หม่อมเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์แดง อิศรเสนา)

ร้อยเอก หม่อมเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์แดง อิศรเสนา) จ.ช., ร.จ.ม. เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับวันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2392 เป็นบุตรใหญ่ในหม่อมเจ้าจันตรี อิศรเสนา เกิดแต่หม่อมสวน อิศรเสนา ณ อยุธยา มีน้องต่างมารดา คือ ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์มุ้ย อิศรเสนา, หลวงราชดรุณรักษ์ (หม่อมราชวงศ์สอาด อิศรเสนา) บิดาของพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา), พระวรภัณฑ์ภักดี (หม่อมราชวงศ์เหมือน อิศรเสนา) และหม่อมราชวงศ์ไหม อิศรเสนา

ร้อยเอก

หม่อมเทวาธิราช

เกิด24 กันยายน พ.ศ. 2392
เสียชีวิต9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 (69 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตไข้หวัดใหญ่
บุพการี
  • หม่อมเจ้าจันตรี อิศรเสนา (บิดา)
  • หม่อมสวน อิศรเสนา (มารดา)

หม่อมเทวาธิราชเป็นไทยผู้แรกที่เรียนรู้วิชาช่างโทรเลข โดยได้รับถ่ายทอดวิชาจากนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุล เศวตศิลา) เดิมรับราชการอยู่กรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาท่านเป็นนายงานสร้างโทรเลขสายแรกของกรุงสยาม (สายปากน้ำ) และเมื่อดำเนินการสร้างโทรเลขสายปากน้ำลุล่วงแล้วจึงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายงานสร้างโทรเลขสายอื่นๆทั่วพระราชอาณาเขตในเวลานั้นด้วย

กระทั่งปีวอก พ.ศ. 2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นหม่อมเทวาธิราช ราชนิกูล ครั้นการสร้างโทรเลขในสมัยนั้นสำเร็จได้ใช้การทุกสายแล้ว จึงลาพักงานราชการหันไปประกอบการค้าขายทางหัวเมืองเหนือ เที่ยวระหกระเหินอยู่หลายปีจึงกลับเข้ารับราชการทหารอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2448[1]รับราชการในกรมสรรพยุทธ แล้วย้ายมากรมจเรทหารช่าง และกรมเกียกกายกองทัพบกเป็นที่สุด มาจนปีชวด พ.ศ. 2455 หม่อมเทวาธิราชชรา อายุได้ 63 ปี จึงออกจากตำแหน่งประจำราชการ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมา

หม่อมเทวาธิราชมีนิวาสถานอยู่บริเวณถนนรามบุตรีในปัจจุบัน (บริเวณโรงเรียนอัมพรไพศาลเดิม) มีภรรยาและบุตรเท่าที่ทราบดังนี้

  • นางเลื่อม เทวาธิราช บุตรี หมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช (สวน ถาวโรทยาน) และ นางเอี่ยม กษัตริย์ศรีศักดิเดช
    • หม่อมหลวงพร้อม อิศรเสนา
    • หม่อมหลวงหญิง เยื้อ อิศรเสนา
    • เสวกเอก พระยาพิพิธไอสูรย์ (หม่อมหลวงยินดี อิศรเสนา) ต.ช., ต.ม., ต.จ.ว., ว.ป.ร.๔, ป.ป.ร. ๔, ร.จ.ท.(๖), ร.จ.พ. อดีตเจ้ากรมพัสดุ สมรสกับ คุณหญิงเนื่อง พิพิธไอสูรย์ (สุจริตกุล) บุตรีในเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี กับท่านผู้หญิงจีบ สิริรัตนมนตรี (ไม่มีบุตรกับคุณหญิง) พระพาพิพิธไอสูรย์มีบุตรที่เกิดจากนางพัน อิศรเสนา ณ อยุธยา คือ รองเสวกตรี ขุนวิมานวัชรี (ดั่น อิศรเสนา ณ อยุธยา) บ.ม., ร.จ.ท.(๖), ร.จ.ท.(๗), ภ.ป.ร.๕
    • หม่อมหลวงดัด อิศรเสนา
  • นางใย อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตรี ท้าวอินทกัลยา (เพื่อน พวงนาก) กับนายดิศ ท้าวอินทกัลยา (เพื่อน) เป็นบุตรีท้าวมังสี (แสง ณ เวียงจันทน์) กับนายนาค พวงนาก

หม่อมเทวาธิราชออกจากราชการแล้วเป็นปกติอยู่ไม่กี่ปีก็เกิดโรคปัสสาวะพิการ เป็นเหตุให้ทุพพลภาพอยู่ช้านาน หม่อมเทวาธิราชถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุไข้หวัดใหญ่ที่บ้านข้างวัดชนะสงคราม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 อายุได้ 69 ปี[2]พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสระเกศ เมื่อวันที่ 20 เมษายน ปี พ.ศ. 2462 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเงิน 1,000 สตางค์ ผ้าขาว 2 พับ[3] และมีการพิมพ์หนังสือ ตำนานวังน่า ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพอีกด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้