สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

หน่วยงานราชการไทย

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อังกฤษ: Agricultural Land Reform Office: ALRO) หรือย่อว่า ส.ป.ก. เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่จัดการจัดการที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมให้เกษตรกรสามารถทำกินบนพื้นที่นั้นได้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
Agricultural Land Reform Office
ตราสำนักงาน

ที่ทำการ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง6 มีนาคม พ.ศ. 2518 (49 ปี)
เขตอำนาจเขตปฏิรูปที่ดิน 72 จังหวัด
สำนักงานใหญ่ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก
1 ถนนราชดำเนินนอก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์
166 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
บุคลากร2,398 คน[1]
งบประมาณต่อปี193,201,700 บาท[2]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์, เลขาธิการ
  • สุรชัย ยุทธชนะ, รองเลขาธิการ
  • วัฒนา มังธิสาร[3], รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอกสารหลัก
เว็บไซต์http://www.alro.go.th

ประวัติ

แก้

ในอดีตเกิดปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงมีกลุ่มเกษตรกร นักศึกษา นักการเมือง เดินขบวนเรียกร้องหลายครั้ง รัฐบาลในสมัย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518[4]

ความหมายของสัญลักษณ์

แก้

เครื่องหมายเป็นรูปกลม ลายกลางเป็นภาพพระวรุณถือพระขรรค์ หมายถึง อำนาจบริหารอันทรงไว้ซึ่งความสุจริตยุติธรรม และการตัดสินแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เสด็จลีลามาบนหลังพญานาค หมายถึง สังกัดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านขวาเป็นภาพเกษตรกรชายกำลังขุดดินเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม ด้านซ้ายเป็นภาพเกษตรกรหญิงถือรวงข้าวอันเป็นผลิตผลทางเกษตรกรรม และมีลายเมฆกับระลอกน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ประกอบอยู่ด้วย เบื้องล่างนอกขอบเครื่องหมายมีอักษรข้อความชื่อสำนักงานเป็นวงโค้งรองรับ[5]

ตราสัญลักษณ์วันคล้ายวันสถาปนา ในทุก ๆ ปีจะมีการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์ประจำในแต่ละปีเพื่อใช้ในงานวันสถาปนา ส.ป.ก. และใช้ประกอบสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ในปีนั้น โดยจะต้องมีความทันสมัย สร้างสรรค์ และสวยงาม[6]

ภารกิจ

แก้

ส.ป.ก.กำหนดภารกิจการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ 3 ประการ ประกอบไปด้วย [7]

 
รถยนต์ที่มีตราสัญลักษณ์และอักษร ส.ป.ก. ใช้สำหรับปฏิบัติหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
  1. งานจัดที่ดิน
    1. ที่ดินของรัฐ เจ้าหน้าที่จะสำรวจและสอบสวนสิทธิในที่ดิน กระจายสิทธิและแบ่งแยกที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรได้เข้าประโยชน์ตามที่ได้ยืนคำรองไว้ที่ ส.ป.ก. จังหวัด จากนั้นจะได้รับหนังสือรับมอบที่ดิน (ส.ป.ก. 4-28) และหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินต่อไป ซึ่งที่ดินของรัฐประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ ที่จำแนกเป็นที่จัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี ที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรเลิกใช้ร่วมกัน ที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน และที่รกร้างว่างเปล่าที่อยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร
    2. ที่ดินเอกชน ได้จากการเวนคืนหรือซื้อมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกิน ผู้เช่า หรือผู้มีที่ดินไม่เพียงพอแก่การครองชีพตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่ ส.ป.ก. จังหวัดที่อาศัยอยู่
  2. งานพัฒนา เข้าไปดำเนินการในส่วนที่ไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งด้านสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกในการประกอบการเกษตร
  3. งานเพิ่มรายได้ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ตามสภาพพื้นที่ของท้องถิ่นนั้น ๆ ช่วยเหลือในการจัดตั้งสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จัดหาสินเชื่อและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบและมติของ คปก. ด้วยการดำเนินการเองและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยพัฒนาในพื้นที่

อำนาจและหน้าที่

แก้

อำนาจและหน้าที่ของ ส.ป.ก. ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาจาก 2 คณะกรรมการด้วยกันคือ

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

แก้

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ตลอดจนการควบคุมการบริหารงานของ ส.ป.ก. รวมทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้[8]

 
การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.)
  1. จัดหาที่ดินของรัฐเพื่อนำมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
  2. พิจารณากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 การจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินตามมาตรา 29 และการกำหนดเนื้อที่ที่ดินที่จะให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเช่าระยะยาว หรือเช่าซื้อตามมาตรา 30
  3. พิจารณาการกำหนดแผนผังและการจัดแบ่งแปลงที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
  4. พิจารณาอนุมัติแผนงานและโครงการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดจนงบค่าใช้จ่ายของ ส.ป.ก. เสนอรัฐมนตรี
  5. พิจารณากำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อยกระดับรายได้ และคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร
  6. พิจารณากำหนดแผนการส่งเสริม และบำรุงเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพผลิตผลเกษตรกรรม ตลอดจนสวัสดิการ การสาธารณูปโภค การศึกษาและการสาธารณสุขของเกษตรกร
  7. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดจนแบบสัญญาเช่าและเช่าซื้อที่จะทำกับเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน
  8. กำหนดระเบียบการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและปฏิบัติตามแผนการผลิต และการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม
  9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินกู้ยืมจาก ส.ป.ก. ตลอดจนเงื่อนไขของการกู้ยืมโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  10. กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตลอดจนการควบคุมดูแลกิจการอื่น ๆ ภายในเขตปฏิรูปที่ดิน
  11. ติดตามการปฏิบัติงานของ ส.ป.ก. ให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
  12. กำหนดกิจการและระเบียบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ ส.ป.ก. หรือสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

แก้
 
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครนายก เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของ ส.ป.ก.

มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติงานของสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินจังหวัด และให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้[9]

  1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการและค่าใช้จ่ายของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เพื่อเสนอคณะกรรมการ
  2. ติดตามการปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
  3. พิจารณาผลการปฏิบัติงาน เพื่อปรับปรุงแผนงาน โครงการ งบค่าใช้จ่ายและวิธีปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
  4. จัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายตามโครงการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่ละโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
  5. ดำเนินการเกี่ยวกับเงินและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามระเบียบหรือข้อบังคับหรือมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  6. วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ หรือข้อบังคับหรือมติของคณะกรรมการ

หน่วยงานในสังกัด

แก้

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินงานปฏิรูปที่ดินภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ในส่วนราชการบริหารส่วนกลาง และในส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค บริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) กำกับดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.จังหวัด) แต่ละจังหวัด ประกอบไปด้วย[10]

ส่วนกลาง

แก้

ในส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ส.ป.ก. แบ่งที่ตั้งของสำนักงานออกเป็นสองส่วน คือ

ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก

แก้

มีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานหลักของ ส.ป.ก. ในการบริหารราชการส่วนกลาง

  • สำนักบริหารกลาง

สำนักบริหารกลาง (สบก.) มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านสารบรรณของสำนักงาน งานอำนวยการและงานเลขานุการ การดำเนินงานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ การประสานราชการและตรวจราชการ ดูแลยานพาหนะ อาคารสถานที่ ระบบการสื่อสารของสำนักงาน งานด้านการพัฒนาระบบงานคลัง การเงิน การบัญชี งบประมาณ การพัสดุ และตรวจสอบใบสำคัญ พร้อมทั้งรับผิดชอบงานที่มิได้กำหนดให้เป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ๆ ของสำนักงาน

  • กองการเจ้าหน้าที่

กองการเจ้าหน้าที่ (กกจ.) มีหน้าที่ในการจัดทำแผนและดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ยกเว้นด้านการฝึกอบรม ดำเนินงานด้านเสริมสร้างระเบียบวินัยและระบบคุณธรรมของสำนักงาน

  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทรวมถึงแผนในการปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดระบบในการสำรวจ จัดเก็บ และใช้ประโยชน์ข้อมูลภายในหน่วยงาน เป็นศูนย์กลางในการจัดการข้อมูลในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของประเทศไทย บริหารและพัฒนาในส่วนของระบบสารสนเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับระบบข้อมูลที่ดินและแผนที่ รวมถึงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[11]

  • สำนักกฎหมาย

สำนักกฎหมาย (สกม.) มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง งานเกี่ยวกับการเจรจา ระงับข้อพิพาท แก้ไขปัญหาที่ดินของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย รวมไปถึงการดำเนินการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินและการคุ้มครองที่ดิน ด้านสาธารณูปโภค ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสนับสนุนเกี่ยวเนื่อง และการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรรายบุคคล

  • สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน

สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน (สจก.) มีหน้าที่ในการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดิน และศึกษา วิเคราะห์ ติดตามงานจัดที่ดินทั้งในส่วนของที่ดินของรัฐ และที่ดินเอกชน การสอบสวนสิทธิ เจรจากระจายสิทธิ การปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดิน กาติดตามการจัดซื้อที่ดิน การเช่า การซ์อ และการโอนกรรมสิทธิให้เกษตรกร รวมไปถึงงานประกาศเขตปฏิรูปที่ดินและกำหนดเขตที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางในการพัฒนาในที่ดินพระราชทาน

  • สำนักบริหารกองทุน

สำนักบริหารกองทุน (สบท.) มีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ในการกำหนดนโยบายและแผนของกองทุน ให้บริการสินเชื้อเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อพัฒนารายได้และติดตามประเมินผล บริหารเงินกองทุน สินทรัพย์ ระบบบัญชี ตรวจสอบติดตามเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ

  • สำนักวิชาการและแผนงาน

สำนักวิชาการและแผนงาน (สวผ.) มีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติราชการและงบประมาณของสำนักงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการบริหารราชการแผ่นดินและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามประเมินผลความสำเร็จของหน่วยงานในสังกัด รวมถึงการติดต่อประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศด้านความร่วมมือทางวิชาการ และความช่วยเหลือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน ศึกษาวิเคราะห์ ตรวจสอบติดตาม และประเมินผลโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง วิจัยและพัฒนาระบบงานวิจัยรวมทั้งการบริหารโครงการวิจัยและส่งเสริมงานวิจัยของสำนักงาน และดำเนินการเกี่ยวกับงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.)

  • กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ

กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ (กปร.) มีหน้าที่ในการดำเนินงานโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับ ส.ป.ก. จำนวน 16 โครงการ และโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 72 จังหวัด โดยอาศัยการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมตามแนวทางพระราชดำริ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง[12]

  • กลุ่มตรวจสอบภายใน

กลุ่มตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่เลขาธิการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการภายในหน่วยงาน โดยติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานในการพัฒนา พร้อมทั้งประสานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ และหน่วยงานภายใน[13]

  • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

มีหน้าที่ในการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยงาน

ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์

แก้
 
ที่ทำการ ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นสำนักงานอีกแห่งของ ส.ป.ก. ส่วนกลาง

มีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ เลขที่ 166 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานอีกแห่งของ ส.ป.ก. ในการบริหารราชการส่วนกลาง มีอาณาเขตบางส่วนของสำนักงานเป็นที่ตั้งของบ้านจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

  • สำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน

สำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน (สผส.) มีหน้าที่ในการดำเนินการด้านวิชาการและกำหนดมาตรฐานในการทำแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจรังวัด การควบคุมและการตรวจสอบการจัดทำแผนที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมไปถึงงานสารบบและทะเบียนที่ดิน

  • สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน

สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน (สพป.) มีหน้าที่ในการให้บริการในด้านของวิชาการ วิชาชีพ หรือทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมเกษตร และการนำผลการศึกษาวิเคราะห์งานทางด้านวิชาการมาพัฒนาในแต่ละพื้นที่เพื่อนำไปปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  • สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี

สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน รวมทั้งเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งด้านวิชาการและแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและเกษตรกร พัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงดำเนินงานในส่วนของ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน (ศกร.) และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศพส.)

ส่วนภูมิภาค

แก้
 
หมุดหลักเขตที่ดิน ส.ป.ก.

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด จำนวน 72 จังหวัด ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม มีหน้าที่ในการดำเนินงานตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินและกฎหมายอื่น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมไปถึงแผนงานและนโยบายของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.)

นอกจากนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนั้นยังมีภารกิจในการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งด้านการรังวัด สอบสวนสิทธิ งานข้อมูลสารบบที่ดินและแผ่นที่ งานกองทุน คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การเจรจาไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท งานคดี งานความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ งานออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน และการพัฒนาพื้นที่ การส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดของตน และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

โครงสร้างภายในของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแต่ละจังหวัดประกอบไปด้วย[10]

  • ฝ่ายบริหารทัวไป
  • กลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดิน
  • กลุ่มการเงินบัญชีและจัดเก็บผลประโยชน์
  • กลุ่มกฎหมาย
  • กลุ่มงานช่างและแผนที่

เขตปฏิรูปที่ดิน

แก้
 
เครื่องจักรกลหนักจากสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน กำลังปรับพื้นที่แปลง คทช. ใน จ.สุราษฎร์ธานี

เขตปฏิรูปที่ดิน คือพื้นที่ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[8] โดยเขตปฏิรูปที่ดินสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท[14] ได้แก่

  • ที่ดินชุมชนเดิมที่ถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งตำบลหรืออำเภอ
  • ที่ดินที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเดิมซึ่งราษฎรครอบครองทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ต่อมาถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งตำบลหรืออำเภอ
  • ที่ดินป่าเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้อีก ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนพื้นที่ดังกล่าวไปให้ ส.ป.ก. จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์

พื้นที่เขตดำเนินการ คือพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ ส.ป.ก. ได้นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์หรือ ส.ป.ก. ได้เข้าดำเนินการในพื้นที่[15]

หนังสือแสดงสิทธิในเขตปฏิรูปที่ดิน

แก้

ส.ป.ก. 4-01

แก้

หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)[16] เป็นหนังสือแสดงสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน [17] เขตปฏิรูปที่ดินหมายถึง ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาก่อน ที่ดินที่เป็นไร่สวนทำกินของราษฎรตั้งแต่บรรพบุรุษ และที่ดินป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์เช่นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ หรือเขตต้นน้ำลำธาร [17]

เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายที่ดิน หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ [18] แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน สามารถเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อเกษตรกรรม (ไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่น) ไม่สามารถจดทะเบียนจำนองได้ เว้นแต่เป็นโครงการของรัฐบาลที่อนุญาตให้ใช้เอกสารสิทธิเป็นประกัน สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ประชาชนสามารถคืนที่ดินให้รัฐหากไม่ต้องการ และรัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำการเกษตร

สำหรับ ส.ป.ก. 4-01 นั้นมีการจำแนกได้อีก โดยใช้ตัวอักษรภาษาไทยกำกับด้านหลัง อาทิ

  • ส.ป.ก. 4-01 คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน[19] แบ่งเป็น
    • ส.ป.ก. 4-01, ส.ป.ก. 4-01 ก คือหนังสือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามร่วมกับปฏิรูปที่ดินจังหวัดในเอกสาร[20][21] ปัจจุบันไม่มีการออกเพิ่มเติมแล้ว[22]
    • ส.ป.ก. 4-01 ข คือหนังสือที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้ลงนามในเอกสาร[23] ปัจจุบันใช้หนังสือนี้ในการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร[22]
    • ส.ป.ก. 4-01 ค คือหนังสือที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้ลงนามในเอกสาร และนำภาพถ่ายดาวเทียมของรูปแปลง มาตราส่วน 1:4,000 มาประกอบในเอกสาร[24][25] ปัจจุบันไม่มีการออกเพิ่มเติมแล้ว[22]
  • ส.ป.ก. 4-01 ช คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่อาศัย[26]
  • ส.ป.ก. 4-01 ส คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สำหรับสถาบันเกษตรกร)[27]

ส.ป.ก. 4-31 ก

แก้

หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-31 ก) เป็นการอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรม โดยเป็นไปเพื่อส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน[28] อาทิ การสร้างวัด[29]

โฉนดเพื่อการเกษตร

แก้

โฉนดเพื่อการเกษตร คือหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 ที่ปรับปรุงตามมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เป็นชื่อแรกว่า "โฉนดเพื่อเกษตรกรรม" และต่อมาได้แก้ไขชื่อเป็น "โฉนดเพื่อการเกษตร" ซึ่งใช้สัญลักษณ์ของโฉนดเป็นตราครุฑสีเขียว ตามระเบียบ คปก. 2 ฉบับคือ[30]

  1. ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
  2. ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจาก ส.ป.ก. 4-01 คือการโอนสิทธิที่กว้างขึ้นมากกว่าเดิม และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้มากยิ่งขึ้นกว่า ส.ป.ก. 4-01 เดิม ซึ่งเกษตรกรที่จะขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรจะต้องมีคุณสมบัติคือต้องได้รับอนุญาตให้เข้าทำกินในที่ดินตามหนังสือ ส.ป.ก. 4-01 ไม่น้อยไปกว่า 5 ปี เริ่มต้นนับจากผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นคนแรกใน ส.ป.ก. 4-01[30]

โครงการในพระราชดำริ

แก้
 
พื้นที่ตั้งของโฉนดหมายเลข 1 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นส่วนนึงของที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 เพื่อปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร[31]

ส.ป.ก. มีโครงการในพระราชดำริอยู่ในการดูแลประกอบไปด้วย

  • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร แต่เดิมคือศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งร่วมดำเนินงานโดย ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศพส.) สังกัด สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี[32] ต่อมาได้มีการโปรดเกล้าฯ โอนพื้นที่ ทรัพย์สิน และภารกิจของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[33]ตามหนังสือสำนักพระราชวังที่ พว 0202.2/2154 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566[34] มีผลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการขับเคลื่อนงานต่อตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในงานด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ[35]

  • ธนาคารอาหารชุมชน ในโครงการเกษตรวิชญา

ธนาคารอาหารชุมชน ในโครงการเกษตรวิชญา ดำเนินงานโดย กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ (กปร.)

  • ที่ดินพระราชทาน

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รับพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรมในปี พ.ศ. 2518 เป็นพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด ต่อมาได้กันพื้นที่ที่มีผลพูกพันกับหน่วยงานอื่นและไม่มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรมออก คงเหลือเพียงพื้นที่ 5 จังหวัด เนื้อที่ 44,321 ไร่ 39.46 ตารางวา ประกอบไปด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครนายก จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่อีกส่วนกันไว้สำหรับพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภค[36]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "โครงสร้างการแบ่งงานภายในของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำนวนอัตราข้าราชการตามที่ อ.ก.พ. กำหนด รวมกับจำนวนของลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-07. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.
  2. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
  3. "โครงสร้างผู้บริหาร ผู้บริหาร ส.ป.ก." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-05. สืบค้นเมื่อ 2023-12-19.
  4. พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๗๘) เล่ม 98 ตอนที่ 31 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 หน้า 8 - 9
  6. ประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง ผลการตัดสินการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา ส.ป.ก. ครบรอบ 47 ปี ประกาศ ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-07. สืบค้นเมื่อ 2019-08-31.
  8. 8.0 8.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เล่ม 92 ตอนที่ 54 วันที่ 5 มีนาคม 2518 หน้า 20 - 22
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เล่ม 92 ตอนที่ 54 วันที่ 5 มีนาคม 2518 หน้า 22 - 23
  10. 10.0 10.1 โครงสร้างองค์กร - สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เก็บถาวร 2022-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (alro.go.th)
  11. ราชกิจจานุเบกษา. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557[ลิงก์เสีย] (soc.go.th) เล่ม 131 ตอนที่ 88 ก, วันที่ 30 ธันวาคม 2557, หน้า 17-19
  12. กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ เก็บถาวร 2022-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (alro.go.th)
  13. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่มที่ 126 ตอนที่ 6 ก วันที่ 27 มกราคม 2552, หน้า 9 - 16
  14. Pafun (2022-02-08). "ที่ดิน สปก. คืออะไร ? ซื้อขายได้หรือไม่ ?". ประชาชาติธุรกิจ.
  15. บันทึกข้อตกลง ระหว่าง กรมที่ดินกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2558 เก็บถาวร 2019-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มีผลวันที่ 24 กันยายน 2558
  16. คู่มือปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน [1] เก็บถาวร 2021-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า 7
  17. 17.0 17.1 ส.ป.ก.4-01 ผิดที่คนหรือกฎหมาย ? เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์.
  18. อ้างตัวกฎหมายใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2552.
  19. หนังสือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ กษ ๑๒๐๖/ว ๗๒ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๙เรื่อง กำหนดแบบและขั้นตอนการออก แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก เพิกถอน และออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ค) เก็บถาวร 2022-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (alro.go.th)
  20. isranews (2014-12-11). "เมียอดีต ส.ส.ลพบุรีครองที่ดิน สปก.4-01 10 ไร่ 1 ล้านอ้างได้ตั้งแต่อายุ 24 ปี". สำนักข่าวอิศรา.
  21. "ส.ส.ก้าวไกลตราดยัน ได้ที่ส.ป.ก.มา24ปีมีคุณสมบัติครบ โอนให้ลูกชายแล้ว". thansettakij. 2022-04-12.
  22. 22.0 22.1 22.2 การจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เก็บถาวร 2023-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักกฎหมาย (alro.go.th)
  23. ราชกิจจานุเบกษา. ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการออก แก้ไขเพิ่มเติม เพิกถอนและออกใบแทน หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2540 เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 114 ตอนพิเศษ 49 ง, วันที่ 24 มิถุนายน 2540. หน้า 28-30
  24. คำสั่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 29/2549 เรื่อง กำหนดแบบและขั้นตอนการออก แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก เพิกถอน และออกใบแทน หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ค) เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (alro.go.th)
  25. "รูปลักษณ์ใหม่ 'ส.ป.ก.4-10ค.' ทันสมัยไม่ตกเทรนด์". www.phtnet.org.
  26. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. คู่มือการพิจาณาเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อขอรับรองมาตรฐานระบบการผลิต GAP Organic ฉบับทบทวน ปี 2563 (acfs.go.th)
  27. รองนายกฯ ประวิตร มอบ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ส สองสหกรณ์เกษตรเขตปฏิรูป คทช.กระบี่[ลิงก์เสีย] alro.go.th
  28. "การให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจกรรมอื่นๆ". www.alro.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  29. "มอบประกาศจังหวัดสกลนคร อนุญาตให้สร้างวัด สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ในเขตบ้านท่าเจริญ". snk.onab.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. 30.0 30.1 "การขอเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร | National Assembly Library of Thailand". library.parliament.go.th.
  31. ชอุ่มผล, มัณฑนา (2021-04-14). "เจ้าของ "โฉนดที่ดิน" ฉบับแรกของไทย กับจุดเริ่มต้นการทำแผนที่และโฉนดแบบใหม่". ศิลปวัฒนธรรม.
  32. "ภารกิจของศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม". alro.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-08-25. สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
  33. "พระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง". alro.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  34. "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร)". ayutthaya.prd.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-08-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. หนังสือสำนักพระราชวังที่ พว. 0202.2/2154 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566
  36. "ที่ดินพระราชทาน 5 จังหวัด". www.alro.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-10. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′28″N 100°30′22″E / 13.757833°N 100.506170°E / 13.757833; 100.506170