หนังสือเอสเธอร์
หนังสือเอสเธอร์[1] (อังกฤษ: Book of Esther) เป็นหนังสือเล่มที่ 17 ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ในชุดหมวดประวัติศาสตร์
เนื้อหากล่าวถึงประวัติศาสตร์ของวงศ์วานอิสราเอลในช่วงอิสราเอลตกเป็นเมืองขึ้นของเปอร์เซียในรัชสมัยกษัตริย์อาหสุเอรัส
หนังสือเอสเธอร์เป็นคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม 1 ใน 2 เล่ม ที่ใช้ชื่อสตรีเป็นชื่อหนังสือ และกล่าวถึงบทบาทของสตรีต่อชนชาติอิสราเอลอย่างชัดเจน และมีบทบาทนำอ่านในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาล
เนื้อหาโดยย่อ
แก้ในยุคที่อิสราเอลถูกเปอร์เซียยึดครอง ชาวอิสราเอลถูกกดขี่ข่มเหง และจำกัดสิทธิมากมาย เช่น ชาวเปอร์เซียตบตีชาวอิสราเอลได้โดยไม่ผิด แต่ชาวอิสราเอลที่ทำร้ายคนเปอร์เซียถูกลงโทษสถานหนัก
กษัตริย์อาหสุเอรัสชื่นชอบสตรีที่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่งเป็นพระมเหสีพระนามว่า พระนางวัชชี ซึ่งมีสิริโฉมงดงามยิ่ง แต่สุดท้ายพระนางก็ถูกประหารเนื่องจากขัดพระทัย โดยการไม่ยอมออกไปปรากฏกายต่อหน้าสาธารณะในงานเลื้ยงรับรองขององค์กษัตริย์ และอาหสุเอรัสจึงให้สรรหาหญิงงามเพื่อถวายตัว
เอสเธอร์ได้รับการเลี้ยงดูโดยโมรเดคัย ลุงบุญธรรม เพื่อส่งเข้าถวายตัวให้องค์กษัตริย์โดยเฉพาะ เนื่องจากมีการตระเตรียม ฝึกสอนนางให้มีความพร้อมมาตั้งแต่แรก และเมื่อโอกาสมาถึง นางจึงได้รับอาสาตัวเข้าไปถวายตัวแด่องค์กษัตริย์ เพื่อหวังว่าองค์กษัตริย์ต้องพระทัย อันเป็นเหตุให้นางสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของอิสราเอลลงได้ ในที่สุดด้วยความสามารถ และพระพรของพระเป็นเจ้า จึงได้รับแต่งตั้งเป็นราชินี
ในตำแหน่งราชินี เอสเธอร์ได้ช่วยเหลืออิสราเอล ตามคำแนะนำจากโมรเดคัย เป็นเหตุให้กฎข้อบังคับที่ข่มเหงอิสราเอลต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายลงไป เช่น สิทธิในการปกป้องตนเองจากการทำร้าย ทั้งยังช่วยปกป้องชาติอิสราเอลจากขุนนางเปอร์เซียที่เป็นปรปักษ์ต่อพระเจ้าด้วย
หนังสือเล่มนี้มีอักษรย่อ คือ อสธ หนังสือเอสเธอร์ มีทั้งหมด 10 บท กล่าวถึง ปฏิภาณและความดีของ เอสเธอร์ และ โมรเดคัย ที่ช่วยชีวิตเชลยยิวที่เหลืออยู่ในเปอร์เซีย เอสเธอร์ ผู้เลอโฉม ธิดาของลุงของ (และธิดาบุญธรรม) โมรเดคัย ซึ่งได้ขึ้นเป็นราชินีของกษัตริย์อาหสุเอรัส แห่งเปอร์เซีย และใช้ไหวพริบแก้อุบายกวาดล้างยิวในอาณาจักรสำเร็จ ฮามานผู้ต้นคิดอุบายถูกประหาร และโมรเดคัยได้เป็นอัครมหาเสนาบดี
ในรัชสมัยของกษัตริย์อาหสุเอรัส (เป็นกษัตริย์ผู้ทรงครอบครองตั้งแต่ประเทศอินเดียถึงประเทศเอธิโอเปีย เหนือหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดมณฑลนั้น) เอสเธอร์และสาวงามนับร้อยคนพักอยู่ในวังเพื่อรอคอยการได้รับแต่งตั้งเป็นราชินีจากกษัตริย์อาหัสซูเอรัต ในที่สุดเอสเธอร์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นราชินี ในระหว่างพิธีอภิเสกสมรสระหว่างเอสเธอร์และกษัตริย์อาหัสซูเอรัต มีชายชาวยิวคนหนึ่งไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธี เขาจึงนั่งฟังข่าวคราวต่าง ๆ อยู่ตรงประตูของพระราชวัง ชายผู้นั้นคือโมเดรคัย เขาเป็นชาวยิว เอสเธอร์ก็เป็นชาวยิว ในดินแดนเปอร์เซีย นอกจากเขาแล้วไม่มีใครรู้ว่าเอสเธอร์เป็นชาวยิว
หลังจากพิธีอภิเสกสมรสได้ไม่นาน โมเดรคัยได้ยินคนสองคน (บิกธานาและเทเรช) คุยกันเรื่องการปองร้ายพระราชาเข้า เขารีบนำเรื่องนี้ไปบอกเอสเธอร์เพื่อให้ทูลพระราชา พระราชาถามนางว่าใครเป็นคนได้ยิน นางตอบว่าโมเดรคัย เมื่อพิสูจน์เรื่องที่โมเดรคัยพูดทั้งหมดได้แล้วว่าเป็นความจริง สองคนนั้นจึงถูกตัดสินประหาร โมเดรคัยทำความดีความชอบให้กษัตริย์ ชื่อของเขาและเหตุการณ์นั้นจึงได้รับการบันทึกลงพงศาวดาร
ไม่นานพระราชาได้แต่งตั้งฮามาน เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนใหม่ เขาจะมีศักดิ์ศรีมากกว่าใคร ๆ ผู้คนทั้งหลายต้องให้การเคารพเขาเช่นเดียวกับที่เคารพกษัตริย์ ฮามานรู้สึกทะนงตนเป็นอย่างมากเมื่อเห็นประชาชนทุกคนเคารพเขา ยกเว้นโมเดรคัยซึ่งไม่ยอมเคารพ เพราะเขาเป็นชาวยิว เขาจะเคารพเพียงพระเจ้าเท่านั้น เมื่อทราบเช่นนั้นฮามานจึงรู้สึกหมั่นไส้ไม่พอใจ เขาวางแผนแก้แค้นโมเดรคัยและชาวยิวทุกคน เขาไปทูลกษัตริย์ว่ามีชนชาติหนึ่งไม่ยอมเคารพเขา จึงขอลงโทษ กษัตริย์ตอบกลับมาว่าสามารถลงโทษได้ ถ้าเห็นสมควรให้นำแหวนตราของท่านประทับลงบนคำสั่งของเขา
ฮามานไม่รอช้า เขาให้คนเขียนกฤษฎีกาแจกจ่ายไปยังเจ้าเมืองทั้งหลายทุกมณฑลให้ฆ่าชาวยิวให้หมด คำสั่งนั้นก็แจกจ่ายไปทั่วอาณาจักร ชาวยิวในอาณาจักรต่างพากันหวาดกลัว เมื่อโมเดรคัยรู้ข่าวเขาก็โรยขี้เถ้าใส่ศีรษะตัวเองและแต่งกายไว้ทุกข์เพื่อแสดงถึงความเศร้าโศกของตน เมื่อนางเอสเธอร์เห็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาดของเขาจึงสั่งขันทีให้ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อทราบข่าวแล้ว โมเดรคัยฝากบอกให้นางไปทูลเรื่องนี้กับกษัตริย์ พระนางบอกว่าการเข้าเฝ้ากษัตริย์โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นมีโทษถึงตาย ไม่เว้นแม้แต่พระนางซึ่งไม่ได้รับอนุญาตเข้าเฝ้าพระองค์มาหลายสิบวันแล้ว
ขันทีจึงนำเรื่องนี้กลับไปบอกโมเดรคัย โมเดรคัยตอบว่า ข้าเข้าใจเรื่องนั้น แต่การที่พระนางได้เป็นราชินีนั้นอาจเป็นเพื่อไว้ช่วยพวกเราในยามวิกฤตอย่างนี้ก็ได้ เมื่อได้ยินดังนั้นแล้วนางจึงตัดสินใจไปเข้าเฝ้าพระราชา แม้การกระทำครั้งนี้อาจมีโทษถึงตายแต่นางเห็นแต่ชีวิตของพี่น้องร่วมชาติ และตระหนักว่านางผู้เดียวเท่านั้นที่อาจช่วยได้ พระราชางงกับการเข้าเฝ้าอย่างเร่งด่วนของนางเอสเธอร์ แต่ก็พอพระทัยกับความงามของเครื่องทรงของพระนาง จึงยื่นคทาทองให้เพื่อเป็นการอภัยโทษ นางเอสเธอร์ทูลให้พระองค์และฮามานไปงานเลี้ยงที่ตำหนักของนาง พระองค์และฮามานก็รับคำเชิญไว้ ก่อนจะถึงวันที่จะไปงานเลี้ยงนั้นฮามานเอาเรื่องของโมเดรคัยไปบอกภรรยาของเขา ภรรยาของเขาแนะนำว่าให้ทำตะแลงแกงเตรียมแขวนคอประหารพวกยิวได้เลย ฮามานจึงสั่งจัดทำทันทีและเก็บไว้ค่อยบอกพระราชาในวันพรุ่งนี้เช้า แต่ในคืนนั้นพระราชานอนไม่หลับจึงเรียกให้อาลักษณ์มาอ่านหนังสือพงศาวดารถวาย เมื่ออ่านถึงเรื่องของโมเดรคัยพระองค์ทรงตระหนักว่าเขายังไม่ได้รับรางวัลเลย ขณะนั้นฮามานมาเข้าเฝ้าพระองค์พอดี พระองค์จึงถามฮามานว่าท่านควรจะให้อะไรกับคนที่ท่านพอใจมากดี? ฮามานคิดในใจว่าคนที่หมายถึงนั้นคงเป็นเขาแน่ ๆ จึงตอบว่าให้เขาสวมฉลองพระองค์และนั่งบนหลังม้าทรง จากนั้นให้ขุนนางผู้ใหญ่ที่สุดป่าวประกาศไปตามถนนว่านี่คือผู้ที่พระราชาพอพระทัย พระองค์เห็นด้วย จึงบอกฮามานว่าให้ทำอย่างนี้กับโมเดรคัย ฮามานงงไปพักนึ่ง เขาทั้งโกรธทั้งอับอายที่ถูกบังคับให้ทำแบบนั้นกับโมเดรคัยที่เขาไม่ชอบ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เขาทูลพระราชานั้นคือสิ่งที่เขาคิดว่าเขาจะเป็นคนได้รับ เมื่อพิธีนั้นเสร็จสิ้นฮามานก็กลับบ้านไปอย่างอับอายขายหน้า เขาเล่าเรื่องนี้ให้ครอบครัวฟัง เขาคิดวิธีแก้แค้นได้แล้วเพราะพระราชาประทับคำสั่งอนุญาตให้ประหารชาวยิวได้ คำสั่งของพระองค์นั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พอถึงเวลางานเลี้ยงพอดี เขาจึงออกไปงานเลี้ยง ในงานเลี้ยง พระราชาบอกนางเอสเธอร์ว่านางกล้าเข้าเฝ้าพระองค์เพียงแค่ชวนมาที่นี่เท่านี้เองหรือ? นึกว่าจะมีเรื่องสำคัญอะไรจะบอกซะอีก นางตอบว่า ข้าจะทูลขอชีวิตของข้าและประชาชนของข้าที่ถูกปองร้าย พระองค์จึงตรัสถามว่า ใครปองร้ายเจ้า นางชี้ไปที่ฮามาน
พระองค์เพิ่งได้ทราบว่ามเหสีของพระองค์เป็นชาวยิว และฮามานล่อลวงให้พระองค์ประทับคำสั่งให้ประหารยิวทุกคน พระองค์ลุกจากโต๊ะเสวยด้วยความพิโรธ ขณะนั้นฮามานก็ไปร้องขอชีวิตจากนางเอสเธอร์ แต่สายไปเสียแล้ว ข้าราชบริพารรู้ว่าฮามานต้องถูกประหารแน่ ๆ จึงนำผ้ามาคลุมศีรษะฮามาน
พระราชาทราบว่าฮามานสร้างตะแลงแกงขึ้นเพื่อหวังจะแขวนคอโมเดรคัย จึงสั่งว่าให้ฮามานไปแขวนคอบนตะแลงแกงที่เขาสร้างนั้นแหละ ส่วนนางเอสเธอร์จะได้รับทรัพย์สินทั้งหมดจากฮามานเป็นการปลอบขวัญ ภายหลังพระองค์รู้ว่าโมเดรคัยเป็นญาติของนาง จึงให้โมเดรคัยอยู่ในตำแหน่งของฮามานแทน
สองสามวันต่อมานางเข้าเฝ้าพระองค์อีกเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป นางบอกว่าถ้าพระองค์รักนางให้ยกเลิกคำสั่งนั้นเสีย แต่ตามกฎหมายของเปอร์เซียแล้วไม่มีใครยกเลิกคำสั่งที่ประทับตราแล้วได้ ไม่เว้นแม่แต่พระองค์เอง พระองค์จึงออกคำสั่งใหม่ให้อนุญาตให้ชาวยิวทุกคนป้องกันตนเองได้หากถูกรังแก
เจ้าเมืองทุกเมืองต่างได้รับข่าวนี้ พวกเขาคิดว่าในเมื่อพระองค์ทรงโปรดชาวยิวแล้วพวกเขาก็ควรจะทำดีต่อชาวยิวด้วย
ในวันที่ 13 ของเดือน 12 พวกชาวยิวทั่วอาณาจักรเปอร์เซียรวมตัวกันป้องกันศัตรูโดยมีพวกเจ้าเมืองให้ความช่วยเหลือ พวกเขาจึงกระทำการสำเร็จ
พระราชาออกคำสั่งอีกว่าในวันที่ 13 ของเดือน 12 ทุกปีจะให้มีการฉลองที่ชาวยิวปลอดภัยจากศัตรู เป็นวันแห่งการชื่นชมยินดี มีการให้ของขวัญแก่กัน เรียกว่าเทศกาลปูริม
ทุกวันนี้ชาวยิวทั่วโลกยังคงเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันอยู่
อ้างอิง
แก้- ↑ พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011, สมาคมพระคริสตธรรมไทย