หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์ (ราชสกุลเดิม ดิศกุล; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ศตะรัต[1]
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์ | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 4 | |
ประสูติ | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ประเทศสยาม หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล |
สิ้นชีพตักษัย | 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 (100 ปี) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร |
พระราชทานเพลิง | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส |
สวามี | หม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ (สมรส 2483; สิ้นชีพิตักษัย 2528) |
บุตร | หม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ สุขสวัสดิ์ หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ สุขสวัสดิ์ หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช สุขสวัสดิ์ หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์ หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
ราชสกุล | ดิศกุล (ประสูติ) ศุขสวัสดิ์ (เสกสมรส) |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
พระมารดา | หม่อมแสง ดิศกุล ณ อยุธยา |
ศาสนา | เถรวาท |
พระประวัติ
แก้ปฐมวัย
แก้หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงเพียร เป็นพระธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ศตะรัต เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460[2] มีโสทรเชษฐาและโสทรเชษฐภคินี 5 องค์ ได้แก่ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล, พรพิลาศ บุนนาค, หม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล, หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และเราหิณาวดี กำภู[3]
เมื่อหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีชันษาได้ไม่กี่เดือน หม่อมมารดาก็เสียชีวิตลงกะทันหัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ให้ไปอยู่ในความอนุเคราะห์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เนื่องจากเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา คือ เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 เป็นพี่น้องกัน
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และระดับมัธยมที่โรงเรียนราชินี พอจบมัธยมปลายทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ แล้วจึงออกมาสอนหนังสือที่โรงเรียนศึกษาวิทยา ถนนสีลม[4]
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีความสามารถในการตัดเย็บจึงตัดชุดใส่เองได้สวยงาม และยังนำเศษผ้าที่เหลือมาทำรองเท้าเข้าชุด นับเป็นผู้นำแฟชั่นในวิทยาลัยจนเป็นที่กล่าวขานของคณาจารย์และศิษย์
เสกสมรส
แก้หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงพบกับหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ (พระโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) ครั้งแรกที่ตำหนักของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ผู้เป็นเชษฐภคินีของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล หม่อมเจ้าประสบสุขเคยทรงเล่าว่าเห็นหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลครั้งแรกกำลังก้มใส่รองเท้าก็ทรงหลงรักเลย และได้เข้าพิธีมงคลสมรสเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2483 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประกอบพิธี และหลังจากนั้นทั้งคู่ได้เดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ ชินนะมอนฮอลล์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อขอรับพรสมรสและดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์
ช่วงหลังเสกสมรส ทั้งสององค์ทรงใช้ชีวิตอยู่ ณ ตำหนักของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ ผู้เป็นพระเชษฐภคินีของหม่อมเจ้าประสบสุข ณ ถนนพระอาทิตย์ โดยพระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ทรงปลูกเรือนหอเล็ก ๆ ให้ริมน้ำ หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเล่าว่าเคยซื้อกุ้งแม่น้ำจากชาวประมงที่จับกุ้งในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวหน้าตำหนักนั่นเอง (ตำหนักนี้ภายหลังเป็นที่ทำการของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ซอยกาติ๊บ (อารีย์สัมพันธ์) ซึ่งยังเป็นที่เวิ้งว้างกลางทุ่งนา หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเล่าว่าเคยขี่จักรยานจากบ้านซอยกาติ๊บไปจ่ายตลาดที่ประตูน้ำ
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีโอรสและธิดา 6 คน ได้แก่
- หม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ สุขสวัสดิ์ (เกิด 6 กันยายน พ.ศ. 2483)
- หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา (เกิด 11 กันยายน พ.ศ. 2484)
- พลอากาศโท หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ สุขสวัสดิ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2486)
- หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช สุขสวัสดิ์ (เกิด 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2489)
- หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2492)
- หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498)
ในปี พ.ศ. 2486 หม่อมเจ้าประสบสุขซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพาณิชย์และการคลังของประเทศไทย ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งครอบครัวจึงได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2486 หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้รับพระมรดกเป็นห้องแถวสามห้องที่สี่กั๊กเสาชิงช้า (ปัจจุบันเป็นร้านกระเป๋าจาค็อบ) ซึ่งทรงขายไป แล้วนำเงินไปซื้อขายที่ดินต่ออีกหลายแปลง รวมถึงที่ในซอยสุขใจ (ซอย 12) ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นทุ่งนาเลี้ยงโคกระบือ ซึ่งที่แห่งนี้ก็ยังเป็นที่พำนักจนถึงปัจจุบัน
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเป็นแม่ศรีเรือน มีความสามารถในการปรุงอาหาร ดูแลบ้าน เย็บปัก ถักร้อย มักตัดเย็บเสื้อผ้าให้โอรสและธิดาใส่เอง รวมทั้งเครื่องตกแต่งบ้าน เช่น ม่าน หมอน ผ้าเช็ดปาก ก็จะปักอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทรงทำต่อเนื่องมาตลอด ไม่เพียงแต่งานฝีมือแบบลูกผู้หญิงเท่านั้น ยังทรงถนัดช่างแบบผู้ชายอีกด้วย เช่น งานไม้ งานปูน งานไฟฟ้า เล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน ทรงทำเองหมด ด้วยทรงศึกษาจากช่างก่อสร้างที่มาสร้างและซ่อมบ้านอย่างต่อเนื่อง
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเคยบวชชี โกนศีรษะ นุ่งขาว ห่มขาว สร้างกุฏิขององค์เองที่วัดเขาพุทธโคดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อยู่แบบสมถะเป็นเวลาหลายปี หลังจากลาสิกขาบทแล้ว ทรงใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว และเริ่มใช้เวลากับงานอดิเรกใหม่ คือ การทัศนาจร โปรดการทัศนาจรเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกลุ่มทัศนาจรประจำ ด้วยทรงนึกถึงแบบอย่างเช่นพระบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เสด็จประพาสทั่วประเทศไทยในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และครั้งสุดท้ายที่หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเสด็จไปทัศนาจร คือ ประทับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปประเทศกัมพูชา ตอนชันษากว่า 90 ปี ทั้ง ๆ ที่รู้องค์ว่าลงไปดำเนินตามโบราณสถานต่าง ๆ คงไม่ไหวแล้ว แต่ด้วยพระทัยรักก็ยังทรงขอประทับรถยนต์ประพาสเพื่อความเพลิดเพลิน
ปัจฉิมวัย
แก้หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเป็นผู้ที่นิยมใช้ชีวิตสมถะ แม้ในช่วงสูงวัยก็ยังทำงานบ้านต่าง ๆ ด้วยองค์เอง ห้องพักที่บ้านมีทั้งครัวเล็ก ๆ และเครื่องซักผ้าในตัว จนกระทั่งทรงหกล้มกระดูกพระอุรุร้าว เมื่อชันษา 90 กว่า ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด หลังจากนั้นก็ต้องระวังการดำเนิน ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงยอมใช้เครื่องช่วยดำเนินหรือธารพระกร และไม่โปรดให้ผู้ช่วยพยาบาลต้องมาเฝ้าถวายการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง การที่ลุกดำเนินไม่ได้ทำให้เป็นแผลกดทับซึ่งรุนแรงขึ้น จนในที่สุดต้องเข้ารับถวายการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกันดอกไม้ มีข้อความด้านในบัตรว่า "พระราชทานหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล ศุขสวัสดิ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐" แม้กระทั่งวันประสูติครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ก็ได้จัดพิธีทำบุญถวายสังฆทานภายในห้องพักที่โรงพยาบาล
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเริ่มมีพระอาการทรุดลง โดยแพทย์ได้ตัดสินใจถวายยามอร์ฟีนเพื่อลดความเจ็บปวด หลังจากนั้นพระอาการก็ทรุดลงจนต้องถวายมอร์ฟีนอีกครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561
ชีพิตักษัย
แก้หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้ถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ[4] เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 13.55 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริชันษา 100 ปีเศษ ศพตั้งสวดที่วัดธาตุทอง (กรุงเทพมหานคร) จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561[5] นับเป็นหม่อมเจ้าองค์สุดท้ายของราชสกุลดิศกุลและราชสกุลสุขสวัสดิ์ และเป็นหม่อมเจ้าที่มีพระชนม์อยู่เป็นองค์สุดท้ายในบรรดาหม่อมเจ้าที่ได้เกศากันต์ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบ พร้อมฉัตรเบญจา 4 คันประกอบเกียรติยศ ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นหีบทองทึบเป็นโกศแปดเหลี่ยม และในวันที่ 10 ตุลาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[4]
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 978-974-16-6535-8
- ↑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้". ช่อง 7 HD. 10 ตุลาคม 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "บุคคลในข่าว (หน้า 4)". ไทยรัฐออนไลน์. 5 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)