หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (ประเทศไทย)
หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (อังกฤษ: Service Delivery Unit: SDU) เป็นรูปแบบหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาแนวทางการจัดรูปแบบหน่วยงานของรัฐ เพื่อการส่งเสริมประสิทธิภาพการพัฒนาระบบราชการตามเจตนารมณ์และเงื่อนไขตามมาตรา 3/1 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546-2550) เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ
หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ได้กำหนดขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2548[1]
แนวคิดและหลักการ
แก้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ มีแนวคิดและหลักการ คือ
- มีสถานะเป็นหน่วยงานให้บริการภายในของระบบราชการ โดยมีลักษณะกึ่งอิสระ แต่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลยังคงถือเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือกรม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงหรืออธิบดี มีเป้าหมายให้บริการหน่วยงานแม่เป็นอันดับแรก และหากมีกำลังการผลิตส่วนเกินจะให้บริการหน่วยงานอื่นได้ ในการส่งมอบผลผลิตต้องมีระบบการประกันคุณภาพ
- มีลักษณะของการจัดโครงสร้างการบริหารในแบบการกระจายอำนาจ แยกส่วนออกมาเป็นหน่วยงานเอกเทศ หรือเรียกกันว่า ศูนย์รับผิดชอบ (responsibility center) ที่สามารถดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานการบริหารทรัพยากรและการส่งมอบผลผลิตของตนเองในลักษณะเดียวกันกับศูนย์กำไร (profit center) ที่นิยมจัดตั้งขึ้นในบริษัทธุรกิจโดยทั่วไป
- มีการถ่ายโอนและโยกย้ายข้าราชการและลูกจ้างบางส่วนออกไป ลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงานให้ดีขึ้น
- องค์ประกอบของลักษณะงานที่อาจกำหนดเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
- มีลักษณะงานเป็นการให้บริการ
- สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนภายใต้กรอบนโยบายที่กำหนดขึ้น
- มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสร้างภาระรับผิดชอบต่อหน่วยงานแม่ต้นสังกัดได้
- สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
- มีขนาดที่เหมาะสมเพียงพอต่อการแยกส่วนออกมาจากหน่วยงานแม่ต้นสังกัด
- ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
- การบริหารงาน อาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการอำนวยการหรือคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานแม่ต้นสังกัด โดยให้มีผู้อำนวยการซึ่งผ่านการคัดเลือกตามเงื่อนไขที่กำหนด ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจะต้องมีอิสระความคล่องตัวในการจัดโครงสร้างองค์กร อัตรากำลังและค่าตอบแทนของตนได้เองตามความเหมาะสม โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการหรือคณะกรรมการบริหาร หรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานแม่สุดแล้วแต่กรณี
รายชื่อหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
แก้ในปัจจุบันมีหน่วยบริการรูปแบบพิเศษในประเทศไทย จำนวน 2 หน่วยงาน คือ[2]
- สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ[3]
- สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สังกัดสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี[4]
ในอดีต
- สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สังกัดสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ปัจจุบันยุบเลิกตั้งแต่ 2 สิงหาคม 2550 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 208/2550)
- สำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ สังกัดกรมประชาสัมพันธ์[5] (ปัจจุบันโอนกิจการเป็นส่วนหนึ่งขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย)
อ้างอิง
แก้- ↑ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2548
- ↑ ข้อมูลพื้นฐาน หน่วยบริการรูปแบบพเศษ
- ↑ "ประกาศ ก.พ.ร. เรื่อง การแปลงสภาพของสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. เป็น หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-05-04. สืบค้นเมื่อ 2014-11-18.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้แปลงสภาพกองโรงพิมพ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) พ.ศ. ๒๕๔๙
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้แปลงสภาพภารกิจการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) พ.ศ. ๒๕๕๐