สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (อังกฤษ: Office of the Cane and Sugar Board) เป็นหน่วยงานส่วนราชการเทียบเท่ากรม สังกัด กระทรวงอุตสาหกรรม[3] โดยมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อย และ น้ำตาลทราย ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และ วางแผนการการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึง วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย[4]

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
Office of the Cane and Sugar Board
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง24 ธันวาคม 2511
ในนาม สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักงานกองทุนสงเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย
    (2504 - 2509)
  • ศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย
    (2509 - 2511)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่75/6 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
งบประมาณประจำปี61,233,600 ล้านบาท (พ.ศ. 2561)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์[2], เลขาธิการ
  • สหวัฒน์ โสภา, รองเลขาธิการ
  • นรุณ สุขสมาน, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เว็บไซต์http://www.ocsb.go.th/

ประวัติ แก้

เมื่อปี 2506 สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นถึงปัญหาของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังไม่มีการควบคุมที่ดี ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จนไม่สามารถที่จะส่งออกน้ำตาลไปจำหน่ายต่างประเทศตามราคาตลาดโลกได้ จึงได้เสนอหลักการแก้ไขการปัญหาระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี ต่อมาคณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นขอบด้วยจึงได้ตรา พระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508[5] โดยมอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารสภาฯ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย ขึ้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2509 โดยมีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมกิจการไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยโอนย้าย หน้าที่และทรัพย์สินของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย มาอยู่ในความรับผิดชอบ[6]

แต่ว่า เนื่องด้วยฐานะของหน่วยงาน ในเวลานั้นยังอยู่ในการวางแผน ทำให้ยังไม่สามารถเข้ามาดูแลได้อย่างเต็มที่ จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติน้ำตาลทราย พ.ศ. 2511[7]ขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2511 โดยมีสาระสำคัญคือการสนับสนุนการดำเนินงาน ศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย โดยการจัดตั้งเป็น สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม โดย มีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมกิจการไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และโอนภาระและทรัพย์สิน โครงการศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย ในงบประมาณของ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นของหน่วยงานใหม่ โดยที่ในขณะนั้น ยังไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการตาม พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ต่อมาจึงได้รับการปรับปรุงให้เป็น ส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากองอยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง[6]

อำนาจหน้าที่ แก้

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีอำนาจหน้าที่ ที่แบ่งตาม กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551 ดังนี้[4]:

  1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายในการชี้นำทิศทางส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย
  3. จัดทำแผนการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย อุตสาหกรรมอื่น ๆ และแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรและส่งออก เสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
  4. จดทะเบียนชาวไร่อ้อย และตรวจสอบพื้นที่ปลูกอ้อย รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติสถาบันชาวไร่อ้อย
  5. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง
  6. เสริมสร้างมาตรฐานของห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพอ้อยและผลิตภัณฑ์ และสอบเทียบมาตรฐานเครื่องมือและเครื่องวัดต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบแบ่งปันผลประโยชน์และความน่าเชื่อถือในคุณภาพน้ำตาลทราย
  7. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนภาวการณ์ตลาดของน้ำตาลทรายทั้งในและนอกราชอาณาจักร
  8. ประสานความร่วมมือกับหน่ายงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
  9. ปฏิบัติงานอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อย แก้

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดตั้งสถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อย โดยมีสถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อย ทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่[4]

  • สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อยอ่างทอง (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1)
  • สถานีทดลองขยายพันธุ์อ้อยพิจิตร (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 2)
  • สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อยชัยภูมิ (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาค 4)
  • สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อยนครราชสีมา (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาค 4)

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561". เล่ม 134 ตอนที่ 101ก หน้า 7 วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560.
  2. ครม.อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการการเมือง-ประจำ หลายตำแหน่ง
  3. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 99ก วันที่ 2 ตุลาคม 2545
  4. 4.0 4.1 4.2 กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551 เก็บถาวร 2018-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
  5. พระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 35 วันที่ 30 เมษายน 2508
  6. 6.0 6.1 เกี่ยวกับเรา เก็บถาวร 2018-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
  7. พระราชบัญญัติน้ำตาลทราย พ.ศ. 2511 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 84 ตอนที่ 119 วันที่ 24 ธันวาคม 2511

แหล่งข้อมูลอื่น แก้