิตเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยอาวุธที่ใช้จะทำให้ผู้ถูกกระทำสูญเสียการต่อต้านหรือเกิดอาการสับสน มึนงง และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ อาทิ การใช้กระบองหรือกระสุนยางเพื่อหยุดยั้ง การใช้สเปรย์เคมี สเปรย์พริกไทย[18] หรือปืนช็อตกระแสไฟฟ้า
  5. การใช้กำลังถึงชีวิต (Lethal Force) เป็นการใช้อาวุธสำหรับสังหารเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรใช้ต่อเมื่อเป้าหมายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่น อาทิ อาวุธปืน เพื่อหยุดการกระทำของบุคคลที่ก่อเหตุนั้น

สหรัฐ แก้

ในสหรัฐอเมริกา มีกรณีศึกษาถึงหลักการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หลากหลายมาตั้งแต่ในอดีต อาทิ

รัฐเทนเนสซี กับ การ์เนอร์ (พ.ศ. 2528) แก้

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ได้รับแจ้งว่ามีการลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปถึงที่เกิดเหตุ พบผู้กระทำผิด คือการ์เนอร์ กำลังหลบหนี จึงเรียกให้ผู้กระทำผิดหยุด แต่ผู้กระทำผิดไม่ยอมทำตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงไปที่ผู้กระทำผิด ถูกที่ด้านหลังศีรษะเสียชีวิต แม้จะมั่นใจว่าผู้กระทำผิดไม่มีอาวุธ

ศาลฎีกาตัดสินว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังถึงตายแก่ผู้กระทำผิดได้ก็ต่อเมื่อ เชื่อว่าผู้กระทำผิดมีอาวุธหรือสามารถทำอันตรายถึงชีวิตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้อื่นได้เท่านั้น[21]

พลัมฮอฟฟ์ กับ ริคการ์ด (พ.ศ. 2557) แก้

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ เวสท์ พลัมฮอฟฟ์ ได้เรียกให้รถยนต์ของ ริคการ์ด ผู้ต้องสงสัยหยุด เนื่องจากไฟหน้ารถใช้การไม่ได้ โดยผู้ต้องสงสัยปรับกระจกหน้ารถเยื้องผิดปกติ และมีอาการพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงได้ขอให้ผู้ต้องสงสัยลงจากรถเพื่อตรวจค้น แต่ผู้ต้องสงสัยกลับขับรถหลบหนี และเกิดการไล่ล่าขึ้น พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายนาย จนกระทั่งรถของผู้ต้องสงสัยเสียหลักเข้าไปในลานจอดรถแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ปิดล้อม และลงจากรถเพื่อเข้าจับกุม ผู้ต้องสงสัยได้พยายามหลบหนีอีกครั้ง และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เปิดฉากยิงใส่ริคการ์ด จำนวน 15 นัด ทำให้ริคการ์ด และผู้โดยสารบนรถเสียชีวิต

ศาลตัดสินว่าการใช้กำลังดังกล่าวสมเหตุสมผลตามระดับการใช้กำลังถึงตาย ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงที่เกิดตามสถานการณ์ดังกล่าวที่ได้เผชิญหน้า ไม่ใช่หลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว[22]

สหราชอาณาจักร แก้

ในสหราชอาณาจักร ส่วนของอังกฤษและเวลล์ มีการะบุถึงการใช้กำลัง (ตามสมควร) ของตำรวจหรือบุคคลอื่นใด ตามาตตรา 3 ของกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 (ค.ส.1967) ระบุไว้ว่า

บุคคลอาจใช้กำลังตามความเหมาะสมในการป้องกันการเกิดอาชญากรรม หรือการบังคับใช้ หรือการช่วยเหลือในการจับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยโดยชอบด้วยกฎหมาย

การใช้กำลังนั้นจึงอาจจะถือได้ว่าชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสมเหตุสมผล[23]

อ้างอิง แก้

  1. หลักการใช้กำลัง - พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา (songmetta.com)
  2. กองบัญชาการศึกษา (2561). คู่มือยุทธวิธีตำรวจสำหรับครูฝึก เก็บถาวร 2022-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (edupol.org)
  3. "Police Use of Force". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
  4. Alpert, Geoffrey P.; Dunham, Roger G. (2004-08-16). Understanding Police Use of Force: Officers, Suspects, and Reciprocity (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-83773-6.
  5. "ถึงเวลา 'ติดกล้อง' ตำรวจแล้วหรือยัง?" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-30.
  6. 6.0 6.1 "Overview of Police Use of Force". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
  7. 7.0 7.1 7.2 "Overview of Police Use of Force". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
  8. Bourne, Tim (2021-03-05). "The Force Continuum, a Simple Guide • Identity Defence". Identity Defence (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-04. สืบค้นเมื่อ 2022-07-17.
  9. lin (2019-11-28). "ทำไมตำรวจถึงต้องใช้กำลัง Use of Force ในบางกรณี". Siam Media - สยามมีเดีย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  10. "ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ! ผลชันสูตรศพ "จอร์จ ฟลอยด์" ขาดอากาศหายใจ". tnnthailand.com. 2020-06-02.
  11. "จนท.เลบานอนใช้กระสุนลูกปรายเหล็กกับผู้ชุมนุมการประท้วง นักสิทธิชี้เป็นวิธีการผิดกฎหมาย". prachatai.com.
  12. 12.0 12.1 "ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของการใช้กำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกา". prachatai.com.
  13. 13.0 13.1 13.2 "การใช้กำลัง (Use of Force) ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ". isheepcheap (ภาษาอังกฤษ). 2013-09-05.
  14. ""หลักสากล" สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม". ilaw.ot.th - "หลักสากล" สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม.[ลิงก์เสีย]
  15. "Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials". OHCHR (ภาษาอังกฤษ).
  16. "Police 'Use of Force' Guidelines Getting Overhaul: What Are They Now?". DNAinfo Chicago. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2022-07-17.
  17. บทที่ 4-ระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ – กองแผนงานอาชญากรรม (thaicrimes.org)
  18. 18.0 18.1 กองบัญชาการศึกษา (2561). คู่มือยุทธวิธีตำรวจสำหรับครูฝึก เก็บถาวร 2022-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (edupol.org)
  19. ณัฐวรรณ สิตวรเวศย์ (2562). ขอบเขตและสภาพบังคับทางกฎหมายในกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังจับเกินความเหมาะสม. วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 เดือน กรกฎาคม - กันยายน, หน้า 443 - 454
  20. "The Use-of-Force Continuum". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
  21. "Tennessee v. Garner". สืบค้นเมื่อ August 12, 2015. [Deadly] force may not be used unless necessary to prevent the escape [of a fleeing suspect] and the officer has probable cause to believe that the suspect poses a significant threat of death or serious physical injury to the officer or others.
  22. Plumhoff v. Rickard, 134 S. Ct. 2012, 572 U.S., 188 L. Ed. 2d 1056 (2014).
  23. "Self-Defence and the Prevention of Crime | The Crown Prosecution Service". www.cps.gov.uk.