สโมสรฟุตบอลบีบีซียู
สโมสรฟุตบอลบีบีซียู หรือ "สโมสรฟุตบอลบิ๊กแบง จุฬาฯ ยูไนเต็ด" เป็นอดีตสโมสรฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย เจ้าของคือ สมาคมสโมสรสินธนา เป็นสโมสรที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงต้นยุค 40 (พ.ศ.) ภายใต้ชื่อ "สโมสรฟุตบอลสินธนา" โดยสามารถคว้าแชมป์ ไทยพรีเมียร์ลีก 1 ครั้ง แชมป์ ถ้วยพระราชทานประเภท ก 2 ครั้ง และแชมป์ เอฟเอคัพ 1 ครั้ง นอกจากนี้ในช่วงที่สโมสรตกชั้นไปจากลีกสูงสุดก็ยังสามารถคว้าแชมป์ ดิวิชัน 2 ได้อีก 1 ครั้ง
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลบิ๊กแบง จุฬาฯ ยูไนเต็ด | ||
---|---|---|---|
ฉายา | เสือสามย่าน บิ๊กแบง บิ๊กแบง-ซียู | ||
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2519 ในชื่อ ทีมฟุตบอลบางเตย พ.ศ. 2533 ในชื่อ สโมสรสินธนา พ.ศ. 2554 ในชื่อ สโมสรฟุตบอลบิ๊กแบง จุฬาฯ ยูไนเต็ด | ||
ยุบ | พ.ศ. 2560 | ||
สนาม | สนามกีฬาศูนย์เยาวชนเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี | ||
ความจุ | 6,000 | ||
ผู้จัดการ | วีรยุทธ โพธารามิก | ||
ผู้ฝึกสอน | จตุพร ประมลบาล | ||
2559 | ไทยลีก, อันดับที่ 18 (ตกชั้น)[1] | ||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | ||
|
ในปี พ.ศ. 2548 สโมสรร่วมเป็นพันธมิตรกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มมีการนำเอาผู้บริหารชุดใหม่เข้ามา หลังจากนั้นทีมได้เปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งก่อนจะกลายมาเป็น "สโมสรฟุตบอลบีบีซียู" โดยทีมนี้เป็นคนละทีมกับ สโมสรจามจุรี ยูไนเต็ด ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก "สโมสรฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจาก จามจุรี ยูไนเต็ด นั้นเป็นสโมสรที่เก่าแก่กว่า มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี และนับเป็น 1 ในสโมสรแรกๆที่ถูกก่อตั้งขึ้นในเมืองไทย
ประวัติศาสตร์สโมสร
แก้สโมสรในช่วงเริ่มต้น
แก้สโมสรฟุตบอลบีบีซียู ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 ภายใต้ชื่อ "ทีมฟุตบอลบางเตย" โดย มนตรี สุวรรณน้อย เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ผู้มีความฝันที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลประเทศไทย โดยในช่วงแรกนั้นเป็นเพียงทีมฟุตบอลเล็กๆที่ลงทำการแข่งขันในรายการ "บางกะปิ คัพ" รวมไปถึงรายการระดับสมัครเล่นอื่นๆที่มีการจัดการแข่งขันในย่าน บึงกุ่ม-บางกะปิ ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในระดับ ถ้วยพระราชทาน ง เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 และเปลี่ยนชื่อเป็น "สโมสรฟุตบอลบางเตย-สุวรรณน้อย"
บางเตย-สุวรรณน้อย ลงสนามในนัดอย่างเป็นทางการนัดแรกพบกับ ราชนาวีสโมสร (ชุด "ถ้วย ง") ในการแข่งขันฟุตบอล ถ้วยพระราชทาน ง พ.ศ. 2531 โดยในนัดนั้น เสมอกันไป 1-1 และ มนตรี สุวรรณน้อย ในวัย 32 ปี เป็นผู้ยิงประตูแรกในประวัติศาสตร์สโมสรได้สำเร็จ ก่อนที่ทีมจะทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องจนได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ค ในทันทีเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแรก โดยผู้เล่นของทีมที่พอจะเป็นที่รู้จักในเวลานั้นคือ สมบัติ ลีกำเนิดไทย ที่สามารถก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยชุดเยาวชนเป็นคนแรกของสโมสรได้สำเร็จ
ฤดูกาลต่อมา ใน ถ้วยพระราชทาน ค ทีมก็ยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องและจบฤดูกาลด้วยสิทธ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ข นับเป็นการเลื่อนชั้น 2 ปีซ้อน โดยในปีต่อมา ทีมเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "สโมสรฟุตบอลสินธนา" และใช้เวลาสร้างทีมอยู่ใน "ถ้วย ข" เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ก ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศไทยในเวลานั้นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2536
พ.ศ. 2536-2539
แก้ตั้งแต่ สโมสรสินธนา สามารถก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับสูงสุดได้สำเร็จ ทีมก็พัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาเพื่อเป้าหมายในการคว้าแชมป์ประเทศไทย หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือการวางรากฐานระบบทีมเยาวชนของทีม (ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ระดับ ถ้วย ข) เนื่องจาก สินธนา ไม่ใช่ทีมขนาดใหญ่ที่มีเงินจำนวนมากในการทุ่มซื้อและจ่ายค่าเหนื่อยให้กับผู้เล่นระดับแนวหน้า ทีมจึงยึดแนวคิดระบบ "อคาเดมี่" เพื่อสร้างนักเตะของตัวเองขึ้นมาจากระดับเยาวชน (ซึ่งนับเป็นสโมสรแรกๆของเมืองไทยที่มีการสร้างระบบอคาเดมี่ของตัวเอง) โดยในช่วงเริ่มแรกนั้น สโมสรใช้วิธีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับโรงเรียนมัธยมหลายแห่งเพื่อเป็นฐานในการค้นหานักฟุตบอลอายุน้อย และดึงตัวมาร่วมทีมเพื่อให้เล่นร่วมกันตั้งแต่เด็กๆ ก่อนที่ภายหลัง แนวคิดนี้จะก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างงดงามกับสโมสร
พ.ศ. 2539 ฟุตบอลไทยเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ด้วยการจัดตั้ง ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก (จอห์นนีวอล์กเกอร์ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก) {ไทยลีก ในปัจจุบัน} ขึ้นเพื่อเปลี่ยนการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศไทยให้เป็นระบบลีกแทนที่ ถ้วยพระราชทาน ก ส่วน "ถ้วย ก" ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันมาเป็นแบบ "แชมป์ชนแชมป์" คือนำเอาแชมป์ "ไทยลีก" มาแข่งขันชิงดำนัดเดียว กับแชมป์ เอฟเอคัพ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ถ้วยใบเก่าแก่ที่สุดขอประเทศไทยอย่าง ถ้วย ก ต้องด้อยคุณค่าลงไป แต่ถึงอย่างนั้น แชมป์ ถ้วยพระราชทาน ก ก็ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นแชมป์ประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกนับตั้งแต่นั้นมา โดย สินธนา ก็ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก ด้วย และจบฤดูกาลแรกด้วยอันดับที่ 6
ยุครุ่งเรือง
แก้1 ปีหลังจากการก่อตั้งฟุตบอลลีกของไทย ยุครุ่งเรืองของ สินธนา ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อนักเตะเยาวชนของสโมสรอย่าง เศกสรรค์ ปิตุรัตน์, นิเวส ศิริวงศ์, กิตติศักดิ์ ระวังป่า, ธนัญชัย บริบาล, วิรัช วังจันทร์, ธงชัย อัครพงษ์, ศัตรูพ่าย ศรีณรงค์, สันติ ไชยเผือก, ยุทธพงษ์ บุญอำพร และ ภานุพงศ์ ฉิมผูก แข็งแกร่งพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมร่วมกับนักเตะรุ่นพี่อย่าง สุรชัย จิระศิริโชติ, ประจักษ์ เวียงสงค์, พนิพล เกิดแย้ม และกัปตันทีมอย่าง อนัน พันแสน สินธนา จึงสามารถคว้าแชมป์ เอฟเอคัพ ในปี พ.ศ. 2540 เป็นแชมป์แรกในประวัติศาสตร์สโมสรได้สำเร็จ และต่อด้วยการคว้าแชมป์ ถ้วยพระราชทาน ก ตามมาติดๆในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สโมสรพลาดโอกาสที่จะคว้าทริปเปิลแชมป์เป็นทีมแรกของประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อพลาดท่าแพ้ให้กับ สโมสรธนาคารกรุงเทพ ในนัดสุดท้ายของ ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก จึงทำให้ถูก สโมสรทหารอากาศ แซงหน้า ได้เพียงแค่รองแชมป์เท่านั้น ทั้งที่เพียงแค่เสมอก็จะคว้าแชมป์ทันที
ในปีต่อมา พ.ศ. 2541 สินธนา ได้สิทธิ์ลงแข่งขันในฟุตบอลระดับทวีปเอเชียเป็นครั้งแรกในรายการ เอเชียนคัพวินเนอร์คัพ (ปัจจุบันรายการนี้ได้ถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก แล้ว) ในฐานะแชมป์ เอฟเอคัพ ของไทย โดยทีมตกรอบสองจากการพบกับ คะชิมะ แอนต์เลอร์ส ยอดทีมจากญี่ปุ่น ส่วนผลงานในลีก (ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น "พรีเมียร์ลีก" {คาลเท็กซ์พรีเมียร์ลีก}) ก็ยังคงดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อทีมสามารถคว้าแชมป์ได้สำเร็จในฤดูกาลที่ต้องขับเขี้ยวกันจนถึงวินาทีสุดท้าย โดย สินธนา ทำแต้มแซงหน้า ทหารอากาศ ขึ้นคว้าแชมป์ จากประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บนาทีที่ 92 ของ เศกสรรค์ ปิตุรัตน์ ในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลกับ สโมสรบีอีซี เทโรศาสน หลังจบเกมในวันนั้น มนตรี สุวรรณน้อย ผู้ก่อตั้งทีมซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสโมสรในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยความดีใจว่า ความฝันของเขาที่ต้องการจะเป็นแชมป์ประเทศไทยตั้งแต่ในวันที่ก่อตั้งทีมขึ้นมาได้กลายเป็นความจริงแล้ว นอกจากนั้น ทีมยังสามารถป้องกันแชมป์ ถ้วย ก เอาไว้ได้อีกสมัยในปีเดียวกัน นับเป็นช่วงเวลาที่ สินธนา รุ่งเรืองสุดขีด
หลังจากคว้าแชมป์ประเทศไทยได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของ สโมสรสินธนา คือการพิสูจน์ตัวเองในการแข่งขันระดับที่สูงกว่าอย่างทวีปเอเชีย หลังทำได้เพียงตกรอบสอง คัพวินเนอร์คัพ ในปีที่แล้ว ทำให้ในปีต่อมา พ.ศ. 2542 สโมสรมุ่งเน้นเป็นอย่างมากที่จะทำผลงานให้ดีในการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดของเอเชียอย่าง เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ (เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก ในปัจจุบัน) ที่ สินธนา ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะแชมป์ พรีเมียร์ลีก ของไทย โดยทีมสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ของเอเชียในปีนั้น
พ.ศ. 2543-2547
แก้พิษจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในประเทศไทยช่วงต้นยุค 40 เริ่มส่งผลกระทบกับ สโมสรสินธนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยหลังจากการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ของเอเชียสิ้นสุดลง สโมสรต้องยอมปล่อยผู้เล่นตัวหลักออกจากทีมหลายรายในปีต่อมาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของทีม อย่างไรก็ตาม นักเตะเยาวชนชุดใหม่ที่ถูกดันขึ้นมาทดแทนก็ยังมีดีพอที่จะนำทีมเข้าชิงชนะเลิศในฟุตบอลถ้วยเล็กอย่าง ควีนส์คัพ ได้อีก 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2543 และ 2545 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยทำได้ 1 ครั้งในปี พ.ศ. 2539 โดยทั้ง 3 ครั้งนั้น สินธนา พลาดท่าทำได้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์ทั้งหมด ส่วนผลงานในลีกในช่วงหลายปีนี้ นับเป็นช่วงที่ทีมขาดความคงเส้นคงวา โดยทำผลงานอยู่ในกลุ่มกลางตารางสลับกับต้องหนีตกชั้นในบางฤดูกาล จนกระทั่งมาถึงฤดูกาล 2546/47 สโมสรสินธนาประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับสุดท้ายของตาราง และต้องตกชั้นลงไปเล่นในระดับ ดิวิชัน 1 เป็นครั้งแรกในปีนั้น
ยุค จุฬาฯ-สินธนา, จุฬาฯ ยูไนเต็ด และ บีบีซียู
แก้หลังจากที่ สินธนา ตกชั้นจากลีกสูงสุดในปี พ.ศ. 2547 สโมสรก็ได้ปล่อยผู้เล่นชุดใหญ่ออกจากทีมไปแบบยกชุด และเตรียมที่จะใช้นักฟุตบอลเยาวชนลงแข่งขันในฟุตบอล ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2547/48 เนื่องจากสโมสรจำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำทีม แต่ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นพันธมิตรกับสโมสร ทีมจึงมีการปรับเปลี่ยนให้ทีมงานของ จุฬาฯ เข้ามาช่วยในการบริหารทีม และเปลี่ยนชื่อทีมเป็น "สโมสรฟุตบอลจุฬาฯ-สินธนา" อย่างไรก็ตาม ทีมต้องพบกับผลการแข่งขันที่ล้มเหลวและตกชั้นลงสู่ ดิวิชัน 2 (ต่อมาได้พัฒนาเป็น ไทยลีก 4 ในปัจจุบัน) เมื่อจบฤดูกาล
ในปีต่อมา พ.ศ. 2549 จุฬาฯ-สินธนา ได้สร้างทีมขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยมีเป้าหมายเพื่อกลับไปเล่นในลีกสูงสุดของเมืองไทยให้ได้ใน 2 ฤดูกาล โดยทีมสามารถคว้าแชมป์ ดิวิชัน 2 ในปีนั้น (ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดการแข่งขัน) ได้สำเร็จ พร้อมกับได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาเล่นใน ดิวิชัน 1 อีกครั้งในปีต่อมา และจากผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของทีมชุดใหม่ที่มีนักเตะอย่าง กิตติพล ปาภูงา, วุฒิชัย ทาทอง และ ปิยะชาติ ถามะพันธ์ เป็นแกนหลัก สโมสรก็สามารถคว้าตำแหน่งรองแชมป์ ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2550 และได้เลื่อนชั้นกลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จตามเป้าหมาย
พ.ศ. 2551 สโมสรได้จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น "สโมสรฟุตบอลจุฬาฯ ยูไนเต็ด" โดยทีมได้ลงเล่นอยู่ใน ไทยพรีเมียร์ลีก 2 ปี ก็ต้องตกชั้นสู่ ไทยลีกดิวิชัน 1 อีกครั้ง
ในฤดูกาล 2554 ทีมได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "สโมสรฟุตบอลบีบีซียู" และสามารถคว้าอันดับ 3 ฟุตบอล ไทยลีกดิวิชัน 1 พร้อมกับได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับขึ้นสู่ ไทยพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2555
ชื่อทีมและตราสโมสรจากอดีตถึงปัจจุบัน
แก้-
ฤดูกาล 2533-46
-
ฤดูกาล 2547-51
-
ฤดูกาล 2552-53
-
ฤดูกาล 2554-60
หมายเหตุ
- ตราสโมสรสินธนา เดิมนั้นระบุปีที่ก่อตั้งเอาไว้เป็น ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) แต่หลังจากที่มีการสำรวจประวัติการก่อตั้งสโมสรใหม่ พบว่ามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสโมสรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นถึง 11 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2519 โดยปี ค.ศ. 1987 นั้นเป็นเพียงปีที่สโมสรกำลังเตรียมทีมเพื่อส่งเข้าแข่งขัน ถ้วยพระราชทาน ง ฤดูกาลแรกเท่านั้น
- สโมสรเปลี่ยนชื่อทีมจาก จุฬาฯ-สินธนา เป็น จุฬาฯ ยูไนเต็ด ระหว่างการแข่งขัน ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2551 แต่เปลี่ยนเพียงแค่ชื่อ ยังคงใช้ตราสโมสรรูปพระเกี้ยวตามเดิมจนจบฤดูกาลจึงเปลี่ยนเป็นแบบใหม่
อดีตผู้เล่นของทีม
แก้หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอน
แก้ชื่อ | สัญชาติ | ช่วงปี | เกียรติประวัติ |
---|---|---|---|
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง | 2551 | ||
ธงชัย สุขโกกี | 2551–2552 | ||
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง | 2554–2555 | อันดับที่ 3 ไทยลีก ดิวิชัน 1 | |
โชเซ อัลเวส บอร์จีส | 2556 | ||
วรชัย สุรินทร์ศิริรัฐ | 2556–2558 | ||
สึโยชิ ทากาโนะ | 2558–2559 | ||
โคอิจิ ซูงิยามะ | 2559 | ||
จตุพร ประมลบาล | 2559 | ||
ไพโรจน์ บวรวัฒนดิลก | 2560 | ||
วรชัย สุรินทร์ศิริรัฐ (รักษาการ) | 2560 |
อดีตทีมงานประจำสโมสร
แก้- ประธานสโมสร - พิชญ์ โพธารามิก
- ผู้จัดการทีม - สุธีร์ แป้นน้อย
- หัวหน้าผู้ฝึกสอน - อดุลย์ รุ่งเรือง
ผลงานตามฤดูกาล
แก้ยุคสมัครเล่น (พ.ศ. 2519-2530)
แก้นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง ทีมฟุตบอลบางเตย (บีบีซียู) ขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เพื่อลงแข่งขันรายการ "บางกะปิ คัพ" ทีมใช้เวลากว่าสิบปีลงแข่งขันในรายการระดับสมัครเล่นต่างๆ ก่อนจะส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นฤดูกาลแรกใน ถ้วยพระราชทาน ง ฤดูกาล 2531
ยุคฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (ฤดูกาล 2531-2538)
แก้ฤดูกาล | รายการที่ลงแข่งขัน | ระดับ | ผลงาน | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
2531 | ถ้วยพระราชทาน ง | 4 | อันดับ 3 (ร่วม) | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ค ฤดูกาล 2532 |
2532 | ถ้วยพระราชทาน ค | 3 | รอบก่อนรองชนะเลศ | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ข ฤดูกาล 2533 |
2533 | ถ้วยพระราชทาน ข | 2 | ||
2534 | ||||
2535 | อันดับ 3 (ร่วม) | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ก ฤดูกาล 2536 | ||
2536 | ถ้วยพระราชทาน ก | 1 | รอบแบ่งกลุ่ม | |
2537 | ||||
2538 | อันดับ 3 (ร่วม) | - เป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ ถ้วยพระราชทาน ก จัดการแข่งขันในฐานะฟุตบอลระดับสูงสุดของเมืองไทย |
ยุคฟุตบอลลีก (ฤดูกาล 2539-ปัจจุบัน)
แก้ฤดูกาล | รายการที่ลงแข่งขัน | ระดับ | ผลงาน | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
2539 | (จอห์นนีวอล์กเกอร์) ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก |
1 | อันดับ 6 | - ประเทศไทยจัดการแข่งขันระบบลีกขึ้นเป็นครั้งแรก - สโมสรได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ควีนส์คัพ |
2540 | รองชนะเลิศ | - ชนะเลิศ ถ้วยพระราชทาน ก - ชนะเลิศ เอฟเอคัพ (ได้สิทธ์ลงแข่งขัน เอเชียนคัพวินเนอร์คัพ ฤดูกาล 1998/99 (ค.ศ.)) | ||
2541 | (คาลเท็กซ์) พรีเมียร์ลีก |
ชนะเลิศ | - ได้สิทธ์ลงแข่งขัน เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ ฤดูกาล 1999/2000 (ค.ศ.) [ในฐานะแชมป์ลีก] - ชนะเลิศ ถ้วยพระราชทาน ก | |
2542 | อันดับ 7 | |||
2543 | อันดับ 11 | - เพล์ออฟหนีตกชั้นกับ สโมสรกรุงเทพคริสเตียน และชนะด้วยสกอร์รวม 2 นัด 3-2 ประตู - รองชนะเลิศ ควีนส์คัพ | ||
2544/45 | (จีเอสเอ็ม) ไทยลีก |
อันดับ 5 | ||
2545/46 | อันดับ 7 | - รองชนะเลิศ ควีนส์คัพ | ||
2546/47 | อันดับ 10 | - ตกชั้นลงสู่ ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2548 | ||
2548 | ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 | 2 | อันดับ 12 | - ตกชั้นลงสู่ ไทยแลนด์ดิวิชัน 2 ฤดูกาล 2549 |
2549 | ไทยแลนด์ดิวิชัน 2 | 3 | ชนะเลิศ | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2550 |
2550 | ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 | 2 | รองชนะเลิศ | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2551 |
2551 | ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก | 1 | อันดับ 8 | |
2552 | ไทยพรีเมียร์ลีก | อันดับ 15 | - ตกชั้นลงสู่ ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2553 | |
2553 | ไทยลีกดิวิชัน 1 | 2 | อันดับ 10 | |
2554 | อันดับ 3 | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2555 | ||
2555 | (สปอนเซอร์) ไทยพรีเมียร์ลีก |
1 | อันดับ 17 | - ตกชั้นลงสู่ ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2556 |
2556 | ไทยลีกดิวิชัน 1 | 2 | อันดับ 11 | |
2557 | อันดับ 9 | |||
2558 | อันดับ 4 | - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยลีก ฤดูกาล 2559 | ||
2559 | (โตโยต้า) ไทยลีก |
1 | อันดับ 18 | - ตกชั้นลงสู่ ไทยลีก 2 ฤดูกาล 2560 |
หมายเหตุ
- ตั้งแต่มีการก่อตั้งลีกขึ้น มีหลายฤดูกาลที่การแข่งขันฟุตบอลลีกระดับเดียวกันใช้ชื่อที่ต่างกันออกไป โดยในฤดูกาลที่สโมสรเข้าร่วมการแข่งขันมีดังนี้
- ระดับ 1 : (จอห์นนีวอล์กเกอร์) ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก, (คาลเท็กซ์) พรีเมียร์ลีก, (จีเอสเอ็ม) ไทยลีก, ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก, (สปอนเซอร์) ไทยพรีเมียร์ลีก, และ (โตโยต้า) ไทยลีก
- ระดับ 2 : ไทยแลนด์ดิวิชัน 1, ไทยลีกดิวิชัน 1, และ ไทยลีก 2
- ระดับ 3 : ไทยแลนด์ดิวิชัน 2
เกียรติประวัติ
แก้ฟุตบอลลีก
แก้- ไทยลีก (ไทยพรีเมียร์ลีก เดิม)
- ชนะเลิศ : 2541
- รองชนะเลิศ : 2540
- ไทยลีก 2 (ดิวิชัน 1 เดิม)
- รองชนะเลิศ : 2550
- อันดับ 3 : 2554
- ไทยลีก 4 (ดิวิชัน 2 เดิม)
- ชนะเลิศ : 2549
ฟุตบอลถ้วย
แก้- ถ้วยพระราชทาน ก
- ชนะเลิศ : 2540, 2541
- ถ้วยพระราชทาน ก (เดิม) {ในฐานะการแข่งขันระดับสูงสุดของเมืองไทย}
- อันดับ 3 (ร่วม) : 2538
- เอฟเอคัพ
- ชนะเลิศ : 2540
- ควีนส์คัพ
- รองชนะเลิศ : 2539, 2543, 2545
- ถ้วยพระราชทาน ข (เดิม) {ในฐานะการแข่งขันระดับ 2 ของเมืองไทย}
- อันดับ 3 (ร่วม) : 2535
- ถ้วยพระราชทาน ง (เดิม) {ในฐานะการแข่งขันระดับ 4 ของเมืองไทย}
- อันดับ 3 (ร่วม) : 2531
ผลงานในระดับทวีปเอเชีย
(แสดงผลเป็นปี ค.ศ.)
- เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ
- รอบก่อนรองชนะเลิศ : 1999
- เอเชียนคัพวินเนอร์คัพ
- รอบ 2 : 1998
อ้างอิง
แก้- ↑ "ส.บอลแจงอันดับลีกยึดผลล่าสุด จับสลากหาสิทธิ์บอลถ้วย". Goal Thailand. 14 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการของสโมสร เก็บถาวร 2011-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์แฟนคลับ สโมสรบีบีซียู
- เฟซบุ๊คแฟนคลับ สโมสรบีบีซียู
- เว็บไซต์ทางการของ ไทยพรีเมียร์ลีก และ ไทยลีกดิวิชัน 1 เก็บถาวร 2012-01-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หน้าข่าว ไทยลีกดิวิชัน 1 ของเว็บไซต์ สยามสปอร์ต
- หน้าข่าว ไทยลีกดิวิชัน 1 ของเว็บไซต์ ไทยลีกออนไลน์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน