สมรถ คำสิงห์
พันโท สมรถ คำสิงห์ อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยและอดีตนักมวยไทย ผู้เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของ สมรักษ์ คำสิงห์ นักกีฬาชาวไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้
สมรถ คำสิงห์ | |
---|---|
เกิด | พันโท สมรถ คำสิงห์ 24 กันยายน พ.ศ. 2514 |
สถิติเหรียญโอลิมปิก | ||
---|---|---|
มวยสากลสมัครเล่น | ||
ซีเกมส์ | ||
ซีเกมส์ 1995 | ไลท์ฟลายเวท |
สมรถเกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2514 ที่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่(ปัจจุบันแยกเป็นอำเภอบ้านแฮด) จังหวัดขอนแก่น โดยคลอดบนรถโดยสาร ขณะที่นางประยูร ผู้เป็นแม่กำลังเดินทางจะไปคลอดที่สถานีอนามัย จึงได้ชื่อเล่นว่า "บัส" หรือ "รถ"
ทั้งสมรถและสมรักษ์ได้ถูกพ่อ คือ นายแดง ฝึกให้ชกมวยมาตั้งแต่เด็ก โดยขึ้นชกตระเวนไปในแถวบ้านเกิด เนื่องจากความยากจน เมื่อได้เดินทางเข้ามาชกในกรุงเทพฯ พร้อมสมรักษ์น้องชาย สมรถได้ใช้ชื่อว่า "พิมพ์อรัญ ศิษย์อรัญ" ขณะที่สมรักษ์ใช้ชื่อว่า "พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ" ซึ่งก็ถือว่าเป็นนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงด้วยกันทั้งคู่
และเมื่อเบนเข็มมาชกมวยสากลสมัครเล่น ทั้งคู่ก็เริ่มชกพร้อมกัน โดยที่สมรถชกในพิกัดรุ่น 48 กิโลกรัม (ไลท์ฟลายเวท) ขณะที่สมรักษ์ชกในพิกัด 57 กิโลกรัม (เฟเธอร์เวท) เนื่องจากมีรูปร่างที่เล็กกว่าสมรักษ์น้องชาย
สมรถ คำสิงห์ สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ติดทีมชาติไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 1996 ที่นครแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา พร้อมกับสมรักษ์ซึ่งก็ได้เหรียญทองมาในคราวเดียวกัน
ซึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ทั้งคู่ได้ถูกสื่อมวลชนสหรัฐฯ จับตามองว่าจะเป็นคู่พี่น้องที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองพร้อมกันได้เฉกเช่น ลีออง สปิ๊งคส์ และไมเคิล สปิ๊งคส์ ในโอลิมปิกที่นครมอนทรีออล ปี 1976 หรือไม่
ผลการแข่งขัน ในรอบแรก สมรถสามารถเอาชนะ ยาซา กีริทลี นักมวยชาวตุรกีไปได้ 19-4 หมัด ในรอบที่สอง สมรถเอาชนะ ซาบิน บรอไน นักมวยชาวโรมาเนียไป 18-7 หมัด แต่ในรอบที่สาม สมรถเป็นฝ่ายแพ้ เดเนียล เปทรอฟ นักมวยชาวบัลแกเรียไป 18-6 หมัด ซึ่งเปทรอฟต่อมาก็เป็นผู้ที่ได้เหรียญทองในการชกรุ่นนี้ด้วย หลังจากนั้น สมรถก็ได้แขวนนวมไปในที่สุด
ภายหลังได้เข้าทำงานเป็นโค้ชมวยสากลสมัครเล่น ให้กับสโมสรตำรวจ และได้รับการแต่งตั้งเป็นตำรวจเป็นกรณีพิเศษ ยศ ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2557 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[1]
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[2]
- พ.ศ. 2545 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[3]
- พ.ศ. 2560 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[4]
- พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.)[5]
- พ.ศ. 2552 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2022-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๗๓, ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๑ เก็บถาวร 2022-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๙๒, ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน เก็บถาวร 2022-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๑๗, ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน เก็บถาวร 2022-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕๙ ข หน้า ๑๖, ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๒๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๑๗, ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
- sports-reference เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน