หม่อมแสง พึ่งบุญ ณ อยุธยา
หม่อมแสง พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นหม่อมในหม่อมไกรสร (พระนามเดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ) และเป็นอดีตพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
หม่อมแสง พึ่งบุญ ณ อยุธยา | |
---|---|
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หม่อมไกรสร |
บุตร | หม่อมบุษบง |
บิดามารดา | พระยาเทพเพชร์รัตน์ (นาค สุรคุปต์) ฉิม เทพเพชร์รัตน์ |
ประวัติ
แก้หม่อมแสง พึ่งบุญ ณ อยุธยา เกิดในตระกูลอำมาตย์เชื้อสายมอญ เป็นธิดาของพระยาเทพเพชร์รัตน์ (นาค สุรคุปต์) กับฉิม เทพเพชร์รัตน์[1] ส่วนปู่คือพระยารัตนจักร (หงส์ทอง สุรคุปต์) รับราชการเป็นเจ้ากรมอาทมาฎ (หมู่ทหารสืบข่าวข้าศึก) ในกองมอญอาสาหกเหล่า[2] บิดาเป็นพี่ชายต่างมารดาของเจ้าจอมมารดาป้อม ในรัชกาลที่ 1[3] เจ้าจอมเอม ในรัชกาลที่ 2[4] เจ้าจอมเพ็ง ในรัชกาลที่ 2[5] และยังเป็นญาติของหม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา พระราชชนนีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี[3][6]
หม่อมแสงได้ถวายตัวเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรียกเจ้าจอมแสง[1][5]
ครั้นหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดมาก็ได้พระราชทานเจ้าจอมแสงแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ และได้ให้ประสูติพระธิดาเพียงคนเดียวคือ หม่อมเจ้าบุษบง พึ่งบุญ แต่กาลต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ผู้ภัสดา ประสบกับข้อหากบฏ ทั้งถูกถอดอิสริยยศเป็นหม่อมไกรสร และประหารด้วยท่อนจันทน์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 ด้วยเหตุนี้พระโอรส-ธิดาทั้งหลายของหม่อมไกรสรจึงถูกถอดพระยศ ใช้คำนำหน้าว่า "หม่อม" หรือ "คุณ" แทน[1][5]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 314
- ↑ เอนก นาวิกมูล. เจ้านาย ขุนนาง. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. 2555, หน้า 31-32
- ↑ 3.0 3.1 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 35
- ↑ กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 66
- ↑ 5.0 5.1 5.2 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 69
- ↑ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ : รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 286-287