สมโพธิ แสงเดือนฉาย
สมโพธิ แสงเดือนฉาย (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2484[1] – ) เป็นผู้อำนวยการสร้าง และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ จำกัด มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ในแนวสัตว์ประหลาด, แฟนตาซี ที่ต้องใช้สเปเชียลเอฟเฟกส์ต่าง ๆ
สมโพธิ แสงเดือนฉาย | |
---|---|
เกิด | สมโพธิ แสงเดือนฉาย 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (79 ปี) จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | ผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้กำกับละครโทรทัศน์ |
ผลงานเด่น | อุลตร้าแมน |
ประวัติแก้ไข
สมโพธิ เกิดที่อำเภอพระประแดง[2] จังหวัดสมุทรปราการ[3] เป็นบุตรของชาวจีนโพ้นทะเลจากมณฑลกวางตุ้ง เดิมมีชื่อว่า "เล็ก" เนื่องจากเป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เป็นเด็กวัดตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ โดยอาศัยอยู่ที่วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร ด้วยการขอพ่อแม่ออกไปอยู่เอง ด้วยความฝันที่อยากเป็นนักสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานการ์ตูนของประยูร จรรยาวงษ์ และภาพยนตร์เร่ที่มาฉายข้างวัด และที่วัดนี้เอง ที่เจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น "สมโพธิ" อย่างในปัจจุบัน โดยมีความหมายถึงสัมโพธิญาณ หรือการตรัสรู้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]
สมโพธิเริ่มต้นเรียนรู้งานสร้างภาพยนตร์จากการเป็นลูกจ้างร้านถ่ายรูปก่อน มีผลงานการฉายพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉลองพระองค์ชุดลูกเสือ แทนช่างภาพตัวจริงที่ป่วย จนได้ลงปกนิตยสารชัยพฤกษ์ ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และได้เป็นช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี[1] ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และมีผลงานด้านภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ หลังจากที่เข้าศึกษาได้เพียงปีเดียว อีกทั้งยังได้เป็นช่างภาพประจำตัวของจิม ทอมป์สัน[4] ต่อมาเมื่ออายุได้ 20 ปี ได้รับทุนการศึกษาจากธนาคารออมสิน กับธนาคารมิตซุยไปศึกษาต่อด้านเทคนิคภาพยนตร์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี ในบริษัท โตโฮโปรดักชั่นส์ จำกัด และได้พบกับ เอจิ สึบูรายะ ในฐานะเป็นนักศึกษาฝึกงานและมีส่วนร่วมในการสร้างซีรีส์ อุลตร้าแมน โดยสมโพธิมีแนวความคิดเกี่ยวกับคาแรกเตอร์ของอุลตร้าแมนอยู่แล้ว โดยต้องการให้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ของชาวเอเชียที่มีความแข็งแกร่งไม่แพ้ซูเปอร์แมนของชาติตะวันตก จึงได้เสนอแนวความคิดนี้แก่สึบูรายะ โดยใช้รูปถ่ายที่เจ้าตัวถ่ายเองของพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยุคสุโขทัย ปางเปิดโลก เป็นต้นแบบ ซึ่งทางสึบูรายะเห็นด้วย โดยมี โทรุ นาริตะ นักออกแบบชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ร่าง จนเป็นที่มาของซีรีส์อุลตร้าแมนในที่สุด รวมถึงได้ฝึกงานกับ อากิระ คูโรซาวะ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานระดับโลกจำนวนมาก[2]
สมโพธิ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย คือ กิ้งก่ากายสิทธิ์ ในปี พ.ศ. 2528 จากนั้นได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนโดยเฉพาะ[4] ซึ่งในภายหลังได้มีการฟ้องร้องกรณีเรียกสิทธิจากสึบูรายะโปรดักส์ชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น[5] โดยอ้างถึงการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวของกับอุลตร้าแมนในประเทศต่าง ๆ รวมถึงสิทธิ์ด้านการตลาดที่ประเทศจีน เนื่องด้วยอุลตร้าแมนเป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับประเทศไทย[6]
ผลของคดี ศาลฎีกาของญี่ปุ่นตัดสินให้สมโพธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนทั้งหมด 7 ตัว (ประกอบไปด้วย อุลตร้าแมนโซฟี่, อุลตร้าแมน, อุลตร้าเซเว่น, อุลตร้าแมนแจ็ค, อุลตร้าแมนเอ, อุลตร้าแมนทาโร่ และเจ้าแม่อุลตร้า) และสัตว์ประหลาดอีกกว่า 350 ตัว ซึ่งทำให้สมโพธิมีสิทธิในลิขสิทธิ์ของอุลตร้าแมนไปทั่วโลก ยกเว้นที่ญี่ปุ่น แต่ผลคำพิพากษาของศาลฎีกาไทย ตัดสินให้สมโพธิแพ้คดี ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ใน 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น และ ไทย ซึ่งขณะนี้เจ้าตัวได้ทำการร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากมีความไม่ชอบมาพากลในคดีของทางสึบูรายะโปรดักส์ชั่น จำกัด[4]
ปัจจุบัน สมโพธิพักอาศัยอยู่ในบ้านพักส่วนตัว ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์ในนามบริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ จำกัด หรือ ไชโยภาพยนตร์ มาก่อน ในเนื้อที่กว่า 80 ไร่ และได้ทำการสะสมสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอุลตร้าแมนรวมถึงภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ไว้เป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านชิ้น โดยเรียกว่า "อุลตร้าแมนแลนด์" และได้ยกฟิล์มต้นฉบับและผลงานภาพยนตร์ทั้งหมดให้แก่หอภาพยนตร์แห่งชาติเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของชาติ[2][4]
ผลงานแก้ไข
ภาพยนตร์
(ทั้งหมด 16 เรื่อง[2])
เรื่อง |
---|
พ.ศ. 2515 ชาละวัน อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง[7] |
พ.ศ. 2516 ท่าเตียน อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง[8] |
พ.ศ. 2517 ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ อำนวยการสร้างและร่วมกำกับการแสดง[9] |
พ.ศ. 2517 หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ อำนวยการสร้างและร่วมกำกับการแสดง[10] |
พ.ศ. 2518 หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง[11] |
พ.ศ. 2518 7 วันในปักกิ่ง (ภาพยนตร์สารคดี ถูกห้ามฉาย)[12] |
พ.ศ. 2520 ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ อำนวยการสร้าง[2] |
พ.ศ. 2521 แผ่นดินวิปโยค อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง[2] |
พ.ศ. 2523 กากี อำนวยการสร้าง[2] |
พ.ศ. 2523 ไกรทอง อำนวยการสร้าง[2] |
พ.ศ. 2524 พระรถเมรี อำนวยการสร้าง[2] |
พ.ศ. 2524 จระเข้ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง[13] |
พ.ศ. 2525 ขุนช้างขุนแผน ตอนปราบจระเข้เถนขวาด อำนวยการสร้าง |
พ.ศ. 2525 พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ อำนวยการสร้าง |
พ.ศ. 2527 หนุมานพบ 11 ยอดมนุษย์ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง[14] |
พ.ศ. 2527 ศึกกุมภกรรณ อำนวยการสร้างและร่วมกำกับการแสดง |
พ.ศ. 2528 ไกรทอง 2 อำนวยการสร้าง |
พ.ศ. 2528 กิ้งก่ากายสิทธิ์ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง |
ละครโทรทัศน์ (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์/ ซีรีส์)
เรื่อง |
---|
พ.ศ. 2513 ไกรทอง ทางช่อง 7 (นำแสดงโดย ปรีดา จุลละมณฑล ดามพ์ ดัสกร มาลาริน บุนนาค ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี) |
พ.ศ. 2514 พระอภัยมณี ทางช่อง 3 (นำแสดงโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คมน์ อรรฆเดช รจนา นามวงศ์ ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี ปริม ประภาพร รัตนาภรณ์น้อย อินทรกำแหง) |
พ.ศ. 2515 ยายกะตา (นำแสดงโดย พัลลภ พรพิษณุ ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี) |
พ.ศ. 2516 ล่องไพร[2] |
พ.ศ. 2550 โปรเจกต์อุลตร้าแมน อำนวยการสร้าง (แต่มิได้เผยแพร่เนื่องจากคำพิพากษาเรื่องลิขสิทธิ์)[15][2][16] |
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ 1.0 1.1 1.2 "เผยโฉม 'ยอดมนุษย์' ผู้ปราบมาร อภิบาลคนดี". ผู้จัดการออนไลน์. 10 November 2006. สืบค้นเมื่อ 13 December 2015.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 "ลายกนก ย้อนหลัง 08 พฤศจิกายน 2558 ตอน บันไดชีวิต สมโพธิ แสงเดือนฉาย". เนชั่นทีวี. 8 November 2015. สืบค้นเมื่อ 9 November 2015.
- ↑ Biography and informations about Sompote Saengduenchai (อังกฤษ)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 "ลายกนก ย้อนหลัง 15 พฤศจิกายน 2558 ตอน บันไดชีวิต สมโพธิ แสงเดือนฉาย (2)". เนชั่นทีวี. 15 November 2015. สืบค้นเมื่อ 16 November 2015.
- ↑ Legal Victories for Tsuburaya Productions « SciFi Japan (อังกฤษ)
- ↑ 円谷プロ 中国のウルトラマン著作権裁判で勝訴判決 (ญี่ปุ่น)
- ↑ Information about the movie Ta Tian (อังกฤษ)
- ↑ Information about the movie Ta Tian (อังกฤษ)
- ↑ Information about the movie Jumborg Ace & Giant (อังกฤษ)
- ↑ The 6 Ultra Brothers vs. the Monster Army (อังกฤษ)
- ↑ Hanuman and the 5 Kamen Riders (อังกฤษ)
- ↑ "ภาพพิมพ์เก่า โปสเตอร์ ของสะสม". เฟซบุก. 9 May 2015. สืบค้นเมื่อ 13 February 2016.
- ↑ Information about the movie Crocodile (อังกฤษ)
- ↑ Information about the movie 11 Ultraman vs. Hanuman (อังกฤษ)
- ↑ Information about the television series Project Ultraman (อังกฤษ)
- ↑ "Project Ultraman Trailer (Ultraman Millenium)". ยูทูบ. 10 July 2013. สืบค้นเมื่อ 17 November 2015.