สุธรรม แสงประทุม
สุธรรม แสงประทุม (เกิด 26 ตุลาคม พ.ศ. 2496) นักการเมืองไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ประธานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย อดีตประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1, ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย[1] และ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 28 พรรคเพื่อไทย[2]
สุธรรม แสงประทุม | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย | |
ดำรงตำแหน่ง 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2545 | |
นายกรัฐมนตรี | ทักษิณ ชินวัตร |
ก่อนหน้า | สุชน ชามพูนท |
ถัดไป | สุวัจน์ ลิปตพัลลภ |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 10 มีนาคม – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2547 | |
นายกรัฐมนตรี | ทักษิณ ชินวัตร |
ก่อนหน้า | สิริกร มณีรินทร์ |
ถัดไป | อารีย์ วงศ์อารยะ |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งร่วมกับ | |
นายกรัฐมนตรี | ทักษิณ ชินวัตร |
ก่อนหน้า | ประมวล รุจนเสรี |
ถัดไป | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 ตุลาคม พ.ศ. 2496 อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ก้าวหน้า (2531–2532) เอกภาพ (2532–2535) พลังธรรม (2535–2541) ไทยรักไทย (2541–2550) พลังประชาชน (2550–2551) ไทยรักษาชาติ (2561–2562) เพื่อไทย (2564–ปัจจุบัน) |
ประวัติ
แก้สุธรรมเกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ที่ตำบลไสหมาก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของริน (บิดา) และเตี้ยน (มารดา) สุธรรมสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2526[3] เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2519[4] โดยเข้าเป็นองค์กรหลัก ในการชุมนุมขับไล่พระถนอม สุกิตติขจโรออกจากประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่เหตุนองเลือด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และหลังจากสำเร็จการศึกษา จึงเริ่มทำงานเป็นทนายความ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 สุธรรมเข้าสู่การเมือง โดยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคก้าวหน้า โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรค และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 จึงย้ายมาสังกัดพรรคพลังธรรม และได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรค จนกระทั่งขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคเมื่อปี พ.ศ. 2537 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 กรุงเทพมหานคร (ห้วยขวาง ดินแดง คลองเตย) ในปี พ.ศ. 2538 โดยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ต่อมา สุธรรมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเดิมอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2539 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 สุธรรมสำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2544 สุธรรมเข้าร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยแรกของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้สุธรรมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งในคราว พ.ศ. 2544 และคราว พ.ศ. 2548
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2551 สุธรรมถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[5] โดยในปี พ.ศ. 2554 สุธรรมร่วมกับ อดิศร เพียงเกษ เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ "ตรงไปตรงมา" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมเอเชียอัปเดต ก่อนที่เฉพาะสุธรรมจะยุติการจัดรายการดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 ธันวาคมปีเดียวกัน[6]
ตำแหน่งทางการเมือง
แก้- 14 พ.ค. 2566 - ปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ
- 24 เม.ย. 2548 - 30 พ.ค. 2550 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
- 6 ก.พ. 2548 - 6 ก.พ. 2549 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ
- 6 ต.ค. 2547 - 9 มี.ค. 2548 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- 10 มี.ค. 2547 - 6 ต.ค. 2547 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- 17 ก.พ. 2544 - 5 มี.ค. 2545 รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย
- 11 ก.ค. 2538 - 28 ส.ค. 2539 รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2
- 11 ก.ค. 2538 - 27 ก.ย. 2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร
- 22 ก.ย. 2535 - 19 พ.ค. 2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช
- 24 ก.ค. 2531 - 23 ก.พ. 2534 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช
ยศกองอาสารักษาดินแดน
แก้- พ.ศ. 2548 ว่าที่นายกองเอก สุธรรม แสงประทุม ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนเป็น นายกองเอก สุธรรม แสงประทุม[7]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัติพรรคไทยรักไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-25. สืบค้นเมื่อ 2010-01-05.
- ↑ เพื่อไทยดึง “สุธรรม-กิตติ”กลับช่วยงาน-อ้างรธน.บีบย้ายพรรค
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-24. สืบค้นเมื่อ 2010-01-05.
- ↑ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- ↑ "เปิดรายชื่อ ทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี !!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2011-06-02.
- ↑ ข่าวบริษัท : เลือกตั้งประธานกรรมการ และกรรมการแทนกรรมการที่ลาออก และแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ[ลิงก์เสีย], ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 4 ธันวาคม 2555.
- ↑ "ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-11-14.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ให้แก่บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย “สึนามิ”, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘