สะพานสารสิน เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต เป็นสะพานแรกที่มีการสร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปภูเก็ต เชื่อมต่อระหว่างบ้านท่าฉัตรไชยและบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงา โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 มีความยาวทั้งหมด 660 เมตร เปิดใช้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510[1]

สะพานสารสิน
พิกัด8°12′05″N 98°17′53″E / 8.201518°N 98.298032°E / 8.201518; 98.298032
เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี), ทางเดินเท้า
ข้ามทะเลอันดามัน
ที่ตั้งบ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และบ้านท่านุ่น อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
ผู้ดูแลกรมทางหลวง, กระทรวงคมนาคม
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว660 เมตร
ความกว้าง11 เมตร
ประวัติ
วันเริ่มสร้างพ.ศ. 2494
วันเปิด7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เริ่มสร้างครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะเริ่มต้นมีปัญหาเพราะความไม่ชำนาญการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างอีกครั้งโดยบริษัท Cristiani & Nelson (Thailand) Ltd. จนสำเร็จสามารถเปิดใช้การได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 ใช้งบประมาณทั้งหมด 28,770,000 บาท

สะพานสารสิน มีความยาวทั้งหมด 660 เมตรเป็นทางผิวคอนกรีต 360 เมตร ตัวสะพานคอนกรีตอัดแรงยาว 300 เมตร กว้าง 11 เมตร เป็นทางรถวิ่งกว้าง 8 เมตร ทางเท้าข้างละ 1.5 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม[1]

ตำนาน แก้

สะพานสารสิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง ขณะที่กิ๊วมีฐานะที่ดีกว่า และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านของกิ๊วได้กีดกั้นทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่กลางสะพานสารสิน ด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเรื่องราวของทั้งคู่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ คือ สะพานรักสารสิน ใน พ.ศ. 2530 นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง และจินตรา สุขพัฒน์ และ สะพานรักสารสิน ใน พ.ศ. 2541 นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล และคทรีน่า กลอส ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทางช่อง 3[2][3] และยังมีเพลงชื่อ สะพานรักสารสิน โดยวงสิมิลัน ในปี พ.ศ. 2537 อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง จะมีกระต่ายสีขาวตาสีแดงคู่หนึ่ง ออกมาอยู่คู่กันที่สะพานแห่งนี้ เชื่อว่าเป็นวิญญาณของทั้งคู่[4]

ปัจจุบัน แก้

ต่อมา มีการสร้าง "สะพานท้าวเทพกระษัตรี" ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานสะพานสารสินเดิมที่มีขนาด 2 ช่องจราจร และความยาว 650 เมตร เพื่อระบายการจราจรที่คับคั่งตามความเจริญของจังหวัดภูเก็ต เริ่มเปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2535

ในปีงบประมาณ 2552 กรมทางหลวงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 377 ล้านบาท เพื่อสร้าง "สะพานท้าวศรีสุนทร" หรือ สะพานสารสิน 2 ด้วยความยาว 650 เมตร เป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานท้าวเทพกระษัตรี ทดแทนสะพานสารสินเดิมที่ก่อสร้างมานานและอยู่ในสภาพที่เก่า ประกอบกับสะพานสารสินที่ใช้งานอยู่ในขนาดนี้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถที่จะลอดผ่านได้ สะพานสารสิน 2 เริ่มสร้างในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จและเปิดใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ส่วนสะพานสารสินเดิมในปัจจุบันนั้น ได้ถูกปรับปรุงเป็นสะพานคนเดินและหอชมวิว โดยยกบริเวณช่วงกลางสะพานให้สูงเท่ากับสะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมาของเรือ หอชมวิวเป็นอาคาร 8 เหลี่ยมสไตล์ชิโนโปรตุกีส ในส่วนของปลายสะพานทั้งสองด้านได้มีการปรับเป็นสถานที่จอดรถ อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "สะพานสารสิน". ภูเก็ตมีดี.
  2. "สะพานสารสิน". ภูเก็ตบูลเลติน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-02. สืบค้นเมื่อ 2012-01-29.
  3. "สะพานรักสารสิน". ภูเก็ตอินเด็กซ์.
  4. "สะพานรักสารสิน (2541)". ยูทูบ.
  5. "เปิดใช้สะพานสารสิน 2 แล้ววันนี้รถขาออกจากภูเก็ตสู่พังงา". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

8°11′58″N 98°17′50″E / 8.199484°N 98.297084°E / 8.199484; 98.297084{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้