สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (อังกฤษ: The Board of Investment of Thailand หรือ BOI) เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และด้านการบริการสนับสนุนธุรกิจ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 จึงโอนไปสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทั่งในปี พ.ศ. 2557 มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้โอนกลับมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีดังเดิม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
The Board of Investment of Thailand
ตราประจำสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ภาพรวมสำนักงาน
ก่อตั้ง21 มกราคม พ.ศ. 2509; 58 ปีก่อน (2509-01-21)
สำนักงานก่อนหน้า
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2509 – พ.ศ. 2515)
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่555 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
บุคลากร494 คน (พ.ศ. 2566)[1]
งบประมาณต่อปี5,717,946,700 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารสำนักงาน
  • นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์, เลขาธิการ
  • วิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล, รองเลขาธิการ
  • นฤชา ฤชุพันธุ์, รองเลขาธิการ
  • สุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดสำนักงานสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ประวัติ

แก้

การส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย เริ่มเกิดนโยบายดังกล่าวในปี พ.ศ. 2497[3] ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีพลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยเหตุที่รัฐวิสาหกิจของไทยประสบปัญหารายได้จากการส่งออกลดลง จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ในระหว่างที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีกิจการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 9 ราย และได้รับอนุมัติเพียง 6 ราย ดังนั้นในรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมและตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2503 ขึ้นมาแทน และมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม" มีอำนาจหน้าที่ให้การส่งเสริมการลงทุน มีกรรมการทั้งหมด 36 คน โดยมีนาย ทวี บุณยเกตุ เป็นประธาน

ในระยะแรกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ไม่มีบุคลากรประจำ ต้องยืมตัวข้าราชการจากหน่วยต่างๆ มาทำงาน ต่อมาจึงมีการแก้ไขกฎหมายและจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2509 มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีที่ทำการอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง และในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน" และ "สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน" ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2515[4]

ใน พ.ศ. 2545 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้โอนไปเป็นส่วนราชการภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้มีคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 100/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โอนสำนักงานฯ จากกระทรวงอุตสาหกรรม ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี[5][6]ใน วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 [7]ได้เปิด ศูนย์บุคลากรทักษะสูง ขึ้นที่ อาคารจตุรัสจามจุรี ชั้น18

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ บุตรของลิขิต เทอดสถีรศักดิ์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในขณะอายุเพียง 48 ปี นับเป็นเลขาธิการที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่เปิดสำนักงาน

อ้างอิง

แก้
  1. รายงานประจำปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๕, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๔๙๗
  4. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๗ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙ ตอน ๑๕๘ ก พิเศษ หน้า ๑ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
  5. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอน ๑๔๓ ง พิเศษ หน้า ๖ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
  6. ประกาศ คสช. ดึง 'บีโอไอ' ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี
  7. เปิด “ศูนย์บุคลากรทักษะสูง” ดึงอัจฉริยะทำงานขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0[ลิงก์เสีย]