หม้อข้าวหม้อแกงลิง
บทความนี้เป็นบทความสำหรับชื่อวงศ์ และสกุล
หม้อข้าวหม้อแกงลิง | |
---|---|
หม้อบนของ Nepenthes edwardsiana | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
หมวด: | พืชดอก (Magnoliophyta) |
ชั้น: | พืชใบเลี้ยงคู่ (Magnoliopsida) |
อันดับ: | Caryophyllales |
วงศ์: | Nepenthaceae Dumort. (1829) |
สกุล: | Nepenthes L. (1753) |
สปีชี่ส์ | |
แผนที่หม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วโลก | |
ชื่อพ้อง | |
|
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (อังกฤษ: nepenthes "เนเพนธีส"; ชื่อสามัญ: tropical pitcher plants หรือ monkey cups) เป็นสกุลของพืชกินสัตว์ ที่มีมากกว่า 160 ชนิด และลูกผสมอีกจำนวนมาก พบกระจายพันธุ์ในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่ตอนใต้ของจีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซียและฟิลิปปินส์; ทางตะวันตกของมาดากัสการ์ (2 ชนิด) และเซเชลส์ (1 ชนิด) ; ตอนใต้ของออสเตรเลีย (3 ชนิด) และนิวแคลิโดเนีย (1 ชนิด) ; ตอนเหนือของอินเดีย (1 ชนิด) และศรีลังกา (1 ชนิด) พบมากที่บอร์เนียว และ สุมาตรา มักพบขึ้นตามที่ลุ่ม แต่ในระยะหลังหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดใหม่ ๆ มักพบตามภูเขาซึ่งมีอากาศร้อนตอนกลางวันและหนาวเย็นตอนกลางคืน ส่วนชื่อหม้อข้าวหม้อแกงลิง มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าลิงมาดื่มน้ำฝนจากหม้อของพืชชนิดนี้
รูปร่างลักษณะและหน้าที่
แก้หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นไม้เลื้อย มีระบบรากที่ตื้นและสั้น สามารถสูงได้หลายเมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรหรืออาจหนากว่านั้นในบางชนิด เช่น N. bicalcarata เป็นต้น จากลำต้นไปยังก้านใบที่มีลักษณะใบคล้ายกับสกุลส้ม ยาวไปจนสุดเป็นสายดิ่งซึ่งบางสายพันธุ์ใช้เป็นมือจับยึดเกี่ยว แล้วจบลงที่หม้อซึ่งเป็นใบแท้แปรสภาพมา หม้อเริ่มแรกจะมีขนาดเล็กและค่อยๆ โตขึ้นอย่างช้าๆ จนเป็นกับดักทรงกลมหรือรูปหลอด
ภายในหม้อจะบรรจุไปด้วยของเหลวที่พืชสร้างขึ้น อาจมีลักษณะเป็นน้ำหรือน้ำเชื่อม ใช้สำหรับให้เหยื่อจมน้ำตาย จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าในหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิด ของเหลวจะบรรจุไปด้วยสารเหนียวที่ถูกผสมขึ้นเป็นสำคัญ เพื่อใช้ย่อยแมลงที่ตกลงไปในหม้อ ความสามารถของของเหลวที่ใช้ดักจะลดลง เมื่อถูกทำให้เจือจางโดยน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้นซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพืชสกุลนี้[1]
ส่วนล่างของหม้อจะมีต่อมสำหรับดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้ ส่วนบริเวณด้านบนจะมีผิวลื่นเป็นมันใช้เพื่อป้องกันเหยื่อหนีรอดไปได้ ทางเข้าของกับดักเป็นส่วนประกอบที่เรียกว่าเพอริสโตม จะลื่นและเต็มไปด้วยสีสันเพื่อดึงดูดเหยื่อเข้ามาและเสียหลักลื่นพลัดหล่นลงไปในหม้อ ส่วนฝาหม้อใช้ป้องกันไม่ให้น้ำฝนตกลงไปผสมกับของเหลวในหม้อ และด้านข้างจะมีต่อมน้ำต้อยไว้ดึงดูดเหยื่ออีกทางหนึ่งด้วย
โดยปกติหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะสร้างหม้อขึ้นมา 2 ชนิด คือหม้อล่าง เป็นหม้อที่อยู่แถวๆโคนต้นมีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม อีกชนิดคือหม้อบนที่มีขนาดเล็ก ก้านหม้อจะลีบแหลม รูปทรงของหม้อจะเปลี่ยนไป และสีสันจืดชืดกว่า หน้าที่ที่แตกต่างกันของหม้อทั้งสองชนิดคือ หม้อล่างทำหน้าที่ล่อเหยื่อและดูดซึมสารอาหารเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโต ส่วนหม้อบน เมื่อต้นโตขึ้น สูงขึ้น หม้อบนจะลดบทบาทการหาเหยื่อ แต่เพิ่มบทบาทการจับยึด โดยก้านใบจะม้วนเป็นวง เกาะเกี่ยวกิ่งไม้ข้างๆ ดึงเถาหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้น ไม่โค่นล้มโดยง่าย แต่ในบางชนิดเช่น N. rafflesiana เป็นต้น หม้อที่ต่างชนิดกัน ก็จะดึงดูดเหยื่อที่ต่างชนิดกันด้วย
เหยื่อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงโดยปกติแล้วจะเป็นแมลง แต่บางชนิดที่มีหม้อขนาดใหญ่ (N. rajah, N. rafflesiana เป็นต้น) ในบางครั้งเหยื่ออาจจะเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น หนู และสัตว์เลื้อยคลาน[2][3] ดอกของหม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้น ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง จะแยกเพศกันอย่างชัดเจน แบบหนึ่งต้นหนึ่งเพศ ฝักเป็นแบบแคปซูล 4 กลีบและแตกเมื่อแก่ ภายในประกอบไปด้วยเมล็ด 10 ถึง 60 เมล็ดหรือมากกว่านั้น เมล็ดแพร่กระจายโดยลม
รูปแบบของกับดัก
แก้- รูปแบบทั้งหมดของกับดักในพืชกินสัตว์ดูที่พืชกินสัตว์
พืชในสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชกินสัตว์ที่มีกับดักแบบหลุมพราง (Pitfall traps, pitcher) เหมือนกับพืชในสกุล Sarracenia, Darlingtonia, Heliamphora และ Cephalotus และการวิวัฒนาการของกับดักสันนิษฐานว่าการจากการคัดเลือกภายใต้แรงกดดันในระยะเวลายาวนาน เช่น มีสารอาหารในดินน้อย เป็นต้น ทำให้เกิดการสร้างใบรูปหม้อขึ้น และอาจเกิดจากแมลงซึ่งเป็นเหยื่อของมัน มีพฤติกรรม, บิน, คลาน และไต่ ทำให้เกิดการพัฒนาจากโพรงช่องว่างที่เกิดจากใบประกบกันกลายหม้อซึ่งเป็นกับดักแบบหลุมพราง
หม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้นถูกจัดให้มีบรรพบุรุษร่วมกับพืชที่มีกับดักแบบกระดาษเหนียว ซึ่งแสดงว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงบางชนิดอาจมีการพัฒนามาจากกับดักแบบกระดาษเหนียวที่สูญเสียเมือกเหนียวไป
กับดักเกิดขึ้นที่ปลายสายดิ่งหรือมือจับพัฒนามาจากการยืดออกของเส้นกลางใบ โดยมากเป็นรูปทรงกลมหรือรูปหลอด เป็นกระเปาะ มีของเหลวอยู่ภายในมีลักษณะเป็นน้ำหรือน้ำเชื่อม ปากหม้อที่เป็นทางเข้าของกับดักอยู่ด้านบนของหม้อ เป็นส่วนประกอบที่เรียกว่าเพอริสโตม ซึ่งมีลักษณะลื่น ฉาบไปด้วยขี้ผึ้งและเต็มไปด้วยสีสันเพื่อดึงดูดเหยื่อเข้ามาและเสียหลักลื่นพลัดหล่นลงไปในหม้อ ส่วนล่างของหม้อจะมีต่อมสำหรับดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้ ส่วนบริเวณด้านบนจะมีผิวลื่นเป็นมันใช้เพื่อป้องกันเหยื่อหนีรอดไปได้ มีฝาปิดอยู่ที่ด้านบนของกับดักป้องกันไม่ให้น้ำฝนตกลงไปในหม้อ ใต้ฝามีต่อมน้ำต้อยไว้เพื่อดึงดูดเหยื่ออีกทางหนึ่ง
ประวัติทางพฤกษศาสตร์
แก้ก่อนที่ชื่อ นีเพนเธส จะถูกบันทึก ย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในปี ค.ศ. 1658 ข้าหลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อเบเตียน เดอ ฟรากูร์ (ฝรั่งเศส: Étienne de Flacourt) ได้พรรณนาเกี่ยวกับลักษณะของพืชชนิดนี้ในงานสัมมนา Histoire de la Grande Isle de Madagascar (ประวัติของเกาะมาดากัสการ์) ดังนี้:[4]
พืชชนิดนี้สูง 3 ฟุต ใบยาว 7 นิ้ว มีดอกและผลคล้ายแจกันขนาดเล็กที่มีฝาปิดเป็นภาพที่น่าประหลาดใจมาก มีสีแดงหนึ่งสีเหลืองหนึ่ง สีเหลืองมีขนาดใหญ่ที่สุด คนพื้นเมืองในประเทศนี้คัดค้านที่จะเด็ดดอกของมัน เพราะมีความเชื่อที่ว่าถ้าใครเด็ดมันแล้ว ฝนจะตกในวันนั้น ในเรื่องนั้น ฉันและชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ เก็บมันมา แต่ฝนก็ไม่ตก หลังฝนตกดอกของมันเต็มไปด้วยน้ำที่เกาะอยู่จนดูคล้ายลูกแก้วที่แวววาว [แปลจากภาษาฝรั่งเศสในหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]
ฟรากูรได้ตั้งชื่อพืชชนิดนี้ว่า Anramitaco สันนิษฐานว่าเป็นชื่อท้องถิ่น แล้วก็ล่วงเลยมามากกว่าศตวรรษ หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จึงได้ถูกจัดจำแนกเป็น N. madagascariensis[6]
หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดที่ 2 ที่ถูกพรรณนาถึงในปี ค.ศ. 1677 ได้แก่ N. distillatoria พืชถิ่นเดียวของศรีลังกา ถูกจัดจำแนกให้อยู่ภายใต้ชื่อ "Miranda herba" (สมุนไพรอันน่าพิศวง) [7] 3 ปีต่อมา พ่อค้าชาวดัตช์ที่ชื่อเจคอบ เบรนี (Jacob Breyne) อ้างว่าพืชชนิดนี้เป็น Bandura zingalensium ซึ่งเป็นชื่อเรียกในท้องถิ่น[8] ในภายหลัง Bandura ได้กลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วไปจนกระทั่งลินเนียสได้ตั้งชื่อ นีเพนเธส ขึ้นในปี ค.ศ. 1737[5]
N. distillatoria ถูกจัดจำแนกอีกครั้งในปี ค.ศ. 1683 ครั้งนี้โดยแพทย์ชาวสวีเดนชื่อ เอช.เอ็น. กริม (H.N. Grimm) [9] กริมได้เรียกมันว่า Planta mirabilis distillatoria หรือ "พืชกลั่นน้ำอันน่าอัศจรรย์" และเป็นครั้งแรกที่มีภาพประกอบอย่างละเอียดของพืชชนิดนี้[5] 3 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1686 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อ จอน เรย์ (อังกฤษ: John Ray) อ้างคำพูดของกริมมากล่าวดังนี้:[10]
รากดูดความชุ่มชื้นจากดินด้วยความช่วยเหลือของแสงอาทิตย์เข้าสู่ตัวมัน แล้วส่งผ่านไปยัง ลำต้น ก้าน ใบที่น่ากลัวของมัน ไปสู่ภาชนะตามธรรมชาติ แล้วเก็บกักไว้จนกว่ามนุษย์จะต้องการมัน [แปลจากภาษาละตินใน หม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]
หนึ่งในภาพประกอบแรกๆของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ปรากฏใน Almagestum Botanicum (สารานุกรมพฤกษศาสตร์ ) ของเลียวนาร์ด พลูคีเน็ต (Leonard Plukenet) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1696[11] พืชที่เรียกว่า Utricaria vegetabilis zeylanensium ก็คือ N. distillatoria นั่นเอง[5]
ในเวลาเดียวกันเกออร์จ เบเบอร์ฮาร์ด รัมฟิออซ (เยอรมัน: Georg Eberhard Rumphius) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ค้นพบหม้อข้าวหม้อแกงลิง 2 ชนิดใหม่ในหมู่เกาะมลายู รัมฟิออซได้วาดภาพชนิดแรกไว้ เมื่อได้นำมาพิจารณาดูแล้วมันก็คือ N. mirabilis นั่นเอง และได้ให้ชื่อว่า Cantharifera แปลว่า "คนถือเหยือก" ชนิดที่ 2 ที่ชื่อ Cantharifera alba คิดว่าน่าจะเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิด N. maxima รัมฟิออซได้พรรณนาไว้ในงานเขียนที่มีชื่อเสียงมากของเขา : Herbarium Amboinensis (พรรณไม้จากอองบง) บัญชีรายชื่อรุกขชาติแห่งเกาะอองบง ทั้ง 6 เล่ม อย่างไรก็ตามพืชชนิดนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักจนกระทั่งเขาถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี[12]
หลังจากตาบอดลงในปี ค.ศ. 1670 เมื่อต้นฉบับเขียนด้วยมือสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นบางส่วน รัมฟิออซก็ได้เขียน Herbarium Amboinensis ต่อด้วยความช่วยเหลือของเสมียนและจิตรกร ในปี ค.ศ. 1687 เมื่องานใกล้สำเร็จลุล่วง งานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งกับเสียหายไปเพราะไฟไหม้ แต่ด้วยความอุตสาหะ รัมฟิออซและผู้ช่วยของเขาก็ทำหนังสือเล่มแรกแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1690 อย่างไรก็ตาม 2 ปีต่อมา เรือที่บรรทุกต้นฉบับไปสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลับถูกโจมตีและจมลงโดยเรือรบของฝรั่งเศส เป็นการบังคับให้พวกเขาเริ่มใหม่อีกครั้ง แต่โชคยังดีที่ยังมีฉบับคัดลอกที่ถูกเก็บรักษาไว้โดย ข้าหลวง-นายพล โจฮันซ์ แคมฟุจซ์ (Johannes Camphuijs) ในที่สุดหนังสือ Herbarium Amboinensis ก็ไปถึงเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1696 แต่หนังสือเล่มแรกก็ยังไม่ถูกตีพิมพ์จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1741 เป็นเวลา 39 ปีหลังจากรัมฟิออซถึงแก่กรรม ในครั้งนี้ชื่อ นีเพนเธส ของลินเนียสได้กลายเป็นมาตรฐานที่มั่นคงแล้ว[5]
N. distillatoria ถูกวาดภาพและอธิบายอีกครั้งใน Thesaurus Zeylanicus (อรรถาภิธานจากศรีลังกา) ของโจฮันซ์ เบอร์แมน (Johannes Burmann) ในปี ค.ศ. 1737 ภาพวาดแสดงให้เห็นตั้งแต่ดอก ลำต้น และหม้อ เบอร์แมนเรียกพืชชนิดนี้ว่า Bandura zeylanica[13]
การอ้างถึงหม้อข้าวหม้อแกงลิงครั้งต่อมาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1790 เมื่อพระชาวโปรตุเกสที่ชื่อโจเอา เดอ เลอรีโร (João de Loureiro) พรรณนาถึง Phyllamphora mirabilis หรือ "ใบรูปหม้ออันน่าพิศวง" จากเวียดนาม แม้เขาจะอยู่ในประเทศนี้มาถึง 35 ปี มันดูไม่เหมือนว่า เลอรีโรจะเฝ้าศึกษาพืชชนิดนี้อย่างจริงจังนัก เขาอ้างว่าฝาของหม้อเคลื่อนไหวได้ในรูปแบบเปิดและปิดฝาหม้อ ในงานที่มีชื่อเสียงของเขา : Flora Cochinchinensis (พืชจากเวียดนามใต้ ) เขาเขียนไว้ว่า:[14]
[...] สายดิ่งที่ยื่นยาวต่อจากปลายสุดของใบที่บิดขดเป็นวงอยู่ตรงกลาง ทำหน้ายึดหม้อนิ่มๆรูปไข่นั่นไว้ มันมีปากที่เรียบเป็นโครงยื่นตรงขอบและที่ด้านตรงข้ามเป็นฝาปิด ซึ่งเปิดอยู่โดยธรรมชาติ และจะปิดเมื่อต้องเก็บกักน้ำค้างไว้ เป็นผลงานของพระผู้เป็นเจ้าที่น่าพิศวงมาก! [แปลจากภาษาฝรั่งเศสในหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]
ในที่สุด Phyllamphora mirabilis ก็ถูกเปลี่ยนเข้าสู่สกุลของหม้อข้าวหม้อแกงลิงโดยเกออร์จ คลาริดก์ ดรูซ (George Claridge Druce) ในปี ค.ศ. 1916[15] ดังนั้น P. mirabilis จึงเป็น ชื่อเดิม (basionym) ของหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วโลกหลายชนิด[16]
การเคลื่อนไหวของฝาหม้อที่ถูกกล่าวอ้างโดยเลอรีโรได้ถูกกล่าวซ้ำอีกครั้งโดยจีน ลุยซ์ มารี ปัวร์เรต (Jean Louis Marie Poiret) ในปี ค.ศ. 1797 ปัวร์เรตได้กล่าวถึง 2 ใน 4 ชนิดที่เป็นที่รู้จักในขณะนั้น : N. madagascariensis และ N. distillatoria เขาสร้างรูปแบบชื่อปัจจุบันและชื่อเรียกตามหลัง : Nepente de l'Inde หรือ "หม้อข้าวหม้อแกงลิงของประเทศอินเดีย" ถึงแม้ว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จะอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ก็ตาม
ใน Encyclopédie Méthodique Botanique (สารานุกรมพฤกษศาสตร์) ของจีน-บาปตีสต์ เดอ ลามาร์ก (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste de Lamarck) เขารวบรวมไว้ดังนี้ :[6]
มันเป็นหม้อที่น่าพิศวง ตามดังที่ฉันจะกล่าวต่อไปนี้ โดยปกติเมื่อหม้อเต็มไปด้วยน้ำสะอาดฝาหม้อก็จะปิดลง มันจะเปิดขึ้นในระหว่างตอนกลางวัน และน้ำส่วนมากจะหายไป แต่น้ำที่หายไปนี้ใช้ไปในการบำรุงต้นระหว่างกลางคืนก็เป็นได้ และเมื่อวันใหม่เมื่อหม้อเต็มอีกครั้ง ฝาก็จะปิดลงเช่นเดิม นี่เป็นอาหารของมัน และมากเพียงพอใน 1 วันเพราะน้ำนั้นจะเหลือครึ่งเดียวในตอนกลางคืน [แปลจากภาษาฝรั่งเศสในหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบอร์เนียว][5]
เมื่อมีการค้นพบชิดใหม่ๆ ความสนใจในการปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงจึงเกิดขึ้นตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของหม้อข้าวหม้อแกงลิงก็ว่าได้ โดยเริ่มนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880[5] อย่างไรก็ตามความนิยมนี้กลับลดลงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนจะหายไปเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง นี่เป็นเครื่องแสดงข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีการค้นพบชนิดใหม่เลยในระหว่างปี ค.ศ. 1940 ถึง 1966 แต่ความสนใจในการปลูกเลี้ยงและการศึกษาในหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้กลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้แก่นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อไซเกะโอะ คุระตะ (Shigeo Kurata) ผลงานของเขาในปี ค.ศ. 1960 และ 1970 ได้นำเข้าสู่ความนิยมในพืชชนิดนี้อีกครั้ง[17]
ศัพทมูลวิทยา
แก้คำว่า Nepenthes (นีเพนเธส) ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1737 ใน Hortus Cliffortianus (แคตาล็อกแสดงพรรณพืชของคลิฟฟอร์ด) ของคาโรลัส ลินเนียส[18] มาจากมหากาพย์โอดิสซีของโฮเมอร์ ในข้อความที่ว่า "Nepenthes pharmakon" (เหยือกยาที่ใช้เพื่อลืมความเศร้าซึ่งหมายถึงเหล้านั่นเอง) ถูกมอบให้เฮเลนโดยราชินีแห่งอียิปต์ คำว่า "Nepenthe" แปลตรงตัวได้ว่า "ปราศจากความเศร้าโศก" (ne = ไม่, penthos = เศร้าโศก) และในตำนานเทพเจ้ากรีกนั้น เป็นการดื่มเพื่อให้ลืมความเสียใจ ลินเนียสอธิบายไว้ว่า :
ถ้ามันไม่ใช่เหยือกเหล้าของเฮเลนแล้วมันคงจะเป็นของนักพฤกษศาสตร์ทุกคนอย่างแน่นอน สิ่งใดที่นักพฤกษศาสตร์รู้สึกว่าธรรมดาไม่น่าชื่นชม ถ้าหลังจากการเดินทางอันยาวนานและแสนลำบาก แล้วเขาสามารถพบพืชที่แสนวิเศษนี้ ในความรู้สึกของเขาที่ผ่านสิ่งแย่ๆและลำบากมานั้นก็ต้องถูกลืมเลือนไปหมดสิ้น เมื่อเห็นผลงานของพระผู้เป็นเจ้าที่น่าชมเชยนี้! [แปลจากภาษาละตินโดย เอช. เจ. วีตช์][19]
พืชที่ลินเนียสกล่าวถึงก็คือ Nepenthes distillatoria หม้อข้าวหม้อแกงลิงจากศรีลังกา[5]
หม้อข้าวหม้อแกงลิง ถูกตั้งให้เป็นชื่อสกุลในปี ค.ศ. 1753 ใน "Species Plantarum (ชนิดพันธุ์พืช) " ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่ถูกยอมรับและใช้จนมาถึงปัจจุบัน และ N. distillatoria ก็เป็นชนิดต้นแบบในสกุลนี้[20]
การปลูกเลี้ยง
แก้การปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณ์คือ
- ชนิดโลว์แลนด์ (lowland) อันจะอยู่ที่อุณภูมิช่วงกลางวันประมาณ30°C และกลางคืนในช่วงไม่ต่ำกว่า 20°C อาทิNepenthes thorelii Nepenthes gracilis Nepenthes ampullaria Nepenthes mirabilis N. bicalcarata ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ปลูกเลี้ยงมือใหม่สามรถปลูกเลี้ยงให้งอกงามได้ โดยสามารถเติบโตได้ดีในโรงเรือนที่พลางแสงอย่างน้อย50% โดยกั้นลมไม่ให้ความชื้นในอากาศน้อยลง
- ชนิดอินเทอร์มิเดียท (intermediate) อันจะอยู่ที่อุณภูมิช่วงกลางวันประมาณ25 - 35°C และกลางคืนในช่วง18 - 26°C อาทิ N. palawanensis N. stenophylla N.rajah Kinabalu สามารถปลูกได้ในโรงเรือนอีแวปและตู้อีแวปซึ่งสามารถควบคุมอุณภูมิได้ สำหรับชนิดนี้ผู้ปลูกเลี้ยงมือใหม่ควรศึกษาให้รอบด้าน ปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์ก่อน เพราะเป็นชนิดที่ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้น อีกทั้งมีราคาที่สูงกว่าไม้ท้องตลาดโดยทั่วไป
- ชนิดไฮแลนด์ (highland) อันจะอยู่ที่อุณภูมิช่วงกลางวันประมาณ25 °C และกลางคืนในช่วง 15 °C อาทิ N. rajah N. aristolochioides N. lowii สามารถปลูกในโรงเรือนอีแวปหรือในตู้อีแวปซึ่งสามารถควบคุมอุณภูมิได้ หรืออาจปลูกได้ในโรงเรือนอีแวปซึ่งอยู่บริเวณที่มีอากาศเย็นตามไหล่เขาในภาคเหนือ
น้ำที่ใช้ในการรดสามารถใช้น้ำสะอาด อาทิ น้ำปะปาซึ่งพักคอลีนอย่างน้อยหนึ่งวันในการรด จากความเห็นของผู้ปลูกเลี้ยงบางส่วนหม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ค่อยจะมีปัญหากับน้ำมากนัก
แสงที่ใช้ในการปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิงควรได้แสงอย่างน้อย แสงแดดจากพระอาทิตย์ในตอนเช้าจนถึงก่อนเที่ยง ส่วนระยะเวลานั้นสามารถให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้อย่างการใช้หลอดไฟสำหรับการปลูกเลี้ยงพืชเป็นต้น โดยต้องมีเวลาพักในตอนกลางคืนเช่นเดี่ยวกับมนุษย์ที่ต้องมีการพักผ่อน
ความชื้นในอากาศ สามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดความชื้น โดยความชื้นไม่ควรต่ำกว่า 50% ควรกั้นลมบริเวณโรงเรือนเพราะลมเป็นเหตุให้ความชื้นในอากาศลดลง ความชื้นมีส่วนสำคัญในการผลิดหม้อใหม่หากความชื้นไม่เพียงใบจะเริ่มแสดงอาการหม้อฝ่อหรือไม่ออกหม้อนั้นเอง
วัสดุปลูก ควรมีความโปร่งเพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้นวัสดุปลูกต้องไม่อุ้มน้ำจนเกินไปกล่าวคือน้ำสามารถระบายได้ดีแต่วัสดุปลูกต้นสามารถกักเก็บความชื้นได้ประมาณหนึง วัสดุปลูกที่ผู้ปลูกเลี้ยงจำนวนมากแนะนำคือ สเปกนั่มมอสผสมเพอร์ไลท์ หรือ กาบมะพร้าวผสมขุ่ยมะพร้าว หรือจะใช้ขุ่ยมะพร้าวผสมเพอร์ไลท์ ก็ได้นั้นนี้เป็นดุลยพินิจของผู้ปลูก ทั้งนี้ไม่ควรใช้ดินไม่ว่าจะดินอะไรทั้งสิ้นเพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชที่มีระบบรากแบบอิงอาศัยดินนั้นอาจจับตัวเป็นก้อนทำให้รากหม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่สามรถโตต่อได้และรากเน่าไปในที่สุด
ปุ๋ย ไม่ควรให้ปุ๋ยชีวภาพอาทิ มูลสัตว์ มูลไส้เดือน หรือปุ๋ยคอกโดยเด็ดขาดเพราะ คุณสมบัติที่มีไนโตเจนมากทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ผลิดหม้อและอาจเนการเรียกแมลงและไส้เดือน กิ้งกือ ซึ่งทำให้ระบบรากของหม้อข้าวหม้อแกงลิงเสียหายได้จนยืนต้นตายในที่สุด
ทั้งนี้หม้อข้าวหม้อแกงลิงอาจไม่ให้ปุ๋ยเลยก็ได้ การให้ปุ๋ยที่มากเกินไปจะทำให้ใบใหญ่และไม่ออกหม้อในที่สุด แต่การให้ปุ๋ยอาจมีข้อดีคือทำให้ต้นแข็งแรงโตเร็ว สามารถให้ดอกได้เร็วกว่าต้นที่ไม่ใส่ปุ๋ยเลย
ปุ๋ยนั้นสามารถใช้ปุ๋ยฉีดพ่นทางใบของกล้วยไม้ผสมน้ำเจือจางให้มากว่าฉลากระบุ หรือ ปุ๋ยละลายช้าสูตร16-16-16 หรือ 30-10-10 ควรให้อย่างน้อย6เดือนครั้ง อย่างน้อย 3-4 เม็ดก็เพียงพอแล้ว
การขยายพันธุ์
แก้- การเพาะเมล็ด ให้โรยบนสแฟกนัมมอสส์ที่เปียกชื้นหรือบนวัสดุปลูกอื่นๆที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เช่นขุยมะพร้าว, พีทมอสส์ ฯลฯ หลังฝักแตกออกให้รีบเพาะเมล็ดเพราะอัตรางอกจะลดลงเรื่อยๆเมื่อเก็บไว้นานเข้า ส่วนผสม 50:50 ที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้เช่นมอสส์กับเพอร์ไลต์ เป็นส่วนผสมที่เหมาะที่สุดในการเพาะเมล็ด เมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จนถึง 3เดือนจึงงอกเป็นต้นอ่อน
- การปักชำ แช่หรือทาด้วยน้ำยาเร่งราก และทำการปักชำโดยนับอย่างน้อยสองข้อลำต้น ปักกิ่งพันธุ์ในวัสดุปลูก อาทิสแฟกนัมมอสส์ ถ้าความชื้นและแสงพอเพียงต้นไม้จะงอกรากใน 1-2 เดือนและจะเริ่มให้หม้อใน 6 เดือน
- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในปัจจุบันเป็นการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าซึ่งได้ช่วยลดจำนวนต้นไม้ที่ถูกเก็บออกจากป่ามาขายได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ดี พืชหายากจำนวนมากยังถูกเก็บออกมาขาย เป็นเพราะราคาที่แพงของมันนั่นเอง หม้อข้าวหม้อแกงลิงถูกบรรจุในรายชื่อพืชที่ถูกคุกคามหรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของไซเตสในบัญชี 1 และ 2
- การเสียบยอดหรือการเสียบข้อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ซึ่งต้นมียอดพันธ์และต้นที่ใช้เป็นตอ ต้นตอ อาทิ N.mirabilis N.rafflesiana และลูกผสมซึ่งเติบโตได้ดีทั่วไป อีกตัวเลือกหนึ่งคือลูกผสม N.thorelii ซึ่งมีรากสะสมอาหาร (tuberous roots) โดยวิธีการสังเขบคือ อนึ่งก่อนเริ่มการเสียบยอดนั้นควรงดการรดน้ำทั้งต้นตอและยอดอย่างน้อยหนึ่งวันเพื่อให้น้ำเลี้ยงถูกใช้ไปจำนวนหนึ่งเพื่อป้องกันแผลเน่า เริ่มแรกนั้นนำต้นตอตัดด้วยมีดโกน มีด หรือคัตเตอร์ อย่างน้อยหนึ่งส่วนสองของต้น จากนั้นผ่ากลางลำต้นตออย่างน้อยหนึ่งใบมีดโกน จากนั้นตัดยอดต้นยอดพันธ์นับลงมาอย่างน้อยสองข้อลำต้นจากนั้นจึงใช้มีดเหลาให้เป็นทรงสามเหลี่ยมและใช้มีดเหลาขอบข้างให้เห็นถึงท่อน้ำเลี้ยง จากนั้นจึงนำยอดไปเสียบกับตอที่เตรียมไว้ โดยใช้เชือกฟางหรือเคเบิลไทร์ในการล็อกให้ยอดกับต่อติดกัน จากนั้นจึงนำไปใส่ถุงอบซึ่งมีขนาดไม่เล็กจนเกินไป มั่นสังเกตว่ายอดกับตอสมานกันหรือไม่ ภายใน 2สัปดาห์หรือรอจนแตกใบใหม่อย่างน้อยสองใบจึงสามารถนำออกจากถุงอบ ทั้งนี้ต้องมีการปรับสภาพต้นโดนการค่อยๆเจาะถึงทีละรูเพื่อให้ต้นคุ้ยเคยกับสภาพอากาศภายนอก จากนั้นจึงนำไปเลี้ยงต่อได้ตามปกติ
ข้อดีของการเสียบยอดคือ หม้อข้าวหม้อแกงลิงบางสายพันธุ์ที่เติบโตช้าหรือมีรากที่น้อย วิธีการนี้จะช่วยให้ต้นเติบโตได้ดีขึ้นในบางสายพันธุ์
สปีชีส์
แก้มีมากกว่า 100 ชนิดและถูกค้นพบชนิดใหม่เรื่อย ๆ ทุกปี[17]
หม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทย
แก้ในประเทศไทยพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ชนิดของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ถูกบันทึกไว้ว่าพบในประเทศไทยมีดังนี้ : (เรียงตามอักษรภาษาอังกฤษ / เครื่องหมายดอกจัน * ต่อท้ายหมายถึงไม่ใช่พืนถิ่นเดียว)
- Nepenthes ampullaria * (ไทย: หม้อแกงลิง [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1835
- Nepenthes andamana ค้นพบปี ค.ศ. 2010
- Nepenthes chang ค้นพบปี ค.ศ. 2010
- Nepenthes gracilis * (ไทย: หม้อข้าวหม้อแกงลิง [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1839
- Nepenthes kampotiana * ค้นพบปี ค.ศ. 1909
- Nepenthes kerrii * ค้นพบปี ค.ศ. 2010
- Nepenthes kongkandana ค้นพบปี ค.ศ. 2015
- Nepenthes krabiensis ค้นพบปี ค.ศ. 2016
- Nepenthes mirabilis * (ไทย: เขนงนายพราน [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1869
- Nepenthes rosea ค้นพบปี ค.ศ. 2014
- Nepenthes sanguinea * (ไทย: หม้อแกงลิงเขา [22]) ค้นพบปี ค.ศ. 1849
- Nepenthes smilesii * (ไทย: น้ำเต้าพระฤๅษี [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1895
- Nepenthes suratensis ค้นพบปี ค.ศ. 2010
- Nepenthes thai ค้นพบปี ค.ศ. 2009
- Nepenthes thorelii * (ไทย: น้ำเต้าลม [21]) ค้นพบปี ค.ศ. 1990
- Nepenthes hirtella * (ไทย: เสืออำพล)[23] ค้นพบปี ค.ศ. 2021
- Nepenthes bracteosa* (ไทย: เสือนคร) [24] ค้นพบปี ค.ศ. 2021
สายพันธุ์ย่อย
แก้- N. anamensis * ค้นพบปี ค.ศ. 1908 (ปัจจุบันถูกจัดให้เป็น Var.ย่อยของ Nepenthes mirabilis หรือ เขนงนายพราน)
- N. globosa ค้นพบปี ค.ศ. 2010 (ปัจจุบันถูกจัดให้เป็น Var.ย่อยของ Nepenthes mirabilis หรือ เขนงนายพราน)
ลูกผสมตามธรรมชาติและที่ถูกเพาะพันธุ์โดยฝีมือมนุษย์
แก้มีลูกผสมมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
- N. × alisaputrana (N. burbidgeae × N. rajah)
- N. × bauensis (N. gracilis × N. northiana)
- N. × cantleyi (N. bicalcarata × N. gracilis)
- N. × cincta (N. albomarginata × N. northiana)
- N. × ferrugineomarginata (N. albomarginata × N. reinwardtiana)
- N. × ghazallyana (N. gracilis × N. mirabilis)
- N. × harryana (N. edwardsiana × N. villosa)
- N. × hookeriana (N. ampullaria × N. rafflesiana)
- N. × kinabaluensis (N. rajah × N. villosa)
- N. × kuchingensis (N. ampullaria × N. mirabilis)
- N. × merrilliata (N. alata × N. merrilliana)
- N. × mirabilata (N. alata × N. mirabilis)
- N. × pangulubauensis (N. mikei × N. pectinata)
- N. × pyriformis (N. inermis × N. talangensis)
- N. × sarawakiensis (N. muluensis × N. tentaculata)
- N. × trichocarpa (N. ampullaria × N. gracilis)
- N. × truncalata (N. alata × N. truncata)
- N. × trusmadiensis (N. lowii × N. macrophylla)
- N. × tsangoya ((N. alata × N. merrilliana) × N. mirabilis)
- N. × ventrata (N. alata × N. ventricosa)
ตัวอย่างบางส่วนลูกผสมโดยมนุษย์เป็นผู้ผสมขึ้นที่เรารู้จักกันดี:
- N. Coccinea ((N. rafflesiana × N. ampullaria) × N. mirabilis)
- N. Emmarene (N. khasiana × N. ventricosa)
- N. Gentle (N. fusca × N. maxima)
- N. Judith Finn (N. veitchii × N. spathulata)
- N. Miranda ((N. maxima × N. northiana) × N. maxima)
- N. Mixta (N. northiana × N. maxima)
- N. Ventrata (N. ventricosa × N. alata)
สถานะการอนุรักษ์
แก้เนื่องจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิดมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ทั้งจากเก็บออกมาขาย หรือบุกรุกป่าเพื่อที่ทำกิน ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) บรรจุรายชื่อหม้อข้าวหม้อแกงลิงทุกชนิดลงในบัญชีอนุรักษ์ของอนุสัญญาไซเตส ในส่วนของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกนั้น ได้กำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ
ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง พืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีรายละเอียดเกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงดังนี้
- วงศ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง (NEPENTHACEAE (Pitcher-plants)) [25]
- พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1
- Nepenthes khasiana (Indian pitcher plant)
- Nepenthes rajah (Kinabalu pitcher plant)
- พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2
- Nepenthes spp. (Pitcher-plants, สกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงทุกชนิด)
- พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1
โดยมีข้อบังคับไว้เกี่ยวกับพืชอนุรักษ์ดังนี้
- ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์และซากของพืชอนุรักษ์ เว้นแต่ได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (มาตรา 29 ตรี)
- ผู้ใดประสงค์จะขยายพันธุ์เทียมพืชอนุรักษ์เพื่อการค้า ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ต่อกรมวิชาการเกษตร (มาตรา 29 จัตวา)
อ้างอิง
แก้- ↑ Gaume, L. & Y. Forterre 2007. A Viscoelastic Deadly Fluid in Carnivorous Pitcher Plants. PLoS ONE 2 (11) : e1185.
- ↑ Phillipps, A. 1988. A Second Record of Rats as Prey in Nepenthes rajah. Carnivorous Plant Newsletter 17 (2) : 55.
- ↑ Moran, J.A. 1991. The role and mechanism of Nepenthes rafflesiana pitchers as insect traps in Brunei. Ph.D. thesis, University of Aberdeen, Aberdeen, Scotland.
- ↑ de Flacourt, E. 1658. Histoire de la Grande Isle de Madagascar.
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 Phillipps, A. & A. Lamb 1996. Pitcher-Plants of Borneo. Natural History Publications (Borneo), Kota Kinabalu.
- ↑ 6.0 6.1 Poiret, J.L.M. 1797. Népente. In: J.B. Lamarck Encyclopédie Méthodique Botanique Vol. 4.
- ↑ Bartholinus 1677. Miranda herba. Acta Medica et Philosophica Hafniensa 3: 38.
- ↑ Breyne, J. 1680. Bandura zingalensium etc. Prodromus Fasciculi Rariorum Plantarum 1: 18.
- ↑ Grimm, H.N. 1683. Planta mirabilis distillatoria. In: Miscellanea curiosa sive Ephemeridum. Med. Phys. Germ. Acad. Nat. Cur. Decuriae 2, ann. prim. p. 363, f. 27.
- ↑ Ray, J. 1686. Bandura cingalensium etc. Historia Plantarum 1: 721–722.
- ↑ Plukenet, L. 1696. Utricaria vegetabilis zeylanensium. In: Almagestum Botanicum.
- ↑ Rumphius, G.E. 1741–1750. Cantharifera. In: Herbarium Amboinense 5, lib. 7, cap. 61, p. 121, t. 59, t. 2.
- ↑ Burmann, J. 1737. Thesaurus Zeylanicus. Amsterdam.
- ↑ de Loureiro, J. 1790. Flora Cochinchinensis 2: 606–607.
- ↑ Druce, G. 1916. Nepenthes mirabilis. In: Botanical Exchange Club of the British Isles Report 4: 637.
- ↑ Clarke, C.M. 1997. Nepenthes of Borneo. Natural History Publications (Borneo), Kota Kinabalu.
- ↑ 17.0 17.1 Clarke, C.M. & C.C. Lee 2004. Pitcher Plants of Sarawak. Natural History Publications (Borneo), Kota Kinabalu.
- ↑ Linnaeus, C. 1737. Nepenthes. Hortus Cliffortianus. Amsterdam.
- ↑ Veitch, H.J. 1897. Nepenthes. Journal of the Royal Horticultural Society 21 (2) : 226–262.
- ↑ Linnaeus, C. 1753. Nepenthes. Species Plantarum 2: 955.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2549
- ↑ สารานุกรมพืช หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ค้นพบ หม้อข้าวหม้อแกงลิง '2ชนิดใหม่ของโลก' ตั้งชื่อ 'เสืออำพล-เสือนคร'". เดลินิวส์.
- ↑ "ค้นพบ "หม้อข้าวหม้อแกงลิง" ชนิดใหม่ของโลก". Thai PBS. 2021-10-14.
- ↑ "ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง พืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518"[ลิงก์เสีย]สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- Danser's Monograph on Nepenthes (covers species from Malaysia, Indonesia and New Guinea, but not elsewhere)
- Nepenthaceae เก็บถาวร 2014-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in: Watson, L., and M. J. Dallwitz (1992 onwards). The Families of Flowering Plants เก็บถาวร 2014-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Descriptions, Illustrations, Identification, Information Retrieval.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Nepenthes - the Monkey Cups เก็บถาวร 2013-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from the Botanical Society of America
- Photographs of Nepenthes in their natural habitats by Joachim Nerz
- Nepenthes photographs at the Carnivorous Plant Photo Finder
- The Carnivorous Plant FAQ: Nepenthes by Barry Rice
- Evolution -- Nepenthes Phylogeny from the International Carnivorous Plant Society