สล้าง บุนนาค
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้อาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พลตำรวจเอก สล้าง บุนนาค (5 มีนาคม พ.ศ. 2479 — 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) เป็นตำรวจชาวไทย อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และเจ้าของฉายา"เสือใต้"
สล้าง บุนนาค | |
---|---|
เกิด | 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 จังหวัดราชบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 (81 ปี) จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
สาเหตุเสียชีวิต | ฆ่าตัวตาย |
อาชีพ | ตำรวจ |
มีชื่อเสียงจาก | วิสามัญฆาตกรรม โจ ด่านช้าง |
คู่สมรส | สุพรรณวดี บุนนาค |
บุตร | 3 คน |
ประวัติ
แก้ชีวิตส่วนตัว
แก้สล้าง บุนนาค เป็นบุตรของหลวงพินิตพาหนะเวทย์ (พิง) มารดาชื่อ ทองอยู่ (สกุลเดิม : ลิมปิทีป)
พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค นับเป็นลำดับชั้นที่ 6 ของสายสกุล บุนนาค สืบเชื้อสายจากคุณทวด เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
การศึกษา
แก้สล้าง สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ครอบครัว
แก้พล.ต.อ. สล้าง มีบุตรกับภรรยาชื่อ สุพรรณวดี บุนนาค (สกุลเดิม : ชุมดวง) 3 คน ได้แก่
- วันจักร บุนนาค
- พ.ต.ท. พลจักร บุนนาค
- พ.ต.ท. เหมจักร บุนนาค
การทำงาน
แก้ตำแหน่งราชการตำรวจ
แก้รับราชการในกรมตำรวจ พล.ต.อ. สล้าง ตำแหน่งที่สำคัญได้แก่
- ผู้บังคับการตำรวจภูธร 12
- ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1
- ผู้ช่วยอธิบดีตำรวจ
- รองอธิบดีกรมตำรวจ
- ฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ
ระหว่างที่รับราชการอยู่นั้น พล.ต.อ. สล้าง ได้รับฉายาว่า "เสือใต้" จากผู้ใต้บังคับบัญชา จากการเป็นนายตำรวจมือปราบ คู่กับ พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ ซึ่งได้รับฉายาว่า "สิงห์เหนือ"[1]
คดีวิสามัญฆาตกรรม โจ ด่านช้าง และพวกอีก 5 คน
แก้26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่ง คือ นายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น หรือ โจ ด่านช้าง หัวหน้าแก๊ง นายสุบิน เรือนใจมั่น น้องชายของโจ ด่านช้าง นายประสิทธิ์ โพธิ์หอม นายยิ้ว ปริวัตรสกุลแก้ว นายหยัด และนายปราโมทย์ (ไม่ทราบนามสกุล) นำอาวุธสงครามครบมือ หวังฆ่านายอุบล หรือ เล็ก บุญช่วย อายุ 31 ปี หลังถูกหักหลังในธุรกิจค้ายาบ้าที่ทำร่วมกัน แต่ตำรวจ สภ.อ.สองพี่น้องสามารถสกัดทัน คนร้ายหลบที่ใต้ถุนสูงและมีน้ำท่วมรอบบ้านเลขที่ 107/1 หมู่ 5 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า และมีตัวประกันอยู่ในบ้านถึง 3 คน คือ นายประสงค์ ครุฑใจกล้า อายุ 45 ปี เจ้าของบ้าน ที่ป่วยเป็นอัมพาต นางบรรยงค์ ข้อทน อายุ 40 ปี ภรรยา และ ด.ญ.ประสาน ครุฑใจกล้า อายุ 11 ขวบ ลูกสาว จึงมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องกับคนร้าย
พล.ต.อ. สล้าง นั่งเฮลิคอปเตอร์เดินทางไปสั่งการด้วยตัวเอง และเรียกประชุมนายตำรวจที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางคลี่คลาย มีคำคำสั่งให้ใช้การเจรจาเกลี้ยกล่อม และให้ตำรวจแฝงกายล้อมตัวบ้านในระยะใกล้ที่สุด เพื่อรอจังหวะลงมือ พร้อมส่ง พ.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม ถอดเครื่องแบบเดินถือโทรโข่งลุยน้ำเข้าไปเจรจา คนร้ายทั้ง 6 คน ยอมปล่อยตัวประกันและขอมอบตัว ต่อมาคนร้ายทั้ง 6 ถูกใส่กุญแจมือ และถูกตำรวจพาเดินลุยน้ำมาจนถึงฝั่ง เหตุการณ์ที่ดูทีท่าว่าจะคลี่คลายไปด้วยดีกลับตาลปัตรไปอย่างไม่น่าเชื่อ คำให้การของฝ่ายตำรวจบอกว่า คนร้ายได้ขอให้ตำรวจนำตัวกลับเข้าในบ้านอีกรอบ เพื่อค้นหาอาวุธของกลาง ตำรวจจึงพากลับไปตามที่ร้องขอ หลังเข้าไปในบ้านประมาณ 20 นาที เกิดมีเสียงปืนรัวขึ้น สิ้นเสียงปืนคนร้ายทั้ง 6 คนถูกวิสามัญฆาตกรรม จนเป็นตำนาน "อื้อฉาว" ไปทั่วโลกของ ...ตำรวจมือปราบวิสามัญ...!!!
บทบาทที่สำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา
แก้ขณะนั้น พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค เป็นรองผู้กำกับการ 2 รับคำสั่งจาก พล.ต.ต. สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม ของคืนวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจล 200 นายไปรักษาความสงบที่บริเวณท้องสนามหลวง และหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใน ครั้งนั้นมีการเรียกกำลังของตำรวจตระเวนชายแดนประมาณ 50 - 60 นาย ซึ่งมีอาวุธปืนขนาดใหญ่, ปืนครก, อาวุธปืนที่ติดกล้องเล็ง และตำรวจแผนกอาวุธพิเศษ หรือหน่วย "สวาท" ทั้งแผนกอีก 45 นาย ในเช้าวันนั้นเฉพาะกำลังส่วนที่ติดอาวุธหนัก และร้ายแรงที่สุดของกรมตำรวจ 3 หน่วยนี้ที่ถูกใช้ในการโจมตีมีถึง 300 คน นอกจากนี้ยังมีกำลังจากสถานีตำรวจนครบาล และหน่วยงานอื่น ๆ อีกประมาณ 50 - 100 นาย หน่วยงานเข้าร่วมด้วย
ต่อมาเวลาประมาณ 8.00 น. ของวันเดียวกัน ก็ได้รับคำสั่งจากพล.ต.อ. ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ ให้เข้าไปทำการตรวจค้นจับกุม และให้ใช้อาวุธปืนได้ตามสมควร แต่อย่างไรก็ตามที่ได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธได้ จากอธิบดีตำรวจนั้น ได้รับคำสั่งโดยมีนายตำรวจ มาบอกด้วยวาจา และมีการมาบอกกันหลายคน จนเกิดการใช้อาวุธหนักโจมตีเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีนักศึกษา และประชาชน เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก
บทบาท พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีมากมาย แน่นอนว่าบทบาทของเขาในวันนั้นยังไม่หมดเท่านี้ ก่อนจะหมดวัน "ได้รับคำสั่ง" ให้ไปปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง และทำให้มีชื่อเสียงที่ไม่อาจลบล้างได้จนทุกวันนี้
ในบ่ายวันดียวกัน หลังจากที่กลุ่มฝ่ายขวาเสร็จสิ้น "การฆ่าฟันนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์" สถานีวิทยุยานเกราะ ก็ได้สั่งการต่อให้กลุ่มลูกเสือชาวบ้านเดินทางไปที่สนามบินดอนเมือง เพื่อทำร้าย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เจ้าหน้าที่สนามบินไม่ให้เข้าไป อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ. สล้าง ได้เดินทางไปที่ดอนเมืองตามคำสั่งของสถานีวิทยุยานเกราะ โดยที่ไม่ได้รับคำสั่งจากกรมตำรวจ และ พล.ต.อ.สล้าง ได้เข้าไปด่าว่า ดร.ป๋วย ขณะที่พูดโทรศัพท์อยู่ และตบหู จนโทรศัพท์ออกจากมือของ ดร.ป๋วย หลายปีภายหลัง พล.ต.อ. สล้าง ได้พยายามแก้ตัวว่า ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต. สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบฯ ให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมือง เพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน กลุ่มนวพล และกระทิงแดงให้ได้ จึงได้รีบเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง
ช่วงเกษียณอายุราชการ
แก้หลังเกษียณอายุราชการ พล.ต.อ. สล้าง ได้ตั้ง "มูลนิธิ พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค" ในปี 2541 มอบหมายให้เภสัชกรและนายแพทย์ในมูลนิธิฯ ผลิตยา วี 1 (V1 Immunitor) อ้างว่าเป็นยาต้านโรคเอดส์ได้ โดยเฉพาะในปี 2544 เขาแจกยา วี 1 ฟรีออกไปอย่างกว้างขวาง มีผู้ป่วยไปรอรับยาตัวนี้วันละนับหมื่นคนท่ามกลางข้อกังขาของวงการแพทย์และสังคมว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง กระทั่งต้องสั่งให้หยุดโฆษณา และแก้เกี้ยวว่าเป็นเพียงยาบำรุงกำลัง อย่างไรก็ตามช่วงหลังเขาพยายามเสนอผลงานและแสดงความคิดเห็นสาธารณะ แต่สังคมไม่ได้ให้ความสนใจเขามากนัก และได้ออกมาแสดงบทบาททางการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่ชัดเจน
การเสียชีวิต
แก้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สล้าง บุนนาค ถึงแก่อนิจกรรมด้วยการกระโดดฆ่าตัวตายจากชั้น 7 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ[2] ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในวัย 82 ปี โดยมีจดหมายลาตายที่เขียนไว้ว่า[3]
ร้านกาแฟชั้นบน เพื่อนๆ ลูกหลานที่รัก
พ่ออยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ขอจากไปอย่างเกิดประโยชน์ ขอให้ทุกคนที่ทราบเรื่องช่วยกันคัดค้านรางคู่ขนาด 1.000 ม. รถไฟฟ้ายกระดับ ผลักดันให้สร้างถนน Auto Bahn ช่วยกันทำหนังสือแจกกันให้มากๆ พ่อนับ 1-1,000 แล้ว วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ ขอให้คนที่รักทุกคนด้วย
พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อย่าตำหนิ ขอให้ภูมิใจ ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่มีใครรู้เรื่อง
— จดหมายลาตายของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ฉบับที่ 1
งานพิธี พ่อขอแต่งชุดสากล รูป เครื่องแบบปกติสีกากี เอาทั้งปกหนังสือ ขอร้องให้พิมพ์เอกสารนี้แจกจ่าย เพื่อประชาชนได้รับทราบและเรียกร้องสิทธิของตนเอง
— จดหมายลาตายของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ฉบับที่ 2
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
- พ.ศ. 2514 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[6]
- พ.ศ. 2505 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[7]
- พ.ศ. 2507 – เหรียญราชรุจิเงิน รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ง.9)[8]
- พ.ศ. 2500 – เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
- พ.ศ. 2529 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
อ้างอิง
แก้- ↑ เปิดคุก"คลองเปรม"คุยกับ"พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ"ผู้บงการฆ่า 2 แม่ลูกตระกูล"ศรีธนขัณฑ์"(ตอน1)เก็บถาวร 2022-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากโอเคเนชั่น
- ↑ ด่วน! 'พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค' พลัดตกชั้น 7 ห้างดังเสียชีวิต พบจดหมายลาตาย, ไทยรัฐ, 25 กุมภาพันธ์ 2561
- ↑ เปิดจม. “สล้าง” ขอลูกๆอย่าตำหนิ ขอปลิดชีพตัวเอง เพื่อผลักดันสร้างถนน AUTO BAHN, มติชน, 25 กุมภาพันธ์ 2561
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๑๕ ง หน้า ๒๑, ๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๑๐๐ ง หน้า ๒๓๙๙, ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๑๖ ง หน้า ๓๒๑, ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗