สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ประเทศไทย)

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. (อังกฤษ: Office of the National Security Council) เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ[3][4]

สภาความมั่นคงแห่งชาติ
Office of the National Security Council
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง11 ธันวาคม พ.ศ. 2453
(113 ปี 281 วัน)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร
  • สภาการสงคราม
  • สภาป้องกันราชอาณาจักร
เขตอำนาจประเทศไทย
สำนักงานใหญ่ทำเนียบรัฐบาลไทย
งบประมาณต่อปี221.2744 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์http://www.nsc.go.th

สภาความมั่นคงแห่งชาติมีสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการสภา คือสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ประวัติ

แก้

สภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้มีภารกิจทางด้านการทหารเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และมีการประสานงานที่ดี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีสภาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานและมีเสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการสภา[5]

ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ และเรียกชื่อใหม่ว่า “สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร” [6] จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร สภาการป้องกันพระราชอาณาจักรจึงถูกยกเลิกไป [7] ต่อมาเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการจัดตั้ง “สภาการสงคราม” ขึ้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาการสงคราม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ[8] แต่ก็ยกเลิกไป เนื่องจากได้มีการจัดตั้ง “สภาป้องกันราชอาณาจักร” ขึ้นแทน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2487[9]

จากนั้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักรออกมาใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม[10] และใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2499 และประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502[11] นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “สภาป้องกันราชอาณาจักร” เป็น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507 โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือ หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น[12]

สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สภา มช.) ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง 11 ราย ดังต่อไปนี้

สมาชิก สภา มช.
1 นายกรัฐมนตรี ประธาน
2 รองนายกรัฐมนตรี รองประธาน
3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมาชิก
4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมาชิก
5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาชิก
6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมาชิก
7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาชิก
8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมาชิก
9 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิก
10 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิก
11 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกและเลขานุการ

ทั้งนี้ ในการประชุมสภา มช. แต่ละครั้ง สามารถเชิญรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่นอกเหนือจากสมาชิกสภา มช. เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งคราว ในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ หากมีประเด็นพิจารณาที่เห็นสมควรแก่การเชิญให้ความเห็นและลงมติที่ประชุม

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาความมั่นคงเเห่งชาติเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 21 กำหนดให้มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. รับผิดชอบในงานธุรการของสภา และศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับ งานของสภา
  2. จัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติตามเป้าหมายและแนวทาง ที่สภากำหนดเพื่อเสนอต่อสภา
  3. เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
  4. ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และให้ความเห็น ตลอดจนอำนวยการและประสานการปฏิบัติงานใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลง ของสถานการณ์ สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ พิสูจน์ทราบและคาดการณ์ภัยคุกคาม และการประเมินกำลังอำนาจของชาติ
  6. ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในกิจการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการประเมินสภาวะแวดล้อม และด้านวิชาการที่เกี่ยวกับความมั่นคง
  7. ศึกษา วิจัย รวบรวม พัฒนา ส่งเสริม และเผยแพร่ข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับ ความมั่นคงแห่งชาติ
  8. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่สภา นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

กล่าวโดยสรุป สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการ ที่ตอบสนองต่อการเตรียมรับมือ ป้องกัน และตอบสนองภัยคุกคามด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบัน รับผิดชอบการจัดทำนโยบายด้านความมั่นคงหลัก คือ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งฉบับปัจจุบันคือ ระยะ พ.ศ. 2566-2570 สถาะปัจจุบัน อยู่ระหว่างเสนอทูลเกล้าฯ รวมทั้ง แผนปฏิบัติการที่รองรับภัยคุกคามด้านต่างๆ อาทิ แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

สถานที่ตั้งของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

ปัจจุบัน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีที่ตั้ง 3 แห่ง คือ อาคารสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล, อาคาร 20 ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารบี) แจ้งวัฒนะ

การแบ่งส่วนราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 รับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และมีสาระสำคัญเป็นการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทำให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ สมช. ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2563 แบ่งส่วนราชการ[13][14] ออกเป็น 4 ภารกิจ ดังนี้ กลุ่มภารกิจนโยบายและบริหารแผนงานความมั่นคง, กลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และอำนวยความมั่นคงเฉพาะด้าน, กลุ่มภารกิจสนับสนุนทางวิชาการและเครือข่ายการมีส่วนร่วม, กลุ่มภารกิจสนับสนุนทางการบริหาร

อ้างอิง

แก้
  1. [1]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 57ก วันที่ 19 กันยายน 2565
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน
  3. สภาความมั่นคงแห่งชาติ
  4. บทบาทเลขาฯ สมช.
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกระทรวงทหารบกทหารเรือ (หน้า ๔๘)
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร์
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร
  8. พระราชบัญญัติสภาการสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๗
  9. พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๘๗
  10. พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๙
  11. พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒
  12. พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๘๕ ก หน้า ๑ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙
  13. https://www.ryt9.com/s/cabt/3098300
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-15. สืบค้นเมื่อ 2020-06-30.