สันติอโศก เป็นขบวนการนักธรรมศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่สมณะโพธิรักษ์ก่อตั้งขึ้นหลัง "ประกาศแยกจากมหาเถรสมาคมใน พ.ศ. 2518"[1][2][3] ตอนแรกเขาได้อุปสมบทในวัดที่ได้รับการยอมรับจากพระสงฆ์ แต่ภายหลังออกไปตั้งขบวนการใหม่ที่เขามองเป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธนิายเถรวาทกับมหายาน กลุ่มสันติอโศกได้รับการขนานนามว่าเป็น "ขบวนการนิกายสุดโต่ง" ที่ "สะท้อนถึงอุดมคติแห่งความเรียบง่ายของสายพระป่า"[2] สมาชิกสันติอโศกถือมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดและใช้ชีวิตอย่างนักพรต พวกเขาต้องการช่วยให้ผู้คนบรรลุ "ความสงบสุขโดยปราศจากความทุกข์" และนำสังคมกลับคืนสู่พระพุทธศาสนาตามหลักพื้นฐานโดยปราศจากความงมงาย[1]

สันติอโศกตั้งอยู่ที่เลขที่ 65/1 ซอยนวมินทร์ 46 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

สมณะโพธิรักษ์มีชื่อเกิดว่ามงคล รักพงษ์ ถือกำเนิดใน พ.ศ. 2477 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย[4] เขาเป็นนักแสดงโทรทัศน์ยอดนิยมที่หันมาศึกษาพุทธศาสนาเมื่ออายุ 63 ปี[4] โดยบวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. 2513 และใช้ชื่อทางธรรมว่า โพธิรักษ์[1] เขานับถือมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดและยังตำหนิพระภิกษุรูปอื่น ๆ ที่ฉันเนื้อสัตว์และสูบบุหรี่[1]

กลุ่มสันติอโศกสนับสนุนให้รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด โดยกินเพียงมื้อเดียวต่อวัน และงดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์และการมีเพศสัมพันธ์[5] กลุ่มสันติอโศกยังปฏิเสธเวทมนตร์และความเชื่อโชคลางของพุทธศาสนาไทยอีกด้วย โพธิรักษ์วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ในคณะสงฆ์อย่างรุนแรงและนำคำสอนของเขาไปใช้แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเขาตำหนิพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ในวัดที่ฉันเนื้อสัตว์ สูบบุหรี่ และประกอบพิธีกรรมเหนือธรรมชาติ เขาปฏิเสธการเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์หลังก่อตั้งศูนย์ของตนเองที่นครปฐม

โพธิรักษ์เคยเป็นพระภิกษุในธรรมยุตินิกาย แต่พระอุปัชฌาย์ของเขาปฏิเสธที่จะดูแล เพราะพบว่าสมณะโพธิรักษ์กระทำผิดพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง สมณะโพธิรักษ์จึงหันไปนับถือมหานิกายที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม เนื่องจากเขายังกระทำผิดพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง คณะสงฆ์จึงขอให้มหาเถรสมาคมเข้ารับเรื่อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลายคณะขึ้นเพื่อสอบสวนข้อร้องเรียนของพระภิกษุ และมีการตัดสินใจว่ามหาเถรสมาคมควรใช้สิทธิอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 27 ให้สมณะโพธิรักษ์สละสมณเพศ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2532 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้สมณะโพธิรักษ์สละสมณเพศภายใน 7 วัน

สมณะโพธิรักษ์จึงประกาศแยกตัวไม่อยู่ในอาณัติคณะสงฆ์ไทย และได้ไปตั้งชุมชนสันติอโศก ที่แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, ชุมชนศรีสะอโศก ที่ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ, ชุมชนศาลีอโศก ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ และชุมชนปฐมอโศก ที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ชุมชนทั้งสี่ดังกล่าวมีบ้าน วัด โรงเรียน เหมือนชุมชนทั่วไปของไทย

สำนักสันติอโศกรับบวชบุคคลให้เป็นบรรพชิตตามระเบียบที่สมณะโพธิรักษ์ตั้งขึ้น เรีกยว่า "กฎระเบียบของชาวอโศก" ขั้นตอนการบวชของชาวอโศก หากเป็นชาย ต้องเข้าปฏิบัติธรรมที่สำนักสันติอโศก โดยเริ่มจากชั้น "ปะ" ต่อมาเป็น "นาค" จากนั้นบวชเป็น "สามเณร" และ "สมณะ" และมีการแต่งกายต่างกับภิกษุสามเณรของคณะสงฆ์ไทย ส่วนผู้หญิงเริ่มจากชั้น "ปะ" ต่อมาเป็น "กรัก" จากนั้น บวชเป็น "สิกขมาต" แต่งกายด้วยเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสีกรักคลุมทับ

เนื่องจากการบวชของชาวอโศกมิชอบด้วยกฎหมายไทย ในเดือนมิถุนายน 2532 พิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น จึงสั่งให้จับกุมสมณะโพธิรักษ์และพวกทั้งหมด รวม 105 คน ในวันที่ 8 สิงหาคม 2532 พนักงานสอบสวนจับกุม แจ้งข้อหา และสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยจำนวน 80 คดี ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-79 มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 (ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ บังอาจแต่งกายอย่างภิกษุสงฆ์ เพื่อล่อลวงให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุสงฆ์) และให้จำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 80 คือ สมณะโพธิรักษ์ สนับสนุนให้จำเลยที่คนอื่น ๆ กระทำผิดดังกล่าวจำนวน 33 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกเรียงกระทง กระทงละ 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 66 เดือน ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยบางคน และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2541 ว่า

"จำเลยที่ 80 ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกาย...และ...ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย แสดงว่า จำเลยที่ 80 ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 80 ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยทุกคนถูกกลั่นแกล้งจากใครอย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า...ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ การประกาศของจำเลยที่ 80 กับพวกดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยที่ 80 กับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 การที่ภิกษุสงฆ์นักบวชไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายกลับมีผลเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้"

ภายหลังสันติอโศกหันมามีบทบาททางการเมือง โดยโพธิรักษ์มีส่วนในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล เช่น เสื้อเหลืองต่อสมัคร สุนทรเวชใน พ.ศ. 2551

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Partridge, Christopher H. (2004). Encyclopedia of New Religions: New Religious Movements, Sects and Alternative Spiritualities. Lion Publishing. pp. 203-204. ISBN 0-7459-5073-6
  2. 2.0 2.1 Tiwary, Shiv Shanker; Kumar, Rajeev. (2009). Encyclopaedia of Southeast Asia and Its Tribes, Volume 2. Anmol Publications. p. 67
  3. Sanitsuda Ekachai (22 July 1988). "The Man behind Santi Asoke". Bangkok Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2011. สืบค้นเมื่อ July 13, 2010.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "Bodhirak, Phra. ( P. Bodhirakkha)". oxfordreference.com. Retrieved 20 March 2023.
  5. Selby, Don F. (2018). Human Rights in Thailand. University of Pennsylvania Press. pp. 29-30. ISBN 978-0812295108

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น