สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) เป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุติกนิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร และเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี

สมเด็จพระพุฒาจารย์

(ศรี อโนมสิริ)
ส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2357 (81 ปี ปี)
มรณภาพ6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
พรรษา60
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา
เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี

ประวัติ

แก้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่าศรี เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. 2357 บิดาเป็นชาวจีนแซ่อึง ทำอาชีพค้าขายทางทะเล เมื่ออายุได้ขวบครึ่งได้บิดามารดาพาท่านออกเดินทางไปด้วย เมื่อถึงช่องเสม็ด พวกลูกเรือได้ฆาตกรรมบิดามารดาท่าน พี่เลี้ยงพาท่านหนีออกมาได้ ป้าของท่านจึงเลี้ยงดูท่านแทนจนท่านอายุได้ 7 ขวบ จึงนำไปฝากกับพระอาจารย์สิงห์ วัดปทุมคงคา เพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียน[1]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดปทุมคงคา แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดนี้และวัดราชบุรณราชวรวิหาร ถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2377 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปทุมคงคาเช่นเดิม แล้วเข้าสอบพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเป็นพระภิกษุประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ท่านได้บวชซ้ำในคณะธรรมยุตตามและถวายตัวเป็นข้าหลวงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระองค์ สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอุปัชฌาย์ ในระหว่างนี้ได้สอบพระปริยัติธรรมอีกจนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ว่าท่านสอบได้ถึงเปรียญธรรม 8 ประโยค แล้วไม่แปลต่อ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าภูมิความรู้ท่านถึง 9 ประโยค จึงตั้งเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค)[1]

ปี พ.ศ. 2494 ทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะไปครองวัดปทุมคงคา ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ตราบจนมรณภาพ[1]

สมณศักดิ์

แก้
 
การอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ พระเถระรูปที่สองจากทางขวาคือพระพรหมมุนี (ศรี อโนมสิริ)
  • ในรัชกาลที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูอโนมสาวัน พระครูคู่สวด ฐานานุกรมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเป็นพระราชาคณะ
  • พ.ศ. 2394 เป็นพระราชาคณะที่ พระวรญาณมุนี[1]
  • พ.ศ. 2394 เปลี่ยนราชทินนามเป็น พระอโนมมุนี
  • พ.ศ. 2415 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระพรหมมุนี
  • พ.ศ. 2430 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจาริย อเนกสถานปรีชา ศับตวิสุทธิจริยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อารัญญิกคณิสสร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกล วิมลศีลขันธ สรรพสมณคุณ วิบุลยประสิทธิ[2]

ศาสนกิจ

แก้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าท่านรู้ภาษาบาลีมาก จึงโปรดให้ท่านเป็นหัวหน้าสมณทูตนำคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาออกไปเผยแผ่ในเกาะลังกา และสืบดูสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาที่นั่นในปีชวด พ.ศ. 2495[3] เสร็จภารกิจแล้วก็กลับมาครองวัดเดิม ในปี พ.ศ. 2416 ท่านได้รับเลือกเป็นคณปูรกะในการผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

มรณภาพ

แก้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) อาพาธมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม มีหมอนวดและหมอยาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน หมอจากกระทรวงธรรมการ และหมอเชลยศักดิ์ศักดิ์ประจำตัว คอยรักษา แต่ก็ไม่ดีขึ้น เริ่มมีการอาหารหน้าและเท้าบวม ไอ หอบ จำวัดไม่หลับ จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่อังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย สิริอายุ 81 ปี พรรษา 60[3]

เมื่อจะรับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ท่านได้ขอพระบรมราชานุญาตว่าเมื่อท่านมรณภาพ ขอให้ทำฮวงซุ้ยฝังศพท่านไว้ตามแบบธรรมเนียมจีน เมื่อท่านมรณภาพจึงพระราชทานหีบทองทึบบรรจุศพ และเครื่องเกียรติยศประกอบเหมือนผู้ได้รับพระราชทานโกศ[4] เสร็จการศพแล้วจึงฝังไว้ ณ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร[1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 135-7. ISBN 974-417-530-3
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ, เล่ม 4, หน้า 325
  3. 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) วัดประทุมคงคา มรณภาพ, เล่ม 11, ตอน 36, 2 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 286-7
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ปวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์, เล่ม 11, ตอน 36, 2 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 287


ก่อนหน้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) ถัดไป
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก)    
เจ้าคณะอรัญวาสี
(พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2437)
  หม่อมเจ้า
พระสมเด็จพระพุฒาจารย์
(ทัด เสนีวงศ์)