สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

บทละครภาษาไทย มัทนี เกษกมล, ยุทธนา มุกดาสนิท

คำร้องภาษาไทย ชาลี อินทรวิจิตร, วิสา คัญทัพ, สุรชัย จันทิมาธร, ยุทธนา มุกดาสนิท

ที่มา ละครเพลง Man of La Mancha

โปรดักชั่น สิงหาคม – กันยายน 2530, คณะละครสองแปด และกรมศิลปากร / มิถุนายน 2551, คณะละครสองแปด และ บ.ซีนาริโอ จก.

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ เป็นละครเพลงที่คณะละครสองแปด แปลและเรียบเรียงมาจากละครเพลงเรื่อง The Man of La Mancha โดยคงตัวบทละครและบทเพลงไว้ตามต้นฉบับ ละครเรื่องนี้แสดงโดยไม่มีการพักครึ่งเวลา ความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง 15 นาที เปิดการแสดงครั้งแรก ณ โรงละครแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 9 กันยายน 2530 รวม 17 รอบ และเปิดการแสดงครั้งที่สอง ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย ระหว่างวันที่ 13 – 22 มิถุนายน 2551 รวม 13 รอบ


งานสร้างและการตีความ

แก้

ในการแสดงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2530 ทีมงานได้อธิบายแนวคิดในการสร้างละครเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ไว้ว่า

“...ความทะเยอทะยานของเราไม่ได้เริ่มต้นจากจุดที่ว่า เราต้องการทำละครใหญ่ที่ต้องลงทุนมาก ต้องไปเอาผู้เชี่ยวชาญมือรางวัลมาจากเมืองนั้นเมืองนี้ เราคิดเริ่มต้นมาจากจุดที่ว่า โอ้โฮ...ละครเรื่องนี้น่าทำ ทำแล้วจะต้องออกมาเป็นละครที่ดี จากพื้นฐานของบทที่ดี แล้วก็ในขณะที่อ่านนั้น มันเห็นภาพว่าจะต้องดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ทำให้เกิดความฝันที่จะให้ภาพที่เห็นในใจเรานั้นปรากฏขึ้นมาบนเวที เพื่อที่คนอื่นจะได้มาร่วมอยู่ในความฝันนั้น ในเสียงเพลงและในการแสดงเหล่านั้นที่เราเห็น อยากจะให้มาร่วมรับรู้ด้วยกัน ได้รสชาติอย่างเดียวกับที่เราได้เมื่ออ่านบทละคร เราอยากจะถ่ายทอดความประทับใจอันนั้นออกไปสู่คนดู มันเริ่มที่จุดนี้ต่างหาก...” (รัศมี เผ่าเหลืองทอง ที่ปรึกษาด้านบทละคร)

“...เรื่องนี้เป็นละครซ้อนละคร เป็นการผสมผสานที่มีเสน่ห์มากระหว่างความเป็นจริงกับความใฝ่ฝัน ระหว่างความเป็นเรียลลิสติกกับโรแมนติก เป็นสไตล์ซ้อนที่กลับไปกลับมา เพราะฉะนั้น งานของเราก็คือจะสื่ออย่างไรให้คนดูได้ระดับความคิดเช่นนี้ทั้งสองระดับ ทำอย่างไรให้เรียลลิสติกกับโรแมนติกเจอกันพอดี แล้วเรื่องนี้ยังเป็นละครเพลง เป็นรูปแบบละครที่รวมการแสดงหลายๆ อย่าง นับตั้งแต่การแสดง เต้นรำ และร้องเพลง รวมทั้งดนตรีเข้ามาด้วย เราต้องผสมผสานศิลปะเหล่านี้เข้ากันเพื่อให้ความบันเทิงกับคนดู และขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสาระของละครได้ด้วย...” (ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับการแสดง)

“...เป็นการเอาความลึก ความกว้าง และความสูงของโรงละครแห่งชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ด้านจินตนาการ...เกือบจะเปลือยโรงละคร ไร้มิติ ไร้เวลา ไร้สถานที่ จะขยายขอบเขตของโรงละครออกไปอย่างที่คนดูไม่เคยเห็น จากนั้นจะค่อยๆ สร้างขอบเขตของเวทีด้วยองค์ประกอบด้านฉากและแสง เพื่อเสริมความเปลี่ยนแปลงของฉากที่เปลี่ยนไปในแต่ละองก์ แล้วก็กลับไปสู่ความกว้าง ลึก สูง ของคุกใต้ดิน ซึ่งกว้าง ลึก และสูง อย่างไร้มิติ ไร้เวลา และไร้สถานที่...” (บุรณี รัชไชยบุญ ผู้กำกับเทคนิค) [1]

แนวทางต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังคงเป็นแนวคิดหลักเมื่อนำ “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” กลับคืนสู่เวทีอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2551


ทีมงาน

แก้

บทละคร: เดล วาสเซอร์แมน (Dale Wasserman)

ประพันธ์ทำนอง: มิทช์ ลีห์ (Mitch Leigh)

ประพันธ์คำร้อง: โจ เดเรียน (Joe Darion)

บทละครภาษาไทย: มัทนี เกษกมล, ยุทธนา มุกดาสนิท

ประพันธ์คำร้องภาษาไทย: ชาลี อินทรวิจิตร, วิสา คัญทัพ, สุรชัย จันทิมาธร, ยุทธนา มุกดาสนิท


ทีมงาน 2530

กำกับการแสดง: ยุทธนา มุกดาสนิท

ให้คำปรึกษาบทละคร: รัศมี เผ่าเหลืองทอง

ออกแบบฝ่ายศิลป์: มานูเอล ลุทเกนฮอร์สท์ (Manuel Lutgenhorst)

กำกับดนตรีและอำนวยเพลง: ประทักษ์ ประทีปเสน

เรียบเรียงดนตรี: ประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา

ออกแบบท่าเต้น: มานูเอล อลูม (Manuel Alum)

กำกับเทคนิคและออกแบบแสง: บุรณี รัชไชยบุญ


ทีมงาน 2551

แม้ว่ามานูเอล อลูม จะถึงแก่กรรมที่สหรัฐอเมริกาไปตั้งแต่ปี 2536 ด้วยวัยเพียง 50 ปี ทว่าในโปรดักชั่น 2551 ส่วนใหญ่ก็ยังใช้ท่าเต้นเดิมของเขา ยกเว้นฉากกัลบก/หมวกทองแห่งมัมบริโน ระบำแขกมัวร์ และอัศวินกระจกเงา ที่เปลี่ยนให้ เกลน ฟาน เดร์ โฮฟ (Glenn van der Hoff) นักออกแบบท่าเต้นเชื้อสายดัทช์ - อินโดนีเซียน มาออกแบบใหม่เพิ่มเติม

กำกับการแสดง: ยุทธนา มุกดาสนิท

ออกแบบงานสร้าง/กำกับศิลป์/กำกับเทคนิค : มานูเอล ลุทเกนฮอร์สท์ (Manuel Lutgenhorst)

ที่ปรึกษาด้านเทคนิค: บุรณี รัชไชยบุญ

ควบคุมวงดนตรี: ดำริห์ บรรณวิทยกิจ

ออกแบบท่าเต้น: มานูเอล อลูม (Manuel Alum)/เกลน ฟาน เดร์ โฮฟ (Glenn van der Hoff)


นักแสดงนำ

แก้

นักแสดงนำใน "สู่ฝันอันยิ่งใหญ่"

ในโปรดักชั่น 2530 มีการเปลี่ยนนักแสดงนำจากที่กำหนดไว้อย่างกะทันหัน คือเซรบานเตส/ดอน กิโฮเต้ จากเดิมที่จะแสดงนำโดย พรศิล จันทนากร (นักแสดงนำจากละครเวที กาลิเลโอ 2528) จนมีการเปิดแถลงข่าวที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลไปแล้วในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530 ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ตามกระแสข่าวอย่างเป็นทางการ ระบุว่าพรศิลขอถอนตัว ทางคณะละครสองแปดจึงติดต่อทาบทามให้ศรัณยู วงศ์กระจ่าง และจรัล มโนเพ็ชร มารับบทดังกล่าวแทน

สิงหาคม - กันยายน 2530 [2]

เซรบานเตส/ดอน กิโฮเต้: ศรัณยู วงศ์กระจ่าง (28 ส.ค. – 2 ก.ย.) / จรัล มโนเพ็ชร (3 – 9 ก.ย.)

อัลดอนซ่า/ดัลซีเนีย: นรินทร ณ บางช้าง

คนรับใช้/ซานโช่: สาธิต ชีวะประเสริฐ

ดุ๊ก/ดร.คาร์ราสโค: คำรพ พิริยสถิต

แม่บ้าน: กันยา วงษ์สวัสดิ์

อันโตเนีย: นฤมล ศิลปี

บาทหลวง: ศรัณย์ ทองปาน

ผู้ว่าการ/เจ้าของโรงเตี๊ยม: คำรณ คุณะดิลก

มาเรีย: วิลัดดา วนดุรงค์วรรณ

กัลบก: นุกูล บุญเอี่ยม

คนต้อนฬ่อ: เกรียงศักดิ์ ศิลากอง, นาถพงษ์ โสตถิพันธุ์, มนตรี ศรีวิหค, บุญชัย จักราวรวุธ, ปกรณ์ พิมพ์ทนต์, มนัสชัย บุญยัง, ฤทธิรงค์ จิวากานนท์, วีรชัย งานไพโรจน์

นายทหารแห่งศาลศาสนา: สุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ

เฟอร์มินา: วาสนา กัณโสภณ


มิถุนายน 2551 [3]

เซรบานเตส/ดอน กิโฮเต้: เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์

อัลดอนซ่า/ดัลซีเนีย: ภัทรวรินทร์ ทิมกุล

คนรับใช้/ซานโช่: ชลาทิศ ตันติวุฒิ

ดุ๊ก/ดร.คาร์ราสโค: อนุชิต สพันธุ์พงษ์

แม่บ้าน: นภาดา สุขกฤต

อันโตเนีย: รพีพร ประทุมอานนท์

บาทหลวง: ศรัณย์ ทองปาน

ผู้ว่าการ/เจ้าของโรงเตี๊ยม: บุญพงษ์ พานิช

มาเรีย: สุมณฑา สวนผลรัตน์

กัลบก: สุเมธ องอาจ

คนต้อนฬ่อ: กฤตินท์ เกียรติเมธา, ชิตพล เปลี่ยนศิริ, เดชบดินทร์ ฉายทองดี, เทพธนะ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ธีระพล ประสมแสง, พัลลภ นามโสม, อดิเทพ บัวน้อย

นายทหารแห่งศาลศาสนา: วรรณกิตย์ ศิริพุฒ

เฟอร์มินา: ศิวพร พันธรักษ์


เรื่องย่อ

แก้

ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ณ คุกใต้ดิน เมืองเซวิญา ประเทศสเปน ดอน มิเกล เด เซรบานเตส ผู้เป็นทั้งกวี นักเขียนบทละคร ทหารผ่านศึก และเจ้าพนักงานเก็บภาษี พร้อมด้วยคนรับใช้ ถูกนำตัวมาฝากขังรวมกับเดนคุก หัวขโมย ฆาตกร โสเภณี เพื่อรอการไต่สวนจากศาลศาสนาในข้อหากระทำผิดต่อพระศาสนจักรคาทอลิก เนื่องจากการออกหมายยึดโบสถ์ที่ไม่ยอมจ่ายภาษี

ระหว่างนั้นเอง เซรบานเตสกลับต้องขึ้น “ศาลเตี้ย” ที่บรรดานักโทษตั้งขึ้น โดยมีต้นฉบับลายมือของเขาเป็นเดิมพัน เซรบานเตสตัดสินใจสู้คดีด้วยการนำเสนอเป็นละคร ซึ่งก็อาศัยเหล่านักโทษทั้งหลายร่วมแสดง

เซรบานเตสสวมบทบาทเป็นอลองโซ กิฆานา เศรษฐีบ้านนอกสูงอายุ ผู้ติดนิยายอัศวินผจญภัยยุคกลางอย่างงอมแงม จนถึงขนาดเคลิบเคลิ้มไปว่าตัวเขาเองเป็นอัศวินผู้หนึ่งที่มีพันธกิจในการแก้ไขสิ่งผิดทุกอย่างในโลก กิฆานาขนานนามตัวเองใหม่ว่า “ดอนกิโฮเต้แห่งลามันช่า” แล้วสวมชุดเกราะควบม้าออกผจญภัย ส่วนคนรับใช้ของเขา ก็รับบทเป็นซานโช ชาวนาผู้ปวารณาตัวเป็นอัครสาวกและผู้ติดตามดอนกิโฮเต้

กิโฮเต้เข้าฟาดฟันกับกังหันลมเพราะเห็นเป็นยักษ์ ที่ถูกส่งมาโดย“จอมมายาลวง” ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจินตนาการของเขา จากนั้นก็เข้าไปที่โรงเตี๊ยมด้วยความเข้าใจว่าเป็นปราสาทของบรรดาอัศวิน และเมื่อเขาพบกับอัลดอนซา โสเภณีกึ่งสาวเสิร์ฟประจำโรงเตี๊ยม เขาก็รู้ได้ทันทีว่านางคือดัลซิเนีย สตรีผู้สูงศักดิ์

จากนั้น มีช่างตัดผมเร่เข้ามาในโรงเตี๊ยม กิโฮเต้ก็ไปชิงเอาอ่างโกนหนวดที่ช่างครอบหัวมา เพราะในสายตาของเขา มันคือหมวกทองแห่งมัมบริโนอันศักดิ์สิทธิ์ คู่ควรกับอัศวินที่แท้จริงเช่นเขา

แม้ตอนแรก อัลดอนซาจะหยามหยันในความเพ้อฝันของกิโฮเต้ ทว่า เมื่อได้ประจักษ์ถึงความจริงใจในความใฝ่ฝันแสนงาม เธอจึงเริ่มหวั่นไหวและคล้อยตาม ก่อนจะถูกฉุดกระชากไปสู่ชะตากรรมอันโหดเหี้ยม เมื่อถูกรุมกระทำชำเราโดยเหล่าคนต้อนฬ่อ

ขณะเดียวกัน นายแพทย์คาร์ราสโก ว่าที่หลานเขยของอลองโซ ก็วางแผนที่จะ “เยียวยา” สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความเจ็บป่วยทางใจของชายชราผู้นี้ ด้วยการซ้อนกลมาเป็น “จอมมายาลวง” ในภาคอัศวินแห่งกระจกเงา นำเอา “ความจริง” มาเปิดเผยยืนยันให้ดอนกิโฮเต้ได้ตระหนักในสภาพแท้จริงของตน

ในที่สุดอลองโซจึงกลับคืนสู่ “ความปกติ” ในสภาพชายชราผู้หมดแรงใจที่จะมีชีวิตอยู่ กระทั่งอัลดอนซ่าผู้ที่เขาเรียกว่า “ดัลซีเนีย” ได้หวนกลับมากระตุ้นเตือนให้เขาระลึกถึงความงดงามของความใฝ่ฝันเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต

ท้ายที่สุด เมื่อศาลศาสนามาเรียกตัวเซรบานเตสกับคนรับใช้ขึ้นไปรับการไต่สวน ซึ่งอาจหมายถึงการถูกจับเผาทั้งเป็น เขาก็ได้รับต้นฉบับลายมือเรื่องดอนกิโฮเต้ กลับคืน พร้อมกันกับที่คนคุกทั้งหลายได้ตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตเป็นมนุษย์ที่มีความหวังอีกครั้งหนึ่ง [4]

ลำดับเพลงร้อง

แก้

ในการแปลและดัดแปลงสำหรับการแสดงเป็นภาษาไทย ในโปรดักชั่นปี 2530 มีการตัดเพลงร้องในฉบับภาษาอังกฤษออกไป 2 เพลง คือ What Do You Want of Me? (อัลดอนซ่า) และ To Each His Dulcinea (บาทหลวง) ต่อมาในโปรดักชั่นปี 2551 จึงมีการเพิ่มฉากและเพลง What Do You Want of Me? กลับเข้ามาใหม่ ในชื่อ ทำไม (เนื้อเพลงภาษาไทยเขียนโดยวิสา คัญทัพ) ลำดับเพลงร้องที่ระบุในที่นี้ อ้างอิงตามสูจิบัตรการแสดง 2551 [5] ภาษาอังกฤษในวงเล็บแรกคือชื่อเพลงเดิมตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ ในวงเล็บถัดมา เป็นชื่อตัวละครที่ร้องเพลงนั้นๆ

1. ตัวเราคือ ดอนกิโฮเต้ (Man of La Mancha) (ดอนกิโฮเต้,ซานโช)

2. ก็เป็นอย่างเดิม (It's All the Same) (อัลดอนซา)

3. ดัลซีเนีย (Dulcinea) (ดอนกิโฮเต้)

4. เฝ้าแต่คิดถึงเขา (I'm Only Thinking of Him) (บาทหลวง, อันโตเนีย, แม่บ้าน, คาราสโก)

5. ผมชอบเขา (I Really Like Him) (ซานโช)

6. ทำไม (What Do You Want of Me?) (อัลดอนซา)

7. เจ้านกน้อย (Little Bird, Little Bird) (อันเซลโม, คนต้อนฬ่อ)

8. บทเพลงกัลบก (Barber’s Song) (กัลบก)

9. หมวกทองแห่งมัมบรีโน (Golden Helmet of Mambrino) (ดอนกิโฮเต้,ซานโช, กัลบก, คนต้อนฬ่อ)

10. สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (The Impossible Dream) (ดอนกิโฮเต้)

11. อัศวินแห่งทัศนาดูร (Knight of the Woeful Countenance) (เจ้าของโรงเตี๊ยม, อัลดอนซา, ซานโช)

12. อัลดอนซา (Aldonza) (อัลดอนซา)

13. เรื่อยเปื่อยซุบซิบ (A Little Gossip) (ซานโช)

14. สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (The Impossible Dream - reprise) (ทุกคน)



แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

บทวิจารณ์ 2530

จำนงศรี รัตนิน, คุณหญิง “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ชัยชนะของความฝัน” สู่อนาคต (9-15 กันยายน 2530): 50-51.

เจตนา นาควัชระ, “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ หรือการไต่บันไดเสียงไปสู่โลกอุดมคติ” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 13 (13-19 กันยายน 2530): 37-38.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่: เด็กก็ฝันได้ ผู้ใหญ่ฝัน (ยิ่ง) ดี” มติชนสุดสัปดาห์ (6 กันยายน 2530): 36 – 37.

“สนานจิตต์ บางสะพาน” ” (นามแฝง), “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ : ความฝันของใคร” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 18 (18-24 ตุลาคม 2530): 45.

“สีลม” (นามแฝง), “Man of La Mancha ฝันอันยิ่งใหญ่ และฝันที่เป็นไปไม่ได้” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 13 (13-19 กันยายน 2530): 44.

อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย “ควันหลงจากฝันอันยิ่งใหญ่ของสองแปด” สยามรัฐ 28 กันยายน 2530: 13.

Chamnongsri L. Rutnin. “On the Way to the Unreachable Star” Bangkok Post September, 3, 1987 :


บทวิจารณ์ 2551

เจตนา นาควัชระ, “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (ฉบับที่ 2) หรือชัยชนะของโลกแห่งอุดมคติ” กรุงเทพธุรกิจ - จุดประกาย (20 มิถุนายน 2551): 7.

นรา, “กลับไปสู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ผู้จัดการรายวัน (16 มิถุนายน 2551): 37.

นรา, “เหยื่ออธรรม - สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ผู้จัดการรายวัน (16 เมษายน 2551): 37.

นันทขว้าง สิรสุนทร, “ขอแสดงความเสียใจ ถ้าคุณพลาด ‘สู่ฝันอันยิ่งใหญ่’ กรุงเทพธุรกิจ - จุดประกาย (20 มิถุนายน 2551): 8.

Kriengsak Silakong, “La Mancha set to renew dreams” The Nation (June 21-22, 2008): 12B.

Pawit Mahasarinand, “The dream lives on” Daily Express (June 13, 2008): 14.

Sanitsuda Ekachai, “Don Quixote never dies” Bangkok Post – Outlook (June 17, 2008): 08.

อ้างอิง

แก้
  1. “ละครเพลงอมตะ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” (แผ่นพับประชาสัมพันธ์ 2530)
  2. สูจิบัตร สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ 2530
  3. สูจิบัตร สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ 2551
  4. ศรัณย์ ทองปาน, “หลังม่านลามันช่า หรือการกลับมาสู่ฝันอันยิ่งใหญ่” นิตยสารสารคดี กันยายน 2551
  5. สูจิบัตร สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ 2551