สโมสรผึ้งน้อย เป็นรายการสำหรับเด็ก ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 ทางททบ.5 ทุกวันศุกร์ เวลา 16.30–17.30 น. ออกอากาศจนถึงปี พ.ศ. 2537 และออกอากาศอีกครั้งในปี 2539–2546 ทางช่อง 3 ใช้ชื่อว่า ผึ้งน้อยซูเปอร์เกม, ผึ้งน้อยสเปชเรสคิวตามลำดับ และออกอากาศครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 - สิ้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ใช้ชื่อว่า ผึ้งน้อยมหัศจรรย์ โดยช่วงปีแรก ๆ จะออกอากาศเป็นรายการสด แต่ปีต่อ ๆ มาออกเป็นรายการเทป มีผู้ดำเนินรายการคือภัทรจารีย์ อัยศิริ หรือ น้านิด และช่วงปีหลัง ๆ มีน้าสุ (สุดา บุลสุข) เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมด้วยเป็นบางครั้ง กลับมาออกอากาศอีกครั้งในช่วงปี 2539–2546[1] ในรูปแบบเกมโชว์ มีผู้ดำเนินรายการคือ นำชัย จรรยาฐิติกุล 2545–2546 มีกีรติ เทพธัญญ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

สโมสรผึ้งน้อยเป็นรายการที่ผลักดันให้เด็ก ๆ กล้าแสดงออก สโมสรมีสมาชิกที่เป็นเด็ก ๆ มากกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศ[2] มีเด็กที่เคยร่วมรายการนี้ที่ปัจจุบันเป็นนักแสดงชื่อดัง เช่น ศิริลักษณ์ ผ่องโชค

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของรายการคือเพลงประกอบท่าเต้น หรือเพลงประกอบลีลา ที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงวงดนตรีที่เกิดจากสโมสรนี้คือ วงดนตรีเอ็กซ์วายแซด งานดนตรีของสโมสรผึ้งน้อยในช่วงปีแรก ๆ จะเป็นผลงานของน้านิด และน้าประชา (ประชา พงศ์สุพัฒน์) ซึ่งเป็นคนแต่งทั้งเนื้อร้อง และทำนอง ส่วนท่าเต้นประกอบเพลงออกแบบโดยน้าอ้าว (เกียรติสุดา ภิรมย์) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการแสดงของเด็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น คณะนักร้องประสานเสียงผึ้งน้อย กลุ่มโบว์สีชมพู กลุ่มเด็กยิ้ม งานแสดงของเด็ก ๆ สโมสรผึ้งน้อย เพลงในรายการมีลักษณะสร้างสรรค์ ปูพื้นฐานจิตใจของเด็ก เพลงของผึ้งน้อยจะกล่อมเกลามากในการรักชาติ รักสังคม การแบ่งปัน[3]

รูปแบบรายการสโมสรผึ้งน้อย

แก้

ยุคแรกจะเป็นการแสดงของเด็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกประจำ ส่วนใหญ่จะแสดงละคร และร้องเพลงประกอบลีลา นอกจากนี้ยังมีการอ่านข่าว การทำอาหาร การแสดงหุ่นมือ และสอนความรู้ทั่ว ๆ ไปให้เด็ก ๆ รายการสโมสรผึ้งน้อยประสบความสำเร็จ เป็นที่นิยมของประชาชนและเด็ก ๆ จนต้องไปเปิดการแสดงสดตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบรายการที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม และเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ ทำให้รายการสโมสรผึ้งน้อยได้รับรางวัลเมขลา สาขารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กและเยาวชนหลายครั้ง

ยุค 2539-2546 เป็นรูปแบบรายการเกมโชว์สำหรับเด็ก

ยุค 2559 จะเป็นวาไรตี้โชว์

สมาชิกสโมสรผึ้งน้อย

แก้

สโมสรผึ้งน้อยมีสมาชิกที่เป็นเด็ก ๆ ทั่วประเทศ โดยมีการการเปิดรับสมัครสมาชิก ทั้งที่เป็นสมาชิกทางบ้าน และสมาชิกประจำ โดยสมาชิกทุกคนจะมีบัตรสมาชิกให้ และสมาชิกของสโมสรผึ้งน้อย จะถูกเรียกกันโดยมีคำว่า "ผึ้งน้อย" นำหน้า เช่น ผึ้งน้อยอั๋น ผึ้งน้อยต่อ ผึ้งน้อยโบว์ หรือผึ้งน้อยจอย ส่วนที่เป็นสมาชิกทางบ้าน เด็ก ๆ จะเขียนจดหมายเข้ามาสมัครที่รายการ ส่วนที่เป็นสมาชิกประจำจะเป็นเด็ก ๆ ที่เข้ามาสมัครที่รายการด้วยตัวเอง และจะต้องผ่านการคัดเลือกจากทีมงานของรายการเสียก่อน ว่ามีความสามารถจริงในการแสดงออก เด็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกประจำของสโมสรผึ้งน้อยเหล่านี้ จึงมักจะได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นนักร้อง นักแสดงในโฆษณา ภาพยนตร์ และละครต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น แก๊งค์ไอติม จอมเกเร เป็นต้น

การกลับมารวมตัว

แก้

ปี 2562 สมาชิกในอดีตของสโมสรผึ้งน้อย อาทิ วัชราภรณ์ จิตต์อารีย์, ศิริลักษณ์ ผ่องโชค, แคทริน ถ้ำแก้ว, เกียรติสุดา ภิรมย์, วีระ ภูริจิตติ ฯลฯ รวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตที่ชื่อ คอนเสิร์ตผึ้งน้อยคืนรัง โดยนำรายได้ร่วมสนับสนุนการสร้างอาคารเรียนรู้ ผู้พิการรุนแรง[4]

อ้างอิง

แก้
  1. แจ๋วริมจอ (31 กรกฎาคม 2562). "ผึ้งน้อยคืนรัง". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. ภัทรจารีย์ อัยศิริ (น้านิด ผึ้งน้อย) "กล้าแสดงออก อย่างมีความสุข" เก็บถาวร 2008-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaihrhub.com
  3. 'น้านิต'ผึ้งน้อย ขอคืน'เพลงเด็ก' เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวสด
  4. "ผึ้งน้อยคืนรัง สโมสรผึ้งน้อย นัดรวมตัว จำได้ไหม ใครเป็นใคร เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี". มติชน. 27 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)