สวนปทุมวนานุรักษ์

สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร

สวนปทุมวนานุรักษ์ (อังกฤษ: Pathumwananurak Park) เป็นสวนชุมชนในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 27 ไร่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ ทางฝั่งตะวันตกของถนนราชดำริ ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาโดยมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และอาสาสมัครส่วนต่าง ๆ ภายใต้การดูแลและการเช่าพื้นที่โดยกรุงเทพมหานคร[3]

สวนปทุมวนานุรักษ์
แผนที่
ประเภทสวนชุมชน
ที่ตั้ง5/1-5/40 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พื้นที่27 ไร่ (4.3 เฮกตาร์; 11 เอเคอร์)
เปิดตัว20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (เปิดอย่างไม่เป็นทางการ)[1]
30 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 (เปิดอย่างเป็นทางการ)[2]
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์
ผู้ออกแบบ
  • กลุ่มสถาปนิกอาสาและวิศวกรใจดี
  • บริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด
  • บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด
  • อินเตอร์แพค (อาสาสมัคร)
เจ้าของมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ (โครงการ)
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (พื้นที่)
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
เวลาให้บริการ10:00 - 18:00 น.

ในอดีตพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์นี้เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังเพ็ชรบูรณ์ หลังจากวังถูกคณะราษฎรยึดไป จึงถูกโอนมาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยวิทยาลัยพณิชยการอินทราชัยได้ใช้วังเพ็ชรบูรณ์เป็นที่ทำการแห่งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ก่อนจะถูกย้ายไปยังทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ในปี พ.ศ. 2521 - 2522 จากนั้นจึงกลายเป็นชุมชนโรงปูน ก่อนจะเริ่มมีการเวนคืนเมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2557 และเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บุกรุกที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่จึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ จนกระทั่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เจรจาจนผู้บุกรุกยอมออกจากพื้นที่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 จึงเริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม

สวนปทุมวนานุรักษ์ประกอบด้วย สวนหย่อม สวนป่า บึงรับน้ำ ลานกิจกรรม พื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง และอาคารอเนกประสงค์ อันจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างพื้นที่ซึ่งก่อประโยชน์ให้กับคนเมือง ภายใต้แนวความคิด "สวนเพื่อพ่อ" เพื่อเผยแพร่หลักการทรงงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงปรัชญาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ประวัติ

แก้

สมัยแรก

แก้

พื้นที่ที่ตั้งของสวนปทุมวนานุรักษ์ในปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเขตพระราชฐานและสร้างพระราชวัง พระราชทานนามว่า พระราชวังปทุมวัน พร้อมขุดสระใหญ่ ไขน้ำจากคลองแสนแสบจำนวน 2 สระ เรียกว่า สระปทุม แบ่งออกเป็น สระนอก สำหรับประชาชนใช้แข่งเรือในฤดูน้ำหลาก และ สระใน สำหรับใช้สำราญพระอิริยาบถส่วนพระองค์ และสร้างพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม

ในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่เพื่อสร้างวังจำนวน 2 แห่ง คือ วังสระปทุม สำหรับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[4] และ วังเพ็ชรบูรณ์ สำหรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย[5]

ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังหลายแห่งถูกคณะราษฎรเข้ายึดครองและตกเป็นสมบัติของรัฐ รวมถึงวังเพ็ชรบูรณ์ด้วย แต่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด[6][7] โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เช่าวังเพ็ชรบูรณ์ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างเป็นวิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย และใช้เป็นที่ทำการแห่งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481[8] ก่อนจะถูกย้ายไปยังทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ในปี พ.ศ. 2521 - 2522 และตำหนักสันนิบาตน้อยภายในวังยังคงเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช พระชายาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อปี พ.ศ. 2523[9] จากนั้นที่ดินบางส่วนถูกเช่าเพื่อก่อสร้างศูนย์การค้า (​เวิลด์​เทรด​เซ็น​เตอร์ และเซ็นทรัลเวิลด์ ตามลำดับ) และบางส่วนเป็นชุมชนโรงปูนที่มีผู้อาศัยหลากหลายและแออัดกว่า 1,000 หลังคาเรือน[10] ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนของกรุงเทพมหานครในช่วงพุทธทศวรรษ 2530[11]

ช่วงเริ่มต้นศึกษาโครงการ

แก้

ในปี พ.ศ. 2538 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้จัดสรรที่ดินบริเวณวังเพ็ชรบูรณ์เดิม เพื่อพัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยร่วมกับรัฐบาลในขณะนั้น แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาวัดปทุมวนาราม และคณะกรรมการโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อดำเนินโครงการบริเวณข้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล (ปัจจุบันคือศูนย์การค้าสยามพารากอน) และเวิลด์เทรดเซนเตอร์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ติดถนนราชดำริ เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ซึ่งมีชุมชนแออัดอาศัยอยู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะกรรมการโครงการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินจากคนในชุมชน และช่วยเจรจารื้อย้ายราษฎรจนได้รับพื้นที่คืนบางส่วน (โดยมีการสร้างอาคารแฟลตจำนวน 3 หลัง ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเป็นการทดแทน)[12] และส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้คณะกรรมการโครงการฯ รับพื้นที่ไปดำเนินการ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาการไล่ที่ขึ้นมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566[11]

ในปี พ.ศ. 2540 มีย้ายพระที่นั่งทรงธรรม พระที่นั่งกาญจนาภิเษก รวมทั้งอาคารประกอบพระราชพิธีและศาลาข้าราชการ ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 และพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 จากมณฑลพิธีท้องสนามหลวง มาประดิษฐานไว้ในพื้นที่ที่ตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานอาคารดังกล่าวให้แก่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แต่ต่อมาพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ มีความทรุดโทรมจนยากที่จะรักษาให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม จึงมีการรื้อถอนลงทั้งหมด และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เสนอการจัดการผังการใช้ที่ดินใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ 3 ส่วนคือ

  1. พื้นที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
  2. พื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ของโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ[13]
  3. พื้นที่ก่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการให้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนที่ 3 ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยการปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม[12]

การดำเนินการในช่วงแรก เป็นการทำงานของอาสาสมัครในภาคส่วนที่หลากหลาย ร่วมศึกษาพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ที่เคยประดิษฐานพระที่นั่งและอาคารประกอบต่าง ๆ จนสรุปการออกแบบเป็นสวนป่า ปรับปรุงดิน ขุดบึงรับน้ำ และปลูกต้นไม้ โดยจะปล่อยให้ต้นไม้ได้เติบโตสักระยะหนึ่ง จึงจะออกแบบอาคารและทางเดินแทรกเป็นองค์ประกอบใต้สวนป่านี้

ช่วงพัฒนาโครงการและปัญหาการไล่ที่ชุมชน

แก้

พ.ศ. 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า สวนปทุมวนานุรักษ์ และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ และบริหารจัดการสวนปทุมวนานุรักษ์ พร้อมทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ โดยรองศาสตราจารย์ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน[12] โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นไม้ในสวนปทุมวนานุรักษ์

ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้รับคืนพื้นที่จากชุมชนเพิ่มอีกประมาณ 10 ไร่ และได้มอบพื้นที่ให้มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์นำไปสร้างเป็นสวนปทุมวนานุรักษ์ส่วนเพิ่มเติม งานออกแบบสวนส่วนนี้เริ่มในปี พ.ศ. 2554 แต่ด้วยปัญหาเรื่องที่ดินและผู้บุกรุก จึงได้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2557 และก่อสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 สวนส่วนนี้มีแนวคิดการออกแบบเพื่อเผยแพร่หลักคำสอน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในลักษณะพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง อาคารอเนกประสงค์ สนามและลานเพื่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผสมผสานกับการนำเสนอการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองและธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้การก่อสร้างส่วนนี้จะเสร็จแล้ว ก็ยังไม่สามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมพื้นที่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวนโดยสะดวกและปลอดภัย และผู้บุกรุกที่ยังอยู่ในสวนไม่ยินยอมย้ายออก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้มอบที่ดินให้แก่มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์เพิ่มเติมอีกประมาณ 8 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับถนนราชดำริ ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์สามารถเปิดทางเข้าออกที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการสร้างสะพานเดินเชื่อมจากย่านราชประสงค์ที่เปิดมุมมองให้เห็นสวนปทุมวนานุรักษ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ก็ยังมีแนวความคิดต่อเนื่องกับพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง มีการออกแบบลานสนามหญ้าและทางเดินเพื่อรองรับกิจกรรมและการปลูกต้นไม้สำคัญ พร้อมบึงหน่วงน้ำกลางสวน ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่ซับน้ำให้กับเมือง สวนส่วนขยายนี้ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2561 แต่ด้วยเหตุผู้บุกรุกในสวนที่ไม่ยินยอมย้ายออก ทำให้ยังคงไม่สามารถเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ได้เช่นเดิม

ช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2564 เกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นวงกว้าง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงชะลอการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งโรคระบาดเริ่มเบาบางลง จึงมีการเจรจาร่วมกับกรมบังคับคดีอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้ย้ายบ้านทั้ง 3 หลังออกจากพื้นที่[14] ทำให้ในที่สุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ผู้บุกรุกที่ยังเหลือจึงยินยอมย้ายออกจากพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ทั้งหมด มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จึงสามารถเข้าไปปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดให้บริการได้อย่างเรียบร้อยและปลอดภัย[3]

เริ่มเปิดดำเนินการ

แก้

หลังจากผู้บุกรุกยินยอมย้ายออกจากสวนปทุมวนานุรักษ์แล้ว มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จึงได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อย โดยมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big cleaning) เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2566[15] จากนั้นจึงเปิดอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้ใช้งานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 10:00 - 18:00 น.[1] โดยระหว่างนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ใช้บริการ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาส่วนที่เหลือ[16] จนกระทั่งเปิดสวนอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กรกฎาคม[2] โดยในวันเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นไม้ในสวนนี้อีกครั้งด้วย[17]

ภาพรวม

แก้

สวนปทุมวนานุรักษ์ มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นสวนแห่งแรกของประเทศไทยที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูก หรือทรงปลูกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้ระดับสูง (Tall Plants) ให้ร่มเงาและมีระบบรากที่ไม่ชอนไชทำลายอาคาร รวมทั้งรวบรวมดินจากพื้นที่ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดทำประติมากรรมเป็นแนวกำแพงดินในสวนปทุมวนานุรักษ์ โดยกำแพงดินแสดงถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทย โดยรวบรวมดินเผามาตำบลละ 9 ก้อน ซึ่งหากนำอิฐทุกก้อนมาจัดเรียงสีและก่อให้เป็นภาพจะได้กำแพงดิน[12]

สวนปทุมวานุรักษ์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 7 ไร่ ออกแบบผังเป็นรูปเลข ๙ ไทย ดำเนินการปลูกต้นไม้ และปล่อยให้ต้นไม้โตตามธรรมชาติให้เป็นลักษณะสวนป่า[18]
  2. ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งได้รับมอบคืนจากบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 จัดทำสวนตามแนวคิด "สวนเพื่อพ่อ" แบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
    • พื้นที่บำบัดน้ำ ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่บำบัดน้ำทางธรรมชาติ
    • ลานอัฒจันทร์ เป็นพื้นที่สำหรับชมการแสดงริมน้ำ
    • ป่าของเมือง เป็นทางเดินสู่อาคารหลักแสดงเรื่องความสัมพันธ์ของต้นไม้และเมือง
    • พื้นที่พักผ่อน
  3. ส่วนที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่ เป็นพื้นที่ชุมชน และอาคารแฟลต 3 หลัง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "สวนปทุมวนานุรักษ์ เตรียมเปิดให้เข้าชม 20 พ.ค. นี้". สนุก.คอม. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  2. 2.0 2.1 "ผุด'ปอดใหญ่' 27 ไร่ กลางกรุง สวนปทุมวนานุรักษ์เปิดทางการวันแรก". เดลินิวส์. 2023-07-30. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.
  3. 3.0 3.1 "Houses razed for new park" [บ้านถูกรื้อเพื่อสร้างสวนสาธารณะใหม่]. บางกอกโพสต์ (ภาษาอังกฤษ). 2023-01-20. สืบค้นเมื่อ 2023-01-20.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม ลักษณะบ้านเพื่ออาศัยมิใช่วังเจ้านาย ที่ประทับราชสกุลมหิดล". ศิลปวัฒนธรรม. 2022-06-03. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "ประกาศพระราชทานนามวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36 (0): 1597. 1919-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-06-03. สืบค้นเมื่อ 2020-01-08.
  6. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2298898076840544&id=1174884455908584
  7. เด็กดี.คอม (2010-09-30). "อาถรรพ์วังเพชรบูรณ์ - - สถานที่ตั้งห้างเซนทรัลเวิด์ล". www.dek-d.com. สืบค้นเมื่อ 2019-07-21.
  8. "วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย". Bloggang. 2011-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "จากสระอโนดาตแหล่งสำราญของสนมนางในสมัย ร.๔! มาเป็นแดนอาถรรพ์ราชประสงค์!!". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-12-03. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ผู้คนเดินผ่านไปมาถึงกับแปลกใจ บ้านสังกะสีสภาพสุดโทรม แต่วิวรอบข้างมูลค่าหลักล้าน". ทีนิวส์. 2020-08-28. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 คัยนันทน์, อนันตญา (2017). "บทที่ 3 พื้นที่ศึกษา: ชุมชนแออัดหลังวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร, กรุงเทพมหานคร". การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนแออัดหลังวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร (PDF) (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร. pp. 39–40. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "'สวนปทุมวนานุรักษ์' พื้นที่สีเขียวท่ามกลางย่านธุรกิจ โดย สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อคนกรุงเทพฯ". Lue History. 2023-01-22. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ประวัติโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี". โรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ. 2023-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.
  14. "ปัญหาย้ายบ้าน 3 หลัง ภายใน "สวนปทุมวนานุรักษ์"". สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. 2022-04-19. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "กทม. Big Cleaning สวนปทุมวนานุรักษ์ คืนสวนสาธารณะกลางเมืองให้ประชาชนได้ใช้บริการ". เดอะสแตนดาร์ด. 2023-04-12. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "เปิดพิกัด 'สวนปทุมวนานุรักษ์' สวนป่ากลางเมือง พื้นที่สาธารณะ มุมพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ". เดอะสแตนดาร์ด. 2023-05-27. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปลูกต้นไม้ สวนปทุมวนานุรักษ์". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-07-30. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.
  18. "เปิดซักที !! 20 พ.ค. นี้ "สวนปทุมวนานุรักษ์" ข้างเซ็นทรัลเวิลด์ - แพลทินัม". Realist Blog. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′55″N 100°32′24″E / 13.748743662925792°N 100.54009643192248°E / 13.748743662925792; 100.54009643192248