สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (อังกฤษ: Queen Sirikit Botanic Garden) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาด 6,500 ไร่ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ. 2535 โดยมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

สวนพฤกษศาสตร์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
แผนที่
ประเภทสวนพฤกษศาสตร์
ที่ตั้ง100 หมู่ 9 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่6,500 ไร่
เปิดตัว2536
ผู้ดำเนินการองค์การสวนพฤกษศาสตร์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สถานะเปิดใช้งาน
พืชเมืองร้อน ภายในอาคารเรือนกระจก

ในปี พ.ศ. 2537 ทางองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือขององค์การฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” จนในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลมีนโยบายในการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยนำหน่วยงานราชการที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันไว้ในหน่วยงานเดียว องค์การสวนพฤกษศาสตร์จึงได้โอนย้ายจากสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 102 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2545

สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ถือเป็น 1 ใน 2 ในอุทยานพฤกศาสตร์ขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกันกับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ในอำเภอเมืองเชียงใหม่

จุดท่องเที่ยวภายในอุทยาน แก้

 
เส้นทาง Canopy Walk
  1. Canopy Walks เส้นทางศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยระยะทางกว่า 500 เมตร และที่ระดับความสูงเหนือพื้นดินกว่า 20 เมตร มีทัศนียภาพที่สวยงามของทิวยอดไม้ในแบบพาโนราม่า
  2. กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ (Glasshouse Complex) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดแสดงพรรณไม้ไว้ในโรงเรือนให้คล้ายคลึงกับลักษณะที่พืชขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ
  3. พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Science Museum) เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียนให้ความรู้ทางด้านพืช ธรรมชาติวิทยา ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม
  4. ศูนย์เกษตรอินทรีย์ (Organic Learning Center) ตั้งอยู่ในบริเวณเรือนอนุบาลพรรณไม้ของสวนพฤกษศาสตร์ฯ เป็นศูนย์เกษตรอินทรีย์ครบวงจร ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชอินทรีย์ การเตรียมดิน

การคัดเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการสาธิตการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษ ที่ผลิตจากการใช้เกษตรอินทรีย์หลากหลายชนิด

  1. เส้นทางวัลยชาติ เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทอดยาวไปตามสันเขา มีการจัดปลูกพืชไม้เลื้อยกว่า 250 ชนิด ตลอดสองข้างทาง ระยะทางประมาณ 800 เมตร
  2. อุทยานขิง-ข่า เป็นเส้นทางที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ทำการรวบรวมพืชวงศ์ขิง – ข่า ของไทย กว่า 180 ชนิด ซึ่งจัดได้ว่ารวบรวมไว้มากที่สุดในประเทศ
  3. เส้นทางสวนรุกขชาติ (Arboretum Trail) เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 600 เมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ ท่ามกลางความร่มรื่น และจุดพักผ่อนท่ามกลางสวนสนธรรมชาติ
  4. เส้นทางกระสุนพระอินทร์-พระราม (Pill Millipede Trail) เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 400 เมตร ศึกษาระบบนิเวศของป่าที่ผสมผสานระหว่างป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ
  5. เส้นทาง Banana Avenue เป็นเส้นทางรวบรวมและจัดแสดงพันธุ์กล้วยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศ ภายในพื้นที่ 5 ไร่
  6. น้ำตกแม่สาน้อย (Mae Sa Noi Waterfall) น้ำตกธรรมชาติ ที่ไหลจากลำห้วยแม่สา ผ่านบริเวณด้านหน้าสวนพฤกษศาสตร์ฯ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี

ผลงาน แก้

พ.ศ. 2545 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นในสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอนุรักษ์พรรณพืช

พ.ศ. 2547 ได้รับเลือกจากสำนักส่งเสริมพิทักษ์เยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นองค์กรดีเด่นด้านการทำคุณประโยชน์ แก่เยาวชนในสาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นความภาคภูมิใจ ในการปลูกสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนได้มีความรักและความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ และตระหนักที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พรรณพืชไทย

พ.ศ. 2552 องค์การฯ ได้รับใบรับรองมาตรฐานการบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ASO-T Thailand ระดับทองจาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2553 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้รับเกียรติบัตรให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ปรับสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล จากโครงการปากั๋นแอ่วดอย คอยสร้างทางเตียว เหลียวมาอู้กั๋น ซึ่งดำเนินการโดย ชมรมโกลบอลแคมปัสเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)

พ.ศ. 2554 ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001: 2004

วันที่ 20 กันยายน 2556 ดร.สุญาณี เวสสบุตร ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชนโรงเรียนเทพบดินทร์วิทยาเชียงใหม่

พ.ศ. 2557 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ (Queen Sirikit Botanic Garden) ได้รับประกาศนียบัตรชนะเลิศการบริการยอดเยี่ยม ประจำปี 2014 จากเว็บไซต์ TripAdvisor (www.tripadvisor.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

พ.ศ. 2557 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ระดับดี หน่วยงานต้นแบบในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐ ประจำปี 2557

พ.ศ. 2558 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับประกาศนียบัตรชนะเลิศการบริการยอดเยี่ยม ประจำปี 2015 จากเว็บไซต์ TripAdvisor (www.tripadvisor.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

พ.ศ. 2559 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับเกียรติบัตรเป็นหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการลด คัดแยก ขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายภายในหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พ.ศ. 2563 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ รับมอบตราสัญลักษณ์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งตรา SHA หรือ (Amazing Thailand Safety & Health Administration) เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีซึ่งเกิดจากมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพโดยสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจประเมิน SHA ตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรฐานการบริการที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 10 ประเภทกิจการ ภายใต้การสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ททท.จะเป็นผู้ควบคุมการออกตราสัญลักษณ์ SHA

พ.ศ. 2563 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ รับโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ผ่านการประเมินโครงการ “อาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย” ระดับทอง จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พระราชเสาวนีย์ที่เกี่ยวกับสวนพฤกษศาสตร์ แก้

นับแต่เริ่มจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานขององค์การฯ หลายครั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชเสาวนีย์แก่ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และคณะผู้บริหารองค์การฯ ในหลายโอกาสความสรุปได้ดังนี้

  • พัฒนาพื้นที่ให้มีความสวยงาม เป็นสถานที่ศึกษาและให้ความรู้แก่นักเรียนและเยาวชน
  • ให้เป็นศูนย์รวมพรรณไม้ไทย จากท้องถิ่นทุกภาคของประเทศ เพื่อจะได้เป็นที่รู้จักเพราะคนไทยได้มองข้ามความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ไม่รู้จักพืช ทำให้ไม่สามารถนำศักยภาพของพืชชนิดต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
  • ช่วยสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ พืชอาหาร พืชสมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ ฯลฯ รวมถึงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยหายากแล้วปล่อยคืนสู่ป่าให้อยู่ในสภาพธรรมชาติตามเดิม
  • ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและพืชพื้นบ้านที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน แล้วเผยแพร่ความรู้แก่ราษฎรในชนบทให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และสอนให้มีความเข้าใจในความสำคัญของป่าว่าเป็นทั้งแหล่งต้นน้ำลำธาร ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ และยังเป็นธนาคารอาหารของมนุษย์ที่ไม่รู้จักหมดสิ้นอีกด้วย
  • ให้สวนพฤกษศาสตร์ฯ เป็นแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติที่สำคัญ เป็นตัวอย่างให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรพรรณพืชไทย

อ้างอิง แก้

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้