หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (นามเดิม อัญญานางเจียงคำ บุตโรบล ; 4 ธันวาคม พ.ศ. 2422 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2481) เป็นเจ้านายสตรีของเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของราชอาณาสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ถวายตัวเป็นหม่อมใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 37 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและองค์ที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง[1] เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักสยาม กับเจ้านายพื้นถิ่นเมืองอุบลราชธานีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีนโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หม่อม

เจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

เกิดอัญญานางเจียงคำ บุตโรบล
4 ธันวาคม พ.ศ. 2422
เสียชีวิต20 ตุลาคม พ.ศ. 2481 (58 ปี)
คู่สมรสพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
บุตรหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล
หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล
บุพการีท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล)
อัญญาแม่ดวงจันทร์ บุตโรบล

ชาติกำเนิด แก้

หม่อมเจียงคำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2422 ซึ่งตรงกับวัน 5 เดือนอ้าย แรม 6 ค่ำ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช 1241 (ร.ศ.98) ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาคนสุดท้องของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น บุตโรบล) กับญาแม่ดวงจันทร์ บุตโรบล (ธิดาของพระศรีโสภา กับ ญาแม่ทุมมา) หม่อมเจียงคำมีศักดิ์เป็นหลานปู่ในราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) (บรรดาศักดิ์เดิมที่ ท้าวสุริยะ) กับอัญญานางทอง บุตโรบล มีศักดิ์เป็นเหลนทวด ในท้าวสีหาราช (พูลสุข หรือ พลสุข) กรมการเมืองอุบลราชธานีชั้นผู้ใหญ่ กับอัญญานางสุภา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท้าวโคตรซึ่งเป็นพระโอรสในพระวรราชปิตา ผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ท้าวโคตร ยังถือเป็นต้นสายสกุล “บุตโรบล” ยังมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช องค์ที่ 1 กับพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 ด้วย อันสืบสายมาแต่เจ้าอุปราชนอง แห่งนครหลวงเวียงจันทน์

พี่น้อง แก้

หม่อมเจียงคำ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ดังนี้[2]

  1. อัญญานางก้อนคำ สมรสกับ รองอำมาตย์โท พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) อดีตข้าหลวงบริเวณอุบลราชธานี พ.ศ. 2450 บรรดาศักดิ์เดิมที่ ท้าวสิทธิสาร ผู้ช่วยราชการคณะอาญาสี่เมืองอุบลราชธานี
  2. อัญญานางอบมา สมรสกับ ท้าววรกิติกา (คูณ) กรมการเมืองผู้ใหญ่อุบลราชธานี
  3. อัญญานางจันทรา สมรสกับ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) อดีตข้าหลวงประจำเมืองยโสธร พ.ศ. 2434
  4. อัญญานางเหมือนตา สมรสกับ ท้าวฮวย ศรีสมบูรณ์
  5. อัญญานางบุญอ้ม สมรสกับ ท้าวอักษรสุวรรณ (หนู อินทรีย์) อดีตนายอำเภออุตรูปลนิคม (ปัจจุบันคืออำเภอม่วงสามสิบ)
  6. อัญญานางหล้า สมรสกับ ท้าวหนู มงคลศิลป์
  7. อัญญานางดวงคำ สมรสกับ รองอำมาตย์ตรี ขุนราชพิตรพิทักษ์ (ทองดี หิรัญภัทร์)
  8. พระโกณฺฑญฺโญ (ท่านคำม้าว บุตโรบล) อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสารพัดนึก (ปัจจุบันคือวัดสารพัฒนึก) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
  9. หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา หม่อมห้ามใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

เกี่ยวกับนามและสกุล แก้

เกี่ยวกับนามของหม่อมเจียงคำนั้น คำว่า เจียง เป็นภาษาลาวโบราณ ตรงกับภาษาบาลีว่า จาป หมายถึง ธนู ศร หน้าไม้ กระสุน แล่ง (ที่ทำสำหรับวางลูกธนูหรือหน้าไม้ หรือที่ใส่ลูกธนูหน้าไม้สำหรับสะพาย)[3] บางครั้งชาวลาวเรียกว่า หน้าเจียง หรือ เกียง ดังนั้น นามของหม่อมเจียงคำจึงหมายถึง ธนูทองคำ หม่อมเจียงคำ เดิมสกุล บุตโรบล นามสกุลบุตโรบลเป็นนามสกุลที่ทายาทบุตรหลานเจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) นามสกุลเลขที่ 2692 เขียนแบบอักษรโรมันคือ Putropala [4] ตามบัญชีผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลคือ "นายร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง) นายทหารกองหนุน  สังกัดกองสัสดีมณฑลอุบล  ปู่ชื่อราชบุตร (สุ่ย)  บิดาชื่อราชบุตร (คำ)" โดยทั้ง หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา และนายร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง) เป็นลูกพี่ลูกน้องกันและทั้ง 2 ท่านเป็นหลานปู่ ในราชบุตร (สุ่ย)

การถวายตัว แก้

พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาณ) เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จมาปรับปรุงและจัดระบบราชการที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ได้ทรงพอพระทัยต่ออัญญานางเจียงคำ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น) กรมการชั้นผู้ใหญ่ของเมือง จึงได้ทรงขออัญญานางเจียงคำ ต่อเจ้านายผู้ใหญ่ในเมืองอุบลราชธานี คือ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) และได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองลาวดั้งเดิม ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรส 2 พระองค์

การถวายตัวเป็นหม่อมห้ามของเสด็จในกรมนั้น เท่ากับเป็นการสร้างการยอมรับอำนาจการปกครองจากส่วนกลางในหมู่เจ้านายเมืองอุบลราชธานีมากขึ้น และยังทำให้เจ้านายพื้นเมืองบางส่วนขยับฐานะตนเองจากการเป็นเจ้านายในราชวงศ์สายล้านช้างอันเก่าแก่ มาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชวงศ์จักรีของสยาม[5] โดยระหว่างที่เสด็จในกรมทรงประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีนั้น ได้ทรงสร้างตำหนักชื่อว่า วังสงัด ขึ้นบนที่ดินของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) เมื่อ ร.ศ.112 และทรงประทับอยู่กับหม่อมเจียงคำเป็นเวลานาน 17 ปี ก่อนที่จะนิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังและเสนาบดีที่ปรึกษาในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ภายหลังจากนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร พระองค์ก็มิได้กลับมาประทับที่เมืองอุบลราชธานีอีกเลย[6]

ขอพระโอรสจากพระพุทธวิเศษ แก้

พระเจ้าพุทธวิเศษ หรือหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงปางนาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร เป็นศิลปะยุคศรีโคตรบูรร่วมสมัยกับทวาราวดีของสยาม อายุราวพันกว่าปี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี นับถือกันว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านชีทวนและตำบลใกล้เคียง ประชาชนนิยมจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองหลวงพ่อพระพุทธวิเศษเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน คือวันขึ้น 14 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เรียกว่า งานปิดทองหลวงพ่อพุทธวิเศษประจำปี ส่วนบ้านชีทวนนั้นเดิมเป็นเมืองขอมโบราณเรียกว่า เมืองซีซ่วน] ภายหลังพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช ผู้เป็นต้นราชตระกูลของหม่อมเจียงคำ ได้โปรดให้ท้าวโหง่นคำพร้อมราษฎร 150 ครัวเรือน ยกมาตั้งเป็นบ้านเมืองอีกครั้งที่เมืองซีซ่วน[7] ชาวเมืองเชื่อกันสืบมาว่า ผู้ที่แต่งงานมีครอบครัวมานานแล้วแต่ไม่มีบุตรธิดาไว้สืบสกุล สามีภรรยาก็มักพากันมานมัสการหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เพื่อบนบานศาลกล่าวให้ตนมีบุตรธิดาไว้สืบสกุล ปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จมากมาย มีตำนานเล่าสืบมาว่าครั้งหนึ่ง พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และหม่อมเจียงคำ ได้เสด็จออกไปเยี่ยมไพร่ฟ้าประชาชนตามหัวเมืองต่างๆ และได้เดินทางผ่านบ้านชีทวน ทราบข่าวว่าที่บ้านชีทวนมีพระพุทธศักดิ์สิทธิ์คือหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ สามารถที่จะบนหรือขอสิ่งที่ปรารถนาได้ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พร้อมหม่อมเจียงคำก็ดำริแก่กันว่า แต่เมื่อครั้งเสกสมรสมานานแล้วก็ยังหาได้มีพระโอรสพระธิดาไว้สืบสกุล ทั้งสองพระองค์จึงทรงนำดอกไม้ธูปเทียนและทองคำเปลวลงไปสักการบูชาขอพระโอรสพระธิดาจากหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ต่อมาไม่นานหม่อมเจียงคำก็ทรงพระครรภ์และได้ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ ตามความปรารถนา คือหม่อมเจ้าอุปลีสานและหม่อมเจ้ากมลีสาน[8]

พระโอรส พระนัดดา และพระปนัดดา แก้

  • หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล (ท.จ.ว.) อดีตประธานกรรมการผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ เทวกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงมีพระโอรส-พระธิดา 3 ท่าน คือ
    • หม่อมราชวงศ์พัชรีสาณ ชุมพล (พ.บ.) สมรสกับคุณสุภาพรรณ ปันยารชุน มีบุตรธิดา 2 ท่าน คือ
      • หม่อมหลวงสุพัชร ชุมพล (พ.บ.)
      • หม่อมหลวงภัทรีศา ชุมพล
    • หม่อมราชวงศ์หญิงพวงแก้ว ชุมพล (พ.บ.) สมรสกับนายแพทย์กุณฑล สุนทรเวช มีบุตรธิดา 3 คน คือ
      • ทิพย์สุดา (สุนทรเวช) ถาวรามร
      • พิมพ์แก้ว (สุนทรเวช) มาโกด์
      • สิทธิ์สรรพ์ สุนทรเวช
    • หม่อมราชวงศ์จาตุรีสาณ ชุมพล สมรสกับนางชูศรี (คงเสรี) ชุมพล ณ อยุธยา มีบุตรธิดา 2 ท่าน คือ
      • หม่อมหลวงสุภสิทธิ์ ชุมพล
      • หม่อมหลวงสุทธิมาน (ชุมพล) โภคาชัยพัฒน์
  • หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล เสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง สวัสดิวัตน์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และหม่อมเจ้าหญิงฉวีวิลัย สวัสดิวัตน์ (ราชสกุลเดิม คัคณางค์) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พะรองค์เจ้าคัคณางยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงมีพระโอรส 2 ท่าน คือ
    • หม่อมราชวงศ์ศักดิสาณ ชุมพล สมรสกับนางวราภรณ์ บุณยรักษ์ มีบุตรธิดา 2 ท่าน คือ
      • หม่อมหลวงสิทธิสาณ ชุมพล
      • หม่อมหลวงวราภา ชุมพล
    • รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล สมรสกับนางอรพันธ์ ชาติยานนท์ มีบุตรธิดา 4 ท่าน คือ
      • หม่อมหลวงวรารมณ์ ชุมพล
      • หม่อมหลวงสมรดา ชุมพล
      • หม่อมหลวงกมลพฤทธิ์ ชุมพล
      • หม่อมหลวงรัมภาพันธุ์ ชุมพล

การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ แก้

หลังการสิ้นพระชนม์ของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ หม่อมเจียงคำและหม่อมเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ ผู้เป็นบุตร ได้อุทิศที่ดินจำนวน 27 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของญาติวงศ์เจ้านายเมืองอุบลราชธานีในอดีต เป็นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2474 ก่อนหน้านี้ ได้บริจาคที่ดินของท่านและญาติ ๆ ให้ใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่ ที่ดินของเจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) ที่ดินของพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) ที่ดินของพระลินจังคุลาทร (พั้ว บุตโรบล) ที่ดินของพระบริคุตคามเขต (โหง่นคำ สุวรรณกูฏ) ที่ดินของพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ที่ดินของเจ้าอุปฮาช (โท ณ อุบล) ที่ดินของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานีหลายแห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี ทุ่งศรีเมือง (อดีตสถานที่ถวายเพลิงพระศพเจ้าเมืองและพระราชทานเพลิงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี) โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (เดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช) และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์[1]

เกี่ยวกับที่ดินมรดก แก้

แปลงที่ 1 แก้

ทิศเหนือติดกับถนนศรีณรงค์ ทิศใต้ติดกับถนนเขื่อนธานี ทิศตะวันออกติดกับถนนราชบุตร ทิศตะวันตกติดกับที่ดินของเจ้าอุปฮาช (โท) บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ที่ดินแปลงใหญ่นี้เป็นเดิมเป็นมรดกจากเจ้าราชบุตร (สุ่ย) เดิมเป็นที่ตั้ง[[ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี กรมศิลปากร

แปลงที่ 2 แก้

ทิศเหนือติดกับถนนศรีณรงค์ ทิศใต้ติดกับถนนเขื่อนธานี ทิศตะวันออกติดกับถนนหลวง ทิศตะวันตกติดกับถนนราชบุตร (เดิมคือที่ตั้งสโมสรข้าราชการเมืองอุบลราชธานี) ที่ดินแปลงนี้เป็นเดิมเป็นมรดกจากเจ้าราชบุตร (สุ่ย) และเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงที่ 1 เมื่อราชการขยายผังบ้านเมืองออกไปและมีการตัดถนนผ่าน จึงทำให้เกิดเป็นที่ดิน 2 แปลงดังปรากฏในปัจจุบัน

แปลงที่ 3 แก้

เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนารีนุกูล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นบริเวณเดียวกันกับทุ่งศรีเมือง แต่ปัจจุบันได้ถูกตัดถนนผ่านหน้าโรงเรียน ทำให้พื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานีถูกแยกออกไปจากทุ่งศรีเมือง บริเวณกลางทุ่งศรีเมืองนี้เดิมเป็นสถานที่ราชการของเมือง ใช้สำหรับจัดงานพิธีสำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง ตลอดจนงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าเมือง คณะอาญาสี่ และกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ เป็นต้น ทุ่งศรีเมืองในปัจจุบันมีทิศเหนือติดกับถนนพโลรังฤทธิ์ ทิศใต้ติดกับถนนศรีณรงค์ ทิศตะวันออกติดกับถนนนครบาล ทิศตะวันตกติดกับถนนอุปราช ปัจจุบันทุ่งศรีเมืองใช้สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ประกอบรัฐพิธีต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนพรรษา 5 ธันวาคมของทุกปี ตลอดจนประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา ประกอบพิธีทางประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัด เช่น เทศกาลวันแห่เทียนเข้าพรรษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นต้น

แปลงที่ 4 แก้

ทิศเหนือติดกับถนนพิชิตรังสรรค์ ทิศใต้ติดกับถนนพโลรังฤทธิ์ ทิศตะวันตกติดกับวัดสุทัศนาราม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานี และด้านหลังของศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นบริเวณบ้านพักผู้พิพากษาศาล ที่ดินแปลงนี้เดิมเป็นมรดกจากเจ้าราชบุตร (สุ่ย) พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระลินจังคุลาทร (พั้ว บุตโรบล) พระบริคุตคามเขต (โหง่นคำ สุวรรณกูฏ) และพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต)

แปลงที่ 5 แก้

ทิศเหนือติดกับถนนศรีณรงค์ ทิศใต้ติดกับถนนเขื่อนธานี ทิศตะวันออกติดกับที่ดินของเจ้าราชบุตร (สุ่ย) ทิศตะวันตกติดกับถนนอุปราช เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี แล้วย้ายไปสร้างใหม่ ณ สำนักงานปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2553 ตั้งอยู่ข้างสำนักงานธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินแปลงนี้เดิมเป็นมรดกจากเจ้าอุปฮาด (โท) พระบิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่

แปลงที่ 6 แก้

ทิศเหนือติดกับวัดไชยมงคล ทิศใต้ติดกับถนนศรีณรงค์ ทิศตะวันออกติดกับถนนอุปราช ทิศตะวันตกติดกับสุสานโรมันคาทอลิก เดิมเป็นที่ตั้งของกรมทหาร ต่อมาได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในปี พ.ศ. 2474 และเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี แห่งที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 - 2553 ปัจจุบันทางราชการได้ย้ายศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีไปอยู่ที่ตำบลแจระแม และปรับปรุงอาคารเรียนเดิมของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชซึ่งยังคงตั้งอยู่ในที่ดินแปลงนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานี โดยอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครอุบลราชธานี

แปลงที่ 7 แก้

ที่ดินแปลงนี้มีทั้งหมด 27 ไร่ ซึ่งตกทอดเป็นมรดกของพระโอรสทั้ง 2 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล (ท.จ.ว.) และหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล พระโอรสทั้ง 2 ได้มอบให้ทางราชการเมื่อ พ.ศ. 2474 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์อีสานใต้ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของภาคอีสาน และมีผู้ใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก [9]

อนิจกรรม แก้

หม่อมเจียงคำ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคอัมพาต เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481 สิริอายุ 59 ปี[10] ณ โฮงพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เลขานุการในพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้เป็นญาติใกล้ชิดของหม่อมเจียงคำ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนพิชิตรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี[11] ปัจจุบันทายาทได้นำพระอัฐิของท่านบรรจุไว้ ณ บริเวณฐานตั้งใบเสมาหน้าพระอุโบสถ วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) และเจ้านายญาติวงศ์เมืองอุบลราชธานี ได้ร่วมกันสร้างไว้ตั้งแต่ครั้ง พ.ศ. 2396 ก่อนที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) จะไปราชการศึกสงครามเมืองญวนที่ประเทศเขมร[12]

เกียรติยศ แก้

ธรรมเนียมยศของ
หม่อมเจียงคำ
ชุมพล ณ อยุธยา
การเรียนไหว้สาบาทเจ้า
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับครับผม/ค่ะ

บรรดาศักดิ์ แก้

  • อัญญานางเจียงคำ
  • หม่อมเจียงคำ ในพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์
  • หม่อมเจียงคำ ในพระองค์เจ้าฯ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์
  • หม่อมเจียงคำ ในพระองค์เจ้าฯ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
  • หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ กรุงเทพ
  • หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อนุสรณ์ แก้

  • ถนนหม่อมเจียงคำ ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
  • กลุ่มสืบสาน นำฮอย หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา[14]
  • อาคารหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
  • วันรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของหม่อมเจียงคำ[15]
  • กองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์[16]

พงศาวลี แก้

พงศาวลีต้นราชตระกูล แก้

พงศาวลีต้นราชตระกูล แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ที่ระลึกครบรอบ 150 ปี พลตรี กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์[ลิงก์เสีย]
  2. เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2542.
  3. http://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-pleang/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%9B
  4. http://phyathaipalace.org.a33.readyplanet.net/
  5. เอี่ยมกมล จันทะประเทศ. สถานภาพเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ระหว่างพ.ศ. 2425-2476. วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2538
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-30. สืบค้นเมื่อ 2012-11-23.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-01. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-11. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  9. กลุ่มสืบสานนำฮอย หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา, หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) : สตรีเมืองดอกบัวงามผู้เดินตามจารีตประเพณีไทยอิสาณ ที่ระลึก 20 ตุลาคม 2553, (อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท, 2553), หน้า 29-33.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-19. สืบค้นเมื่อ 2012-03-23.
  11. สัมภาษณ์นางผลา ณ อุบล หลานพระวิภาคย์พจนกิจ บ้านเลขที่ 114 ถนนพิชิตรังสรรค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี วันที่16 เมษายน 2555, วิศปัตย์ ชัยช่วย และคำล่า มุสิกา, ผู้สัมภาษณ์
  12. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2022-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๐๕, ๒๔ พฤศจิกายน ๑๓๑
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-13. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-13. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  16. http://www.guideubon.com/2.0/ubon-story/319/