สมเด็จพระราชินีนาถฌานที่ 2 แห่งนาวาร์

สมเด็จพระราชินีนาถฌานที่ 2 แห่งนาวาร์ (ฝรั่งเศส: Jeanne) หรือ ฆัวนา (สเปน: Juana) (28 มกราคม ค.ศ. 1312[1] – 6 ตุลาคม ค.ศ. 1349) เป็นพระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศสกับมาร์เกอรีตแห่งบูร์กอญ ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟิลิปที่ 3 (ฟิลิปแห่งเอฟโรซ์) และเป็นพระมารดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 หรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ผู้เลวร้าย กษัตริย์แห่งนาวาร์

ฌานที่ 2
พระราชินีฌานที่ 2 แห่งนาวาร์จากหนังสือกำหนดเทศกาลของพระองค์ โดยฌ็อง เลอ นัวร์ ค.ศ. 1336–1340
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งนาวาร์
ครองราชย์1 เมษายน ค.ศ. 1328 – 6 ตุลาคม ค.ศ. 1349
ราชาภิเษก5 มีนาคม ค.ศ. 1329 (ปัมโปลนา)
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งฝรั่งเศส
รัชกาลถัดไปพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งนาวาร์
ผู้ร่วมในราชสมบัติพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งนาวาร์ (ถึง ค.ศ.1343)
พระราชสมภพ28 มกราคม ค.ศ. 1312
สวรรคต6 ตุลาคม ค.ศ. 1349 (37 พรรษา)
พระสวามีพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งนาวาร์
พระบุตรมารีแห่งนาวาร์ สมเด็จพระราชินีแห่งอารากอน
บล็องช์แห่งนาวาร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งนาวาร์
แอนเญ็ส เคานเตสแห่งฟรัวซ์
ฟิลิป เคานต์แห่งลงเกอวีล
หลุยส์ ดยุคแห่งดูรัซโซ
ราชวงศ์กาแป
พระบิดาพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส
พระมารดามาร์เกอรีตแห่งบูร์กอญ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

ข้อสงสัยเรื่องการเป็นบุตรตามกฎหมาย

แก้
 
ผังครอบครัวของฌาน แสดงภาพของพระบิดา, พระมารดา, พระมารดาเลี้ยง, พระองค์เอง และพระอนุชาต่างมารดา

ฌานเป็นพระโอรสธิดาที่มีชีวิตรอดเพียงคนเดียวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส (พระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งนาวาร์) กับพระมเหสี มาร์เกอรีตแห่งบูร์กอญ[2][3] หลุยส์กลายเป็นกษัตริย์แห่งนาวาร์หลังพระมารดาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1305 พระองค์ถูกจับแต่งงานกับมาร์เกอรีตในเวลาต่อมาในปีเดียวกัน โดยพระเจ้าหลุยส์มีพระชนมายุ 16 พรรษา ส่วนมาร์เกอรีตมีพระชนมายุราว 15 พรรษา

หลุยส์เป็นโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ทรงเป็นคนโตที่สุดในบรรดาพระโอรสสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์กับฌานที่ 1[4] สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสและสมเด็จพระราชินีนาถในทางนิตินัยของนาวาร์ อีซาแบล พระขนิษฐาของหลุยส์แต่งงานกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ ฟิลิปกับชาร์ลส์ พระอนุชาของพระองค์แต่งงานกับสองพี่น้อง บล็องช์และฌานแห่งบูร์กอญ บุตรสาวของออทโทที่ 4 เคานต์แห่งบูร์กอญ

ฌานเสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1312[4] มาร์เกอรีต พระมารดาของพระองค์เข้าไปพัวพันในเหตุสัมพันธ์ชู้สาวตูร์เดอเนส์ลในปี ค.ศ. 1314 พระนางถูกกล่าวหาว่าคบชู้และถูกจองจำในชาโตไจยาด์ตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ บล็องช์ ลูกพี่ลูกน้องและน้องสะใภ้ของมาร์เกอรีตถูกตัดสินว่าผิดพร้อมกับพระองค์ ส่วนฌาน พี่สาวของบล็องช์ที่ได้รับการสนับสนุนจากฟิลิป สามีของตน แม้จะพ้นความผิดแต่ก็ถูกกักบริเวณในที่พำนักอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากเชื่อกันว่าเธอเป็นผู้รู้เห็นในการคบชู้ของพี่สะใภ้

หลายเดือนต่อมาสถานการณ์พลิกผันเมื่อพระเจ้าฟิลิปที่ 4 พระอัยกาของฌานสิ้นพระชนม์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1314 พระบิดาของพระองค์ได้สืบทอดบัลลังก์ฝรั่งเศสในชื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 10[3] หลุยส์ในตอนนั้นสิ้นหวังกับการมีทายาทเพศชาย สมเด็จพระสันตะปาปาอิดออดในการให้พระองค์หย่าขาดกับพระมารดาของฌาน หลังหลุยส์ขึ้นครองบัลลังก์ได้ไม่นาน มาร์เกอรีตก็สิ้นพระชนม์ในชาโตไจยาด์[5] อาจจะด้วยสาเหตุทางธรรมชาติเนื่องจากทรงได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย หรือไม่ก็อาจจะเพราะทรงถูกบีบคอตามคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งอย่างหลังเป็นไปได้มากกว่า เรื่องราวการคบชู้ของมาร์เกอรีตสร้างมลทินให้แก่ฌานตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ พระองค์จะกลายเป็นบุตรสาวของหญิงมีชู้ไปตลอดกาล และบางคนถึงขั้นสงสัยว่าบิดาของพระองค์เป็นใคร แม้ภายหลังพระบิดาจะยืนยันว่าทรงเป็นพระธิดาตามกฎหมายบนเตียงสิ้นพระชนม์[5]

หลังมาร์เกอรีตสิ้นพระชนม์ พระเจ้าหลุยส์แต่งงานใหม่กับเคลม็องส์แห่งฮังการี ทั้งคู่ได้รับการสวมมงกุฎร่วมกันที่แร็งส์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1315 ไม่มีบันทึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างฌานกับพระมารดาเลี้ยงเป็นเช่นไรหรือสถานะพระธิดาของกษัตริย์ของฌานเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หลังครองราชย์ได้ไม่นานพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1316 ในตอนนั้นเคลม็องส์กำลังตั้งครรภ์อยู่[3] ทรงให้กำเนิดพระโอรสคือฌ็องผู้ประสูติหลังพระบิดาสิ้นพระชนม์ในอีกห้าเดือนต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1316 หลังจากนั้นเพียงห้าวันฌ็องสิ้นพระชนม์[6] และก่อให้เกิดวิกฤตการสืบทอดบัลลังก์

การถูกรอนสิทธิในบัลลังก์

แก้

หลังฌ็องสิ้นพระชนม์ ฌานควรได้สืบทอดนาวาร์ที่อนุญาตให้สตรีสืบทอดตำแหน่งได้เหมือนเช่นที่เคยมีเมื่อครั้งอดีต แต่สำหรับฝรั่งเศส ฟิลิป พระปิตุลาของพระองค์แย้งว่ากฎซาลิกของฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้เพศหญิงสืบทอดตำแหน่ง ด้วยความกลัวว่าสตรีซึ่งอ่อนแอและด้อยปัญญาจะขึ้นครองราชย์ ขุนนางฝรั่งเศสจึงเห็นด้วยอย่างไม่ลังเล พระปิตุลาของพระองค์จึงกลายเป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งฝรั่งเศส

ในนาวาร์ แอนเญ็สแห่งฝรั่งเศส ดัชเชสแห่งบูร์กอญ พระอัยกีฝั่งมารดาของพระองค์ กับอูเดส์ที่ 4 ดยุคแห่งบูร์กอญ พระมาตุลา พยายามผลักดันการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์นาวาร์ของฌานแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ พระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งฝรั่งเศสได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งนาวาร์ ในปี ค.ศ. 1318 อูเดส์ได้ทำข้อตกลงกับพระเจ้าฟิลิปว่าหากพระองค์ไร้ทายาทเพศชาย เคานตีช็องปาญและเคานตีบรีจะตกเป็นของฌาน[7] ขณะที่ฌานต้องสละสิทธิ์ในบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์ และต้องสาบานว่าจะสละสิทธิ์อีกครั้งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่หรือมีพระชนมายุ 12 พรรษา[8] ในข้อตกลงเดียวกัน อูเดส์จะแต่งงานกับฌาน พระธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 5 ส่วนฌานจะแต่งานกับฟิลิปแห่งเอฟโรซ์ ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศสกับมารีแห่งบราบ็อง พระมเหสีคนที่สอง เขาเป็นบุตรชายของหลุยส์แห่งเอฟโรซ์ พี่น้องชายต่างมารดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 พระอัยกาของฌาน

ฌานในวัยเพียง 6 พรรษาแต่งงานกับฟิลิปวัย 12 ปีในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1318[9] พระองค์ถูกส่งไปอยู่ในการดูแลของพระราชินีม่าย มารีแห่งบราบ็อง ย่าของฟิลิป[10]

การสิ้นสุดของสายเพศชายและการได้มาซึ่งบัลลังก์

แก้

สถานการณ์พลิกผันอีกครั้งเมื่อพระเจ้าฟิลิปที่ 5 สวรรคตในต้นปี ค.ศ. 1322 โดยไร้ซึ่งพระโอรส[10] ชาร์ลส์ พระปิตุลาที่ยังมีชีวิตอยู่คนสุดท้ายของฌานสืบทอดตำแหน่งในฝรั่งเศสและนาวาร์ต่อจากพระองค์[10] วิกฤตการสืบบัลลังก์เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อพระเจ้าชาร์ลส์เสด็จสวรรคตในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1328[10][11] โดยทิ้งพระมเหสีม่ายที่กำลังตั้งครรภ์ไว้ พระธิดานามว่าบล็องช์ประสูติในวันที่ 1 เมษายน[10][12] สายตรงเพศชายสิ้นสุดลงที่ตรงนี้

 
พระบรมรูปปั้นแกะสลักครึ่งองค์ในลูฟร์ซึ่งเอามาจากคูว็องต์เดส์ฌาโคแบ็งส์อันเป็นที่ฝังพระหทัยของฌาน

ครั้งนี้ฌานกลายเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์ที่อาวุโสที่สุด แต่เพราะติดกฎซาลิก ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสจึงตกเป็นของฟิลิปแห่งวาลัวส์ ลูกหลานของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 ที่ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 6 ทว่าพระเจ้าฟิลิปไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์นาวาร์ที่ตกเป็นของราชบัลลังก์ฝรั่งเศสจากการแต่งงานกับสมเด็จพระราชินีนาถฌานที่ 1 แห่งนาวาร์ของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ที่ประชุมสามัญของนาวาร์แก้ไขปัญหาด้วยการให้ฌานบริหารบ้านเมือง โดยให้เหตุผลว่าสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของพระองค์ "ตามสิทธิ์แห่งการสืบบัลลังก์และการสืบทอดมรดก"[13][14] ท้ายที่สุดฌานก็ได้เป็นพระราชินีผู้ปกครองแห่งนาวาร์ตามสิทธิ์อันชอบธรรม พระราชินีฌานในวัยเพียง 17 พรรษามาถึงนาวาร์พร้อมกับพระสวามีในต้นปี ค.ศ. 1329[15] ทั้งคู่ได้รับการสวมมงกุฎร่วมกันในอาสนวิหารปัมโปลนาในวันที่ 5 มีนาคม[16] เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 3 กับสมเด็จพระราชินีนาถฌานที่ 2 โดยพระราชินีฌานเป็น "ทายาทที่แท้จริงโดยสายเลือด" และ "ดินแดนทั้งหมดของราชอาณาจักรนาวาร์ต้องเชื่อฟังคู่สมรสของพระองค์"[17]

ทั้งคู่แทบจะครองราชย์ร่วมกันโดยแต่งตั้งข้าหลวงฝรั่งเศสให้ปกครองนาวาร์ในช่วงที่ทั้งคู่ไม่อยู่[15] การครองราชย์ร่วมกันของทั้งคู่เป็นรัชสมัยที่ทรงประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ทั้งคู่มักทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด[18] ในบรรดาพระราชกฤษฎีกา 85 ฉบับที่เหลือรอดอยู่มี 41 ฉบับที่ออกในนามของทั้งคู่ ฟิลิปมีการเคลื่อนไหวในด้านในด้านกฎหมายมากกว่าพระองค์[18] ทรงลงนามคนเดียวในพระราชกฤษฎีกา 38 ฉบับ

พระสวามีของฌานสิ้นพระชนม์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1343[19] ด้วยวัยเพียง 37 พรรษา ขณะกำลังทำสงครามครูเสดกับราชอาณาจักรกรานาดาของชาวมุสลิมซึ่งอยู่ในสเปน นับแต่นั้นมาพระราชินีฌานปกครองเพียงลำพัง ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาดในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1349[18] ที่ชาโตเดอกงฟล็องส์ด้วยพระชนมายุ 38 พรรษา ทรงปกครองนาวาร์เป็นเวลา 21 ปี ร่างของพระองค์ถูกฝังในมหาวิหารหลวงแซ็งต์เดอนีส์ แต่หัวใจของพระองค์ถูกฝังไว้ใกล้กับหัวใจของพระสวามีในปารีสที่คูว็องต์เดส์ฌาโคแบ็งส์[20][21]

ครอบครัวและทายาท

แก้

การแต่งงานของฌานกับฟิลิปเป็นการแต่งงานที่ประสบความสำเร็จ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันเก้าคน[22] แม้พระโอรสคนแรกของทั้งคู่จะมีชีวิตไม่ถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ทรงมีพระโอรสด้วยกันถึงสามคน มารี พระโอรสธิดาคนโตของทั้งคู่จะกลายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอน[23] ขณะที่บล็องช์ พระโอรสธิดาคนถัดมาซึ่งเกิดในปี ค.ศ. 1330 ถูกหมั้นหมายกับฌ็องแห่งฝรั่งเศส ก่อนแต่งงานกับพระเจ้าฟิลิปที่ 6[23] พระบิดาของฌ็องที่แก่กว่าบล็องช์ 40 ปีในปี ค.ศ. 1349 เพียงไม่กี่เดือนหลังพระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ แอนเญ็ส พระธิดาอีกคนของทั้งคู่ซึ่งเกิดในช่วงกลางคริสตทศวรรษ 1330 แต่งงานกับแกสต็อง เคานต์แห่งฟรัวซ์[24][25] ที่พลั้งมือสังหารบุตรชายเพียงคนเดียวของทั้งคู่ซึ่งชื่อแกสต็องเช่นกันเสียชีวิตระหว่างที่ทะเลาะกัน ฌาน พระธิดาคนสุดท้องของฌานซึ่งเกิดในปี ค.ศ. 1339 จะแต่งงานกับฌ็องที่ 2 ไวส์เคานต์แห่งโรฮาน[26]

ชาร์ลส์ที่ 2 ผู้เลวร้าย พระโอรสคนโตของฌานกับฟิลิปเสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1330 และแต่งงานกับฌาน พระธิดาของพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ชาร์ลส์มีส่วนพัวพันในการลอบสังหารชาร์ลส์ เดอ ลา แกร์ดา ขุนวังแห่งฝรั่งเศส และลักลอบวางแผนกับชาวอังกฤษต่อต้านชาวฝรั่งเศสในช่วงสงครามร้อยปี พระองค์หนีจากการถูกจองจำในชาโตไจยาด์ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อชาวฝรั่งเศสที่ยินยอมให้พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งนาวาร์ต่อไป

ฟิลิป เคานต์แห่งลงเกอวีล พระโอรสอีกคนประสูติในปี ค.ศ. 1336 และแต่งงานกับโยลันเดอแห่งแฟลนเดอส์ ขณะที่หลุยส์ พระโอรสคนเล็กของทั้งคู่ที่เกิดในปี ค.ศ. 1341 จะกลายเป็นดยุคแห่งดูรัซโซในอัลบาเนียด้วยสิทธิ์ของภรรยา โจแอนนา

อ้างอิง

แก้
  1. The Flores historiarum of Bernard Gui records the birth "V Kal Feb" in 1311 of "Ludovicus rex...filiam Johannam". Recueil des historiens des Gaules et de la France, vol. XXI, Guigniaut, Wailly (dirs.) Paris, 1855: E floribus chronicorum auctore Bernardo Guidonis, p. 724.
  2. Bradbury, Jim (2007). The Capetians: Kings of France, 987-1328. Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-85285-528-4, p. 278.
  3. 3.0 3.1 3.2 Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 51.
  4. 4.0 4.1 Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, pp. xix, 51.
  5. 5.0 5.1 Bradbury, Jim (2007). The Capetians: Kings of France, 987-1328. Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-85285-528-4, p. 277.
  6. Bradbury, Jim (2007). The Capetians: Kings of France, 987-1328. Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-85285-528-4, p. 281.
  7. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 55.
  8. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, pp. 55-56.
  9. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 57.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, pp. 56, 71.
  11. Knecht, Robert (2007). The Valois: Kings of France, 1328-1589. Bloomsbury Academic. ISBN 1-85285-522-3, p. 1.
  12. Knecht, Robert (2007). The Valois: Kings of France, 1328-1589. Bloomsbury Academic. ISBN 1-85285-522-3, p. 2.
  13. Monter, William (2012). The Rise of Female Kings in Europe, 1300-1800. Yale University Press. ISBN 978-0-300-17327-7, p. 58.
  14. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 61.
  15. 15.0 15.1 Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 59.
  16. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 63.
  17. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, pp. 63-64.
  18. 18.0 18.1 18.2 Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 66.
  19. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. 72.
  20. Les Grandes Chroniques de France, vol. 9, Jules Viard, ed. (Paris: Librairie Ancienne Honoré Champion, 1927): 241.
  21. Connolly, Sharon Bennett (2017). Heroines of the Medieval World. Amberley Publishing. ISBN 9781445662657.
  22. Woodacre 2011, p. 195.
  23. 23.0 23.1 Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, pp. xx, 68.
  24. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, pp. xx, 83-84.
  25. Tuchman, Barbara W. (1978). A Distant Mirror: The Calamitious 14th Century. The Random House Publishing Group. ISBN 0-345-34957-1, p. 344.
  26. Woodacre, Elena (2013). The Queens Regnant of Navarre: Succession, Politics, and Partnership, 1274-1512. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-137-33914-0, p. xx.