จักรพรรดิ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
จักรพรรดิ หรือ พระราชาธิราช หมายถึง ประมุขของจักรวรรดิ[1][2] หากเป็นสตรีเรียกว่า จักรพรรดินี (Empress) แต่คำว่า “จักรพรรดินี” ก็ใช้เรียกพระมเหสีของจักรพรรดิด้วย ในภาษาอังกฤษจะมีคำต่อท้ายให้เป็นที่เข้าใจคือ “Empress Consort” โดยทั่วไปถือกันว่า “จักรพรรดิ” มีฐานันดรสูงกว่า “พระราชา”
ข้อแตกต่างระหว่างจักรพรรดิกับประมุขแบบอื่นแก้ไข
ทั้งกษัตริย์และจักรพรรดิ ต่างเป็นพระประมุขของรัฐเหมือนกัน ยังไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่บ่งบอกถึงความแตกต่างในฐานันดรทั้งสองประเภทนี้โดยชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวของได้แก่ การตีความของนักประวัติศาสตร์ ขนาดและลักษณะของอาณาจักรที่ทรงปกครอง และชื่อตำแหน่งที่ราชวงศ์นั้น ๆ เลือกที่จะเรียกตนเอง ลักษณะเฉพาะที่อาจนับเป็นปัจจัยให้ใช้ฐานันดรจักรพรรดิอาจสรุปได้หลายทางดังนี้
- พระราชา หรือกษัตริย์ ที่ทรงฐานันดรที่สามารถแปลตามปกติเป็นภาษาอังกฤษเป็น Emperor ได้ และ/หรือได้รับการยอมรับเป็น “จักรพรรดิ” จากความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ
- เป็นราชาหรือกษัตริย์ (ทางพฤตินัย หรือ เป็นในนาม) ที่เป็นประมุขของรัฐราชาธิปไตยอื่นด้วยโดยที่ไม่ถอดถอนความเป็นราชาของรัฐอื่นที่ตนปกครอง
- เป็นราชาที่ถือว่าสืบเชื้อสายจากเทพเจ้าหรือดำรงตำแหน่งสูงทางศาสนาโดยการแสดงตนโดย
- ทางพิธีการและความเชื่อมั่นทางศาสนา เช่น โรมโบราณ หรือจักรพรรดิญี่ปุ่น
- ฝ่ายบ้านเมืองหรือพระราชามีอำนาจสูงกว่าศาสนจักร (จักรพรรดิสันตะปาปานิยม (Caesaropapism)) พระราชาในยุโรปที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนจะถือตนเองเป็นเพียงกษัตริย์ (King) ไม่เรียกตนเป็นจักรพรรดิ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ที่มีปัญหาขัดแย้งกับสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ไม่ยอมลงรอยกับโรมก็ได้เรียกตำแหน่งของพระองค์โดยใช้คำว่า “อิมพีเรียม” (imperium) และพระราชาแห่งรัสเซียก็เรียกตนเองว่าซาร์ ซึ่งหมายถึงจักรพรรดิ เพราะถือพระองค์ว่าอยู่เหนือคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ แต่พระองค์จะอยู่ภายใต้พระเจ้าเท่านั้น
- เป็นประเพณียุโรป (คริสเตียน) ที่พระราชาสามารถสืบย้อนพระราชวงศ์ไปถึงสมัยจักรวรรดิโรมัน หรือที่ได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิโรมัน (ไบแซนไทน์) ในการสืบทอดอำนาจ
การเลือกใช้ชื่อตำแหน่งโดยพระราชาได้กลายเป็นแนวคิดที่ต่างไปจากเดิมในภาษาอังกฤษ กล่าวคือความต่างที่ว่าพระราชาควรเป็นพระมหากษัตริย์หรือเป็นพระจักรพรรดิไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวอีกต่อไป ต่างจากตำแหน่งพระราชาที่เป็น ฟาโรห์ เคาะลีฟะฮ์ สุลต่าน หรือข่าน ซึ่งยังมีการกำหนดแยกชัดเจนอยู่
จักรพรรดิในโลกตะวันตกและตะวันออกแก้ไข
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการใช้ฐานันดรพระราชาในระดับ “จักรพรรดิ” ทั้งในโลกซีกตะวันตกซึ่งเริ่มจากยุคโรมันและต่อด้วยยุคคริสเตียน ทางซีกโลกตะวันออกมีประเพณีที่แตกต่างจากตะวันตก ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งจีนและญี่ปุ่นอ้างความเป็นจักรพรรดิว่าสืบเชื้อสายมาจากสรวงสวรรค์ เจงกิสข่านถือว่าพระองค์ได้อำนาจจากธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ จักรพรรดิญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์
รายพระนามของจักรพรรดิแก้ไข
จักรพรรดิโดยการเป็นจักรวรรดิแบบทั่วไปแก้ไข
จักรวรรดิโบราณแก้ไข
- จักรวรรดิเปอร์เชีย (16 ปี ก่อน พ.ศ. – พ.ศ. 213) ดูรายพระนามพระมหากษัตริย์เปอร์เซีย
- จักรวรรดิแห่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (พ.ศ. 209 – พ.ศ. 262)
- จักรวรรดิโมริยะ (Mauryan Empire) (พ.ศ. 222 – พ.ศ. 358) ดู ราชวงศ์โมริยะ
- จีน (จักรวรรดิ พ.ศ. 322 – พ.ศ. 2454) ดู รายพระนามจักรพรรดิจีน
- จักรวรรดิโรมัน (พ.ศ. 516 – พ.ศ. 1019) ดู รายพระนามจักรพรรดิโรมัน
สมัยกลางแก้ไข
ประเพณีตะวันตกและไบแซนไทน์แก้ไข
- จักรวรรดิไบแซนไทน์ (พ.ศ. 938 – พ.ศ. 1996) ดู รายพระนามจักรพรรดิไบแซนไทน์
- จักรวรรดิละติน (พ.ศ. 1747 – พ.ศ. 1804)
- จักรวรรดิไนเซีย (Empire of Nicaea – พ.ศ. 1747 – พ.ศ. 1804) “จักรวรรดิไบแซนไทน์” ที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นหลังจากถูก “จักรวรรดิละติน” ยึดคอนสแตนติโนเปิล ในสงครามครูเสดครั้งที่ 4
- จักรวรรดิเทรบิซอนด์ (Empire of Trebizond -พ.ศ. 1747 – พ.ศ. 2004) การแตกแยกออกจากจักรวรรดิไบแซนไทน์อีกอาณาจักรหนึ่ง
- ราชรัฐเอปิรุส (Despotate of Epirus – พ.ศ. 1747 – พ.ศ. 1902) ปกครองโดยจักรพรรดิทีโอดอร์ ดูกาส พ.ศ. 1770 – พ.ศ. 1773
- จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (พ.ศ. 1343 และ พ.ศ. 1505 – พ.ศ. 2349) ดู รายพระนามจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
- จักรวรรดิบัลแกเรีย ( พ.ศ. 1456 – พ.ศ. 1965) ดู รายพระนามพระมหากษัตริย์บัลแกเรีย
- จักรวรรดิเซอร์เบีย ( พ.ศ. 1888 – พ.ศ. 1914) ดู รายพระนามพระมหากษัตริย์เซอร์เบีย)
- มัสโควี (จักรวรรดิ พ.ศ. 2023 – พ.ศ. 2264) ต่อเนื่องมาถึงจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ พ.ศ. 2264
อื่นๆแก้ไข
- เจ้าผู้ปกครองเวียดนามพระองค์แรกที่ใช้ฐานันดรจักรพรรดิ (หว่างเด๊) ได้แก่จักรพรรดิดิญ โบะ หลิญ ผู้สถาปนาราชวงศ์ดิญเมื่อ พ.ศ. 1509 ดู รายพระนามจักรพรรดิเวียดนาม
- ญี่ปุ่น (พระจักรพรรดิที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบันว่า “เทนโน” นับแต่ประมาณ พ.ศ. 1200 เป็นต้นมา ดู จักรพรรดิญี่ปุ่นและรายพระนามจักรพรรดิญี่ปุ่น
- จักรวรรดิออตโตมัน (พ.ศ. 1842 - พ.ศ. 2465) ดู ราชวงศ์ออตโตมัน
- จักรวรรดิเอธิโอเปีย (จักรวรรดิ พ.ศ. 1813 - พ.ศ. 2518) ดูรายพระนามจักรพรรดิเอธิโอเปีย
- จักรวรรดิแอซเท็ก (พ.ศ. 1918 – พ.ศ. 2064) ดู เฮวยี ตลาโทอานิ (Hueyi Tlatoani)
- จักรวรรดิอินคา (พ.ศ. 1981 – พ.ศ. 2076) ดู ซาปา อินคา (Sapa Inca)
- จักรวรรดิเปอร์เชีย (อิหร่าน) (พ.ศ. 2044 – พ.ศ. 2522) ดู รายพระนามพระมหากษัตริย์เปอร์เซีย
- จักรวรรดิโมกุล (พ.ศ. 2059 – พ.ศ. 2400) ดู รายพระนามจักรพรรดิโมกุล
- จักรวรรดิดุรรานี (พ.ศ. 2290 – พ.ศ. 2366)
- ราชวงศ์ทาลเปอร์ (พ.ศ. 2326 – พ.ศ. 2386)
อ้างอิงแก้ไข
- เชิงอรรถ
- บรรณานุกรม
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 438 หน้า. ISBN 978-616-7073-74-3
ดูเพิ่มแก้ไข
- ไกเซอร์
- ซาร์
- พระเจ้าจักรพรรดิ (จักรพรรดิตามคติพุทธศาสนา)