ราชกิจจานุเบกษา

วารสารทางการของประเทศไทย

ราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือข่าวสารรัฐบาลของประเทศไทย ซึ่งลงประกาศต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย[2]

ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษา ฉบับ 1 มิถุนายน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ซึ่งลงประกาศกฎหมายลักษณะอาญา
ประเภทหนังสือข่าวสารรัฐบาล
รูปแบบแบบพิมพ์และแบบอิเล็กทรอนิกส์
เจ้าของรัฐบาลไทย
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
ผู้เผยแพร่กลุ่มงานราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี[2]
ก่อตั้งเมื่อ15 มีนาคม พ.ศ. 2401; 166 ปีก่อน (2401-03-15)
ภาษาไทย
สำนักงานใหญ่ทำเนียบรัฐบาลไทย 1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
เมืองกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
เว็บไซต์ratchakitcha.soc.go.th

หนังสือนี้ออกครั้งแรกใน พ.ศ. 2400 (ตามปฏิทินเก่า)[3] หรือ 2401 (ตามปฏิทินใหม่)[1][2][4] ตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาล โดยเฉพาะในการประกาศกฎหมาย ซึ่งมีการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายทั้งหลายต้องลงเผยแพร่ในหนังสือนี้ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้[5]

หนังสือนี้เป็นสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของไทยที่คนไทยจัดทำ[4] เป็นวารสารฉบับแรกของรัฐบาลไทย[6] และเป็นสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยซึ่งยังเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน[1]

ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 หนังสือนี้เผยแพร่แบบออนไลน์เท่านั้น[7] และพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มในจำนวนจำกัดเฉพาะเพื่อเก็บรักษาเป็นหลักฐาน[8]

ชื่อ

แก้

ชื่อ ราชกิจจานุเบกษา นั้น รัชกาลที่ 4 ทรงบัญญัติขึ้นจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ที่เพ่งดูราชกิจ"[1][6]

ประวัติ

แก้
 
ราชกิจจานุเบกษา สมัยรัชกาลที่ 4 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ออกเผยแพร่ครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 ตาม "ประกาศออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา" ลงวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย จ.ศ. 1219 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ตามปฏิทินเก่า)[3] หรือ 2401 (ตามปฏิทินใหม่)[1][2][4] ประกาศดังกล่าวระบุวัตถุประสงค์ในการออกหนังสือนี้ว่า "ถ้าเหตุแลการในราชการแผ่นดินประการใด ๆ เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่าความนั้นใส่มาในราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะได้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าลือผิด ๆ ไปต่าง ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ เป็นเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้"[1] มานิจ สุขสมจิตร เห็นว่า หนังสือนี้ออกเพื่อลงข่าวสารชี้แจงข้อมูลคลาดเคลื่อนที่แดน บีช แบรดลีย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน พิมพ์ในวารสาร บางกอกรีคอร์เดอร์[9]

ในสมัยนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงอำนวยการผลิตและเป็นบรรณาธิการหนังสือนี้ด้วยพระองค์เองทั้งหมด[9] และทรงให้ตั้งโรงพิมพ์ชื่อ โรงอักษรพิมพการ ขึ้นที่ใกล้พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ อาคารที่บรรทมของพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อรับผิดชอบพิมพ์หนังสือนี้[4] โดยมีฐานะเป็นกรมลอย (ไม่มีสังกัด) ชื่อว่า กรมอักษรพิมพการ มีอธิบดีบังคับบัญชา 1 คน[10] ครั้งนั้น เนื้อหาที่ลง ได้แก่ ข่าวต่าง ๆ จากราชสำนัก และข่าวทั่วไปของบ้านเมือง เช่น ข่าวแต่งตั้งขุนนาง ข่าวประสูติ ข่าวเพลิงไหม้ รายงานน้ำฝน และข่าวเบ็ดเตล็ด[4] เผยแพร่ทุก 15 วันโดยไม่คิดราคา[6] แต่เผยแพร่ได้ 1 ปีเศษก็เลิกไป[6]

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงให้รื้อฟื้นหนังสือนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2417[6] เผยแพร่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือ ทุกวันขึ้น 1 ค่ำ วันขึ้น 9 ค่ำ วันแรม 1 ค่ำ และวันแรม 9 ค่ำ รวมเป็นเดือนละ 4 ครั้ง โดยทรงให้คิดราคาเป็นรายปีปีละ 8 บาท เพราะทรงเห็นว่า การแจกให้เปล่าเหมือนครั้งก่อนทำให้ผู้รับไม่เห็นค่า[6] เงินที่เก็บได้นั้นนำส่งพระคลัง[11] อย่างไรก็ดี กรมอักษรพิมพการประกาศว่า มีผู้ยอมเสียเงินซื้อหนังสือนี้น้อยมาก จากที่พิมพ์ไม่ต่ำกว่า 500 ฉบับ มีผู้รับไปเพียง 50–60 ราย ทำให้คณะผู้จัดทำรู้สึกว่า "เสียแรงทำเสียแรงแต่งด้วย ทำแล้วเปนประโยชน์แก่คนตั้งร้อยขึ้นไป เปนที่ยินดี ทำให้ชวนแต่งชวนเรียงขึ้นอีก ถ้าจะเปนประโยชน์แต่แก่คนสักห้าหกสิบคนเท่านั้น ก็เปนที่น่าเสียดายแรงนักอยู่"[12] สุดท้ายแล้ว หนังสือนี้เผยแพร่ได้ 5 ปีก็เลิกไปอีก[6] ฉบับสุดท้าย ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2422[13]

ภายหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงให้รื้อฟื้นหนังสือนี้อีกเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2424[13] โดยเปลี่ยนเป็นเผยแพร่ทุกวันอาทิตย์[14] และทรงให้ยกกรมอักษรพิมพการขึ้นสังกัดกรมพระอาลักษณ์ด้วย[10] แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีราชการอื่นล้นมือ พิมพ์ได้พักหนึ่งจึงหยุดไปอีก จนมารื้อฟื้นขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2427 โดยมีประกาศว่า ครั้งนี้ ตั้งใจ "จะไม่ให้หยุดให้ขาดเหมือนดังแต่ก่อนได้เลย"[15] และหลังมีประกาศเชิญชวนหลายครั้ง[12][16][17] หนังสือนี้ก็เป็นที่สนใจและมีผู้สมัครรับมากขึ้น จนใน พ.ศ. 2435 มีประกาศจากกรมอักษรพิมพการว่า "ได้รับความอุดหนุนจากท่านผู้รับราชกิจจานุเบกษามีทวีมากขึ้น แลที่ได้รับอยู่แล้วก็มิได้ลดถอนลงไปกี่นามนัก ทั้งการเก็บเงินในระหว่างเจ้าพนักงานผู้เก็บกับผู้ให้ก็เปนการได้โดยสดวกขึ้นกว่าปีที่ล่วงแล้วมา เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้รับผลทั้ง 3 ประการเปนอาหารบำรุงชีวิตดำรงตลอดมาดังนี้ จึ่งทำให้เปนเรื่องยินดี"[18] ในปีนั้น รัชกาลที่ 5 ยังทรงตั้งกระทรวงมุรธาธรขึ้น และให้กรมพระอาลักษณ์มาขึ้นกระทรวงมุรธาธร[19] งานจัดทำหนังสือนี้จึงเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมุรธาธร[20]

ในการเผยแพร่สมัยหลังนี้ รัฐบาลจ้างโรงพิมพ์เอกชนดำเนินงาน เช่น โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ[21] และบางคราวโรงพิมพ์เอกชนก็จัดทำให้โดยไม่คิดราคา[22]

ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 งานด้านอาลักษณ์ของกระทรวงมุรธาธรตกมาเป็นความรับผิดชอบของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี[19] การเผยแพร่หนังสือนี้จึงอยู่ในความรับผิดชอบของกรมดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันคือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยจัดตั้งกลุ่มงานราชกิจจานุเบกษาขึ้นรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ[2] และมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้พิมพ์ฉบับรูปเล่ม[23] เดิมเผยแพร่รายสัปดาห์ แต่ปัจจุบันไม่มีกำหนดตายตัว สุดแล้วแต่ความเร่งด่วนของสิ่งเผยแพร่[6] ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 หนังสือนี้เผยแพร่แบบออนไลน์เท่านั้น[7] ส่วนฉบับรูปเล่มจะพิมพ์ขึ้นเฉพาะเพื่อเก็บรักษาเป็นหลักฐานไว้ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 1 ชุด และหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร อีก 3 ชุด รวม 4 ชุด[8]

ประเภท

แก้

ปัจจุบัน หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา มี 4 ประเภท คือ[24]

  • ประเภท ก เรียกว่า ฉบับกฤษฎีกา สำหรับลงประกาศกฎหมายและคำพิพากษาของศาล
  • ประเภท ข เรียกว่า ฉบับทะเบียนฐานันดร สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับราชสำนักและคณะสงฆ์ เช่น หมายกำหนดการ การพระราชทานหรือถอดถอนเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสมณศักดิ์ และข่าวต่าง ๆ ในราชสำนัก
  • ประเภท ค เรียกว่า ฉบับทะเบียนการค้า สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับทะเบียนขององค์กรทางการค้า เช่น บริษัท และห้างหุ้นส่วน
  • ประเภท ง เรียกว่า ฉบับประกาศและงานทั่วไป สำหรับลงประกาศและงานอื่น ๆ

ความมีผลของกฎหมาย

แก้

ในระบบกฎหมายไทย กฎหมายจะมีผลใช้บังคับได้ ต้องลงเผยแพร่ในหนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ก่อน[5] หลักการนี้ได้รับการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งระบุในมาตรา 38 ว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในหนังสือนี้แล้ว จึงมีผลใช้บังคับได้[5]

ต้นฉบับ

แก้

หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ตีพิมพ์ขึ้นหลายร้อยฉบับ แต่เหลือรอดมาเพียง 19 ฉบับเท่านั้น[25]

ฉบับซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงรื้อฟื้นช่วง พ.ศ. 2417–2422 นั้น ต้นฉบับที่สมบูรณ์เหลือน้อยมาก มีการพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2540 และ 2546 โดยการถ่ายจากต้นฉบับดั้งเดิม[13]

ส่วนฉบับซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงรื้อฟื้นเมื่อ พ.ศ. 2424 นั้น ต้นฉบับเหลือรอดเพียง 1 เล่ม ขาดหายบางหน้า มีการพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2513[26]

ต้นฉบับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีเก็บรักษาเป็นคลังเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และเปิดให้เข้าใช้บริการได้โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน[27]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 2010
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ขวัญชนก วิบูลย์คำ 2017, p. 1
  3. 3.0 3.1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 156
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม 2021
  5. 5.0 5.1 5.2 ขวัญชนก วิบูลย์คำ 2017, p. 2
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ n.d., pp. 19–33
  7. 7.0 7.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ 2023, pp. 1–4
  8. 8.0 8.1 ประกาศสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฯ 2023, p. 19
  9. 9.0 9.1 มานิจ สุขสมจิตร 2018, pp. 108–109
  10. 10.0 10.1 แจ้งความกรมอักษรพิมพ์การ 1889, p. 260
  11. แจ้งความ 1889, p. 338
  12. 12.0 12.1 แจ้งความ ลงวันที่ 18 มีนาคม จ.ศ. 1249 1888, pp. 379–381
  13. 13.0 13.1 13.2 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 161
  14. แจ้งความออกราชกิจจานุเบกษา 1889, pp. 1–2
  15. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, pp. 164–165
  16. ขอให้อ่านราชกิจจานุเบกษา 1888, pp. 1–5
  17. ขอให้อ่าน 1891, p. 304
  18. ความยินดีสุดปีฯ 1893, p. 466
  19. 19.0 19.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2018
  20. แจ้งความกระทรวงมุรธาธร 1893, p. 370
  21. สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ 2023
  22. แจ้งความกระทรวงยุติธรรมฯ 1908, p. 426
  23. เดอะสแตนดาร์ดทีม 2023
  24. ขวัญชนก วิบูลย์คำ 2017, pp. 1–2
  25. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 157
  26. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 164
  27. สำนักหอสมุดแห่งชาติ 2020

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้