สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ)

สมเด็จพระวันรัต[1] นามเดิม ทับ ฉายา พุทฺธสิริ (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2349 — 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434) เป็นสมเด็จพระวันรัตรูปที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระ 10 องค์ผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุติกนิกาย[2] ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ และเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโสมนัสราชวรวิหาร นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระมหาเถระที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ชอบธุดงค์ และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง[3]

สมเด็จพระวันรัตน์

(ทับ พุทฺธสิริ)
คำนำหน้าชื่อเจ้าประคุณ
ส่วนบุคคล
เกิด6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2349 (86 ปี)
มรณภาพ4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร
เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้

ประวัติ แก้

ชาติกำเนิด แก้

สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า ทับ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2349 แรม 10 ค่ำ เดือน 11[1] ในรัชกาลที่ 1 ณ หมู่บ้านสกัดน้ำมันปากคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก ใกล้วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โยมบิดาชื่ออ่อน ผู้คนนิยมเรียกว่าท่านอาจารย์อ่อน โยมมารดาชื่อคง ท่านเป็นบุตรคนโตในตระกูลนี้ กล่าวกันว่าครอบครัวของท่านเป็นชาวกรุงเก่า แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ก็ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ[3]

การศึกษาขณะเป็นฆราวาส แก้

ในรัชกาลที่ 2 เมื่อท่านมีอายุ 9 ขวบ ได้เข้าเรียนอักษรสมัยอยู่ที่วัดภคินีนาถวรวิหาร ต่อมาได้เข้าเรียนภาษาบาลีตามสูตรมูลกัจจายน์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพอพระราชหฤทัยในตัวท่านจึงทรงให้อุปการะในการเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมของท่าน ทรงจัดสอบความรู้ผู้ที่เรียนสูตรเรียนมูลที่วังเนือง ๆ ท่านได้ไปสอบถวาย โปรดประทานรางวัล และทรงเมตตาในตัวท่านแต่นั้นมา[4]

อุปสมบท 7 ครั้ง แก้

ท่านได้บรรพชาเมื่ออายุเท่าไรยังไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบแต่ว่าท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร บางลำพู ครั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้โปรดให้ท่านไปอยู่วัดราชโอรสารามราชวรวิหารที่ทรงสร้างขึ้น ให้อยู่เรียนในสำนักของพระโพธิวงศ์ (ขาว) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณไตรโลก ต่อมาเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ (คง) วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระวินัยมุนี ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎประทับที่พระราชวังเดิม ได้เสด็จไปวัดอรุณฯ อยู่เสมอ จึงรู้จักคุ้นเคยกับท่านมาแต่ครั้งนั้น[4]

ครั้นเมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว คุณโยมของท่านจึงให้ท่านมาอุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชรอันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเดิม ท่านจึงได้อุปสมบทเมื่อปีจอ พ.ศ. 2369 ที่วัดเทวราชกุญชร โดยมีพระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยมุนี (คง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์[3]

เมื่อบวชได้ 2 พรรษา ได้อุปสมบทซ้ำตามแบบมอญตามคำแนะนำของเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะผนวช) โดยทรงนิมนต์พระอุดมญาณ วัดชนะสงคราม มาเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ด้วยพระองค์เองได้ฉายาทางธรรมว่า พุทฺธสิริ ภายหลังมีรับสั่งกับพระทับว่าสำเนียงและอักขระของพระองค์อาจไม่ชัดเจนอย่างพระมอญแท้ จึงทรงอนุญาตให้พระทับบวชอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยพระอุดมญาณเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาเกิด (หรือเกื้อ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วตามเสด็จมาอยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[5]

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทราบว่ามีพระมอญซึ่งอุปสมบทในกัลยาณีสีมา (เชื่อว่าพระอรหันต์ผูกไว้) ในราชอาณาจักร จึงโปรดให้นิมนต์มา 18 รูป ทำการอุปสมบทพระองค์เองและศิษย์หลวงรวมทั้งพระทับ ณ อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์แพ) หน้าวัดราชาธิวาส โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ นับเป็นอุปสมบทครั้งที่ 4 แต่ภายหลังท่านสงสัยในพระกรรมวาจารย์ จึงนิมนต์พระมอญมาบวชท่านซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 5 ณ อุทกุกเขปสีมา หน้าวัดปรัก เมืองปทุมธานี

ต่อมาเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระดำริว่าการอุปสมบทที่โบสถ์แพหน้าวัดราชาธิวาสนั้นสวดเฉพาะญัตติจตุตถกรรม ไม่ได้สวดบุพพกิจ ทรงสงสัยว่าการบวชจะไม่ถูกต้อง จึงรับสั่งให้อุปสมบทใหม่ ท่านจึงไปที่วัดดอนกระฎี นิมนต์พระมอญมาบวชให้ท่านอีก ณ โบสถ์แพหน้าวัดนั้น ถือเป็นอุปสมบทครั้งที่ 6

เมื่อท่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้อธิษฐานปฏิญาณตนเป็นอุปสัมบันภิกษุเฉพาะต่อพระพุทธเจ้า ท่านถือว่าครั้งนี้เป็นอุปสมบทกรรมครั้งที่ 7[6]

การศึกษาขณะเป็นบรรพชิต แก้

ขณะอยู่วัดราชาธิวาส ท่านได้ศึกษาในสำนักของพระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาส และศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอาจารย์อาจ พนรัตน ที่วัดไทรทอง (วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร) บ้าง ที่พระมหาเกื้อ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร บ้างเนือง ๆ

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ ได้เสด็จไปวัดราชาธิวาสบ่อยครั้ง และพบท่านบวชอยู่ที่นั่น ด้วยความที่คุ้นเคยกันมาก่อนจึงตรัสชวนให้มาอยู่วัดมหาธาตุ ท่านก็ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ เล่าเรียนปริยัติธรรมในสำนักเจ้าฟ้าพระมงกุฎบ้าง ในสำนักพระวิเชียรปรีชา (ภู่) บ้าง นับแต่ที่ท่านบวชได้ 2 พรรษา

เมื่อบวชแปลงแล้วได้เล่าเรียนในสำนักเจ้าฟ้าพระมงกุฎต่อมา และได้ตามเสด็จออกธุดงค์อยู่เสมอ จึงไม่ได้เข้าสอบเปรียญ

ถึงปีวอก พ.ศ. 2379 เมื่อท่านมีพรรษา 11 อายุ 31 ปี ยังเป็นพระอันดับอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาเจ้าฟ้าพระมงกุฎไปครองวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และในสมัยนั้นพระสงฆ์วัดราชาธิวาสมีทั้งพระมหานิกายและพระธรรมยุตอยู่ด้วยกัน แต่อธิบดีสงฆ์เป็นมหานิกายจึงได้โปรดให้ท่านอยู่ครองฝ่ายธรรมยุตที่วัดราชาธิวาส ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารเรียบร้อยแล้ว พระทับเพิ่งกลับจากธุดงค์ จึงโปรดให้ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ครั้งแรกท่านแปลได้ถึงเปรียญธรรม 7 ประโยค แล้วท่านไม่แปลต่อ ภายหลังจึงเข้าแปลอีกได้ 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค[7]

เป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร แก้

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและขึ้นครองราชย์ในปี 2394 แล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารขึ้น ด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ได้พระราชทานนามว่า "วัดโสมนัสวิหาร" โดยทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2396 ทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ในเนื้อที่ 31 ไร่เศษ[3] ครั้งสิ่งก่อสร้างสำเร็จลงบ้าง พอเป็นที่อาศัยอยู่จำพรรษาของภิกษุสามเณรได้บ้างแล้ว ใน พ.ศ. 2399 พระองค์ก็ได้ทรงอาราธนาพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) จากวัดราชาธิวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ประมาณ 40 รูป โดยขบวนแห่ทางเรือ ให้มาอยู่ครองวัดโสมนัสวิหาร ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ ท่านปกครองวัดโสมนัสวิหารมาจนกระทั่งได้ถึงแก่มรณภาพ

สมณศักดิ์ แก้

 
คณะสงฆ์ที่ร่วมอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2416
สมเด็จพระวันรัตน์ (พุทฺธสิริ) คือรูปที่ 4 นับจากทางขวา
  • ในปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หลังจากเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยคแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี[7]
  • พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระพรหมมุนี คัมภีรญาณนายก ตรีปิฎกปัญญาคุณาลังกรณ์ มหาคฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]

มรณภาพ แก้

สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) เริ่มสุขภาพอ่อนแอลงตามอายุขัย จนวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 อาการเริ่มทรุดหนักลง จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 เวลา 16:10 น. สิริอายุได้ 86 ปี พรรษา 65[8] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปสรงน้ำศพและพระราชทานโกศไม้สิบสองเป็นเกียรติยศ[10] ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2435[11]

ศิษย์ที่สำคัญ แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 123
  2. ประวัติคณะธรรมยุต, หน้า 25-29
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "ลำดับเจ้าอาวาส ๑.สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)". วัดโสมัสราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 28
  5. ประวัติผลงานและรวมธรรโมวาท, หน้า (62)
  6. ประวัติผลงานและรวมธรรโมวาท, หน้า (63)
  7. 7.0 7.1 7.2 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 124
  8. 8.0 8.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประวัติสมเด็จพระวันรัต, เล่ม 8, ตอน 33, 15 พฤศจิกายน ร.ศ. 110, หน้า 286-7
  9. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 125
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย, เล่ม 8, ตอน 32, หน้า 278
  11. ราชกิจจานุเบกษา, การศพสมเด็จพระวันรัต, เล่ม 8, ตอน 49, 6 มีนาคม 2435, หน้า 437-9
บรรณานุกรม
  • ธนิต อยู่โพธิ์ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516. 447 หน้า.
  • ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
  • สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริมหาเถร). ประวัติผลงานและรวมธรรโมวาท. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2550. 236 หน้า. ISBN 978-974-399-919-2
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3


ก่อนหน้า สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) ถัดไป
สมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์)    
เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้
(พ.ศ. 2444)
  สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน)
พระพิมลธรรม (ยิ้ม)    
เจ้าคณะรองคณะเหนือ
(ที่พระพิมลธรรม)

(พ.ศ. 2415 — พ.ศ. 2422)
  พระพิมลธรรม (อ้น)