อิ๋ง กาญจนะวณิชย์

สมานรัชฎ์ "อิ๋ง" กาญจนะวณิชย์ [1] หรือ อิ๋ง เค (อังกฤษ: Ing K) เป็นนักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดี และนักวิพากษ์เรื่องสิ่งแวดล้อม

อิ๋ง เค
เกิด30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 (64 ปี)
สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
คู่ครองมานิต ศรีวานิชภูมิ
อาชีพนักเขียน, ผู้กำกับภาพยนตร์
ผลงานเด่นคนกราบหมา (2540)

ประวัติ แก้

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์สมานสนิท สวัสดิวัตน์ กับศาสตราจารย์ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์[2][3] วิศวกรอาวุโส อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมานรัชฎ์เป็นหลานตาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ [4] เสรีไทยสายอังกฤษ ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปศึกษาที่เวสต์แฮมตัน [5] ประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เมื่อ พ.ศ. 2516 และศึกษาต่อด้านจิตรกรรม ที West Surrey College of Art and Design [5] เดินทางกลับประเทศไทย ทำงานเป็นอาสาสมัครของยูเอ็นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อรัญประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2522 จากนั้นไปทำงานเป็นนักข่าวเดอะ เนชั่น เปิดบริษัทรับทำโฆษณา เขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารลลนาบันทึกการเดินทางท่องเที่ยว ในชื่อ "ข้างหลังโปสการ์ด" โดยใช้นามปากกา "หลานเสรีไทย" [4]

งานเขียนในช่วงต่อมาของเธอ เริ่มวิพากษ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับถูกปิดกั้น เธอจึงออกจากงานที่เนชั่น และสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก เรื่อง "Thailand for Sales" (2534) ได้รับทุนจากสำนักข่าวบีบีซี โดยเธอเป็นผู้เขียนบท และบรรยาย กล่าวถึงผลกระทบจากธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่สอง "Green Menace : The Untold Story of Golf" (2536) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอเป็นผู้กำกับ และกำกับภาพ วิพากษ์ธุรกิจสนามกอล์ฟที่กำลังบูมในขณะนั้น ว่ามีผลทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร ภาพยนตร์ได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม Suffolk Film and Video Festival นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องถัดมา "Casino Cambodia" (2537) เป็นสารคดีวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของอเมริกา ในประเทศกัมพูชาจากมุมมองของภาครัฐ

อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ สร้างภาพยนตร์ ความยาว 2 ชั่วโมง ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. [6] ในปี พ.ศ. 2539 เรื่อง "คนกราบหมา" (My Teacher Eats Biscuits) เป็นหนังตลกร้ายว่าด้วยลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา นำแสดงโดยกฤษดา สุโกศล และธาริณี เกรแฮม ภาพยนตร์มีกำหนดฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 แต่ถูกขัดขวาง และภาพยนตร์ถูกระงับห้ามฉายในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าดูหมิ่นศาสนาพุทธ [7] คนกราบหมา ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ ฮาวาย ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก [5]

ในปี พ.ศ. 2542 ขณะที่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Beach เดินทางทางถ่ายทำที่หาดมาหยา จังหวัดกระบี่ เธอเป็นผู้หนึ่งที่เดินทางมาร่วมประท้วง การทำลายสภาพแวดล้อมในระหว่างถ่ายทำ ได้ถ่ายทำวิดีโอไว้เป็นหลักฐานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น [4]

ปัจจุบัน เธอยังคงสร้างภาพยนตร์อยู่ โดยมีโรงภาพยนตร์ของตัวเอง ชื่อ Cinema Oasis ที่ซอยสุขุมวิท 43 ข้างห้างดิเอ็มโพเรี่ยมและเอ็มควอเทียร์ ซึ่งมีจำนวนที่นั่ง 48 ที่[8] [9] อีกทั้งยังเป็นศิลปินวาดภาพ และเขียนหนังสือ [7]

ผลงาน แก้

หนังสือ แก้

  • ช่างทำผมใจดี (2520) [1]
  • ข้างหลังโปสการ์ด (2527)
  • Protest / photogr (2546)
  • นีโอ-ชาตินิยม : นิทรรศการศิลปการเมืองร่วมสมัย (2548)

ภาพยนตร์ แก้

  • Thailand for Sales (2534) เขียนบท
  • Green Menace : The Untold Story of Golf (2536) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท
  • Casino Cambodia (2537) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท
  • คนกราบหมา - My Teacher Eats Biscuits (2540) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท (ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศไทยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 หลังกำหนดการฉายเดิม 25 ปี[10])
  • พลเมืองจูหลิง (2551) ผลงานร่วมกับ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และมานิต ศรีวานิชภูมิ [11]
  • เชคสเปียร์ต้องตาย - Shakespeare Must Die (2555) กำกับ, เขียนบท, อำนวยการสร้าง (ถูกห้ามฉาย)
  • เมื่อเราเป็นยอดมนุษย์&ปิดกรุงเทพ - How We Became Superheroes (2561) กำกับ, กำกับภาพ, อำนวยการสร้าง[8]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์[ลิงก์เสีย] ระบบสืบค้นหนังสือ หอสมุดปรีดี พนมยงค์
  2. นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เนื้อแท้แห่งหัวใจเชื่อมใยชีวิตกับธรรมชาติ[ลิงก์เสีย]
  3. "ดุสิตรายาวดี โรงแรมเจ้าปัญหา" นิตยสารผู้จัดการ, ธันวาคม 2536]
  4. 4.0 4.1 4.2 สรรวรส ชัยชวลิต, อิ๋ง เค ผู้เขียนประวัติศาสตร์ฉบับผู้แพ้, วารสาร หนัง:ไทย, ฉบับที่ 13 มิถุนายน 2547
  5. 5.0 5.1 5.2 "Thai Takes: Contemporary Thai Film Directors". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-27. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  6. "หนังไทยนอกระบบ กับ ความตื่นตัวของยุคสมัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-20. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  7. 7.0 7.1 ผู้กำกับดังให้กำลังใจอภิชาติพงศ์เพียบ พร้อมสนับสนุนการปลดปล่อยเสรีภาพหนังไทยกันเพียบ
  8. 8.0 8.1 "Big Picture คิดต่างระหว่างบรรทัด 02 08 61 เบรค 2". ฟ้าวันใหม่. 2018-08-02. สืบค้นเมื่อ 2018-08-03.
  9. "Big Picture คิดต่างระหว่างบรรทัด 02 08 61 เบรค 1". ฟ้าวันใหม่. 2018-08-02. สืบค้นเมื่อ 2018-08-03.
  10. ถูกแบนมา 25 ปี ทีมกำกับ ‘คนกราบหมา’ หนังอินดี้รุ่นแรก เฮ! ผ่านเซ็นเซอร์แล้ว
  11. ทรงพลัง ชวนสะกดให้ต้องติดตาม พลเมืองจูหลิง รอบปฐมทัศน์เมืองไทย Toronto International Film Festival, 6 กันยายน 2551

แหล่งข้อมูลอื่น แก้