สหพันธ์เอเชียนเกมส์

สหพันธ์กีฬาเอเชียนเกมส์ (อังกฤษ: The Asian Games Federation; ชื่อย่อ: AGF) เป็นองค์กรบริหารจัดการแข่งขันกีฬาระดับทวีปเอเชีย ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ถึงวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ซึ่งแทนที่ด้วยสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย โดยทั้งก่อตั้งขึ้นและปิดตัวลงในกรุงนิวเดลีของอินเดียเช่นเดียวกัน

สหพันธ์กีฬาเอเชียนเกมส์
The Asian Games Federation
ตราสัญลักษณ์ของสหพันธ์
ชื่อย่อAGF
คําขวัญEver Onward
(ก้าวหน้าตลอดไป)
ถัดไปสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย
ก่อตั้ง13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (75 ปี)
ยุติ26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (32 ปี)
ประเภทสหพันธ์กีฬา
วัตถุประสงค์บริหารจัดการแข่งขัน
กีฬาเอเชียนเกมส์ (2492-2524)
สมาชิก
25 คณะกรรมการโอลิมปิก
แห่งชาติในเอเชีย
ภาษาทางการ
อังกฤษ อังกฤษ
ประธาน
อินเดีย ญาดาวินทร์ ซิงห์
มหาราชาแห่งปาเตียลา
เลขาธิการ
อินเดีย กูรู ดัตท์ สนธิ

ประวัติ แก้

ช่วงริเริ่มก่อตั้ง แก้

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ชวาหระลาล เนห์รู ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐอินเดีย เป็นประธานในการประชุมเอเชียสัมพันธ์ที่กรุงนิวเดลี ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสที่เป็นไปได้ ในการจัดแข่งขันกีฬาหลากประเภทในทวีปเอเชีย โดยการเชิญชวนให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วม[1] ก่อนการประชุม กูรู ดัตท์ สนธิ สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวอินเดีย สนับสนุนให้ ญาดาวินทร์ ซิงห์ มหาราชาแห่งปาเตียลา (Yadavindra Singh, Maharaja of Patiala) ซึ่งต่อมาเป็นประธานสมาคมโอลิมปิกแห่งอินเดีย (Indian Olympic Association) เป็นผู้ประสานงานจัดประชุมเพื่อก่อตั้งสหพันธ์กีฬาของเอเชีย[2] ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของผู้แทนบางกลุ่ม ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่ให้การรับรองก็ปฏิเสธการพิจารณาต่อ[1]

ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน สมาคมโอลิมปิกแห่งอินเดีย ซึ่งแต่เดิมได้รับการสนับสนุนให้กำกับดูแลการแข่งขัน กลับตัดสินใจถอนตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ สนธิซึ่งเป็นประธานสหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นแห่งอินเดีย (Amateur Athletic Federation of India; ปัจจุบันคือสหพันธ์กรีฑาของอินเดีย; Athletics Federation of India) จึงให้การรับรองแก่การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย (Asian Athletic Championships) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ซึ่งจัดเฉพาะกรีฑาประเภทลู่และลาน โดยสนธิเป็น Chairman และเชิญให้ญาดาวินทร์มาเป็น President ของการแข่งขันรายการนี้ จากนั้นราวต้นเดือนกรกฎาคม สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นแห่งอินเดีย ก็ส่งคำเชิญไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แต่การตอบสนองไม่ค่อยดีนัก เพราะกำหนดการแข่งขันซ้อนทับกับกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 14 ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ของปีเดียวกันนั้น[3]

การประชุมที่กรุงลอนดอน แก้

ในวันที่ 8 สิงหาคม ระหว่างการแข่งขันที่สหราชอาณาจักร สนธิจัดประชุมที่โรงแรมเมานต์รอยัลในกรุงลอนดอน โดยเชิญคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ ของทุกประเทศในเอเชียที่ร่วมการแข่งขันครั้งนั้น ซึ่งหมายถึง หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติ ของอัฟกานิสถาน พม่า ซีลอน (ปัจจุบันคือ ศรีลังกา) สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อิหร่าน อิรัก เลบานอน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และซีเรีย แต่มีเพียงผู้แทนจากพม่า ซีลอน จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เข้าร่วมเท่านั้น[3]

สนธิมีข้อเสนอสองทางคือ เดินหน้าจัดการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ที่กรุงนิวเดลีต่อไป หรือก่อตั้งสหพันธ์กีฬาตามรูปแบบของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยจอร์จ บาร์โตโลเม วาร์กัส ผู้ก่อตั้งสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Amateur Athletic Federation; ปัจจุบันคือคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งฟิลิปปินส์; Philippine Olympic Committee) และสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวฟิลิปปินส์คนแรก ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่ข้อเสนอหลัง ซึ่งผู้ร่วมประชุมแปรญัตติให้การรับรองข้อเสนอแรก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมาพันธ์ต่อไป โดยข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การประชุม ระหว่างการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 4 ประเทศ เพื่อร่างธรรมนูญและข้อบังคับของสมาพันธ์[4][1]

การประชุมที่กรุงนิวเดลี แก้

ในที่สุด การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียก็มิได้เกิดขึ้น เนื่องจากสภาวะที่ไม่แน่นอน และอุปสรรคทางเศรษฐกิจของประเทศที่ร่วมแข่งขัน แต่การประชุมยังจัดขึ้นที่พระราชวังในมหาราชาแห่งปาเตียลา (ปัจจุบันเป็นศาลปาเตียลา (Patiala House Courts Complex) หนึ่งในห้าศาลแขวงของมหานครเดลี) ชานกรุงนิวเดลี โดยมีผู้แทนจาก 9 ชาติในทวีปเอเชีย ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน พม่า ซีลอน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย เมื่อวันที่ 12 และ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 คณะอนุกรรมการเสนอร่างธรรมนูญสหพันธ์ ซึ่งมีการพิจารณาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง โดยอ้างอิงกับกฎบัตรโอลิมปิก ที่เป็นธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล แล้วจึงให้การรับรอง[3]

หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการเสนอขอแก้ไขชื่อสหพันธ์ จากเดิมคือสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นแห่งเอเชีย (Asian Amateur Athletic Federation) เป็นสหพันธ์เอเชียนเกมส์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความหมายจริง ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คำว่า “Athletic” ซึ่งแปลได้ทั้ง “กีฬา” และ “กรีฑา” โดยอัฟกานิสถาน พม่า อินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ ถือเป็น 5 ชาติสมาชิกก่อตั้งสหพันธ์เอเชียนเกมส์ หลังจากลงนามในธรรมนูญสหพันธ์ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งผู้แทนของอีก 4 ประเทศก็ร่วมลงนามเช่นกัน แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล หรือสมาคมกีฬาแห่งชาติเหล่านั้นเสียก่อน โอกาสเดียวกันนั้น สหพันธ์จัดการเลือกตั้งผู้บริหารชุดแรก โดยมีมหาราชาธิราช ญาดาวินทร์ ซิงห์ เป็นประธาน จอร์จ บาร์โตโลเม วาร์กัส เป็นรองประธาน และกูรู ดัตท์ สนธิ เป็นเลขาธิการกับเหรัญญิก[3]

วิกฤตการณ์และภาวะเปลี่ยนแปลง แก้

ในยุคต่อมาเริ่มเกิดปัญหาขึ้น ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพ ไม่ยินยอมให้สาธารณรัฐประชาชนจีนและอิสราเอลเข้าร่วมการแข่งขัน โดยอ้างปัญหาทางการเมืองและศาสนา เป็นผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประกาศงดสนับสนุนการแข่งขัน พร้อมทั้งปลดอินโดนีเซียพ้นจากสมาชิกภาพของโอลิมปิกสากล[5] ทั้งนี้ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (The Asian Football Confederation; AFC)[6] สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations; IAAF) และ สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (International Weightlifting Federation) (IWF) ยังเพิกถอนไม่รับรองการแข่งขันประเภทนั้นด้วย[7][8]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ญี่ปุ่นขอเป็นเจ้าภาพ ทว่าปฏิเสธในภายหลัง เนื่องจากนครโอซากาได้รับเลือกให้จัดงานแสดงสินค้าโลก (เอ็กซ์โป) ในปีเดียวกันนั้น[9] เกาหลีใต้ระงับแผนการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน เนื่องจากวิกฤตทางความมั่นคงของชาติ แต่เหตุผลที่แท้จริงเกิดจากวิกฤตทางการเงิน จึงกดดันให้ไทยซึ่งจัดการแข่งขันครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) ไปแล้ว รับเป็นเจ้าภาพครั้งถัดมาที่กรุงเทพฯอีกครั้ง โดยใช้งบที่เกาหลีใต้โอนมา[10] อนึ่ง การแข่งขันครั้งนี้ ยังมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลกเป็นครั้งแรกด้วย[11] โดยในการแข่งขันครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ที่กรุงเตหะรานของอิหร่าน ยอมรับให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวันในนามจีนไทเป (แม้ที่ประชุมสหพันธ์เอเชียนเกมส์เมื่อปีที่แล้ว จะมีมติยกเลิกสถานะการเข้าแข่งขันก็ตาม) เกาหลีเหนือ มองโกเลีย อิสราเอล (แม้มีการต่อต้านจากโลกอาหรับ)[12]

ในปีถัดมา ปากีสถานขอยกเลิกการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) เนื่องจากเกิดวิกฤตทางการเมืองและการเงิน[13] ซึ่งประเทศไทยเข้าให้ความช่วยเหลือ และจัดการแข่งขันที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่สาม แต่สหพันธ์เอเชียนเกมส์ ออกมติไม่ยินยอมให้ จีนไทเปและอิสราเอล เข้าร่วมแข่งขัน อันมีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองภายในของทั้งสองชาติ ทำให้เกิดความกังวลต่อการรักษาความปลอดภัย[14] เป็นเหตุให้องค์กรกีฬาระดับนานาชาติหลายแห่ง ออกมาทักท้วงต่อต้าน โดยเฉพาะสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations; IAAF) ถึงกับประกาศขู่ว่า หากนักกรีฑาของชาติใด เข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์คราวนี้ สหพันธ์ฯจะกีดกันไม่ให้เข้าแข่งขัน ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980)[15] ซึ่งส่งผลกระทบให้นักกีฬาหลายชาติ ขอถอนตัวจากการแข่งขันครั้งนี้[16]

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติในทวีปเอเชีย ตัดสินใจเปิดการประชุมร่วมกันในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) โดยไม่มีการแจ้งให้ทางอิสราเอลเข้าร่วมด้วย เพื่อยกร่างแก้ไขธรรมนูญสหพันธ์เอเชียนเกมส์ มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งสมาคมบริหารจัดการกีฬาเอเชียนเกมส์ขึ้นใหม่ เรียกว่า สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย[17] ซึ่งมีสมาชิกชุดก่อตั้ง เป็นคณะกรรมการโอลิมปิกของ 34 ชาติในเอเชีย และก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ระหว่างการประชุมครั้งแรก ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ที่กรุงนิวเดลี[18] ก่อนการแข่งขันครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหลวงของอินเดียตามกำหนดเดิม โดยไม่มีการยกเลิกกำหนดการต่างๆ ซึ่งสหพันธ์เอเชียนเกมส์จัดทำไว้แล้ว จากนั้นสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย จึงเริ่มรับหน้าที่กำกับดูแลเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 10 ซึ่งโซลของเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) เป็นครั้งแรก[19] มาจนถึงปัจจุบัน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "The Asian Games: A short history – The beginnings" (PDF). la84foundation.org. LA84 Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-08. สืบค้นเมื่อ January 8, 2012.
  2. Thorpe, Edgar (2011). The Pearson General Knowledge Manual 2011. Dorling Kindersley. p. 202. ISBN 978-81-317-5640-9.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "The First Asian Games Championships will be held in March 1951 at New Delhi" (PDF). la84foundation.org. LA84 Foundation. สืบค้นเมื่อ January 8, 2012.
  4. "History of the POC". olympic.ph. Philippine Olympic Committee. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-05. สืบค้นเมื่อ January 8, 2012.
  5. "Track: Asian Games Dropped By Olympics". Daytona Beach. 1962-08-23. สืบค้นเมื่อ 2010-08-14.
  6. "第4届 1962年雅加达亚运会". data.sports.163.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-06. สืบค้นเมื่อ 2010-08-14.
  7. "Penalty Dealt to Indonesia". Spokane Daily Chronicles. 1962-09-13. สืบค้นเมื่อ 2010-08-14.
  8. "Warning". The Age. 1962-08-30. สืบค้นเมื่อ 2010-08-14.
  9. "Thailand's Sporting Spirit". Pattaya Mail Sports. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
  10. "第六届 1970年曼谷亚运会". Data.sports.163.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-03. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
  11. "第六届 1970年曼谷亚运会". data.sports.163. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-03. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.
  12. "第七届 1974年德黑兰亚运会". data.sports.163.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-03. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.
  13. "第8届 1978年曼谷亚运会". Data.sports.163.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-03. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
  14. "Asian Games Federation says no to Israel". Anchorage Daily News. 1978-06-03. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.[ลิงก์เสีย]
  15. "New Israeli rejection forces Asian athletes to risk Olympic hope". The Montreal Gazette. 1978-11-22. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.
  16. "Indonesia, Hong Kong protest ban on Israel". St. Petersburg Times. 1978-12-04. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.
  17. "Israelis facing Asian ban". Ottawa Citizen. 1981-12-10. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.
  18. ประวัติศาสตร์ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เก็บถาวร 2011-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เก็บถาวร 2018-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. "Olympics". The Montreal Gazette. 1981-11-28. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้