สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา[1] หรือ สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลง (อักขรวิธีเก่า : สํเดจพระราชชนนีสรีธรมราชมาดามหาดิลกรตนราชนารถกนัโลง)[2] เป็นพระอัครมเหสีในพระยาลิไท

สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา
พระกรรโลง[1]
ดำรงพระยศพ.ศ. 1911 – ?
ถัดไปสมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์
พระอัครมเหสี
ดำรงพระยศ? – พ.ศ. 1911
ถัดไปสมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์
พระราชสวามีพระมหาธรรมราชาที่ 1
พระราชบุตรพระมหาธรรมราชาที่ 2
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระราชประวัติ แก้

สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดาเป็นพระอัครมเหสีในพระยาลิไท และเป็นสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงในพระธรรมราชาธิราช[3] ส่วนเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี เสนอว่าพระองค์คือพระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ที่เสกสมรสกับพญาแสนเมืองมาแห่งอาณาจักรล้านนาเพื่อสร้างระบบเครือญาติช่วงปี พ.ศ. 1929-1932 และประสูติพระราชโอรสคือท้าวยี่กุมกามและพระยาไสลือไทย[4]

พระองค์มีบทบาทในการสืบราชสมบัติของพระราชโอรส ที่กล้าหาญสู้รบกับศัตรู เข้าปราบดาภิเษกหรือชิงราชสมบัติเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย และขึ้นครองราชย์พร้อมกับพระราชโอรสเมื่อปี พ.ศ. 1943 ช่วงหนึ่งปีก่อนการสวรรคตของพญาแสนเมืองมา ซึ่งคาดว่าพระองค์คงรอโอกาสที่เหมาะสมเพื่อทวงอำนาจคืนจากกลุ่มเชื้อสายพระมหาธรรมราชาที่ 2 ที่เกี่ยวดองกับสุพรรณภูมิ[5] ดังปรากฏในจารึกวัดตาเถรขึงหนัง ที่จารึกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1947 แปลโดยฉ่ำ ทองคำวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร ความว่า[2][6]

ศักราช ๗๖๒ นาคกษัตร ปีมะโรง สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราชนาถ กรรโลงแม่ แลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์โอรสราช อำนาจน้าวห้าวหาญ นำพลรบราคลาธรณีดลสกลกษัตริย์ หากขึ้นเสวยในมไหสวริยอัครราชเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์นครศรีสัชนาลัย สุโขทัย แกวกลอยผลาญปรปักษ์ศัตรูนูพระราชสีมา...เป็นขนอบขอบพระบางเป็นแดน เท่าแสนสองหนองห้วยและแพร่...

ทั้งนี้ที่พระองค์ครองราชย์ร่วมกับพระราชโอรส อาจเป็นเพราะพระราชโอรสนั้นยังเยาว์พระชันษา พระองค์จึงต้องราชาภิเษกตนขึ้นดูแลบ้านเมือง ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับยุวกษัตริย์ และรักษาอำนาจทางการเมืองไว้[7] หลังครองราชย์ได้ 5 ปี พระราชโอรสยังเคยส่งทัพสุโขทัยช่วยท้าวยี่กุมกาม ที่ครองเมืองเชียงรายทำศึกชิงราชสมบัติกับพระเจ้าสามฝั่งแกนเมื่อปี พ.ศ. 1945[8]

สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดามีศรัทธาในพุทธศาสนา โดยทรงสร้างวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม (ประชาชนนิยมเรียกว่า วัดตาเถรขึงหนัง) ณ เมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1943-1947[2][8] พระองค์และพระราชโอรสทรงแต่งตั้งพระบรมครูติโลกดิลกติรัตนศีลคันธวันวาสีธรรมกิตติสังฆราชามหาสวามีเจ้า พระสังฆปรินายกเป็นพระสังฆราชเจ้า ณ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 1949 ซึ่งพระสังฆราชพระองค์นี้อาจมีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องหรือเครือญาติของพระองค์ และอาจเป็นเครือญาติหรือบิดาของแม่พระพิลกพระราชชนนีในพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาด้วย[9] ดังปรากฏในจารึกวัดป่าแดง แผ่นที่ 3 ความว่า[10][11]

“...เมื่อศักราชได้ ๗๖๘ จอนักษัตร เดือนอ้าย แรม ๑๐ ค่ำ วันอาทิตย์ ตราพระราชโองการเสด็จมหาธรรมราชาธิราชในพระพิหารสีมากระลาอุโบสถอันมีในทะเลฉางนั้นพอประถมยามดังนี้ เราตั้งพระบรมครูติโลกดิลกติรัตนศีลคันธวันวาสีธรรมกิตติสังฆราชามหาสวามีเจ้าเป็นสังฆปรินายกสิทธิแล ภิกษุสงฆ์ผู้ใดหนอรัญวาสี แลกระทำบโชบธรรมไซร้ บางอำเพิอบรมครูเป็นเจ้าหากสำเร็จเองเท่า อำเพิอบรมครูปรญาปติอันใดไซร้ เรามิอาจจะละเมิดมิได้เลย...”

พระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา แก้

มีการพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่กุฏิคณะ 15 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งบันทึกว่าถูกขนย้ายมาจากสุโขทัยช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่มีพุทธศิลป์ผสมผสานทั้งแบบเชียงแสนและสุโขทัย โดยมีจารึกที่ฐานพระพุทธรูปเขียนด้วยอักษรแบบสุโขทัยแต่เขียนกล้ำแบบล้านนา[12] ความว่า[13][14]

พระเจ้าแม่ศรีมหาตาขอปรารถนาเป็นผู้ชายชั่วหน้า จุงข้าได้เป็นศิษย์จนพระศรีอาริยโพธิสัตว์เจ้า แต่ทานข้าทั้งผองแห่งพระองค์เจ้าอยู่หัวทั้งสองกับแม่พระพิลกและแม่ศรีให้เป็นค่าถือจังหันพระเจ้าสิ้นเบี้ย ๔๔๕๐๐

อันมีความหมายว่า เจ้าแม่ศรีมหาตาขอเกิดเป็นผู้ชายในชาติหน้า เพื่อจักได้เป็นลูกศิษย์ของพระศรีอาริย์ พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองกับแม่พระพิลกและแม่ศรี [มหาตา] ถวายข้าไททั้งหลายให้เป็นข้าพระสำหรับปรนนิบัติดูแลพระ

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่า แม่พระพิลกคือพระราชชนนีในพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ส่วนเจ้าแม่ศรีมหาตา มาจากคำว่า พระศรีธรรมราชมารดา แปลว่ามารดาของพระศรีธรรมราชา ที่คาดว่าน่าจะหมายถึงนางษาขาพระราชชนนีในพระมหาธรรมราชาที่ 4[15] ส่วนเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ว่าเจ้าแม่ศรีมหาตา คือสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดาผู้เป็นพระราชชนนีในพระมหาธรรมราชาที่ 3[16]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 "จารึกวัดบูรพาราม ด้านที่ 1". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 "จารึกวัดตาเถรขึงหนัง ด้านที่ ๑". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-27. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "จารึกวัดอโสการาม ด้านที่ ๒". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. พ.ศ. 1942. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย, หน้า 62-67
  5. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย, หน้า 68-70
  6. ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย ‎(จารึกวัดตาเถรขึงหนัง), หน้า 467-468
  7. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย, หน้า 73-74
  8. 8.0 8.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 47
  9. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย, หน้า 110
  10. "จารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 3)". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  11. ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย (จารึกวัดป่าแดง แผ่นที่ 3), หน้าที่ 332-333
  12. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 212-213
  13. "จารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  14. ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย ‎(จารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา), หน้า 250
  15. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 219
  16. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ, หน้า 100
บรรณานุกรม
  • คณะกรรมการอำนาวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย (จารึกวัดป่าแดง แผ่นที่ 3). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2547.
  • เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559. 192 หน้า. ISBN 9789740334873
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8