หนง จื้อเกา (จีน: 儂智高; พินอิน: Nóng Zhìgāo; เวียดนาม: Nùng Trí Cao;[3] ค.ศ. 1025–1055?) เป็นบุคคลซึ่งชาวหนง (儂) ในเวียดนาม และชาวจฺวั้ง (壯) ในจีน ยกย่องเป็นวีรบุรุษ แต่ทั้งราชสำนักจีนและเวียดนามถือว่า เขาเป็นกบฏ

หนง จื้อเกา
จักรพรรดิเหรินฮุ่ย (仁惠皇帝)
หัวหน้าเผ่าหนง (儂)
ครองราชย์ค.ศ. 1041[1]
ก่อนหน้าหนง เฉฺวียนฝู (儂全福)
จักรพรรดิแห่งรัฐต้าหลี่ (大理國)
ครองราชย์ค.ศ. 1042[2]
จักรพรรดิแห่งรัฐหนานเทียน (南天国)
ครองราชย์ค.ศ. 1048[2]
จักรพรรดิแห่งรัฐต้าหนาน (大南国)
ครองราชย์ค.ศ. 1052–1055[2]
เกิดค.ศ. 1025
กวั่ง-ยฺเหวียน (廣源)
ตายไม่ทราบ
บุตรหนง จื้อเฟิง (儂繼封)
หนง จื้อหมิง (儂繼明)
บิดาหนง เฉฺวียนฝู
มารดาอาหนง (阿儂)
ศาสนาลัทธิหมอผี, วิญญาณนิยม

ประวัติ แก้

เอกสาร ซ่งฉื่อ (宋史) ของจีน ระบุว่า หนง จื้อเกา เป็นบุตรชายของหนง เฉฺวียนฝู (儂全福) หัวหน้าเผ่าชาวจฺวั้งกลุ่มที่อยู่ในเวียดนาม กับอาหนง (阿儂) ธิดาของหัวหน้าเผ่าเผ่าหนึ่ง เมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้น ได้สืบตำแหน่งหัวหน้าเผ่าชาวจฺวั้งต่อจากบิดา

ครั้น ค.ศ. 1042 เขาอายุได้ 17 ปี เขาก่อตั้งราชอาณาจักรของตน เรียกว่า รัฐต้าหลี่ (大理國)[4] ราชสำนักเวียดนามจึงออกติดตามจับกุมเขา เขาถูกคุมตัวไว้ที่ ทังล็อง(Thăng Long) หลายปี[4]

เขาได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. 1048 จากนั้น ประกาศจัดตั้งอาณาจักรแห่งใหม่ เรียกว่า รัฐหนานเทียน (南天国)[4] ราชสำนักเวียดนามจึงออกปราบปรามเขาอีกครั้ง ทำให้เขาและพรรคพวกต้องหลบหนีเข้าสู่แผ่นดินจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซ่ง (宋朝)[4]

ใน ค.ศ. 1052 เขาประกาศจัดตั้งอาณาจักรแห่งใหม่อีกครั้ง เรียกว่า รัฐต้าหนาน (大南国) ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ เรียกว่า จักรพรรดิเหรินฮุ่ย (仁惠皇帝)[2] เขายึดหนานหนิง (南宁) ได้ จึงนำทัพมุ่งลงใต้ผ่านกวั่งตง (广东) ลงไปล้อมกวั่งโจว (广州) ได้ 57 วัน[5] เมื่อเลิกล้อมกวั่งโจวแล้ว เขาขึ้นเหนือไปรบกับกองทัพราชวงศ์ซ่ง และมีชัยชนะอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังพลของเขาเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่าทัพซ่ง[6] จากนั้น เขามุ่งยึดดินแดนทางใต้และตะวันตก ยึดหนานหนิงได้อีกครั้งในเดือน 10 ค.ศ. 1052[6]

จักรพรรดิซ่งเหรินจง (宋仁宗) ส่งขุนพลตี๋ ชิง (狄青) มาปราบปรามเขา ซึ่งตี๋ ชิง ทำสำเร็จ[6] เขาพามารดาและผู้คนหนีไปถึงดินแดนซึ่งปัจจุบัน คือ ยฺหวินหนาน (云南), ไทย, และลาว แล้วพยายามจะเรียกระดมพลที่นั่น แต่ถูกจับกุมพร้อมมารดาเสียก่อน มารดาของเขาถูกประหารชีวิตใน ค.ศ. 1055 เชื่อว่า เขาน่าจะถูกประหารด้วย[7]

อ้างอิง แก้

  1. Anderson 2012, p. 88.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Anderson 2012, pp. 7–8.
  3. K. W. Taylor (9 May 2013). A History of the Vietnamese. Cambridge University Press. pp. 70–. ISBN 978-0-521-87586-8.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Anderson 2012, p. 7.
  5. Baker & Phongpaichit 2017, p. 26.
  6. 6.0 6.1 6.2 Barlow 2005a.
  7. Chappell, Hilary (2001). Sinitic grammar: Synchronic and Diachronic. Oxford University Press. p. 397. ISBN 0-19-829977-X.

บรรณานุกรม แก้