พระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกส

ฌูเอาที่ 1 (โปรตุเกส: João I; 11 เมษายน ค.ศ. 1357 – 14 สิงหาคม ค.ศ. 1433) ทรงได้รับสมัญญานามว่า เจ้าชายแห่งความทรงจำที่ดี (o Principe de Boa Memória), ฌูเอาแห่งอาวิช (João de Aviz), ฌูเอามหาราช (João o Grande) และ ฌูเอาบุตรนอกสมรส (João o Bastardo) เป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกสตั้งแต่ ค.ศ. 1385 ถึง ค.ศ. 1433 ผู้รักษาเอกราชจากกัสติยาและริเริ่มการขยายดินแดนทางทะเล ทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์อาวิชหรือราชวงศ์ฌูเอา

พระเจ้าฌูเอาที่ 1
กษัตริย์แห่งโปรตุเกส
ครองราชย์6 เมษายน ค.ศ. 1385 – 14 สิงหาคม ค.ศ. 1433
ราชาภิเษก6 เมษายน ค.ศ. 1385
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีนาถบียาตริชแห่งโปรตุเกส / พระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา (ยังเป็นที่ถกเถียง)
รัชกาลถัดไปพระเจ้าดูวาร์ตึแห่งโปรตุเกส
ประสูติ11 เมษายน ค.ศ. 1357
ลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส
สวรรคต14 สิงหาคม ค.ศ. 1433 (76 พรรษา)
ฝังพระศพอารามบาตัลยา ราชอาณาจักรโปรตุเกส
พระมเหสีฟิลิปปาแห่งแลงคาสเตอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส
พระราชบุตรอาฟงซูที่ 1 ดยุคแห่งบรากันซา
บียาตริช เคาน์เตสแห่งอารันเดล
พระเจ้าดูวาร์ตึแห่งโปรตุเกส
เปดรู ดยุคแห่งกูอิงบรา
เอ็งรีกึราชนาวิก
อีซาแบลแห่งโปรตุเกส ดัชเชสแห่งบูร์กอญ
ฌูเอา ผู้ตรวจตราแห่งโปรตุเกส
ฟือร์นังดู มาสเตอร์แห่งอาวิช
ราชวงศ์อาวิช
พระบิดาพระเจ้าเปดรูที่ 1 แห่งโปรตุเกส
พระมารดาตึเรซา โลเร็งซู
ลายพระอภิไธย

วัยเยาว์ แก้

ฌูเอาเป็นโอรสนอกสมรสของพระเจ้าเปดรูที่ 1 แห่งโปรตุเกสกับตึเรซา โลเร็งซู ตอนพระชนมายุ 6 พรรษาพระองค๋ได้รับแต่งตั้งเป็นมาสเตอร์แห่งอัศวินอาวิช ทรงได้รับการศึกษาในด้านศาสนาและด้านการทหาร (อาจจะ) ที่อาวิชในอาเล็งแตฌู พระบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1367 ฟือร์นังดู พระเชษฐาต่างมารดาของพระองค์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์และเริ่มตั้งตนเป็นศัตรูกับพระเจ้าเอนริเกที่ 2 ผู้ปกครองคนใหม่ของกัสติยา แต่สุดท้ายพระเจ้าฟือร์นังดูก็ถูกบีบบังคับให้ยอมรับการสมรสเข้ากัสติยาของบียาตริช ทายาทวัยทารกของพระองค์

ในปี ค.ศ. 1383 เมื่อพระเจ้าฟือร์นังดูสิ้นพระชนม์ ลียูโนร์ พระราชินีม่ายของพระองค์ได้ยอมจำนนต่อคำสั่งให้ยอมรับพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา พระชามาดาของตนเป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ประชาชนที่หวาดกลัวว่าโปรตุเกสจะถูกผนวกเข้ากับกัสติยาและต่อต้านการสำเร็จราชการแผ่นดินของพระราชินีลียูโนร์ได้ลุกฮือขึ้นก่อกบฏจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง[1] ต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1383 กลุ่มกบฏได้เข้ายึดกรุงลิสบอน ฌูเอาแห่งอาวิชที่คอยจับตาดูสถานการณ์อยู่เบื้องหลังอย่างระมัดระวังถูกกลุ่มคนหนุ่มสาวผู้รักชาตินำโดยนูนู อัลวารึช ปึไรรา โน้มน้าวให้สังหารฌูเอา ฟือร์นังดึช อังไดรู เคานต์แห่งโอไร[2] ขุนนางคนโปรดและที่ปรึกษาของพระราชินีลียูโนร์

ประชาชนได้ให้การสนับสนุนฌูเอา พระราชินีลียูโนร์หนีออกจากลิสบอนลี้ภัยไปอยู่ที่อาเล็งแกร์ นูนู อัลวารึชเสนอให้ลียูโนร์สมรสกับฌูเอาแห่งอาวิชเพื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินร่วมกันแต่พระนางปฏิเสธ ฌูเอาจึงพยายามปิดล้อมโจมตีอาเล็งแกร์ แต่ลียูโนร์ได้หนีไปซังตาไร[3] พระนางได้กะเกณฑ์ไพร่พลและขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์กัสติยาผู้เป็นพระชามาดา[4] เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1384 กองทัพกัสติยาปิดล้อมโจมตีฌูเอาในลิสบอน แต่ก็ต้องถอนทัพไปในเดือนกันยายนเมื่อกาฬโรคแพร่ระบาด

การได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ แก้

 
ตราประจำพระองค์ของพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกส

ความล้มเหลวของพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยาทำให้ฌูเอาแห่งอาวิชยิ่งได้รับความนิยม วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1385 สภาขุนนางได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในกูอิงบราและได้ประกาศให้บียาตริช พระธิดาพระเจ้าฟือร์นังดูเป็นบุตรนอกสมรส ฌูเอาแห่งอาวิชได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ลิสบอน, โปร์ตู, กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มสมาคมผู้ค้าสนับสนุนพระองค์ แต่ขุนนางอาวุโสส่วนใหญ่ยังคงเอนเอียงไปทางทายาทในฝั่งกัสติยามากกว่า พระเจ้าฌูเอากับนูนู อัลวารึช ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ตรวจตราของพระองค์ได้เดินทัพขึ้นเหนือและได้รับการสวามิภักดิ์จากผู้นำในพื้นที่ส่วนนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ได้ข่าวว่ากัสติยากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการบุกครั้งใหญ่ กองทัพสเปนได้เข้าสู่ตอนกลางของโปรตุเกส พระเจ้าฌูเอาและนูนู อัลวารึช ได้เข้าสกัดกั้นไม่ให้กองทัพเดินทางเข้าสู่ลิสบอนได้และได้รับชัยชนะครั้งสำคัญที่สมรภูมิอัลฌูบาโรตาในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1385 ชัยชนะครั้งนี้เป็นเครื่องตอกย้ำถึงเอกราชของโปรตุเกส

 
ภาพพระเจ้าฌูเอาที่ 1 (ตรงกลาง) กำลังเจรจากับจอห์นแห่งกอนต์ (ซ้ายมือของโต๊ะ) เรื่องการบุกกัสติยา

พระเจ้าฌูเอาได้ความช่วยเหลือส่วนหนึ่งมาจากอังกฤษ พลธนูชาวอังกฤษกลุ่มเล็ก ๆ ได้ช่วยพระองค์ต่อสู้ในอัลฌูบาร์โรตา วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1386 พระองค์ได้ลงนามในสนธิสัญญาวินด์เซอร์ เสาหลักแห่งมิตรภาพระหว่างอังกฤษกับโปรตุเกสที่สนับสนุนให้การอ้างสิทธิ์เป็นกษัตริย์แห่งกัสติยาของกอนส์ตันซา พระธิดาของพระเจ้าเปโดรผู้โหดร้ายแห่งกัสติยา และจอห์นแห่งกอนต์ ดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ผู้เป็นพระสวามีชอบด้วยกฎหมาย[5] เดือนกุมภาพัธ์ ค.ศ. 1387 พระเจ้าฌูเอาแห่งอาวิชผนึกสัมพันธไมตรีด้วยการสมรสกับฟิลิปปา ธิดาของดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ ทว่าการร่วมมือกันรุกรานกัสติยาประสบความล้มเหลว[6] พระเจ้าฌูเอาแห่งอาวิชทำสนธิสัญญาพักรบ 10 ปีกับกัสติยาในปี ค.ศ. 1389 แต่การกระทบกระทั่งบริเวณพรมแดนโปรตุเกส-กัสติยายังคงเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และสงบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพในปี ค.ศ. 1411

รัชสมัยการปกครอง แก้

ในปี ค.ศ. 1415 พระเจ้าฌูเอาที่ 1 กับพระโอรสได้นำทัพเข้ายึดเซวตา เมืองหน้าด่านในแอฟริกาเหนือ อันเป็นการเปิดศักราชแห่งการขยายดินแดนเข้าสู่ทวีปแอฟริกา พระองค์เป็นกษัตริย์โปรตุเกสคนแรกที่เขียนกฎหมายด้วยภาษาถิ่น (ภาษาโปรตุเกส) ทรงทำผลงานมากมายจนได้รับการขนานนามว่า "พระเจ้าฌูเอามหาราช" แต่ในสเปนพระองค์ยังคงถูกเรียกว่า "พระเจ้าฌูเอาบุตรนอกสมรส"

 
ภาพพิธีสมรสของพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกสกับฟิลิปปาแห่งแลงคาสเตอร์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1387 โดยนักวาดในคริสต์ศตวรรษที่ 15

นอกเหนือจากความโปรดปรานการล่าสัตว์และการเรียนรู้ ว่ากันว่าพระองค์เป็นคนใจบุญและฉลาดหลักแหลม ราชสำนักของพระองค์ได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมอังกฤษซึ่งมาจากพระราชินีฟิลิปปา ทั้งคู่มีชีวิตสมรสที่มีความสุขเมื่อเทียบกับมาตรฐานทั่วไปของกษัตริย์ในยุคนั้น พระโอรสของทั้งคู่ถูกเรียกว่า "รุ่นแห่งความรุ่งโรจน์" พระเจ้าฌูเอาได้นำเอาตำแหน่งดยุคมาใช้ในโปรตุเกสเพื่อพระราชทานยศดังกล่าวให้แก่พระโอรส พระองค์กับพระราชินีฟิลิปปามีพระโอรสธิดาด้วยกัน 8 คน คือ

  • บรังกา (ประสูติ ค.ศ. 1388) สิ้นพระชนม์ในวัยทารก
  • อาฟงซู (ประสูติ ค.ศ. 1390) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
  • ดูวาร์ตึ (ประสูติ ค.ศ. 1391) บริหารบ้านเมืองภายใต้การปกครองของพระบิดา ต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์หลังพระบิดาสิ้นพระชนม์
  • เปดรู (ประสูติ ค.ศ. 1392) ดยุคแห่งกูอิงบรา สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าอาฟงซูที่ 5 พระภาติยะในช่วงที่ยังเยาว์วัย
  • เอ็งรีกึราชนาวิก (ประสูติ ค.ศ. 1394) ดยุคแห่งวีเซว เป็นที่รู้จักในฐานะนักสำรวจทางทะเลผู้อุปถัมภ์และวางรากฐานการสำรวจทางทะเล พระองค์พยายามเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจแก่โปรตุเกสด้วยการสร้างเส้นทางการค้าสายตรงสู่ตะวันออกไกล
  • อีซาเบล (ประสูติ ค.ศ. 1397) สมรสกับฟีลิปที่ 3 ผู้ดีงาม ดยุคแห่งบูร์กอญและเป็นมารดาของชาร์ลผู้อาจหาญ การสมรสของพระองค์เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ
  • ฌูเอา (ประสูติ ค.ศ. 1400) เทศมนตรีและข้าหลวงแห่งคณะอัศวินซานเตียโก
  • ฟือร์นังดู เจ้าชายนักบุญ (ประสูติ ค.ศ. 1402)
 
อนุสาวรีย์พระเจ้าฌูเอาที่ 1 ทรงม้าในปราซาดาฟีไกรา

ก่อนสมรสกับฟิลิปปาแห่งแลงคาสเตอร์ เมื่อครั้งยังเป็นมาสเตอร์แห่งอัศวินอาวิช พระองค์ได้มีสัมพันธ์รักกับอีเนช ปีรึช และมีบุตรนอกสมรสด้วยกันสองคน คือ

  • อาฟงซู (เกิด ค.ศ. 1371) เคานต์แห่งบาร์แซลุชและดยุคแห่งบาร์กังซา สมรสกับธิดาของผู้ตรวจตรานูนู อัลวารึช และเป็นต้นราชวงศ์บรากังซาที่ปกครองโปรตุเกสตั้งแต่ ค.ศ. 1640
  • บียาตริช (เกิด ค.ศ. 1380) สมรสกับทอมัส ฟิตซาลัน เอิร์ลที่ 12 แห่งอารันเดล

การสู้รบอันยาวนานระหว่างพระเจ้าฌูเอากับกัสติยาก่อเกิดปัญหาทางการเงินครั้งใหญ่ เนื่องจากต้องจ่ายค่าตอบแทนมากมายให้แก่ชนชั้นสูงกลุ่มใหม่ซึ่งมีรากฐานมาจากชนชั้นกลาง พระองค์ได้รับการหนุนหลังจากประชาชนและมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำที่รอบคอบและรัฐบุรุษผู้หลักแหลม พระเจ้าฌูเอาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1433 จากกาฬโรค ร่างของพระองค์ถูกฝังเคียงข้างกับพระมเหสีในอารามซังตามารีอาในบาตัลยาซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะที่อัลฌูบาร์โรตา ในปัจจุบันสามารถเยี่ยมชมอนุสาวรีย์สำริดรูปพระเจ้าฌูเอาทรงม้าได้ที่ปราซาดาฟีไกรา ("จัตุรัสต้นมะเดื่อ") ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

อ้างอิง แก้

  1. Newitt , MDD (2005). A history of Portuguese overseas expansion, 1400-1668 . Routledge. ISBN 9780415239806 , p. 16
  2. Livermore , HV (1947). A History of Portugal . Cambridge University Press . OCLC 396474 , p. 174
  3. Livermore , HV (1947). A History of Portugal . Cambridge University Press . OCLC 396474 , p. 176
  4. Stephens , H. Morse (1891). Portugal A History . Forgotten Books. ISBN 9781440083563 , p. 109
  5. Mínguez Fernández , José María (2000). Alfonso VI: power, expansion and internal reorganization . Editorial NEREA. ISBN 9788489569478 , p. 15.
  6. Suárez Fernández , Luis (1976). Ancient history of Spain and a half I . Rialp editions. ISBN 9788432118821 , pp. 431-433, Vol. I.