พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน
พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน (อังกฤษ: Harold Godwinson หรือ Haraldur Guðinason) (ราว ค.ศ. 1022 – 14 ตุลาคม ค.ศ. 1066) เป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์เวสเซ็กซ์และพระเจ้าแผ่นดินแองโกล-แซ็กซอนองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอังกฤษ
พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งชนอังกฤษ | |
ครองราชย์ | 5 มกราคม ค.ศ. 1066 – 14 ตุลาคม ค.ศ. 1066 |
ราชาภิเษก | 6 มกราคม ค.ศ. 1066 |
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ |
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิง |
พระราชสมภพ | ราว ค.ศ. 1022 เวสเซ็กซ์ อังกฤษ |
สวรรคต | 14 ตุลาคม ค.ศ. 1066 (พระชนมายุประมาณ 44 พรรษา) แบตเติล อังกฤษ |
พระอัครมเหสี | เอลด์จิธ สวอนเน็ค; อีดิธ (Ealdgȳð) |
พระราชบุตร | สมเด็จพระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิง |
ราชวงศ์ | เวสเซ็กซ์ |
พระราชบิดา | กอดวิน เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ |
พระราชมารดา | กีธา ธอร์เคลสเดิทเทียร์ |
พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันเสด็จพระราชสมภพราว ค.ศ. 1022 ที่เวสเซ็กซ์ อังกฤษ เป็นพระราชโอรสของกอดวิน เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ และ กีธา ธอร์เคลสเดิทเทียร์ ทรงเสกสมรสกับเอลด์จิธ สวอนเน็ค และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1066 จนทรงถูกสังหารในยุทธการเฮสติงส์ แบตเติล เมื่อทรงพยายามต่อต้านกองทัพของดยุกแห่งนอร์มังดีที่ยกมารุกรานอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1066 หลังจากที่พระเจ้าฮาโรลด์เสด็จสวรรคต สภาวิททันก็ประกาศให้สมเด็จพระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิง ขึ้นครองราชสมบัติต่อมาแต่มิได้ทรงสวมมงกุฎ
เชื้อสาย
แก้เชื่อกันว่ากอดวิน พระราชบิดาของพระเจ้าฮาโรลด์เป็นขุนนางผู้มีอำนาจของเวสเซ็กซ์ เป็นบุตรของวูลฟนอธ คิลด์ (Wulfnoth Cild) ขุนนางของเวสเซ็กซ์ตะวันตก กอดวินสมรสสองครั้ง ทั้งสองครั้งกับสตรีชาวเดนมาร์กที่มียศศักดิ์เท่าเทียมกัน ภรรยาคนแรกเป็นเจ้าหญิงเดนมาร์กนามว่า Thyra Sveinsdóttir ผู้เป็นพระธิดาองค์หนึ่งของพระเจ้าสเวนที่ 1 ผู้เป็นกษัตริย์ของเดนมาร์กและนอร์เวย์ ภรรยาคนที่สองคือ กิธา (Gytha Thorkelsdóttir) กิธามีน้องชาย อุลฟ (Ulf Jarl) ที่เป็นบุตรเขยของ พระเจ้าสเวนที่ 1 และเป็นพ่อของพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก กล่าวกันว่ากิธา และ อุลฟเป็นหลานของ Styrbjörn the Strong ไวกิงชาวสวีเดนผู้มีชื่อเสียง และเหลนของ ฮาโรลด์ บลูทูธ กษัตริย์แห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ กอดวินมีบุตรหลายคนจากการแต่งงานครั้งที่สอง แต่สองคนที่สำคัญคือ ฮาโรลด์ และ ทอสทิก กอดวินสันผู้มีบทบาทสำคัญในการเพลี่ยงพล้ำของฮาโรลด์ ในปี ค.ศ. 1066 และบุตรสาว อีดิธแห่งแห่งเวสเซ็กซ์ ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี
ขุนนางผู้มีอำนาจ
แก้เมื่อกอดวินสิ้นชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1053 ฮาโรลด์ก็รับอำนาจครองเวสเซ็กซ์ต่อ นอกจากนั้นฮาโรลด์ก็ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามเวลส์ให้อยู่ในอำนาจอังกฤษในปี ค.ศ. 1063 และเป็นผู้เจรจาต่อรองกับกบฏนอร์ทธัมเบรียในปี ค.ศ. 1065 สันนิษฐานกันว่าความสามารถต่าง ๆ ของฮาโรลด์เป็นสิ่งที่ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทเมื่อทรงใกล้ที่จะสวรรคตถึงแม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดอาจจะไปทรงสัญญายกราชบัลลังก์ให้พระญาติห่าง ๆ ดยุกแห่งนอร์มังดีแล้ว พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1066 พระบรมศพถูกฝังไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ที่ทรงสร้าง
เพราะพระขนิษฐาอีดิธเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ฮาโรลด์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งอีสแองเกลียในปี ค.ศ. 1045 เมื่อกอดวินพระบิดาสิ้นชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1053 ฮาโรลด์ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์สืบต่อมา เวสเซ็กซ์ในขณะนั้นมีบริเวณราวหนึ่งในสามของอังกฤษ ซึ่งทำให้ฮาโรลด์เป็นขุนนางที่มีอำนาจมากที่สุดรองจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ในปี ค.ศ. 1058 ฮาโรลด์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งแฮระฟอร์ด และมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านอิทธิพลของนอร์มันในอังกฤษของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด หลังจากการฟื้นฟูราชบัลลังก์ของพระองค์ผู้ไปใช้ชีวิตเติบโตในนอร์มังดีเป็นเวลากว่าค่อนศตวรรษ
ฮาโรลด์มีชื่อเสียงว่าเป็นนักรบที่กล้าหาญจากสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1062 ถึงปึ ค.ศ. 1063 ต่อ Gruffydd ap Llywelyn ประมุขของราชอาณาจักรกวินเน็ด ผู้ที่ก่อนหน้าที่จะพ่ายแพ้ต่อฮาโรลด์ได้รับชัยชนะต่อ เวลส์ ทั้งหมด สงครามจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของ Gruffydd ผู้ถูกสังหารโดยทหารของตนเองใน ปี ค.ศ. 1063
ในปี ค.ศ. 1064 เรือของฮาโรลด์ไปล่มที่ปองทู (Ponthieu) ซึ่งเคยเป็นเมืองอยู่ทางเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งก็ทำให้เกิดการสันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา เช่นทางนอร์มันกล่าวว่าฮาโรลด์นำข่าวพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยกราชบัลลังก์ให้มาบอกดยุคแห่งนอร์มังดี อีกข้อหนึ่งก็ว่าฮาโรลด์มาตามตัวสมาชิกในครอบครัวที่ถูกกักตัวไว้ตั้งแต่กอดวินหนีมาลี้ภัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1051 อึกข้อหนึ่งก็ว่าฮาโรลด์เดินทางไปพบกับพันธมิตร ทางนอร์มันกล่าวว่าเรือของฮาโรลด์ถูกพายุพัดจนออกนอกเส้นทางและฮาโรลด์ถูกจับตัวโดยเคานท์กีแห่งปองทู พอได้รับข่าวดยุคแห่งนอร์มังดีก็สั่งให้กีส่งตัวฮาโรลด์มาให้ ข้อความที่ว่านี้อยู่ในเอกสารที่เขียนโดยวิลเลียมแห่งปัวติเยส์ซึ่งความเท็จจริงของข้อเขียนเป็นเรื่องที่น่าสงสัย
จากนั้นฮาโรลด์และดยุควิลเลียมแห่งนอร์มังดีออกสงครามต่อสู้กับโคนันที่ 2 ดยุคแห่งบริตานีผู้เป็นศัตรูของดยุควิลเลียม ขณะที่เดินผ่านมงต์-แซงต์-มีแชลเพื่อไปยังบริตานีฮาโรลด์ก็ได้ช่วยนายทหารสองคนของดยุควิลเลียม บารอนเอียน เด ลา โกลด์ฟินช์ และหลวงพ่อพอล เลอ คีนให้รอดจากทรายดูด ฮาโรลด์และดยุควิลเลียมไล่ตามโคนันจากโดลเดอเบรอตาญไปจนถึงแรนส์และในที่สุดดินองเมื่อโคนันยอมแพ้ ดยุควิลเลียมแต่งตั้งให้ฮาโรลด์เป็นอัศวิน ผ้าปักบายู และหลักฐานอ้างอิงของนอร์มันบันทึกว่าฮาโรลด์สาบานว่าจะสนับสนุนดยุควิลเลียมในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ
ในระหว่างช่วงเวลานี้ดยุควิลเลียมก็เริ่มคิดว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้ไม่มีพระราชโอรสธิดา แต่หลักฐานต่างๆ ก็เป็นแต่หลักฐานตามคำกล่างอ้างของนอร์มันเท่านั้น เพราะหลังจากที่นอร์มันได้รับชัยชนะต่ออังกฤษ หลักฐานของอังกฤษเช่น พงศาวดารแองโกล-แซ็กซอน ก็มิได้กล่าวอะไรมากนอกไปจากกล่าวถึงเอ็ดการ์ เอเธลลิงลูกของเอ็ดเวิร์ดผู้ลี้ภัย (Edward the Exile) พระนัดดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่าเป็นรัชทายาท แต่ยากที่จะเป็นไปได้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะทรงทำเช่นนั้น[ต้องการอ้างอิง] โดยเฉพาะเมื่อฮาโรลด์เป็นผู้พยายามที่จะนำตัวเอ็ดเวิร์ดผู้ลี้ภัยกลับจากฮังการี ในปี ค.ศ. 1057
ในปี ค.ศ. 1065 ฮาโรลด์หนุนหลังนอร์ทธัมเบรียในการปฏิวัติต่อต้านพระอนุชาทอสทิก เพราะการที่ทอสทิกเก็บภาษีอย่างไม่ยุติธรรม และแต่งตั้งมอร์คา เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรียแทนทอสทิก การกระทำครั้งนี้ทำให้ดูเหมือนว่าการเป็นรัชทายาทมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการแตกแยกระหว่างพี่น้องที่มีความสำคัญต่อเหตุการณ์ต่อมา หลังจากนั้นทอสทิกไปเป็นพันธมิตรกับ พระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์
การแต่งงานและพระราชโอรสธิดา
แก้ฮาโรลด์ทรงเสกสมรสด้วยวิธี ลักพาเจ้าสาว (More danico) กับ เอลด์จิธ สวอนเน็ค (Edith Swanneck หรือ Edith Swanneschals) และมีโอรสธิดาด้วยกันอย่างน้อย 6 องค์ การสมรสครั้งนี้เป็นที่ยอมรับกับโดยทั่วไปยกเว้นจากทางสถาบันศาสนา ตามกฎการแต่งงานแบบลักพาโอรสธิดาที่เกิดมาไม่ถือว่าเป็นลูกนอกสมรส พระธิดาองค์หนึ่งคือกีธา ผู้ต่อมาเป็นพระชายาของวลาดิเมียร์ โมโนมาคห์ แกรนด์ดยุคแห่งคีวาน รุส' (Vladimir Monomakh) การแต่งงานของกีธาทำให้ฮาโรลด์มีเชื้อสายเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษต่อมา
ราวเดือนมกราคม ค.ศ. 1066 ฮาโรลด์ทรงเสกสมรสกับอีดิธ (Ealdgȳð) (ลูกสาวของเอลฟการ์ เอิร์ลแห่งเมอร์เซีย (Ælfgār, Earl of Mercia)) ผู้เป็นภรรยาหม้ายของ Gruffydd ap Llywelyn เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชินีอีดิธมีโอรสสองคนซึ่งอาจจะเป็นแฝดชื่อ ฮาโรลด์ และอุลฟ์ ที่เกิดราวเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1066 เดือนหนึ่งหลังจากฮาโรลด์เสด็จสวรรคต ทั้งฮาโรลด์ และอุลฟ์มีชีวิตรอดมาจนโตแต่คงมีชีวิตอย่างผู้ลี้ภัยนอกราชอาณาจักรอังกฤษ หลังจากที่พระเจ้าฮาโรลด์เสด็จสวรรคต กล่าวกันว่าพระราชืนีอีดิธหนีไปหาพระเชษฐา เอ็ดวิน เอิร์ลแห่งเมอร์เซีย และ มอร์คาร์ เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรีย ทั้งสองคนทำสัญญาสงบศึกกับดยุควิลเลียม แต่ก็มิได้อยู่กันอย่างสงบสุขนานนักก่อนที่ จะก่อการปฏิวัติต่อดยุกวิลเลียมแห่งนอร์มังดี แต่ก็พ่ายแพ้และเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต จากนั้นพระราชืนีอีดิธก็อาจจะหนีออกจากราชอาณาจักรอังกฤษ (อาจจะทรงหนีไปกับกีธาพระมารดาของฮาโรลด์ หรือกีธาพระธิดาของฮาโรลด์)
ปกครองเป็นกษัตริย์
แก้เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1066 พระนัดดาเอ็ดการ์ เอเธลลิงยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะขึ้นครองราชย์ได้ ขณะที่ทรงนอนประชวรพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงชึ้ไปทางฮาโรลด์ ขุนนางก็ถือเป็นสัญญาณว่าทรงเลือกฮาโรลด์ให้เป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อ แต่บางคนก็ว่าเป็นสัญญาณว่าทรงแช่ง ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1066 สภาวิททันมีมติให้ฮาโรลด์สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและทำพิธีราชาภิเศกในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกที่เกิดขึ้นที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ แต่หลักฐานของนอร์มันกล่าวว่าในการที่ทำพิธีสวมมงกุฏให้ฮาโรลด์ได้อย่างรวดเร็วเช่นนั้นก็เป็นเพราะขุนนางไปประชุมฉลองเทศกาลอีพิพฟานี (Epiphany) ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์กันอยู่แล้ว และมิใช่เพราะความกลัวในการที่ว่าจะมีผู้แย่งชิงบัลลังก์จากฮาโรลด์
ราวปลายฤดูร้อนปีเดียวกันราชอาณาจักรอังกฤษก็ถูกรุกรานจากสองด้านเกือบพร้อมกัน ด้านหนึ่งจากทางเหนือโดย พระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์ หรือ ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดา (Harald Hardraada) และทางใต้จากฝรั่งเศสโดยดยุกวิลเลียมแห่งนอร์มังดี ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ และดยุควิลเลียมอ้างว่าฮาโรลด์สาบานว่าจะสนับสนุนในสิทธิการครองราชบัลลังก์เมื่อไปเรือแตกที่ปองทู ทางฝ่ายฮาราลด์ ฮาร์ดดราดามีทอสทิกพระอนุชาของพระเจ้าฮาโรลด์เองเป็นพันธมิตร เมื่อพระเจ้าฮาโรลด์เผชิญหน้ากับพระอนุชาและฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาก็ทรงเสนอดินแดนหนึ่งในสามของอังกฤษให้แก่ทอสทิกเพื่อให้ยุติสงคราม ทอสทิกก็โต้กลับมาว่าแล้วฮาโรลด์จะให้อะไรให้กับฮาราลด์ ฮาร์ดดราดา ฮาโรลด์ก็ตอบว่า “หกฟุตลึกลงไปในดินหรืออาจจะมากกว่าเท่าที่จะทรงต้องการเพราะพระองค์สูงกว่าผู้ใด” (Six feet of ground or as much more as he needs, as he is taller than most men) คำที่กล่าวนี้มาจากบันทึกของเฮนรีแห่งฮันติงดัน (Henry of Huntingdon) แต่ก็ไม่ทราบกันเป็นที่แน่นอนว่าทรงกล่าวเช่นนั้นจริงหรือไม่
ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาและทอสทิกรุกรานยอร์คเชอร์ทางตอนเหนือของอังกฤษในเดือนกันยายน ค.ศ. 1066 ทอสทิกได้รับชัยชนะต่อเอ็ดวิน เอิร์ลแห่งเมอร์เซีย และ มอร์คาร์ เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรียในยุทธการฟุลฟอร์ด (Battle of Fulford) ใกล้เมืองยอร์ก เมื่อวันที่ 20 กันยายน เมื่ออพระเจ้าฮาโรลด์ทรงได้รับข่าวก็เสด็จนำทัพอย่างเร่งด่วนขึ้นไปจากลอนดอนเป็นระยะกว่า 300 กิโลเมตรภายในเวลาสี่วัน (เฉลี่ยการเดินเท้า ราว 80 กิโลเมตรต่อวัน) ซึ่งทำความประหลาดใจให้แก่ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาและทอสทิกเป็นอันมาก ก่อนที่จะเริ่มต่อสู้กัน ฮาโรลด์ก็เสนอว่าจะแต่งตั้งทอสทิกให้เป็นเอิร์ล แต่ทอสทิกหันไปทางฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาแทนที่ ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาและทอสทิกพ่ายแพ้ต่อฮาโรลด์และถูกสังหารที่ยุทธการแสตมฟอร์ดบริดจ์ (Battle of Stamford Bridge) เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1066
หลังจากเสร็จศึกทางเหนือพระเจ้าฮาโรลด์ก็ทรงบังคับให้ทหารเดินกลับมาทางใต้ผ่านลอนดอนไปยังเฮสติงส์เพื่อจะไปรับศึกจากนอร์มังดีเมื่อดยุควิลเลียมแห่งนอร์มังดีกับทหาร 7000 คนขึ้นบกที่ซัสเซ็กซ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พระเจ้าฮาโรลด์มีพระราชโองการให้ตั้งค่ายอย่างเร่งด่วนใกล้ๆ เฮสติงส์ กองทหารของพระองค์และดยุควิลเลียมต่อสู้กันในยุทธการเฮสติงส์ใกล้เมืองแบตเติล ปัจจุบันเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม หลังจากที่ต่อสู้กันอย่างหนักพระเจ้าฮาโรลด์ก็ทรงเสียทีและถูกสังหาร รวมทั้งพระอนุชาอีกสององค์เกิร์ธ (Gyrth Godwinson) และ เลิร์ฟไวน์ (Leofwine Godwinson) ตามตำนานกล่าวกันว่าพระเจ้าฮาโรลด์ทรงถูกปลงพระชนม์ด้วยลูกศรที่ปักพระเนตรแต่ก็ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าเป็นภาพเดียวกับภาพที่ปักบนผ้าปักบายูหรือไม่ เอลด์จิธ สวอนเน็คพระชายาองค์แรกถูกเรียกตัวมาให้บอกว่าเป็นพระเจ้าฮาโรลด์หรือไม่แต่เนื่องจากพระพักตร์อาจจะเละแต่เอลด์จิธก็บอกได้โดยรอยสักบนหน้าอกว่า “อีดิธ” และ “อังกฤษ”[ต้องการอ้างอิง] พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังในหลุมหินที่มีทิวทัศน์ทะเลและมีการจัดพิธีอย่างสมพระเกียรติหลายปีต่อมาที่แอบบีวอลทแธมที่ทรงสถาปนาใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1060[1]
การที่ทพระเจ้าฮาโรลด์ทรงมีความสัมพันธ์กับบริเวณบอสซุม (Bosham) ทำให้สันนิษฐานกันว่าโลงหินแบบแองโกล-แซ็กซอนในคริสต์ทศศตวรรษ 1950 ที่พบที่นั่นเป็นโลงหินของพระบรมศพ ทางสังฆมลฑลชิคเชสเตอร์ปฏิเสธคำร้องที่จะขุดหลุมศพเพื่อเป็นการพิสูจน์เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ประธานของสังฆมลฑลให้เหตุผลว่าโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าเป็นพระเจ้าฮาโรลด์จริงหรือไม่นั้นมีน้อยเกินกว่าที่จะยอมให้รบกวนบริเวณที่ฝังศพที่ถือกันว่าเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ได้[2] การขุดก่อนหน้านั้นพบว่าเป็นร่างของชายกลางคนที่มีขาเดียวซึ่งตรงกับคำบรรยายพระลักษณะการบาดเจ็บของพระเจ้าฮาโรลด์ในบางพงศาวดาร
มรดกและตำนาน
แก้กีธาแห่งเอสเซ็กซ์พระราชธิดาของพระเจ้าฮาโรลด์เสกสมรสกับวลาดิเมียร์ โมโนมาคห์ แกรนด์ดยุกแห่งคีวาน รุสซึ่งเป็นราชอาณาจักรในยุคกลาง ซึ่งเป็นต้นสายของราชวงศ์ของ กาลิเซีย, สโมเลนสค์ (Smolensk), และ ยาโรสลาฟวล (Yaroslavl) ผู้สืบเชื้อสายที่สำคัญๆ จากกีธาและโมโนมาคห์ก็ได้แก่ โมเดสต์ มูสซอร์กสกี (Modest Mussorgsky) คีตกวีคนสำคัญของรัสเซีย, เจ้าชายปีเตอร์ อเล็กเซเยวิช โครโปทคิน (Prince Peter Alexeyevich Kropotkin) และ อิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส ผู้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ ฉะนั้นเชื้อสายของพระเจ้าฮาโรลด์จึงได้กลับมาครองราชบัลลังก์อังกฤษอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานว่านิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์ได้ยกฐานะพระเจ้าฮาโรลด์ขึ้นเป็นผู้พลีชีพเพื่อคริสต์ศาสนา (martyr) อุลฟ์และมอร์คาร์แห่งนอร์ทธัมเบรียถูกปล่อยจากการคุมขังเมื่อพระเจ้าวิลเลียมทรงนอนประชวรใกล้จะสวรรคตในปี ค.ศ. 1087 อุลฟ์หันไปสนับสนุนโรเบิร์ต เคอร์โทส ดยุคแห่งนอร์มังดีพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าวิลเลียมผู้แต่งตั้งให้อุลฟ์เป็นอัศวินแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีเอกสารใดใดที่กล่าวถึงอุลฟ์อีก พระเชษฐาต่างพระมารดาอีกสององค์กอดวิน เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์และแม็กนัสพยายามที่กู้ราชบัลลังก์สองครั้งโดยยกทัพมาอังกฤษในปี ค.ศ. 1068 และในปี ค.ศ. 1069ด้วยการช่วยเหลือของ Diarmait mac Mail na mBo กษัตริย์ของเลนสเตอร์ในไอร์แลนด์ โดยมาปล้นสดมภ์ในบริเวณคอร์นวอลล์แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานอะไรเกี่ยวกับสองคนนี้อีก
ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 พระเจ้าฮาโรลด์ก็กลายเป็นที่นิยมของผู้นับถือลัทธินิยมวีระบุรษ ตามตำนานว่ากันว่าพระเจ้าฮาโรลด์มิได้ถูกปลงพระชนม์ที่สนามรบแต่ทรงรอดมาได้และทรงใช้เวลาสองปีรักษาตัวอยู่ที่วินเชสเตอร์ หลังจากนั้นก็เสด็จไปเยอรมนีไปเดินทางร่อนเร่เป็นนักแสวงบุญอยู่จนเมื่อพระชนมายุชราก็เสด็จกลับมาอังกฤษและอาศัยอยู่ในถ้ำอย่างฤๅษีใกล้ ๆ โดเวอร์ ขณะที่ทรงนอนใกล้จะสวรรคตก็ทรงสารภาพว่าแม้ว่าจะทรงใช้ชื่อ “คริสเตียน” แต่ตามความเป็นจริงแล้วพระองค์คือ “ฮาโรลด์ กอดวินสัน” ตำนานคล้ายคลึงกันนี้แพร่หลายกันมากในยุคกลางแต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน และอันที่จริงแล้วพระราชินีอีดิธทรงครรภ์เมื่อเสด็จสวรรคตและทรงตั้งชื่อพระโอรสว่า “ฮาโรลด์” เช่นเดียวกับพระบิดา ต่อมา “ฮาโรลด์” ก็บวชเป็นพระอยู่ที่แอบบีวอลทแธมและเชื่อกันว่าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเฮนรีที่ 1ทำให้เชื่อกันไปว่าผู้ที่มีชีวิตอยู่คือ “ฮาโรลด์ กอดวินสัน” ไม่ใช่ “ฮาโรลด์ ฮาโรลด์สัน” (Harold Haroldsson)
ความสนใจในพระเจ้าฮาโรลด์ทางวรรณกรรมและสื่อต่างเริ่มขึ้นตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มจาก
- ค.ศ. 1876: บทละครเรื่อง “ฮาโรลด์” ที่เขียนโดย อัลเฟรด เทนนีสัน บารอนเทนนีสันที่ 1 (Alfred, Lord Tennyson)
- ค.ศ. 1848: นวนิยายเรื่อง “พระเจ้าแผ่นดินแซ็กซอนองค์สุดท้าย” (Last of the Saxon Kings) ที่เขียนโดย เอ็ดเวิร์ด บุลเวอร์-ลืททัน (Edward Bulwer-Lytton)
- ค.ศ. 1870–ค.ศ. 1879: เรื่อง “ประวัติศาสตร์ของชัยชนะของนอร์มันต่ออังกฤษ” (History of the Norman Conquest of England) ที่เขียนโดย อี เอ ฟรีแมน (E. A. Freeman) ซึ่งฟรีแมนบรรยายพระเจ้าฮาโรลด์ในฐานะวีรบุรุษ
- ค.ศ. 1910: เรื่อง “ต้นไม้แห่งความยุติธรรม” (The Tree of Justice) ที่เขียนโดย รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) บรรยายถึงชายชราผู้ที่คือพระเจ้าฮาโรลด์ผู้ถูกนำตัวมาต่อพระพักตร์พระเจ้าเฮนรีที่ 1
- ค.ศ. 1955: ภาพยนตร์เรื่อง “เลดี้โกไดวาแห่งโคเวนทรี” (Lady Godiva of Coventry) นำโดย เร็กซ์ รีซัน (Rex Reason)
- ค.ศ. 1962: ภาพยนตร์เรื่อง “พ่อมาด้วย!” (Father Came Too!) นำโดย แพ็ททริค นิวเวลล์ (Patrick Newell)
- ค.ศ. 1966: ละครโทรทัศน์ “พระเจ้าแผ่นดินให้เลือก” (A Choice of Kings) นำโดย ไมเคิล เครก (Michael Craig)
- ค.ศ. 1997: สารคดีสำหรับโทรทัศน์ “ยุทธการเฮสติงส์ ” (Hastings ) เขียนโดย ริชาร์ด โฮล์ม (Richard Holmes)
- ค.ศ. 1997: นวนิยายเรื่อง “พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์สุดท้าย” (The Last English King) ที่เขียนโดย จูเลียน รัธโบน (Julian Rathbone)
- ไม่ทราบปี: นวนิยายเรื่อง “พระเจ้าแผ่นดินระหว่างรัชกาล” (The Interim King) ที่เขียนโดย เจมส์ แม็คมิลลา (James McMilla)
- ไม่ทราบปี: บทละครเรื่อง “พระเจ้าแผ่นดินให้เลือก” (A Choice of Kings) ที่เขียนโดย จอห์น มอร์ติเมอร์ (John Mortimer) กล่าวถึงเล่ห์กลของพระเจ้าวิลเลียมหลังจากที่เรือของพระเจ้าฮาโรลด์แตก
- ค.ศ. 2004: ละครบทหนึ่ง “ค.ศ. 1066” ของรายการ Historyonics
อ้างอิง
แก้- ↑ Hilliam, Paul (2005). William the Conqueror: First Norman King of England. New York City, New York: Rosen Publishing Group. pp. 57. ISBN 1-4042-0166-1.
- ↑ In re Holy Trinity, Bosham [2004] Fam 124 — decision of the Chichester Consistory Court regarding opening King Harold's supposed grave.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สมเด็จพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน เก็บถาวร 2010-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ผังผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าเซอร์ดิคแห่งเวสเซ็กซ์
- ตามรอยพระบาทพระเจ้าฮาโรลด์ ตารางเวลาในพระราชประวัติของพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันรวมทั้งสถานที่สำคัญในพระราชประวัติของพระองค์
- พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน ราว ค.ศ. 1021 - ค.ศ. 1066 เก็บถาวร 2008-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เจฟฟ์ บ็อกเซลล์ ฮาโรลด์ กอดวินสัน — พระเจ้าแผ่นดินคนสุดท้ายของชาวอังกฤษ
- Regia Anglorum Kingmakers — เรื่องของราชวงศ์กอดวิน
- สตีเฟน โลว์ กอดวิน — อำนาจของตระกูล
- ฮาโรลด์: คนอังกฤษบ้า คำบรรยายร่วมสมัยเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันและการรุกรานของนอร์มัน
- การสวรรคตของพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน คำบรรยายร่วมสมัยโดยใช้ ผ้าทอบายูเป็นหลักฐานอ้างอิง
ก่อนหน้า | พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ | พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ (ราชวงศ์เวสเซ็กซ์) (ค.ศ. 1066) |
สมเด็จพระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิง |