ย่านประตูน้ำ
ย่านประตูน้ำ เป็นชื่อย่านและทางแยกหนึ่งในเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนเพชรบุรี ถนนราชดำริ และถนนราชปรารภ และใกล้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) อันเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีการจราจรพลุกพล่านตลอดทั้งวัน นอกจากนี้แล้วยังเป็นที่ตั้งของท่าประตูน้ำ เป็นท่าเรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่อยู่ใต้สะพานเฉลิมโลก 55 อันเป็นสะพานข้ามคลองแสนแสบอีกด้วย
แยกประตูน้ำในยามค่ำคืน | |
ชื่ออักษรไทย | ประตูน้ำ |
---|---|
ชื่ออักษรโรมัน | Pratu Nam |
รหัสทางแยก | N024 (ESRI), 022 (กทม.) |
ที่ตั้ง | เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร |
ทิศทางการจราจร | |
↑ | ถนนราชปรารภ » แยกมักกะสัน |
→ | ถนนเพชรบุรี » แยกชิดลม-เพชรบุรี |
↓ | ถนนราชดำริ » แยกราชประสงค์ |
← | ถนนเพชรบุรี » แยกราชเทวี |
ชื่อ "ประตูน้ำ" มาจากประตูน้ำสระปทุมวัน หรือประตูน้ำวังสระปทุม ที่อยู่ในวังสระปทุมที่อยู่ใกล้เคียง อันเป็นประตูน้ำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2448 เพื่อทดน้ำจากคลองแสนแสบเพื่อใช้ในการเกษตรแก่ราษฎร รวมถึงปรับระดับน้ำให้แล่นเรือและแพได้ ซึ่งประตูน้ำที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้นของคลองแสนแสบ มีทั้งสิ้น 3 แห่ง คือ ประตูน้ำวังสระปทุม ประตูน้ำบางขนาก และประตูน้ำท่าไข่ [1]
นอกจากนี้แล้ว บริเวณประตูน้ำฝั่งถนนเพชรบุรียังเป็นแหล่งร้านอาหารหลายประเภท เช่น หมูสะเต๊ะ, กระเพาะปลา, เปาะเปี๊ยะสด ที่ขึ้นชื่อคือ ข้าวมันไก่[2] ซึ่งบางร้านยังเป็นร้านที่ได้รับการแนะนำเป็นบีบกูร์ม็องจากมิชลินไกด์อีกด้วย[3]
ประวัติ
แก้สร้างเมือง
แก้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการขุดคลองแสนแสบ เริ่มมีการพัฒนาโครงข่ายการสัญจรไปยังพื้นที่ทางชานเมืองฝั่งตะวันออก ส่งผลทำให้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยริมคลองมากขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2410 มีการสร้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหารเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีแขกมักกะสันมาตั้งบ้านเรือนบริเวณทางตะวันออกของย่านประตูน้ำหรือในแขวงมักกะสันในปัจจุบัน
ตลาดน้ำ
แก้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2430 มีการสร้างถนนเพชรบุรี พ.ศ. 2445 สร้างถนนราชดำริ และ พ.ศ. 2448 มีการสร้างประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในคลองแสนแสบ เพื่อใช้ในการเกษตรแก่ราษฎร รวมถึงปรับระดับน้ำให้แล่นเรือและแพได้ ซึ่งประตูน้ำที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้นของคลองแสนแสบ มีทั้งสิ้น 3 แห่ง คือ ประตูน้ำวังสระปทุม ประตูน้ำบางขนาก และประตูน้ำท่าไข่
สำหรับประตูน้ำวังสระปทุม มีขนาดกว้าง 10 วา (20 เมตร) ยาว 3 เส้น (120 เมตร) ซึ่งในประกาศของกระทรวงเกษตราธิการระบุว่า พระอาทรธนพัฒ และสอาดผู้เป็นภรรยา น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินตำบลประทุมวันเพื่อใช้ในการก่อสร้าง[4]
ทำให้เรือที่วิ่งมาจากพื้นที่ชั้นในและพื้นที่หัวเมืองตะวันออก ต้องมาจอดเรือรอก่อนผ่านประตูน้ำ ทำให้เกิด ตลาดประตูน้ำ มีลักษณะเป็นตลาดสดในรูปแบบตลาดน้ำ ต่อมามีการพัฒนาสร้างบ้านเรือนและร้านค้าที่สร้างเป็นอาคารชั่วคราวในพื้นที่ว่างบริเวณริมสองฝั่งคลองแสนแสบ
ตลาดบก
แก้พ.ศ. 2450 มีรถรางกรุงเทพเชื่อมระหว่างถนนสีลมกับประตูน้ำ พ.ศ. 2451 รถเมล์นายเลิศวิ่งระหว่างสี่พระยาถึงสีลมและจากสีลมถึงประตูน้ำ[5] พ.ศ. 2452 มีการสร้างสะพานเฉลิมโลก 55 จน พ.ศ. 2464 พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้สร้างอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ชื่อ ตลาดริมน้ำนายเลิศ ทางตะวันตกตรงจุดตัดของถนนเพชรบุรีและถนนราชปรารภ ขายอาหารสด อาหารแห้งนานาชนิด มีการสร้างร้านค้า อาคารในลักษณะอาคารถาวร ตึกแถว 1–2 ชั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดบกในพื้นที่นี้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเลิศได้ทำการวิ่งเรือเมล์ขาว เส้นทางจากประตูน้ำไปอำเภอหนองจอก[6] หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการสร้างตลาดเฉลิมโลกริมคลองแสนแสบ ตรงสะพานเฉลิมโลก 55 เป็นตลาดสดขนาดใหญ่มีหลังคายกสูงและมีอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สูง 1–2 ชั้น ภายหลังมีการสร้างโรงภาพยนตร์เฉลิมโลกทางตะวันออกของตลาดเฉลิมโลก ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ย่านประตูน้ำเป็นแหล่งชุมชนและมีตลาดใหญ่เปิด 24 ชั่วโมง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พื้นที่ฝั่งตลาดประตูน้ำ (อาคารใบหยกในปัจจุบัน) ได้ถูกทิ้งระเบิดจนกลายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ และมีสภาพเป็นแปลงผักผืนใหญ่และป่าหญ้า
พ.ศ. 2503 ตลาดเฉลิมโลกและโรงภาพยนตร์เฉลิมโลกที่ขวางถนนเพชรบุรี ถูกรื้อออกเพื่อตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ผ่ากลางตลาดเฉลิมโลกไปถึงถนนคลองตันที่มาจากพระโขนง[7] พ.ศ. 2505 มีการสร้างตลาดเฉลิมลาภและตึกแถวหัวมุมบนซ้ายที่ถนนเพชรบุรีตัดกับถนนราชปรารภ และในอีกสี่ปีต่อมามีการสร้างสะพานข้ามแยกประตูน้ำในทิศทางจากแยกราชเทวีไปยังแยกชิดลม-เพชรบุรี นับเป็นสะพานข้ามแยกสำหรับรถยนต์แห่งแรกของไทย[8]
ย่านการค้า
แก้พ.ศ. 2512 ได้มีการก่อสร้างศูนย์การค้าสมัยใหม่ในพื้นที่ประตูน้ำ คือ โรงแรมอินทราซึ่งประกอบด้วยโรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์การค้าฮ่องกง โดยศูนย์การค้าอินทราหรือศูนย์การค้าราชปรารภอยู่ชั้นล่างของโรงแรมอินทรา หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2514 ตลาดสดเฉลิมลาภมีสภาพเสื่อมโทรม ทำให้ได้เปลี่ยนสภาพตลาดสดเป็นร้านตัดเสื้อ มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิงทำงานกลางคืนจากสัตหีบ[9] ผู้หญิงเหล่านี้มักพาฝรั่งมาด้วย แล้วขายเสื้อผ้าให้ชาวต่างประเทศแล้วจึงส่งกลับออกไปยังนอกประเทศ[10] แต่หลังจากเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ฐานทัพของทหารอเมริกันได้ย้ายออกจากไทย ประกอบกับชาวต่างชาติในแถบตะวันออกกลางเข้ามาติดต่อเพื่อซื้อสินค้าถูกและปริมาณมาก ทำให้ย่านประตูน้ำเป็นแหล่งของเสื้อผ้าสำเร็จรูปแทน เกิดเป็นตลาดประตูน้ำ
ภายหลังมีโรงภาพยนตร์สตาร์ โรงภาพยนตร์สเตล่า แต่หลัง พ.ศ. 2526 ธุรกิจภาพยนตร์ซบเซาจึงได้รื้อ โรงภาพยนตร์สเตล่า แล้วสร้างเป็นอาคารใบหยก 1 อาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้น พ.ศ. 2534 ย่านประตูน้ำมีความรุ่งเรืองมาก มีการพัฒนาพื้นที่โล่งเป็นพื้นที่ทางพาณิชย์ ยังมีโรงภาพยนตร์ในย่านนี้อีก คือ โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ (ตรงข้ามห้างพันธุ์ทิพย์ในปัจจุบัน) โรงภาพยนตร์เพชรรามา (ปัจจุบันคือ เดอะพาลาเดียม เวิลด์ ชอปปิง) และโรงภาพยนตร์เมโทร (ปัจจุบันคือตึกเมโทรแฟชั่น) และโรงหนังพอลล่า กับโรงหนังดาด้า รวมถึงโรงแรมบางกอกพาเลช และศาลาไคเช็คชนม์[11]
มีการสร้างห้างพันธุ์ทิพย์ (พ.ศ. 2528) เดิมค้าขายเสื้อผ้า ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นค้าขายเกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มีการสร้างอาคารใบหยก 2 รื้อถอนตลาดเฉลิมโลกสร้างประตูน้ำคอมเพล็กซ์ ต่อมาคือห้างแพลตินั่ม[12]และเดอะพาลาเดียม เวิลด์ ชอปปิง[13]
เมื่อ พ.ศ. 2528 เปิดทำการห้างเมโทรบนถนนเพชรบุรี เป็นห้างที่มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีโรงภาพยนตร์ มีโรงแรม และมีธนาคารนครหลวงไทยสำนักงานใหญ่ และเมื่อเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ห้างเมโทรปิดตัวลง บริเวณซอยเพชรบุรี 23–31 แต่เดิมเป็นอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้น ต่อมาได้รื้อถอนอาคารพาณิชย์กลายเป็นลานขนาดประมาณ 5,000 ตารางเมตร ทำเป็นตลาดกลางคืนชื่อว่า ตลาดนีออน เปิดทำการเมื่อ พ.ศ. 2559 แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ทำให้ตลาดนีออนต้องปิดตัวลง[14] ต่อมามีการรื้อถอนตลาดเฉลิมลาภเพื่อเตรียมสร้างโครงการพาณิชยกรรมแบบประสม รองรับการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีส้ม[15] ส่วนพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำ ถูกพัฒนาเป็นศูนย์อาหาร phenix[16] ส่วนตลาดเฉลิมลาภที่รื้อถอนไปเตรียมพัฒนาเป็น เดอะ แพลทินั่ม สแควร์[17][18][19]
สถานที่สำคัญ
แก้-
คลองแสบแสบที่ตัดผ่านสวนปทุมวนานุรักษ์และห้างสรรพสินค้าแพลตตินัม ใกล้กับท่าเรือประตูน้ำ
-
ท่าเรือประตูน้ำ
อ้างอิง
แก้- ↑ pongsakornlovic (2011-05-20). "ประตูน้ำ". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน ?.
- ↑ monkeytan (2014-04-22). "ก่วงเฮง ไก่ตอนประตูน้ำ ร้านข้าวมันไก่เจ้าดัง". เอ็มไทยดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-22. สืบค้นเมื่อ 2018-02-19.
- ↑ "โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ (สาขาประตูน้ำ)". มิชลินไกด์ดอตคอม.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ปริญญา ตรีน้อยใส. "ย่านประตูน้ำ / มองบ้านมองเมือง". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ "พลิกตำนานรถเมล์ไทย จากปฐมบทรถนายเลิศ สู่สารพัดสีเกือบ 500 เส้นทาง". ไทยรัฐ.
- ↑ ทัพทอง, เทพชู (2545). อนุทินกรุงเทพฯ ภาพแห่งความทรงจำ. สำนักพิมพ์พีระมิด. p. 80.
- ↑ โรม บุนนาค. "จากทุ่งปทุมวัน มาเป็นราชประสงค์ในวันนี้! กำเนิดบันไดเลื่อนและแฮมเบอร์เกอร์แห่งแรก!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "สัปดาห์สุดท้าย 'สะพานข้ามแยกประตูน้ำ' รื้อเพื่อสร้าง สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม". THE STANDARD. 2024-11-07.
- ↑ อมรรัตน์ การะเวก. "พัฒนาการของย่านการค้าประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ "ตลาดในกรุงเทพมหานคร การขยายตัวและพัฒนาการ" (PDF).
- ↑ "PANTIP.COM : M10161444 **** รำลึก...อดีตเก่าแถวประตูน้ำ **** []". topicstock.pantip.com.
- ↑ https://www.wongnai.com/restaurants/171204Wu-นาย-ป-ตลาดขวัญพัฒนา/menu/photos/cb34e968d0e24944803d7be84ebaefa1 ตลาดนายเลิศ
- ↑ "Palladium Square | 39 + 39 + 34 Storey | Pratunam". SkyscraperCity Forum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-07-13.
- ↑ "ประตูน้ำ เพชรรามา เมโทร ตลาดนีออน 4 ป้ายรถโดยสารประจำทางในย่านเดียว".
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2023-01-25). "พลิกโฉม แยกประตูนํ้า ปั้นมิกซ์ยูสเชื่อมราชประสงค์". thansettakij.
- ↑ "เผยโฉมโครงการ "Phenix" แหล่งรวมอาหารและสุดยอดความอร่อยใจกลางเมืองบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านประตูน้ำสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอาหารระดับโลกเชื่อมต่อทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เตรียมเปิดให้ "อร่อยฟินบินได้" กันอย่างจุใจ 26 มิถุนายนนี้". www.longtunman.com.
- ↑ <ref>[https://www.matichon.co.th/economy/news_4501789] กลุ่มแพลทินัม ทุ่ม 7.8 พันล้าน ผุดโรงแรม ศูนย์การค้า พลิกโฉม ‘ประตูน้ำ
- ↑ "ยืดเยื้อกว่า 10 ปี". Realist Blog รีวิวบ้าน คอนโด อัพเดทข่าวอสังหาฯ รถไฟฟ้า ทางด่วน.
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2023-01-25). "พลิกโฉม แยกประตูนํ้า ปั้นมิกซ์ยูสเชื่อมราชประสงค์". thansettakij.